หลวงพ่อตอบปัญหา
โดยพระภาวนาวิริยคุณ
การศึกษา คือ รากฐานของ
การสร้างประเทศ
Answer
คำตอบ
ประเทศชาติทุกวันนี้มีทฤษฎีการศึกษาเกิดขึ้นมากมาย จนบางคนก็มีความเข้าใจว่า คำสอนในศาสนาเป็นส่วนเกินของการศึกษา จึงอยากทราบว่า การศึกษาในมุมมองของพระพุทธศาสนานั้นเป็นอย่างไร?
การศึกษาคืออะไร? ถ้าตอบโดยหลักการ การศึกษา คือ การพัฒนาผู้เรียนให้มีกำลังใจทำ ความดี จนกระทั่งกลายเป็นนิสัยรักการทำความดี ถ้าเป็นอย่างนี้ ยิ่งมีความรู้มากเท่าไร ยิ่งเป็นสิ่งที่ดีมากเท่านั้น เพราะผลสุดท้ายที่ได้รับ ก็คือ การศึกษาได้สร้างผู้เรียนที่มีความรู้ดีและมีนิสัยดีให้แก่สังคมและประเทศชาติ
เมื่อหลักการและเหตุผลเป็นอย่างนี้ ก็ทำให้เรากำหนดหน้าที่ของการศึกษาออกมาได้อย่างชัดเจน นั่นคือ
๑) การศึกษามีหน้าที่พัฒนาผู้เรียนให้มีกำลังใจในการทำความดี
๒) การศึกษามีหน้าที่พัฒนาผู้เรียนให้มีนิสัยรักการทำความดี หากพูดโดยย่อก็คือ การศึกษามีหน้าที่สร้างกำลังใจและสร้างนิสัยที่ดีให้แก่ผู้เรียนนั่นเอง
เพราะเหตุใดการศึกษาจึงต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีกำลังใจทำความดี?
เนื่องจากธรรมชาติใจของมนุษย์ทั่วไปมักถูกควบคุมด้วยกิเลส (โลภะ โทสะ โมหะ) ทำให้เวลาทำความชั่วมักทำอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน โดยที่ไม่ต้องมีใครมาสอนกันเลยทีเดียว แต่ในทาง ตรงข้าม เวลาทำความดีมักจะทำกันเหยาะ ๆ แหยะ ๆ มักไม่เอาชีวิตเป็นเดิมพันกับการทำความดีเหมือนกับตอนที่ทำความชั่ว
ยกตัวอย่างเช่น ชาวโลกทั่วไปรู้ไหมว่า การดื่มเหล้าจะทำให้ตับแข็ง รักษาไม่หาย มีแต่ตายกับตาย
นอกจากมีความรู้แล้ว ยังต้องมีความสามารถที่จะเอาความรู้ไปทำความดีด้วย
รู้ แต่ก็กิน ยอมเอาชีวิตเป็นเดิมพันทำชั่ว
รู้ไหมว่า การไปปล้น ไปโกง ไปผิดลูกเมียเขา ถ้าถูกเขาจับได้มีแต่ตายกับตายเท่านั้น
รู้ แต่ก็ทำ เพราะฉะนั้นไม่ว่าศีลมีกี่ข้อ เวลาทำผิดศีลก็พร้อมจะทำอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ทั้งนั้น
ตรงนี้เองที่ทำให้เราต้องกลับมาทบทวนว่า ถ้าเรารีบสอนให้ผู้เรียนมีความรู้ โดยที่ไม่ได้ฝึกให้สร้างกำลังใจในการทำความดี พอถึงเวลาลงมือทำความดีที่เป็นงานในบ้าน ในโรงเรียน ในชุมชน ก็จะทำแบบไม่เต็มที่ เวลาไปเจออุปสรรคนิด ๆ หน่อย ๆ ก็พร้อมจะเลิกทำความดีกลางคัน แล้วเอาความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมาจากครูบาอาจารย์หันกลับไปทำความชั่วอย่างเอาชีวิตเป็นเดิมพันแทน
เมื่อการศึกษาสร้างคนที่มีความรู้แต่พร้อมจะเอาชีวิตเป็นเดิมพันทำความชั่ว ผลที่ตามมาก็คือ ทั้งชีวิตของผู้เรียนเอง ครอบครัวของเขา สังคมที่เขาอยู่อาศัย ก็จะต้องเดือดร้อนไปกับผลจากการทำความชั่วของเขาด้วย นี่คือความน่ากลัวของการให้ความรู้อย่างเดียว แต่ไม่ให้กำลังใจในการทำความดี
ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องรีบฝึกผู้เรียนให้มีกำลังใจที่จะทำความดี ก่อนที่ความชั่วจะเข้าครอบงำจิตใจ จนกระทั่งหมดกำลังใจทำความดี นี้จึงเป็นเรื่องใหญ่ของการศึกษา
ความรู้ที่เรามีอยู่ ไม่ว่าจะมากหรือน้อยเท่าใดก็ตาม ถ้าตราบใดที่เราไม่ได้เอาไปใช้ทำความดี จะศึกษาเรียนรู้ไปทำไม เพราะฉะนั้นนอกจากมีความรู้แล้ว ยังต้องมีความสามารถที่จะเอาความรู้ไปทำความดีด้วย
ในการทำงานต่าง ๆ มีเรื่องที่ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า แม้เราจะมีความตั้งใจทำงานให้ออกมาดี แต่พอทำจริง ๆ แล้ว จะยังไม่สมบูรณ์ในคราวเดียว อาจจะเกิดข้อผิดพลาดขึ้นมาได้ ทั้งที่ตั้งใจทำเต็มที่แล้ว คาดหวังผลไว้ร้อยส่วน แต่ผลดีอาจจะออกมาได้แค่ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ กลับไม่ดี
ผลดีที่เกิดขึ้น ๘๐ เปอร์เซ็นต์นั้น เป็นส่วนที่เราทำถูก ถือเป็นความชอบที่เรายินดีรับ แต่อีก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ที่ไม่ดี ที่เราผิดพลาดนั้น เราก็ต้องยอมรับด้วย ยอมรับในส่วนที่เป็นความผิด เพื่อจะได้นำมาแก้ไขให้ได้ผลดีในคราวต่อ ๆ ไป
ถ้าปล่อยผลลัพธ์ที่เราทำผิดพลาดทิ้งไว้ แล้วใครจะมาแก้ไข หากปล่อยผลผิดเอาไว้โดยไม่ดำเนินการใด ๆ ต่อไป ก็จะกลายเป็นว่า เราคือคนทิ้งขยะไว้ในสังคม นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้ว มิหนำซ้ำจะก่อให้เกิดโทษกับสังคมอีกด้วย
ดังนั้น ความหมายของการศึกษาในทางปฏิบัติ จึงหมายถึง การปลูกฝังและพัฒนาให้ผู้เรียนมีนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่ดี มีความสามารถและมีความรับผิดชอบ ซึ่งการจะทำได้อย่างนี้ ต้องฝึกผู้เรียนให้รู้จักสร้างกำลังใจในการทำความดีอย่างต่อเนื่องทีเดียว
เพราะเหตุใดการศึกษาจึงต้องพัฒนาผู้เรียนให้เกิดนิสัยรักการทำความดี?
การที่คนเรารู้เพียงว่านิสัยอะไรดี นิสัยอะไรไม่ดี แล้วเราเอาแค่บอก ๆ เขาไป แล้วเราก็คิดเอาเองว่า เมื่อถึงเวลาแล้ว เขาก็คงจะทำตามนั้น ถ้าเพียงแค่นั้นยังไม่พอ เรายังต้องฝึกให้เขาทำสิ่งที่รู้นั้นให้กลายเป็นนิสัยอีกด้วย ไม่ใช่แค่บอก แต่ไม่ได้ฝึก
เพราะนิสัยดีงามทุกชนิดจะเกิดขึ้นได้ เราต้องปฏิบัติซ้ำ ๆ จนกระทั่งคุ้น แล้วก็ติดเป็นนิสัย หากเพียงรู้ว่าสิ่งใดทำแล้วจะดี แต่ยังไม่ทำซ้ำ ๆ จนกระทั่งคุ้น ไม่ช้าสิ่งที่รู้นั้น เราก็จะลืมเลือนไป นิสัยดียังไม่เกิด ยังไม่เข้าท่าเหมือนเดิม ยังเปลี่ยนนิสัยไม่ได้
ในส่วนตัวของผู้ฝึก การปฏิบัติดีซ้ำ ๆ จนกระทั่งคุ้นจนติดเป็นนิสัย จะต้องใช้กำลังใจอย่างมหาศาล จึงจะหักดิบเลิกนิสัยไม่ดีได้ แล้วปฏิบัติแต่นิสัยดี ๆ ได้
ส่วนผู้ฝึกไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือครูอาจารย์ก็จะต้องคอยจ้ำจี้จ้ำไช ด้วยถ้อยคำที่เป็นปิยวาจา เพื่อจะให้กำลังใจแก่ลูกหลาน ลูกศิษย์ ให้เขาสามารถปฏิบัติซ้ำ ๆ จนกระทั่งคุ้นในที่สุด
อะไรคือแหล่งที่มาของกำลังใจ?
กำลังใจไม่ได้ตกมาจากฟากฟ้า หรือผู้วิเศษองค์ใดจะเสกให้ได้ มีแต่มนุษย์ผู้มีองค์ประกอบคือกายกับใจนี่แหละ ที่จะสร้างกำลังใจและให้กำลังใจแก่กันได้
แหล่งที่มาของกำลังใจ มี ๒ ทาง คือ
กำลังใจที่รับมาจากคนอื่น
เมื่อสู้ทำงานจนเหน็ดเหนื่อย ทดท้อ ทนไม่ไหวขึ้นมา เพียงได้ยินเสียงพ่อพูดเพราะ ๆ กับลูก แม่พูดเพราะ ๆ กับลูก ลูกก็เกิดกำลังใจขึ้นมา
พ่อบ้าน แม่บ้านพูดเพราะ ๆ ต่างฝ่ายก็เกิดกำลังใจขึ้นมา ผู้บังคับบัญชาพูดเพราะ ๆ เพื่อนร่วมงานพูดเพราะ ๆ มีกำลังใจทำงานขึ้นมามากโข
ขณะเดียวกัน สิ่งที่จะทอนกำลังใจของคนเราได้มากที่สุด ก็คือ คำพูด
คำพูดที่เสียดหูเสียดแทงใจ คำพูดไม่สุภาพ คำพูดไม่เป็นที่รัก เพียงคำพูดเหล่านี้ไม่กี่คำ ทำให้คนเราหมดเรี่ยวแรง หมดกำลังใจ ไม่สมัครใจจะทำการงานสิ่งใด
ความหมายของการศึกษาในทางปฏิบัติ จึงหมายถึง การปลูกฝังและพัฒนาให้ผู้เรียนมีนิสัยใฝ่รู้ ใฝ่ดี มีความสามารถและมีความรับผิดชอบ
ก่อนที่จะนั่งสมาธิได้สม่ำเสมอต่อเนื่องจนใจมีกำลังควบคุมตนเองให้ทำความดีต่อเนื่องไม่ยอมให้ความชั่วครอบงำได้ เราจะต้องมีความเข้าใจถูกในเรื่องสัมมาทิฐิ ๑๐ ข้อก่อน
ในทางตรงกันข้าม ต่อให้เหน็ดเหนื่อยทำท่าจะตาย ได้ฟังคำพูดอันชื่นใจคำสองคำมีกำลัง ลุกขึ้นพรวด อุปสรรคที่เผชิญหน้าจะยิ่งใหญ่แค่ไหนก็ไม่หวั่น นี่คือกำลังใจที่ผู้อื่นให้ผ่านคำพูดที่ถูกใจมา
กำลังใจที่สร้างขึ้นมาเอง
เพราะว่า คนอื่นแม้เขาจะรักเรา ปรารถนาดีต่อเรามากปานใดก็ตาม แต่เขาก็มีเวลาเหนื่อยของเขาเหมือนกัน คงไม่สามารถที่จะมาตามให้กำลังใจกันได้ตลอดไป ดังนั้นเราต้องสร้างกำลังใจเองด้วย โดยวิธีฝึกสมาธิ
ใครที่เคยฝึกสมาธิมา ก็จะรู้ว่ามันเป็นการปล้ำกับใจตัวเอง นักกีฬาอยากจะมีกำลังก็ต้องปล้ำกับสนาม นักวิ่งก็วิ่งให้สนามพังไปเลย นักมวยก็ต่อยให้เวทีพังไปนั่นแหละ ทำอย่างนั้นแล้วถึงจะได้กำลังขึ้นมา เมื่ออยากจะมีกำลังใจ ก็ต้องนั่งสมาธิเข้าไป
การปล้ำกับใจตัวเองเป็นงานหนัก ทำได้ไม่ง่ายเลย
แต่ก่อนที่จะนั่งสมาธิได้สม่ำเสมอต่อเนื่องจนใจมีกำลังควบคุมตนเองให้ทำความดีต่อเนื่อง ไม่ยอมให้ความชั่วครอบงำได้ เราจะต้องมีความเข้าใจถูกในเรื่องสัมมาทิฐิ ๑๐ ข้อก่อน จึงจะมีกำลังใจทำสมาธิ
สัมมาทิฐิเป็นเรื่องของการปลูกฝังวิธีทำความดีขั้นต้น เมื่อเริ่มเห็นคุณค่าของการทำความดี จึงจะเห็นคุณค่าของการฝึกสมาธิ
เมื่อเข้าใจสัมมาทิฐิ ๑๐ ข้อ ทำให้มีกำลังใจ จึงฝึกสมาธิ พอทำสมาธิเข้า กำลังใจในการจะทำความดีด้วยตัวเองเกิดขึ้นมาอย่างมากมาย
เมื่อมีกำลังใจทำความดี ตรงนี้โรงเรียน ครู และทางบ้าน ต้องรีบจัดกิจกรรมเพาะนิสัยใฝ่ดีให้
เช่น พ่อแม่พาลูกตักบาตรตอนเช้าก่อนไปโรงเรียน ลูก ๆ ไหว้ลาพ่อแม่ก่อนไปโรงเรียน นักเรียนสวัสดีคุณครูเมื่อมาถึงโรงเรียน ครูแบ่งงานให้นักเรียนร่วมมือกันทำความสะอาดห้องเรียน เป็นต้น
เมื่อทำไปมากเข้า ๆ ก็เกิดนิสัยใฝ่ดี เด็ก ๆ อยากจะทำความดีให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไป แล้วเขาจะรู้เองว่า ความรู้ของเขายังไม่พอ ในเมื่อเขากระหายอยากรู้แล้ว ครูก็หาทางเพาะนิสัยใฝ่รู้เข้าไป นักเรียนที่มีนิสัยใฝ่ดีอยู่แล้ว มาบวกใฝ่รู้เข้า จะเกิดความรัก คือฉันทะที่จะเลือกเรียนรู้เฉพาะสิ่งที่ดี ๆ เมื่อมาถึงจุดนี้ จึงจะกล่าวได้ว่า ครูจัดกระบวนการเรียนรู้ได้สำเร็จ การศึกษานั้นมีคุณภาพ..