วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ การสร้างศาสนทายาท

ข้อคิดรอบตัว

เรื่อง : พระมหาสมชาย ฐานวุฑโฒ (M.D.; Ph.D.)
จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC

 

 

การสร้างศาสนทายาท

 

พระพุทธศาสนาผ่านวิกฤตมาพอสมควร แต่ก็ยังมั่นคงและยืนยาวมาจนทุกวันนี้ เป็นเพราะอะไร

          จุดแข็งที่สุดของพระพุทธศาสนา คือ พระรัตนตรัย ประการแรก พระบรมศาสดาของเราทรงมีความเป็นเลิศในทุกด้าน ทั้งฐานะ ตระกูล ครอบครัว การศึกษา ทุกอย่างดีเลิศครบถ้วน พระชายาคือพระนางพิมพาก็เป็นหญิงเบญจกัลยาณี แต่พระองค์ ก็เสด็จออกแสวงหาโมกขธรรม เพราะต้องการแสวงหาสิ่งที่สูงส่งกว่าทางด้านจิตใจ เมื่อตรัสรู้แล้วก็เผยแผ่ธรรมะด้วยความสงบ พระองค์จึงทรงเป็นแบบอย่างของศาสดาที่สมบูรณ์พร้อม

          ประการที่ ๒ พระธรรมคำสอนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้เป็นสัจธรรมความจริงที่พิสูจน์ได้ ใครปฏิบัติตามอย่างจริงจัง สุดท้ายก็จะเข้าถึงความ จริงนั้นได้ คือสามารถพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง ซึ่งมี ผู้พิสูจน์ได้เป็นแสนเป็นล้านคนตลอดต่อเนื่องมากว่า ๒,๐๐๐ ปี ว่าบุญบาปมีจริง กฎแห่งกรรมมีจริง นรกสวรรค์มีจริง ชาตินี้ชาติหน้ามีจริง ทุกคนสามารถ ปฏิบัติธรรมแล้วไปรู้ไปเห็นได้ด้วยตัวเอง นี่คือจุดแข็ง เพราะเป็นสัจธรรม

          ประการที่ ๓ คือ พระสงฆ์ซึ่งเป็นผู้สืบทอดมรดกธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และนำคำสอน ของพระองค์ไปเผยแผ่แก่ประชาชน ซึ่งมีการปฏิบัติ สืบทอดกันมายาวนานตลอด ๒,๐๐๐ กว่าปี

          ทั้งหมดนี้คือจุดแข็งในพระพุทธศาสนา แม้บางครั้งอาจจะมีขึ้นมีลงบ้าง แต่โดยรวมพระพุทธ-ศาสนาก็ยังคงดำรงอยู่ได้เพราะพระรัตนตรัยซึ่งเป็น หัวใจของพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนามีวิธีส่งเสริมพัฒนา คุณธรรมและยกระดับพุทธบริษัทสี่อย่างไรบ้าง

          โดยย่อถ้าเป็นพระภิกษุ สามเณร หลักปฏิบัติคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้ตั้งใจรักษาศีล ตั้งใจทำสมาธิให้เกิดปัญญา จนกระทั่งเป็นความรู้แจ้ง ส่วน ปัญญา ที่เกิดขึ้นจากการอ่าน การฟัง การตรึกตรอง ขบคิด เป็นแค่พื้นฐานเบื้องต้น สุดยอดปัญญา จริง ๆ คือ ภาวนามยปัญญา

          ส่วนของญาติโยมนั้น หลักปฏิบัติในการดำเนิน ชีวิต คือ ทาน ศีล ภาวนา ให้ตั้งใจทำทาน มีความเอื้อเฟื้อต่อกัน และอุปถัมภ์บำรุงพระภิกษุ รักษาศีล ทำสมาธิภาวนา ทั้งทาน ศีล ภาวนา คือวิถีชีวิตของชาวพุทธ

          หากทั้ง ๒ ฝ่ายนี้ทำหน้าที่ของตนเองให้สมบูรณ์ สุดท้ายจะประกอบกันขึ้นมาเป็นความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

การบวชอุทิศชีวิตให้พระพุทธศาสนาจำเป็นหรือไม่

          ในครั้งพุทธกาลส่วนใหญ่ผู้บวชมักจะบวชอุทิศ ชีวิต เพราะบวชมุ่งนิพพาน ซึ่งเป็นการสละชีวิตไป โดยปริยาย แต่ถ้าบวชแล้วไปไม่รอด จะสึกกลางคัน ก็ไม่ว่า สึกแล้วเปลี่ยนใจมาบวชใหม่ก็ไม่ว่าอีกเหมือน กัน ส่วนในประเทศไทยเรามีประเพณีที่ดีมากคือการบวชช่วงสั้น สมัยโบราณก็บวชในช่วงเข้าพรรษา ปัจจุบันอาจจะบวชช่วงปิดเทอมฤดูร้อน

          ประเพณีบวชช่วงสั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง ในการค้ำยันความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในประเทศไทย ระหว่างบวชก็เรียนรู้พระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ ส่วนญาติพี่น้องก็มาทำบุญ ทำให้ได้ อยู่ใกล้ชิดพระศาสนา ต่างจากบ้านเมืองอื่นซึ่งไม่มีประเพณีบวชแบบนี้ แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าประเพณีเริ่มหย่อนลง แต่ก่อนบวชพรรษาหนึ่ง เดี๋ยวนี้ บอกว่างานยุ่งเอาแค่ ๑๕ วัน ๗ วัน แล้วเวลาบวชก็ไม่พร้อมกัน มาบวชทีละรูป ๒ รูป พระอาจารย์ที่จะอบรมก็ไม่ค่อยสะดวก เพราะไม่ได้มาเป็นกลุ่ม เป็นก้อน เลยไม่ค่อยมีใครสอน ทำให้ผู้บวชเกิดความเข้าใจผิดว่าบวชพระไม่เห็นมีอะไร

          เพราะฉะนั้นการอบรมธรรมทายาทถือว่าเป็น การอุดช่องโหว่ที่ย้อนคืนกลับสู่ระหว่างครั้งพุทธกาล กับธรรมเนียมประเพณีไทยอย่างพอดิบพอดี เพราะมาบวชพร้อมกันเป็นกลุ่มเป็นก้อน ทำให้อบรม ได้อย่างเต็มที่ ในสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวย ทั้งวันทั้งคืนอยู่กับการประพฤติปฏิบัติธรรม มีการสอนอย่างเป็นระบบระเบียบ แล้วเปิดกว้างว่าอบรมเสร็จผู้ที่ลาสิกขาจะกลับไปเรียนหนังสือ ไปทำการทำงาน ก็กลับไป แต่ได้หลักในการดำเนินชีวิตว่าต้องทำอย่างไรบ้างให้ชีวิตตัวเองดีขึ้น สังคมก็จะได้คนดีกลับไป ถ้าใครมีศรัทธามีความพร้อมก็บวช ต่อ ผ่านไป ๒ พรรษา ๓ พรรษา ก็ทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยงของรุ่นใหม่ พอพรรษามากขึ้นก็เป็นพระอาจารย์อบรมพระใหม่ เทศน์สอนประชาชน เรียกว่าทำตามความสมัครใจ ใครพร้อมอุทิศชีวิตเพื่อ พระพุทธศาสนา เป็นครูบาอาจารย์เผยแผ่ธรรมะไปสู่ชาวโลก ก็บวชต่อ คนไหนบวชช่วงสั้น ก็กลับไปเป็นคนดีของสังคม นี่คือธรรมทายาท

คำว่า "ธรรมทายาท" มีความเป็นมาอย่างไร

          การอบรมธรรมทายาทของวัดพระธรรมกาย เริ่มขึ้นครั้งแรกในภาคฤดูร้อน ปีพุทธศักราช ๒๕๑๕ พอเริ่มต้นสร้างวัด ขุดคูน้ำเสร็จ ต้นไม้เพิ่งขึ้น นิดหน่อย เริ่มอบรมธรรมทายาทแล้ว เพราะเป้าหมาย ของพระเดชพระคุณหลวงพ่อในการสร้างวัดก็คือ จะต้องสร้างวัดให้เป็นวัด สร้างพระให้เป็นพระ เพื่อ อบรมประชาชนให้เป็นคนดี ดังนั้น พอมีที่มีทางแค่ พอใช้งานได้ก็เริ่มอบรมเลย เพื่อสร้างทายาทผู้สืบทอด มรดกธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้มาเรียนรู้ ทั้งปริยัติและปฏิบัติว่าพระพุทธศาสนาสอนอะไร ปีแรกมีนิสิตนักศึกษาอบรมประมาณ ๔๐-๕๐ คน ต่อมาเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ อบรมธรรมทายาทเสร็จแล้วสามารถพูดได้อย่างมั่นใจว่า เราคือชาวพุทธ รู้แล้วว่าพระพุทธเจ้าสอนอะไร และมีหลักในการดำเนินชีวิต รู้ว่าต้องทำอย่างไรชีวิตถึงจะประสบ ความสุขและความสำเร็จ

การที่เรามีการอบรมธรรมทายาท และมีสถานที่รองรับ จะเป็นประโยชน์ต่อผู้บวช และสังคมภายนอกอย่างไรบ้าง

          เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล ถ้าใครจับงานนี้แล้วสังเกตดู จะพบความจริงที่แฝงอยู่ คือบางคนรู้สึกว่าศีลธรรมในสังคมไทยเสื่อม เด็กเดี๋ยวนี้ไม่ค่อย สนใจธรรมะ ไม่ค่อยเคารพผู้ใหญ่ ความกตัญญู ลดลง แต่พอไปสัมผัสแล้วจะพบว่า จริง ๆ แล้วคน ทุกคนอยากเป็นคนดี แต่ไม่มีคนสอน ผู้ที่มีความรู้ความสามารถไปแนะนำเขาได้จริง ๆ มีไม่พอ ให้เราลองนึกดูว่า ในประเทศไทยมีพระภิกษุกี่รูปที่สามารถสอนให้ประชาชนทุกระดับชั้นรับได้ เข้าใจได้ และมีหลักไปใช้ในการดำเนินชีวิตได้ พระมีน้อย ปัญหาจึงเป็นอย่างที่เห็น

          จากประสบการณ์ที่เคยไปอบรมประชาชนมา พบว่าทุกระดับตั้งใจมาก ใหม่ ๆ ก็ไม่ตั้งใจจะมาฟัง แต่พอได้ฟังคำสอนจริง ๆ ได้ปฏิบัติจริง ๆ ก็ซาบซึ้งและประทับใจว่า พระพุทธศาสนามีคำสอนอย่างนี้หรือ รู้สึกภูมิใจที่เป็นชาวพุทธ อยากจะศึกษาคำสอนให้มากขึ้นไปอีก บางทีชวนมานั่งสมาธิ ๓ วัน ให้รักษาศีล นั่งสมาธิ ฟังเทศน์ฟังธรรม ปรากฏว่าชอบมาก บอกว่าต้องไปชวนเพื่อน ๆ มาอีก นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ เป็นอย่างนี้ทุกกลุ่มเลย

          ดังนั้น ปัญหาจริง ๆ ไม่ใช่คนไม่สนใจธรรมะ แต่อยู่ที่ว่ายังไม่มีผู้สอนธรรมะเพียงพอต่างหาก เพราะฉะนั้นก็ต้องอบรมธรรมทายาทมาก ๆ อบรม เสร็จผู้ที่ต้องการลาสิกขา ก็กลับไปปฏิบัติภารกิจการงานของตัวเอง และพร้อมจะเป็นคนดีของสังคม ส่วนที่อยู่ต่อก็เป็นพระภิกษุที่ผ่านการอบรมอย่างดี มีความรู้ความสามารถออกไปประกาศพระพุทธ-ศาสนา เผยแผ่ธรรมะให้แก่ญาติโยมได้ ถ้าอย่างนี้ละก็ศีลธรรมจะกลับมาสู่สังคมไทย และจะล้นออกไปสู่สังคมโลกได้ด้วย นั่นคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น จึงต้องบวชธรรมทายาทเยอะ ๆ จึงต้องสร้างศูนย์ฝึกอบรม ธรรมทายาทให้อบรมได้ครั้งหนึ่งเป็นพันรูป เพราะมีความจำเป็นอย่างนี้

ผู้สร้างสถานที่รองรับผู้มาอบรมธรรมทายาทได้บุญอย่างไรบ้าง

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเปรียบว่า ผู้ให้ประทีปชื่อว่าให้ดวงตา ผู้ให้ผ้าชื่อว่าให้วรรณะ ผู้ให้ อาหารให้ข้าวชื่อว่าให้กำลัง ผู้ให้ที่อยู่อาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง การที่ผู้ให้ที่อยู่อาศัยชื่อว่าให้ ทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะที่อยู่อาศัยเป็นตัวรองรับอย่างอื่น มีสถานที่แล้วจึงจะสามารถพัฒนาสิ่งอื่น ๆ ขึ้นมาได้ โดยเฉพาะถ้าเป็นที่อยู่อาศัยของพระภิกษุที่ตั้งใจบำเพ็ญสมณธรรม และยิ่งมีพระเป็นพัน ๆ รูป คิดดูว่าบุญขนาดไหน ขนาดเราไปอุปัฏฐากบำรุงพระ ที่ตั้งใจปฏิบัติธรรมเพียงรูปเดียว บุญก็ยังมากเลย และสถานที่ปฏิบัติธรรมนี้สร้างเสร็จแล้วก็ไม่ได้ใช้แค่ปีเดียว แต่ทำให้แข็งแรงทนทานอยู่ได้เป็นพันปี ปีหนึ่งอบรม ๑,๐๐๐ รูป พันปีก็ ๑,๐๐๐,๐๐๐ รูป อบรมแล้วส่วนหนึ่งมีศรัทธาอยู่ต่อ แล้วไปประกาศพระพุทธศาสนาทั่วโลก บุญเราจะขนาดไหน พระภิกษุเหล่านี้ทำความดีเท่าไร เรามีส่วนแห่งบุญของท่านทั้งหมดเลย แม้ละโลกนี้ไปแล้วบุญยังตามส่งต่อเนื่อง เพราะสถานที่ที่เราสร้างยังอยู่ ยังมีพระภิกษุ มาฝึกตัว มาประพฤติปฏิบัติธรรมและออกประกาศ พระศาสนาให้รุ่งเรืองทั่วโลกเป็นพัน ๆ ปี บุญส่งถึงเราตลอดเวลา

          สรุปโดยย่อ อานิสงส์ผลบุญนี้ ประการแรก คือ เกิดภพใดชาติใดก็ตาม เราจะมีที่อยู่อาศัยที่เป็นปฏิรูปเทส เหมาะแก่การทำความดีตลอดไปทุกภพทุกชาติ อยู่บนสวรรค์วิมานก็สวย ร่มรื่น งดงาม เป็นที่ชื่นชมยินดีของมวลหมู่เทพยดาทั้งปวง กลับมา เกิดบนโลกมนุษย์ ก็ได้เกิดในที่ที่ดี รุ่งเรืองด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ในตระกูลที่มีศักดิ์สูง เป็นที่ยอมรับนับถือของผู้คนทั้งหลาย พร้อมด้วยโภคทรัพย์สมบัติ ทั้งปวง

          ประการที่ ๒ เกิดภพใดชาติใดก็ตาม เราจะมี ญาติพี่น้อง บริวาร เพื่อนฝูงเป็นคนดีทั้งหมด เพราะ เราสร้างสถานที่สำหรับสร้างคนให้เป็นคนดี จะทำอะไรมีแต่คนสนับสนุนให้ทำความดี มีลูก มีสามีภรรยา พวกพ้องบริวาร ก็จะมีแต่คนดี ๆ มีแต่ข่าวดี มีแต่เรื่องชื่นใจมาให้ ทำงานก็จะมีแต่ลูกน้องเก่งและดี ด้วยอานิสงส์ที่เราได้สร้างศูนย์ฝึกอบรมธรรมทายาท สถานที่สร้างพระภิกษุผู้เป็นอายุพระพุทธศาสนา

การบวชธรรมทายาทมีอานิสงส์อย่างไรบ้าง

          มีอานิสงส์มหาศาล คือ เราจะได้เรียนรู้หลักพระพุทธศาสนาจริง ๆ ต้องบอกว่าที่อาตมามานั่งอยู่ตรงนี้ได้ ก็เริ่มมาจากธรรมทายาทนั่นเอง ก่อนจะเข้าอบรมธรรมทายาทไม่เคยเข้าวัดพระธรรมกาย มาก่อน วันแรกที่เข้าวัดพระธรรมกายคือวันอบรมธรรมทายาท มาปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิจริงจัง ฟังหลวงพ่อท่านเทศน์สอนแล้ว ไม่เคยรู้มาก่อนว่าพระพุทธศาสนามีคำสอนที่เลิศและเยี่ยมอย่างนี้ ได้มาปฏิบัติรู้สึกซาบซึ้งมาก และได้เอาไปใช้ในการ เรียนอย่างเต็มที่ เพราะตอนนั้นยังเรียนหนังสืออยู่ ผลการเรียนพุ่งขึ้นเป็นอัศจรรย์ เกิดปัญหาอะไรขึ้นเราจะไม่สับสน เราจะทบทวนว่าเรื่องนี้พระพุทธเจ้า ตรัสไว้อย่างไร เราควรจะแก้อย่างไร ค่อย ๆ มองปัญหาออก แล้วแก้ทีละเปลาะ ๆ พูดง่าย ๆ ว่าดำเนินชีวิตอย่างมีหลัก ไม่สับสน ใครอบรมธรรม-ทายาทแล้วจะมีหลักอันนี้ มีปัญหาเกิดขึ้นก็แก้ได้ ต้องการประสบความสำเร็จในการเรียนในการงาน ก็รู้หลักว่าจะต้องทำอย่างไร จะต้องปกครองผู้คนทั้งหลายก็รู้ว่าต้องทำอย่างไร ทุกอย่างเรามีหลัก เพราะฉะนั้นเราจะดำเนินชีวิตด้วยความมั่นใจ และ จะนำไปสู่ความสุขความสำเร็จในชีวิต

บางคนบอกว่าการบวชเป็นการเสียเวลา จะมีวิธีแก้ความเข้าใจผิดตรงนี้อย่างไรบ้าง

          ต้องบอกว่าให้ลองมาอบรมธรรมทายาทดู แล้วจะพบคำตอบว่า พระใช้เวลาอย่างคุ้มค่าทุกหยาดหยด ยิ่งกว่าสมัยที่เป็นโยมเสียอีก ที่เขาเข้าใจอย่างนี้ เพราะว่าบางท่านไปบวชแล้วก็ไม่ค่อยได้ทำอะไร เพราะบวชช่วงสั้น ๆ ๗ วัน ๑๕ วัน และไม่มีการอบรมอะไร ก็เลยเข้าใจว่าการบวชไม่มี อะไร เสร็จแล้วก็ไปพูดต่อ คนฟังเลยคิดว่าไม่มีอะไร เกิดความเข้าใจผิด แต่ความจริงแล้วชีวิตของพระ แค่ ท่านปฏิบัติธรรม บำเพ็ญสมณธรรม ก็เป็นเนื้อนาบุญ ให้เราแล้ว เราไปทำบุญกับท่าน เราก็ได้บุญมาก เพราะท่านตั้งใจทำความดี ยิ่งท่านสอนอบรมชาวบ้าน ประโยชน์ยิ่งเกิดขึ้นอีกมหาศาล ใครที่อยากจะรู้ว่าชีวิตพระเป็นอย่างไร ใช้เวลาคุ้มหรือไม่คุ้ม มาอบรม ธรรมทายาทเถิด แล้วจะพบความจริงว่า ทำไมชีวิตของพระถึงประเสริฐอย่างนี้ ทำไมถึงมีคุณค่าอย่างนี้ เวลาทุกวันทุกคืนที่ผ่านไปได้ใช้อย่างเป็นประโยชน์จริง ๆ ทั้งต่อตนเอง ต่อผู้อื่น ทุกวัน ทุกคืน ทุกชั่วโมง ทุกนาทีที่ผ่านไป บวชแล้วจะรู้สึกภาคภูมิใจ ในตัวเอง เพราะเวลาทั้งหมดได้ใช้ไปในสิ่งที่เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นไปเพื่อการพัฒนาตัวเองให้สูงขึ้นและดีขึ้นทั้งสิ้น

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 117 กรกฎาคม ปี2555

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล