วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ตอนที่ ๙ ความรู้ประมาณ รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

พระธรรมเทศนา

 

 

ตอนที่ ๙

ความรู้ประมาณ
รากฐานความมั่นคงของพระพุทธศาสนา

๓. ความมั่นคงของพระธรรมวินัย

          ในการสร้างความมั่นคงของพระธรรมวินัย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตรียมความพร้อม ไว้ ๕ ประการ ได้แก่ ๑) ความพร้อมด้านบุคคล ๒) ความพร้อมด้านแนวทางการสังคายนา ๓) ความพร้อมด้านการขจัดข้อสงสัยในพระพุทธพจน์ ๔) ความพร้อมด้านความสมบูรณ์แบบของพระธรรมวินัย ๕) ความพร้อมด้านตัวแทนของพระบรมศาสดา โดยเป็นการเตรียมการตั้งแต่พรรษาแรกจนกระทั่งถึงพรรษาสุดท้าย ทำให้หลังจากพระองค์เสด็จดับขันธ-ปรินิพพานไปแล้ว พระพุทธศาสนาก็มิได้อันตรธานหายไป เหล่าพระอรหันต์ก็สามารถกระทำปฐมสังคายนา เพื่อรักษาความมั่นคงของพระธรรมวินัยไว้ได้ พระธรรมวินัยจึงยังคงดำรงอยู่ เป็นตัวแทนพระบรมศาสดา มาตราบกระทั่งถึงปัจจุบันนี้

          สำหรับขั้นตอนการสร้างความมั่นคง ของพระธรรมวินัย อาจกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้

          ๓.๑ พระองค์ทรงสร้างบุคลากรที่เป็นต้นแบบความเคารพในพระธรรมวินัยไว้เป็นจำนวนมาก

          ในการทำสังคายนาครั้งแรก มีพระอรหันต์มาประชุมร่วมกันทั้งหมด ๕๐๐ รูป ผู้เป็น หลักในการทำสังคายนา คือ พระมหากัสสปะ พระอานนท์ พระอุบาลี เริ่มประชุมกันในวันเพ็ญ ขึ้น ๑  ค่ำ เดือน ๑๐ หลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยได้รวบรวมพระพุทธพจน์ ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ มาจัดเรียงหมวดหมู่ให้เป็นพระไตรปิฎก ได้แก่

          พระวินัยปิฎก รวบรวมพระวินัยและพระพุทธบัญญัติ อันเป็นข้อปฏิบัติของภิกษุและภิกษุณี มีจำนวนทั้งหมด ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

          พระสุตตันตปิฎก รวบรวมพระสูตร คือพระธรรมเทศนาที่ตรัสแสดงแก่บุคคล หรือปรารภเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มีจำนวนทั้งหมด ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

          พระอภิธรรมปิฎก รวบรวมคำสอนเกี่ยวกับสภาวธรรมล้วน ๆ ไม่เกี่ยวข้องกับบุคคล หรือเหตุการณ์ มีจำนวนทั้งหมด ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์

          ในการทำปฐมสังคายนา พระมหากัสสปะ ทำหน้าที่เป็นประธานสงฆ์และเป็นผู้ตั้งคำถาม ทั้งฝ่ายพระธรรม และฝ่ายพระวินัย พระอุบาลี ผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านพระวินัย หมู่สงฆ์ลงมติให้ท่านทำหน้าที่ตอบคำถามด้านพระวินัย พระอานนท์ ผู้เป็นเลิศด้านพุทธอุปัฏฐาก และเป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายผู้เป็นพหูสูต หมู่สงฆ์จึงลงมติให้ท่าน ทำหน้าที่ตอบคำถามด้านพระธรรม จากนั้นการทำปฐมสังคายนาก็เริ่มต้นขึ้น

          เมื่อพระมหากัสสปะทำการซักถามพระอุบาลีในเรื่องพระวินัยทั้ง ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์จบลงแล้ว พระอรหันต์ทั้งหมดก็สวดสาธยายพระวินัยพร้อมกัน จากนั้นก็เริ่มสังคายนา พระธรรม เมื่อพระมหากัสสปะซักถามพระอานนท์ในเรื่องพระธรรมจบ ๒๑,๐๐๐ พระ-ธรรมขันธ์แล้ว พระอรหันต์ทั้งหมดก็สวดสาธยายพระธรรมพร้อมกัน จากนั้นก็เริ่มสังคายนาพระอภิธรรมจนจบ ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ แล้วพระอรหันต์ทั้งหมดก็สวดรับรอง และสวดสาธยายพระอภิธรรมพร้อมกัน เป็นอันเสร็จสิ้นการทำปฐมสังคายนา ของเหล่าพระอรหันต์ทั้ง ๕๐๐ รูป

          การที่พระมหากัสสปะสามารถทำหน้าที่ เป็นประธานปฐมสังคายนาได้อย่างราบรื่นไร้ปัญหาเช่นนี้ ก็เพราะพระพุทธองค์ทรงเตรียมความพร้อม ของบุคลากรไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันแรก ที่ประทานการบวชให้แล้ว

          ในวันที่พระมหากัสสปะทูลขอบวชนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานการบวชด้วย โอวาทปฏิคคหณอุปสัมปทา1

          ซึ่งประกอบด้วยโอวาท ๓ ประการ ได้แก่

          ๑. เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักเข้าไปตั้งความละอายและความเกรงไว้ในภิกษุ ทั้งที่เป็นผู้เฒ่า ทั้งที่เป็นผู้ใหม่ ทั้งที่เป็นผู้ปานกลาง อย่างแรงกล้า

          ๒. เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราจักฟังธรรมอันใดอันหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยกุศล เรา เงี่ยหูลงฟังธรรมนั้นทั้งหมด ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์ รวบรวมไว้ทั้งหมดด้วยใจ

          ๓. เธอพึงศึกษาอย่างนี้ว่า ก็สติที่เป็นไปในกายของเรา ซึ่งประกอบด้วยความสำราญ จักไม่ละเราเสีย

          หลังจากประทานการบวชให้แล้ว พระองค์ก็ทรงอนุญาตให้พระมหากัสสปะตามเสด็จ ไปทุกแห่ง ครั้นเมื่อพระเถระรู้ว่าพระองค์จะประทับนั่งที่โคนไม้ต้นหนึ่ง พระเถระจึงใช้สังฆาฏิซึ่งเป็นผ้าเก่า ๆ ของท่านปูลาดเป็นอาสนะถวายพระองค์ ครั้นเมื่อพระองค์ตรัสชม ว่าผ้าสังฆาฏินั้นอ่อนนุ่ม พระเถระก็ทราบว่าทรงมีพุทธประสงค์จะห่มสังฆาฏินั้น พระเถระ จึงทูลถวายผ้าสังฆาฏินั้นแด่พระองค์ทันที เมื่อพระองค์ทรงรับผ้าสังฆาฏิเนื้อนุ่มของพระเถระ แล้ว ก็ประทานผ้าสังฆาฏิของพระองค์ซึ่งเก่าคร่ำคร่า เพราะใช้มานานแล้วแก่พระเถระ ผ้าสังฆาฏิหรือผ้าบังสุกุลจีวรผืนนี้ ในวันแรกที่พระองค์ทรงนำมาใช้ ก็เกิดแผ่นดินไหวจนถึง ระดับน้ำรองแผ่นดิน ครั้นในขณะที่ประทานผ้าบังสุกุลผืนนี้แก่พระเถระ ก็เกิดแผ่นดินไหวเช่นเดียวกันกับครั้งก่อน เสมือนจะเป็นการรับรู้ว่าการกระทำเช่นนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะไม่เคยปรากฏมาก่อนเลย ว่าพระองค์ประทานจีวรที่ทรงใช้ห่มอยู่ให้แก่พระสาวก

          พระมหากัสสปะตระหนัก ในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์เป็นอย่างดี ท่านมิได้ ทะนงตน แต่ได้กระทำวัตรปฏิบัติที่สมควรแก่การได้ครองผ้าสังฆาฏิของพระพุทธองค์ให้ ยิ่ง ๆ ขึ้นไปด้วยการสมาทานธุดงค์ ๑๓ ข้อ ในสำนักของพระพุทธองค์ และถือมั่นไว้ ๓ ประการตลอดชีวิต คือ

          ๑) ถือบังสุกุลจีวรเป็นวัตร

          ๒) ถือการเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร

          ๓) ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร

          ท่านบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน พอรุ่งเช้าวันที่ ๘ ก็บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ ถึงพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาญาณ ๔ พระบรมศาสดาทรงยกย่องท่าน ไว้ในฐานะผู้เป็นเลิศกว่าภิกษุทั้งหลายในด้านธุดงควัตร ท่านจึงเป็นต้นแบบ ของการเคารพในพระธรรมวินัยอย่างที่ใคร ๆ จะหาข้อติเตียนไม่ได้

          การบวชด้วยโอวาท ๓ ประการนี้ พระบรมศาสดาได้ประทานการบวชให้ เฉพาะพระมหากัสสปะเพียงรูปเดียวเท่านั้น ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาของโอวาทแล้ว ก็จะเห็นว่าเป็นโอวาท ที่มีอุปการคุณต่อพระมหากัสสปะ ในการเก็บรวบรวมคำสอนและเหตุการณ์ ต่าง ๆ ตลอดการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ๔๕ พรรษา ของพระพุทธองค์ไว้ทั้งหมด ครั้นเมื่อพระบรมศาสดาเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว นอกจากท่านจะเป็นพระเถระผู้ใหญ่ ที่มีพรรษากาลมากที่สุดแล้ว ท่านยังเป็นผู้ที่ทราบความเป็นมาทั้งหมด ในพระพุทธศาสนา ที่ประชุมสงฆ์ จึงมีมติยกย่องท่าน ให้เป็นประธานการทำปฐมสังคายนา ซักถามฝ่ายพระธรรม และฝ่ายพระวินัย เพื่อจัดหมวดหมู่พระพุทธพจน์ทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ ให้เป็นพระไตรปิฎก

          จากการศึกษาเรื่องการปฐมสังคายนานี้ ทำให้พบว่า การสร้างความมั่นคงของพระธรรมวินัยนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเตรียมบุคลากร ผู้เป็นต้นแบบความเคารพในพระธรรมวินัย ไว้ตั้งแต่ต้นพุทธกาลแล้ว

          ๓.๒ พระองค์ทรงเตรียมแนวทางการทำสังคายนาพระไตรปิฎกไว้ล่วงหน้า

          นอกจากการสร้างบุคคลต้นแบบ ที่มีความเคารพในพระธรรมวินัยแล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้ายังทรงมีพุทธานุญาต ให้พระสารีบุตรวางแนวทางการสังคายนาไว้ล่วงหน้าอีกด้วย ดังมีหลักฐานปรากฏอยู่ใน สังคีติสูตร3 ซึ่งสรุปได้ดังนี้

          ในสมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์พร้อมด้วยพระสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๕๐๐ รูป เสด็จจาริกไปประทับอยู่ที่เมืองปาวา แห่งแคว้นมัลละ นิครนถนาฏบุตรเจ้าลัทธิคนหนึ่งในจำนวน ครูทั้ง ๖ ซึ่งมีคนนับถือมาก ก็อาศัยอยู่ที่เมืองนี้ หลังจากที่นิครนถนาฏบุตรสิ้นอายุขัยลงไม่นานนัก เหล่านักบวชนิครนถ์ผู้เป็นสาวกก็แตกแยกเป็น ๒ ฝ่าย ต่างทะเลาะวิวาทกันเกี่ยวกับการเผยแผ่คำสอนตามลัทธิของตน โดยต่างฝ่ายต่างกล่าวโจมตีกันว่า คำสอนของ อีกฝ่ายหนึ่งผิดเพี้ยนจากคำสอนดั้งเดิมของครูบาอาจารย์ การทะเลาะวิวาทระหว่างเหล่านักบวชนิครนถ์ ที่ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น เป็นเหตุให้บรรดาสาวก ที่เป็นคฤหัสถ์พากันเสื่อมศรัทธาในลัทธินี้

          วันหนึ่งพระพุทธองค์ทรงต้องการพักผ่อน จึงตรัสสั่งพระสารีบุตรให้แสดงธรรม แก่พระภิกษุแทนพระองค์ ทรงรับสั่งให้ปูผ้าสังฆาฏิเป็น ๔ ชั้น แล้วทรงสำเร็จสีหไสยาสน์ อยู่ในบริเวณไม่ไกลนัก พระสารีบุตรได้แสดงธรรม แก่เหล่าพระภิกษุโดยปรารภเหตุความ แตกแยกของเหล่านักบวชนิครนถ์นี้ เพื่อเสนอแนวทางในการทำสังคายนาพระธรรมคำสอน ในพระพุทธศาสนาในอนาคต อันจะเป็นการป้องกันความขัดแย้งกันเอง ในหมู่พุทธสาวก หลังจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว

          พระสารีบุตรได้กล่าวแสดงธรรมว่า พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เป็น คำสอนที่ไม่มีความขัดแย้งกันเอง เป็นคำสอนที่ตรัสไว้ดีแล้ว ประกาศไว้ดีแล้ว เป็นธรรม เครื่องนำออกจากทุกข์ได้ เป็นไปเพื่อความสงบระงับ

          ดังนั้น พระภิกษุทั้งหลายพึงสังคายนาด้วยกัน คือสวดด้วยกันอย่างพร้อมเพรียง หรือ สวดเป็นแบบเดียวกัน ไม่สวดให้ผิดเพี้ยนแตกต่างจากกัน การทำสังคายนาเช่นนี้จะทำให้ พระพุทธศาสนาตั้งอยู่ได้นาน เพื่อความสุขแก่มหาชนเป็นอันมาก เพื่อความอนุเคราะห์ชาวโลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุขแก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย

          จากนั้นพระสารีบุตรก็ได้แสดงธรรม อันเป็นแนวทางในการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ๑๐ หมวด โดยรวมหลักธรรมที่มีจำนวนข้อเท่ากัน ไว้เป็นหมวดเดียวกัน เช่น หลักธรรมที่มี ๑ ข้อ ก็รวมอยู่ในหมวด ๑ หลักธรรมที่มี ๒ ข้อ ก็รวมอยู่ในหมวด ๒ เป็นต้น (ทำนองเดียวกับการจัดหมวดหมู่หลักธรรม ในหลักสูตรนักธรรมตรี นักธรรมโท นักธรรมเอก)

          เมื่อพระสารีบุตรแสดงธรรมจบลง พระบรมศาสดาก็เสด็จลุกขึ้น ทรงพอพระทัยการแสดงธรรมของพระสารีบุตรเป็นอันมาก จึงตรัสสรรเสริญ เหล่าพระภิกษุสงฆ์ก็ชื่นชมยินดี ในถ้อยคำของพระสารีบุตรเป็นอันมาก

          จากการศึกษาสังคีติสูตรนี้ ก็ทำให้พบว่า การสร้างพระธรรมวินัยนั้น พระสัมมาสัม-พุทธเจ้าทรงวางแนวทาง การทำสังคายนาไว้ล่วงหน้าแล้วเช่นกัน

          ๓.๓ พระองค์ทรงให้แนวทางในการขจัดความสงสัยในพระธรรมวินัยไว้ชัดเจน

          เมื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน หลังจากทรงปลงอายุสังขาร ที่ปาวาลเจดีย์แล้ว ก็เสด็จออกจากเมืองเวสาลี แคว้นวัชชี ไปเมืองกุสินารา แคว้นมัลละ เพื่อเสด็จดับขันธปรินิพพานที่สาลวโนทยาน (สวนป่าต้นสาละ) ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางราว ๓ เดือน

          ในระหว่างการเดินทาง ขณะประทับอยู่ที่อานันทเจดีย์เมืองโภคนคร พระองค์ได้รับสั่ง เรียกประชุมพระภิกษุสงฆ์ แล้วตรัสแสดงธรรมเรื่อง มหาปเทส ๔ ประการ4 เพื่อใช้เป็นหลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียงคำเทศน์สอนของพระภิกษุรูปอื่น ๆ ว่าถูกต้องตรงตามพระธรรมวินัยที่ตรัสไว้ดีแล้วหรือไม่ เพราะพระธรรมวินัยนั้นจะเป็นตัวแทน ของพระบรมศาสดา ในเวลาที่เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว

          มหาปเทส ๔ ที่ใช้เป็นหลักอ้างอิงสำหรับเทียบเคียงคำสอนต่าง ๆ ของพระภิกษุกับพระธรรมวินัยนั้น มีแนวทางปฏิบัติตามดังนี้

          ๑. หากได้ยินภิกษุรูปใด ในพระพุทธศาสนากล่าวว่า "ถ้อยคำที่นำมาแสดงธรรมนี้ เราได้ฟังมาจากเบื้องหน้าพระพักตร์ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยตนเอง"

          ๒. หากได้ยินภิกษุรูปใดในพระพุทธศาสนากล่าวว่า "ถ้อยคำที่นำมาแสดงธรรมนี้ เราได้ฟังมาจากเบื้องหน้าของหมู่สงฆ์ ที่มีพระเถระผู้เป็นอธิบดีสงฆ์ มีพระเถระรูปอื่น ๆ และพระภิกษุหมู่ใหญ่ อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมาก ในอารามแห่งโน้นด้วยตนเอง"

          ๓. หากได้ยินภิกษุรูปใดในพระพุทธศาสนากล่าวว่า "ถ้อยคำที่นำมาแสดงธรรมนี้ เราได้ฟังมาจากเบื้องหน้าของหมู่ พระเถระในอารามแห่งโน้น ที่มีหมู่พระเถระผู้เป็นพหูสูต เรียนคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนมากด้วยตนเอง"

          ๔. หากได้ยินภิกษุรูปใดในพระพุทธศาสนากล่าวว่า "ถ้อยคำที่นำมาแสดงธรรมนี้ เราได้ฟังมาจากเบื้องหน้า ของพระเถระรูปหนึ่งในอารามแห่งโน้น ผู้เป็นพหูสูต เรียนคัมภีร์ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ด้วยตนเอง"

          พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงมีรับสั่งว่า หากได้ยินถ้อยคำของพระภิกษุรูปใดในทำนอง ๔ ประการดังกล่าว "ขอเธอจงอย่าเพิ่งชื่นชมยินดี จงอย่าเพิ่งคัดค้านปฏิเสธ แต่จงจดจำบทและพยัญชนะเหล่านั้นให้ดี แล้วเทียบเคียงดูในพระสูตรและพระวินัย ถ้าเทียบเคียงแล้ว เข้ากันไม่ได้ ก็แสดงว่าไม่ใช่คำสอนของพระบรมศาสดา ภิกษุรูปนั้นเรียนมาผิด ให้ละทิ้งเสีย ถ้าเทียบเคียงแล้วเข้ากันได้ ก็แสดงว่าเป็นคำสอนของพระบรมศาสดา"

          การที่พระองค์ทรงแสดงมหาปเทส ๔ ประการ ไว้ล่วงหน้าก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็เพราะทรงทราบล่วงหน้าว่า หลังจากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว พระอรหันต์ ทั้งหลายจะต้องทำปฐมสังคายนา เพื่อจัดเรียงหมวดหมู่พระธรรมวินัย เป็นพระไตรปิฎกไว้เป็น ตัวแทนของพระบรมศาสดา เพื่อให้ชาวพุทธรุ่นหลังที่มาไม่ทัน พระพุทธองค์ได้ใช้เทียบเคียง ศึกษาและปฏิบัติตาม

          จากเรื่องนี้ ก็ทำให้เราได้ข้อคิดว่า การทำงานทุกอย่างของพระองค์ล้วนมีการวางแผน ไว้ล่วงหน้า ทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันมิให้พระพุทธศาสนาอันตรธานหายไป หลังจากพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการที่พระพุทธศาสนา ยืนยาวมาถึงทุกวันนี้มิใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่พระองค์ได้ทรงดำเนินงาน อย่างเป็นขั้นเป็นตอนมาตั้งแต่วันแรก ที่ออกประกาศพระศาสนา จนกระทั่งวันสุดท้ายที่ประทานปัจฉิมโอวาท ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพาน เพื่อให้พระธรรมวินัยเป็นตัวแทนของพระองค์ ดังที่ตรัสไว้ในที่หลายแห่ง ทั้งนี้ก็เพื่อให้ ชาวโลกทั้งหลาย มีโอกาสศึกษาหนทางบรรลุมรรคผลนิพพาน และสามารถปฏิบัติตามจนหลุดพ้น จากการเวียนว่ายตายเกิด ในวัฏสงสารตามพระองค์ไป

(อ่านต่อฉบับหน้า)

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 123 มกราคม ปี2556

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล