พระพุทธศาสนา
กับวัฒนธรรมสากลของโลก
การสื่อสาร ทำให้โลกที่กว้างใหญ่ ดูเล็กลงถนัดใจ คนอยู่ไกลกันถึงต่างประเทศ ก็สามารถพูดคุยสนทนากันได้ เหมือนอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน ทำให้เกิดกระแส การรับวัฒนธรรม ของประเทศต่าง ๆ เข้ามา โดยตรงอย่างมากมาย ซึ่งมีทั้งที่ดีและไม่ดี ในพระพุทธศาสนามี คำอธิบายเกี่ยวกับ วัฒนธรรมสากลของโลก ที่ถูกต้องบ้างหรือไม่ ?
คำว่า "วัฒนธรรม" ในภาษาไทย มาจากภาษาสันสกฤตสองคำ คือ วัฒน + ธรรม
คำว่า "วัฒน" มาจากศัพท์ วฑฺฒน หมายถึง ความเจริญ
คำว่า "ธรรม" หรือ ธรฺม ในสันสกฤต หมายถึง ความดี
วัฒนธรรม หมายถึง ความดีอันจะก่อให้เกิดความงอกงามที่เป็นระเบียบเรียบร้อย
เมื่อทำความดี สิ่งที่เป็นผลเกิดขึ้นคือ "บุญ" และเพื่อให้เข้าใจความหมายของคำว่า "บุญ" ให้ตรงกัน หลวงพ่อขอให้คำจำกัดความที่ชัดเจนว่า บุญ คืออะไร ?
บุญ คือ พลังงานบริสุทธิ์
เกิดขึ้นที่ไหน? เกิดขึ้นในใจมนุษย์ ไม่ได้เกิดในดิน ในน้ำ ในลม ในไฟ จะเป็นที่ดวงอาทิตย์ หรือดวงจันทร์ก็ไม่เกิด แต่บุญเกิดในใจมนุษย์
เกิดเมื่อไร?
๑. บุญเกิดขึ้นทุกครั้งเมื่อ ตั้งใจละบาป ไม่ว่าจะเป็นบาปทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ เมื่อตั้งใจละบาปเมื่อใด บุญก็เกิดขึ้นเมื่อนั้น
๒. บุญเกิดทุกครั้งเมื่อ ตั้งใจทำดี ไม่ว่าจะทำด้วยกาย วาจา หรือใจ บุญก็เกิด
๓. บุญเกิดทุกครั้งเมื่อ ตั้งใจทำใจให้ใส ใจใสขึ้นด้วยการเจริญสมาธิภาวนา บุญก็เกิด
บุญมีไว้เพื่อทำอะไร ?
มีไว้เพื่อหล่อเลี้ยง-คุ้มครอง-รักษาชีวิตเรา เพราะเราต้องใช้บุญอยู่ทุกลมหายใจ ใช้ทั้งโลกนี้โลกหน้า เพราะฉะนั้น เรื่องสำคัญนี้เราต้องเตือนตัวเอง และอย่าใช้บุญเปลือง ให้ถนอม ๆ บุญเอาไว้
เมื่อหลวงพ่อเข้าวัดใหม่ ๆ ได้ฟังคุณยายอาจารย์ท่านพูด ก็ไม่ค่อยเข้าใจ ท่านบอกอย่างนี้
"ยายเห็นคนบางคนมาวัด เวลาเอาแบงก์ใส่กระเป๋า บางทีก็ไม่พับให้เรียบร้อย ทำยู่ยี่ ๆ ยัดใส่กระเป๋าไป"
"ยายเลยเตือนเขาว่า แบงก์แต่ละใบ ถ้าคุณไม่มีบุญ ไม่ได้มันมาหรอกนะ แค่ทำแบงก์ยู่ยี่ ๆ ไม่ค่อยเต็มใจจะเอามันไว้ มันก็พร้อมจะบินหนีคุณนะ ยิ่งแตกเป็นใบย่อยเร็วเท่าไร ยิ่งบินหนีเร็วเท่านั้น ระวังนะคุณ "
คำคุณยายท่านเตือนอย่างนี้ แต่เมื่อก่อนโน้นฟังไม่เข้าใจ เดี๋ยวนี้เข้าใจแล้ว ซึ้งด้วย ถ้าใครยังไม่เข้าใจ วันนี้ก็ไปลองคิดดูนะ
เพราะบุญสำคัญต่อชีวิตของเราอย่างนี้ แล้วเราก็ใช้บุญกันเปลือง ใช้กันอยู่ทุกลมหายใจ ใช้กันข้ามโลก เหตุนี้เอง พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ ทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคต จึงทรงให้ "แม่บทวัฒนธรรมโลก" ไว้เป็นหลักการในการกำหนดวิถีความเป็นอยู่ ความประพฤติของมนุษย์ โดยพระพุทธองค์ทรงให้ไว้ ๓ ประการ คือ
๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง ไม่ว่าจะบาปเล็ก บาปน้อย ไม่ทำเลย ชื่อว่าบาปใหม่อย่าทำ เพราะบาปเก่าที่มีอยู่ก็หนักพอแรงแล้ว บาปเกิดขึ้นมาเท่าไร ก็แสดงว่าบุญน้อยลงไปเท่านั้น ฉะนั้น อย่า ทำบาปใหม่เกิดขึ้นมาอีก
๒. การทำบุญกุศลใหม่ให้เต็มที่ หมั่นสร้างบุญกุศลใหม่ให้เต็มที่ อย่ากลัวว่าบุญจะมากไป ทำบุญเพียงนิดเพียงหน่อยก็พอ เดี๋ยวก็ไปลำบากในภายหน้า จะดีไปไม่ตลอดรอดฝั่ง
๓. การหมั่นทำใจให้ผ่องใส ถ้าใจไม่ผ่องใส ยากที่จะไปเห็นเรื่องบาป-บุญให้ชัดเจน ใจใส มาก ๆ เข้า เข้าถึงพระธรรมกาย อาศัยตาของพระธรรมกายไปดูบุญดูบาปให้ชัด ๆ ไปดูเรื่อง นรกสวรรค์ให้ชัด ๆ เพราะการจะรู้ความจริงในเรื่องกฎแห่งกรรม ต้องอาศัยธรรมจักษุไปดู ดูชัดเมื่อใดก็จะหมดสงสัยเรื่องบุญเรื่องบาป คราวนี้ก็จะไม่กลัวแล้วเรื่องความตาย เพราะเห็นแล้วว่าบุญ ของเราขนาดนี้ ตายแล้วจะไปไหน บุญขนาดนี้ห่างพระนิพพานกี่ก้าว ใจจะใฝ่แต่สั่งสมบุญให้ ยิ่ง ๆ ขึ้นไป เป็นบุญเป็นบารมีของเรา
วัฒนธรรมของโลกที่ออกมาจากพระโอษฐ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ล้วนตรงกันหมดทุกถ้อยคำ จึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินชีวิตด้วยความดี อันจะก่อให้เกิดความ เจริญงอกงามเป็นระเบียบเรียบร้อย เป็นหนทางทั้งหมดแห่งการดำเนินชีวิตที่ดีงามในการอยู่ร่วมกัน อย่างสงบสุขของมวลมนุษยชาติ