เรื่องจากปก
เรื่อง : มาตา
อาคารพระผู้ปราบมาร
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้ทุกสิ่ง
สํ.ส. ๑๕/๔๔
สืบเนื่องมาจากการขยายงานพระพุทธศาสนาผ่านโครงการต่าง ๆ ของ วัดพระธรรมกายมาเป็นเวลา ๔๐ กว่าปี ทำให้ในปัจจุบันวัดพระธรรมกายมีจำนวนพระภิกษุ สามเณร เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่พักอาศัยจึงไม่เพียงพอ ดังนั้นโครงการก่อสร้างที่พักอาศัยของพระภิกษุ อาศรมบรรพชิต อาคารพระผู้ปราบมาร พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) จึงบังเกิดขึ้น และจำเป็นต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว
“ การถวาย
อาคารพระผู้ปราบมาร
พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
เพื่อเป็นที่พักอาศัยของพระภิกษุ
ถือว่าเป็นการให้ทุกสิ่งแก่ผู้มีศีลมีธรรม
กุศลผลบุญนี้จะส่งผลให้
ชีวิตของผู้ให้
สมบูรณ์ทุกสิ่งตลอดไป ”
๑
ในปัจจุบันนี้ พระภิกษุ สามเณร วัดพระธรรมกาย มีที่พักอาศัยหลัก ๆ อยู่ ๕ แห่ง คือ ๑. หมู่กุฏิพระหนึ่ง ๒. หมู่กุฏิพระสอง (ประกอบด้วยอาคาร ๖ ชั้น ๓ อาคาร,๑ อาคาร พักได้ประมาณ ๑๕๐ รูป) ๓. หมู่กุฏิพระสาม (อาคาร ๒ ชั้น ๑ หลัง และอาคาร ชั้นเดียว ๑ หลัง) ๔. หมู่กุฏิพระสี่ (อาคาร ๒ ชั้น) ๕. หมู่กุฏิพระบริเวณไซต์ ๓ อาคารแก้วดวงใจแก้วดวงบุญ และกุฏิมุงจาก ฯลฯ
ทั้งหมดนี้รองรับพระภิกษุ สามเณร ที่จำพรรษาอยู่ที่วัดขณะนี้จำนวน ๒,๒๕๗ รูป (พระภิกษุ ๑,๙๕๖ รูป สามเณร ๓๐๑ รูป)
๒
อาศรมบรรพชิต อาคารพระผู้ปราบมาร พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ตอกเสาเข็มต้นแรกเมื่อเวลาประมาณ ๑๗.๐๐ น. ของ วันเสาร์ที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๕๗ ซึ่งตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ โดยมีพระเทพญาณ-มหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) เป็นประธานสงฆ์ ซึ่งในโอกาสนี้พระเดชพระคุณหลวงพ่อกล่าว ให้โอวาทไว้สรุปใจความได้ว่า “อาคารหลังนี้จะ เป็นที่พักสงฆ์ ผู้เป็นสายโลหิตแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก ผู้ที่ปฏิบัติตนตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ใคร่ต่อการศึกษาวิชชาธรรมกาย อีกทั้งเพื่อขยายวิชชาธรรมกายไปทั่วโลก เพราะฉะนั้นอาคารหลังนี้จึงเป็นอาคารที่สำคัญทีเดียว”
๓
อาศรมบรรพชิต อาคารพระผู้ปราบมาร พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) เป็นกุฏิพระทรงสูง ทั้งนี้เพื่อประหยัดพื้นที่ เพราะวัด พระธรรมกายมีพระภิกษุ สามเณร เป็นจำนวนมาก ถ้าสร้างตามแนวราบจะต้องเสียพื้นที่สำหรับใช้ประโยชน์ส่วนอื่นไป
ตามโครงการที่ตั้งไว้จะสร้างอาคารทั้งหมด ๓ อาคาร ทุกอาคารมีลักษณะเหมือนกัน คือ มีรูปทรงเหมือนเครื่องหมายกากบาทหรือเครื่องหมายคูณ (X) ความสูง ๕๔ เมตร มี ๑๒ ชั้น แต่ละอาคารมีพื้นที่ใช้สอยเกือบ ๗๐,๐๐๐ ตารางเมตร รองรับพระภิกษุได้ อาคารละ ๒,๐๐๐ กว่ารูป
ชั้นที่ ๑ (ชั้นล่าง) เป็นห้องโถงใหญ่ เปิดโล่ง สำหรับทำกิจกรรมอเนกประสงค์
ชั้นที่ ๒-๑๑ เป็นที่พักอาศัย แต่ละชั้นมี ๔ wing (ปีก) แต่ละ wing มี ๖ ห้อง รวมชั้นละ ๒๔ ห้อง ขนาดห้องเท่ากัน
ชั้นที่ ๑๒ มีห้องปฏิบัติธรรม ๒ ห้อง สำหรับพระภิกษุสวดมนต์ ทำวัตร ปฏิบัติธรรมอีกส่วนหนึ่งเป็นที่พักของพระที่มาจากวัดหรือศูนย์ปฏิบัติธรรมในต่างประเทศ
นอกจาก ๓ อาคารนี้ ยังมีอาคาร ด้านหน้าซึ่งเป็นอาคาร ๒ ชั้น ชั้นล่างใช้สำหรับงานธุรการและต้อนรับญาติโยม ชั้น ๒ เป็นห้องประชุมประมาณ ๓ ห้อง ด้านข้างอาคาร เป็นที่จอดรถ
๔
ตัวอาคารชั้น ๒-๑๒ ในบริเวณแต่ละขาของกากบาทซึ่งเรียกว่า wing ประกอบด้วย ห้อง ๖ ห้อง แต่ละห้องเป็นที่พักรวมของ พระประมาณ ๑๐ รูป ทุกรูปต้องพักรวมไม่มีห้องส่วนตัว แม้แต่ห้องน้ำก็เป็นห้องน้ำรวม ไม่มีห้องน้ำภายในห้องพัก
โซนกลางเป็นที่ตั้งของลิฟต์ บันได ห้องน้ำ พื้นที่สำหรับซักผ้า ตากผ้า พื้นที่ สำหรับสันทนาการ เช่น มุมอ่านหนังสือ มุมดู DMC ฯลฯ ทุกชั้นมีพื้นที่แบบนี้เหมือนกันหมด
ชั้น ๒-๑๒ มีลักษณะโครงสร้างอาคารเหมือนกัน ต่างกันแค่การใช้งาน
๕
ในการสร้างอาคารใช้หลักประหยัดสุด ประโยชน์สูง คงทนถาวร ตามที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อให้นโยบายไว้
ในเรื่องการประหยัดค่าใช้จ่ายในอนาคต อาคารนี้แต่ละห้องมีผนังแยกจากกัน ทำให้มีช่องว่างระหว่างห้อง เพื่อดึงลมเข้ามาหมุนเวียนให้ความเย็นแก่อาคาร แต่ตามอาคารทั่วไปจะใช้ผนังเดียวกัน
นอกจากนี้ การที่ชั้น ๑ ทำเป็นที่โล่ง ก็ช่วยเรื่องการระบายอากาศได้เป็นอย่างดี เพราะ ลมจะลอยขึ้นมาตรงโซนกลางของอาคาร จากชั้น ๑ ขึ้นมาถึงชั้น ๑๒ แล้วดูดลมจากห้องต่าง ๆ ขึ้นมาเรื่อย ๆ เป็นการช่วยระบายอากาศ ประกอบกับตัวอาคารมีหน้าต่างเยอะมาก และยังตั้งหันเฉียงกับทิศเหนือเพื่อเพิ่มการรับลม ทำให้อาคารมีลมพัดผ่านเย็นสบายตลอดทั้งปี
อาคารหันเฉียงกับทิศเหนือ
อาคารเฉียงรับลม
หน้าร้อนลมพัด หน้าหนาว
ในส่วนของงานระบบภายในอาคารก็ดูแลรักษาง่าย วัสดุที่ใช้ในอาคารก็เน้นความเรียบง่าย ซ่อมง่าย หาเปลี่ยนได้ง่ายในอนาคต เช่น พวกสุขภัณฑ์ กระเบื้อง ส่วนต่างๆ ของอาคารก็ดูแลรักษาง่าย เช่น มุมห้องน้ำ ไม่ทำเป็นมุม ๙๐ องศา ระหว่างพื้นกับผนังมีลักษณะโค้งเพื่อไม่ให้เป็นที่สะสมคราบสกปรก และทำความสะอาดได้ง่าย ไม่ต้องเสียเวลาดูแลมาก
๖
ในส่วนของบุคลากร เพื่อให้การก่อสร้างออกมาดีที่สุด สมบูรณ์ที่สุด และปลอดภัยที่สุด ทีมงานจึงสร้างความเข้าใจแก่ ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ที่ปรึกษาควบคุมงานและ ผู้รับเหมา ให้เข้าใจถึงความสำคัญของอาคาร ประโยชน์การใช้สอย รวมทั้งความสำคัญของพระเดชพระคุณหลวงปู่ เพื่อให้คณะทำงานปลื้มปีติที่มีโอกาสมาร่วมงานก่อสร้างในครั้งนี้
จากนั้นก็กล่าวถึงบุญและอานิสงส์ ต่าง ๆ ของการก่อสร้างอาคารหลังนี้ แล้วจึงลงรายละเอียดของเนื้องานว่าจะต้องมีความประณีตทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการทำแบบ ลำดับการก่อสร้าง การประสานงาน การควบคุมงาน คุณภาพงาน การทดสอบระบบต่าง ๆ เพื่อให้งานออกมาดีที่สุด
๗
อาคารพระผู้ปราบมารหลังแรกมีกำหนดสร้างเสร็จในเวลาประมาณ ๒ ปี เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็จะเปิดใช้เลย และจะมีพระภิกษุเข้าไปอยู่อาศัยเต็มทุกห้องทันที ขณะที่ก่อสร้างอาคารหลังแรก อาคารต่อไปก็จะทยอยสร้างตามมา
ไม่นานเกินรอ อาคารพระผู้ปราบมารจะตั้งเด่นเป็นสง่าให้เราทุกคนเห็นและภาคภูมิใจว่า เรา คือ หนึ่งในผู้สถาปนาอาคารแห่งนี้ เพื่อเป็นที่พักอาศัยของพระภิกษุผู้เป็น ศาสนทายาท ผู้สืบทอดอายุพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ให้คงอยู่และแผ่ขยายไปทั่วโลกตราบสิ้นกาลนาน
โส จ สพฺพทโท โหติ โย ททาติ อุปสฺสยํ
ผู้ใดให้ที่พักอาศัย ผู้นั้นชื่อว่าให้ทุกสิ่ง
สํ.ส. ๑๕/๔๔
สัมภาษณ์
นายธนะ เดชนันพัฒน์
ตัวแทนผู้ประสานงานส่วนเจ้าของโครงการ
คนเราเกิดมาแล้วก็ต้องทำงานกันทุกคน เพื่อหาเลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัว งานที่คนทั่ว ๆ ไปทำนั้น ก็เป็นงานที่อาจมีความภาคภูมิใจอยู่บ้าง ภูมิใจในฝีมือ ภูมิใจที่ทำเสร็จ ภูมิใจที่ทำงานอวดคนอื่นได้ แต่จะมีงานใดที่ทำแล้วได้ความปีติว่า สิ่งที่ทำลงไปสรรค์สร้างความดีขึ้นในโลก และมั่นใจว่างานนั้น ๆ ไม่ถูกนำไปใช้ทั้งทางตรงและ ทางอ้อมให้คนเป็นคนเลวหรือเบียดเบียนกัน
ที่พักของพระภิกษุสงฆ์เป็นที่อาศัย ของผู้ที่จะนำศีลธรรมมาสู่โลก สั่งสอนคนให้เป็นคนดี และสืบทอดคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยาวนาน ดังนั้นงานก่อสร้างนี้ จึงนำความปีติและภาคภูมิใจมาสู่ทีมงานว่า มีส่วนในการสร้างคนดีให้กับโลก สืบทอด พระศาสนา และสืบทอดเส้นทางพระนิพพานให้กับโลกและจักรวาลต่อไป
นายปราโมทย์ รัตนาลังการ
ผู้จัดการโครงการอาคารพระผู้ปราบมาร
อาคารนี้จะมีความคงทนและสามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ คุ้มกับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง และมีค่าใช้จ่าย ในการบำรุงรักษาน้อย มีความเป็นระเบียบ เรียบร้อย สวยงาม เป็นแบบอย่างและมาตรฐานของโครงการต่อ ๆ ไปได้ ทั้งหมดนี้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของครูบาอาจารย์
ในการทำงานต้องตระหนักไว้เสมอว่า ปัจจัยที่นำมาก่อสร้างนั้นญาติโยมนำมาบริจาคทั้งสิ้น ดังนั้นทุกท่านที่มาวัดจึงอยู่ในฐานะเป็นเจ้าของอาคารและเจ้าของวัดร่วมกัน ทั้งการก่อสร้างและการประสานงานจึงต้องรักษาศรัทธาของเจ้าภาพไว้เสมอ
นายธนา สาคร
วิศวกรระบบไฟฟ้าสื่อสาร
รู้สึกปลื้มใจและภูมิใจที่มีส่วนร่วมสร้างอาคารที่พักสำหรับพระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งศรัทธาในพระศาสนา การวางแนวคิดและรูปแบบห้องดูแล้วพระภิกษุสงฆ์ท่านเรียบง่าย ไม่เน้นอะไรที่ไม่จำเป็นในที่พัก ยิ่งทำให้เข้าใจในวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์มากยิ่งขึ้น เหมือนที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อให้นโยบาย ในการก่อสร้างว่าประโยชน์สูง ประหยัดสุด ตามที่ใช้ในการก่อสร้างวัดตั้งแต่ต้นมาโดยตลอด
วิธีคิดในการทำงานของทีมงาน จะแตกต่างออกไปจากการสร้างอาคารสูง ตามโครงการอื่น เนื่องจากโครงการทั่วไปจะคิด และทำเพื่อขายให้ลูกค้า แต่โครงการนี้เราคิดและสร้างให้พระภิกษุผู้ทรงศีล ๒๒๗ ข้อ พำนักอาศัย เปรียบเสมือนการสร้างกุฏิเป็นพัน ๆ หลัง ให้พระนับพันรูป ดังนั้นกระบวนการก่อสร้างจะประณีตกว่างานข้างนอกมาก เพราะเราคิด function สำหรับพระ เมื่อดูภายนอกอาจดูใหญ่โต แต่ด้านใน เราจัด lay out อย่างเรียบง่าย สมถะ หนึ่งห้องมีพระภิกษุอยู่ร่วมกัน ๔-๑๐ รูป และเราออกแบบโดยมองถึงความสงบและเรียบง่ายไปพร้อม ๆ กัน แต่มีมาตรฐานความปลอดภัยสูงสุด
นายวราทิพย์ รอดรับบุญ
หัวหน้างานระบบโครงการฯ
รู้สึกภูมิใจว่าเรามีบุญและโชคดีมากที่มีส่วนร่วมในงานก่อสร้างอาคารหลังนี้ ซึ่งชื่อของอาคารหมายถึง พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ผู้เป็นมหาปูชนียาจารย์ของพวกเราทุกคน อาคารหลังนี้จึงเป็นอาคารที่สำคัญมาก ๆ อาคารหนึ่งใน วัดพระธรรมกาย เป็นอาคารที่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งเปรียบเสมือนลูกศิษย์หรือหลานศิษย์ของหลวงปู่พำนักอาศัยและประพฤติปฏิบัติธรรม
โครงการนี้มีโจทย์อยู่ว่า เราจะต้องสร้างอาคารให้ออกมาดูดี เป็นระเบียบเรียบร้อย สะอาด และมีความประณีตของเนื้องานทุก ๆ ส่วนให้มากที่สุด เช่น ทำความสะอาดง่าย งานระบบภายในอาคารจะต้องดูแลรักษาง่าย เสียค่าใช้จ่ายน้อย ประหยัดพลังงาน รวมทั้งเกิดความปลอดภัยแก่ผู้ใช้อาคาร เพื่อให้ คุ้มค่ากับปัจจัยที่ผู้มีบุญร่วมบุญมาถวายแด่ พระภิกษุสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และถือว่าเป็นการบูชาธรรมพระเดชพระคุณหลวงปู่ด้วยเช่นกัน