วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เวลาคือทรัพย์ที่ทุกชีวิตมี เราจะใช้ทรัพย์คือเวลาอย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุด?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : พระราชภาวนาจารย์ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

 

เวลาคือทรัพย์ที่ทุกชีวิตมี

เราจะใช้ทรัพย์คือเวลาอย่างไร

ให้เกิดประโยชน์สูงสุด?


ANSWER

คำตอบ

 

    พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ตรัสรู้โดยชอบด้วยพระองค์เอง ทรงค้นพบว่า


     ๑) ชีวิตนี้เป็นทุกข์ การเกิดเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อมีการเกิด ทุกข์นี้เป็นอันพึงหวังได้ 


    ๒) ชีวิตของมนุษย์ดำเนินไปภายใต้กฎแห่งกรรม หากมนุษย์เข้าใจ รู้เท่าทันเรื่องราวของ   กฎแห่งกรรม ก็จะสามารถดำเนินชีวิตในโลกให้มีทุกข์น้อย และมีโอกาสพ้นทุกข์ได้


    เรื่องสำคัญในชีวิตที่จะต้องทำให้สม่ำเสมอ เพื่อทำให้ชีวิตเราสามารถเป็นที่พึ่งแก่ตนเองได้ สามารถนำพาชีวิตของตนให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเกิดมาได้ นั่นคือ การศึกษาธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยจะต้องศึกษาให้เข้าใจจนแจ่มชัด แล้วสามารถปฏิบัติตามธรรมนั้นได้ ชีวิตถึงจะเป็นสุข สามารถพึ่งตัวเองได้


    เมื่อเราจะศึกษาธรรมะ เราก็ต้องแบ่งเวลาเพื่อศึกษาให้เข้าใจในภาคทฤษฎีและแบ่งเวลา        นั่งสมาธิปฏิบัติธรรมควบคู่กันไป มิฉะนั้นการศึกษาและปฏิบัติธรรมก็จะไม่ก้าวหน้า 
    
    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงให้เห็นว่า ความก้าวหน้าในการศึกษาและประพฤติธรรมนั้น ผู้ศึกษาจะจัดลำดับความสำคัญไว้ ๔ เวลา หรือ ๔ กาล ได้แก่ กาลที่ ๑ กาลแห่งการฟังธรรม 
กาลที่ ๒ กาลแห่งการสนทนาธรรม กาลที่ ๓ กาลแห่งการแสดงธรรม กาลที่ ๔ กาลแห่งการปฏิบัติ ตามธรรม ดังจะอธิบายโดยย่อ ดังนี้

    
    กาลที่ ๑ กาลแห่งการฟังธรรม


    หมายถึง กาลหรือเวลาที่จะถือเป็นโอกาสได้พบพระเพื่อฟังธรรม ซึ่งมีหลากหลายจังหวะ       ดังตัวอย่างต่อไปนี้


       •    ตั้งแต่ในสมัยพุทธกาลมาแล้ว พระสงฆ์ท่านเทศน์ทุกวันพระ ฉะนั้นวันพระจึงเป็นวันที่พุทธศาสนิกชนควรหาโอกาสไปฟังธรรม


    •    ปัจจุบันนี้โรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ดาวเทียม DMC หลวงพ่อ หลวงพี่ ที่มีความรู้ ค้นคว้ามาอย่างดี ก็มาเทศน์ใน DMC ทุกวัน ญาติโยมที่มาฟังในโรงเรียนบ้าง หรือฟังอยู่หน้าจอ DMC บ้าง จัดว่าเป็นการฟังธรรมตามกาล


       •    เมื่อใดมีการเทศน์ การบรรยายธรรม โดยท่านผู้มีความรู้ ท่านที่เป็นนักปราชญ์ บัณฑิต หลวงพ่อ หลวงปู่ หรือพระอาจารย์ที่ทรงภูมิรู้ ภูมิธรรม ก็ถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ฟังธรรมตามกาล


      •    เวลาว่าง เวลาสบายใจ เช่น วันนี้งานการเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ไม่มีเรื่องหนักอกค้างใจ รีบไปวัด ไปกราบหลวงพ่อวัดไหนก็ได้ ยิ่งคุ้นกับท่านยิ่งดี นิมนต์หลวงพ่อเทศน์ให้ฟังสักกัณฑ์     หรือจะอบรมอะไรให้ก็กราบนิมนต์ท่านเถิด เพราะไม่รู้ว่าเมื่อไรจะสบายใจได้อย่างนี้อีก


    •    เวลาทุกข์อกทุกข์ใจขึ้นมา อย่าไปไหนนะ รีบไปหาหลวงพ่อวัดที่ใกล้ที่สุดเลย นี่ก็ฟังธรรมตามกาล กาลที่ทุกข์หนัก ถ้าเลือกไปที่อื่นแทนอาจจะพลาด อาจจะตัดสินใจทำอะไรผิด ๆ จะยิ่งทุกข์หนักเข้าไปอีก


    การฟังธรรมตามกาลนี้ ขอให้ฟังด้วยความเคารพ พยายามน้อมใจตาม ตรองตาม ถ้าตรองตามไม่ทัน ต้องรีบบันทึกเอาไว้ จะได้หาโอกาสไปซักถามให้ยิ่ง ๆ ขึ้นไปในภายหลัง  


    ดังนั้น เวลาฟังธรรมก็ควรจะเตรียมอุปกรณ์ให้ดี มีกระดาษ ปากกา ดินสอ ไว้ด้วย แม้การแต่งกายก็ให้เรียบร้อย ตามขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น การแต่งกายด้วยชุดขาวหรืออย่างน้อยก็เสื้อขาว ซึ่งจะเสริมบรรยากาศของการฟังธรรม 


    
    กาลที่ ๒ กาลแห่งการสนทนาธรรม


    สำหรับผู้ที่ตั้งใจปรารถนาดีที่จะเจาะลึกธรรมะที่ได้ฟังมาตามกาลนั้นให้แตกฉานขึ้น จะได้นำเข้าไปสู่ภาคปฏิบัติ แต่อาศัยลำพังสติปัญญาและประสบการณ์ของเราคนเดียว บางทีความเข้าใจจะยังไม่ค่อยชัดนัก จำเป็นต้องมาสนทนากันก่อน มาทำความเข้าใจดูว่าที่เราเข้าใจนั้น ตรงกับที่คนอื่นเขาเข้าใจไหม 


    บางทีก็เห็นตรงกันบ้าง ไม่ตรงกันบ้าง บางทีก็ลึกตื้นไม่เท่ากันบ้าง หลังจากการสนทนาธรรมกันแล้ว เราก็จะได้แง่มุมอีกหลาย ๆ แง่มุม ที่เราไม่เคยคิดไปถึง การสนทนาธรรมตามกาลจะทำให้เราได้วิธีที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน นี่คือคุณค่าของการสนทนาธรรม


    บูรพาจารย์เตือนเอาไว้ว่า ก่อนสนทนาธรรมตามกาล ขอให้นั่งสมาธิก่อน ถ้านั่งล่วงหน้า  เป็นวันได้ยิ่งดี ต้องนั่งสมาธิทำใจให้ดี เพราะอย่างไรเมื่อสนทนากันก็ต้องเจอที่เห็นไม่ตรงกัน เมื่อเห็นไม่ตรงกัน ถ้าใครพูดแสดงความเห็นที่ไม่ตรงกันออกมาก็รู้สึกเหมือนถูกขัดคอ เมื่อคิดว่าถูกขัดคอแล้วอาจจะโกรธกันได้ 


    ทุกคนในโลกไม่ชอบให้ใครขัดคอ เพราะฉะนั้นเวลาจะแย้งข้อความอะไร มีสำนวนหนึ่งที่นิยมใช้แบบชาววัดด้วยกัน “ที่คุณว่าก็ดีนะ แต่ยังมีอีกแง่มุมทำนองนี้พอเป็นไปได้ไหม” ถ้อยวาจาอย่างนี้ไม่หักไม่โค่นใครให้เสียหน้า เสียความมั่นใจ ถ้าพูดจากันอย่างนี้ วงสนทนาธรรมก็จะดำเนินต่อไปได้ 


    ในเวลาเดียวกันใครที่ถูกเขาเสนอแนะมาอย่างนี้ ก็ต้องรู้ตัว นึกทบทวนทันทีเหมือนกันว่า ที่เราว่ามานี้มันคงจะมีอะไรพร่องอยู่ ต้องทบทวนให้ดี ถ้าต่างฝ่ายต่างทบทวน ต่างฟังซึ่งกันและกัน การสนทนาธรรมตามกาลนั้นจะเกิดบุญใหญ่จริง ๆ


    
    กาลที่ ๓ กาลแห่งการแสดงธรรม


    เมื่อสนทนาธรรมกันแล้ว เราจะได้ความรู้ข้อปลีกย่อยในเชิงปฏิบัติเพิ่มมากขึ้น เมื่อมีโอกาสจะถ่ายทอดให้ใครต่อขอให้รีบทำเถิด เพราะกว่าเราจะเกิดความซาบซึ้งธรรมได้ขนาดนั้นไม่ใช่ของง่าย และการนำความรู้นั้นไปแสดงให้คนอื่นรับทราบด้วย ก็เป็นการทบทวนของเราอย่างลึกซึ้ง  อีกที 


    การแสดงธรรมที่ง่ายสำหรับเราก็คือ การถ่ายทอดให้คนข้าง ๆ ตัว อาจจะเป็นลูก หลานน้อง หรือใครก็ได้ที่อยู่ใกล้ตัว การแสดงธรรมของเราถ้าเป็นไปในลักษณะของการเล่าให้ฟัง จะดูเหมาะสม น่าฟัง


    ในการแสดงธรรมตามกาลนี้ มีสิ่งที่ควรระมัดระวัง คือ ต้องแสดงธรรมโดยยึดหลัก “หลังอิงต้นโพธิ์” หมายความว่า ทุกอย่างที่แสดงต้องมีหลักฐานยืนยันจากพระไตรปิฎกว่าเป็นธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ พระอรหันต์ท่านนั้นท่านนี้แสดงเอาไว้ อริยบุคคลที่เป็นฆราวาสชื่อนั้นชื่อนี้พูดเอาไว้ อย่างนี้เรียกว่าหลังอิงต้นโพธิ์ 


    เมื่อสนทนาธรรมหรือแสดงธรรมกับใครก็ตาม จงแสดงถึงความอัศจรรย์ของธรรม จงแสดงถึงพระคุณอันยิ่งใหญ่ในธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่าแสดงว่าข้าพเจ้านี้เป็นบุคคลอัศจรรย์ที่แสดงธรรมได้ลึกซึ้ง เพราะแม้ตอนนี้เราเข้าใจธรรมลึกซึ้งในระดับหนึ่งแล้ว แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้คิดค้นขึ้นมาเอง เรากำลังนำธรรมของพระบรมศาสดามาแสดง เมื่อรับรู้แล้วว่าธรรมเหล่านี้มีความอัศจรรย์อย่างไร ก็ควรที่จะไปกราบไหว้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระบรมครูของเรา


    สำหรับหลวงพ่อเอง ทุกครั้งที่มีโอกาสขึ้นแสดงธรรม จะพยายามให้ได้ประโยชน์ทั้งตัวเองและผู้ฟัง โดยจะพยายามเจาะลึกธรรมเข้าสู่ภาคปฏิบัติให้ได้ คุณยายสอนวิธีแสดงธรรมหรือวิธีเทศน์ให้หลวงพ่อว่า เรื่องที่จะเทศน์ให้นำเรื่องที่ตัวเองฝึกตัวได้แล้ว นิสัยไม่ดีที่แก้ได้ หรือที่แก้ได้บ้าง แล้วก็เอาส่วนที่ได้บ้างไปเทศน์ อย่างนี้จะไม่มีการผิดพลาดเพราะเราได้ปฏิบัติมาแล้ว เมื่อเราเคยใช้ได้ผลแล้วในระดับหนึ่ง ก็ควรที่จะแบ่งปันกันไป ใครเอาไปใช้แล้วได้ผล เราก็ได้บุญเพิ่มอีก ส่วนวิธีการเทศน์ เราก็เลือกเอาวิธีการสอนของครูบาอาจารย์ที่เราเคยประทับใจการสอนของท่าน เช่น วิธีอธิบายบางอย่างของท่านนี้ดี บางอย่างท่านโน้นดี ค่อย ๆ หยิบมาทีละอย่างสองอย่าง สักระยะหนึ่งเราก็จะหลอมมาเป็นบุคลิกของเราเอง ครูบาอาจารย์เหล่านั้นก็จะได้บุญกับเราด้วย ที่นำวิธีการสอนของท่านมาแสดงธรรม มาถ่ายทอดธรรม


    
    กาลที่ ๔ กาลแห่งการปฏิบัติตามธรรม


    ความรู้ธรรมทั้งหมดจากการฟังธรรม สนทนาธรรม และแสดงธรรม จะบังเกิดผลได้ต้องนำไปปฏิบัติ 


    คำว่า “ปฏิบัติธรรม” นั้น มีความหมายที่กว้าง ฟังธรรมเรื่องไหนแล้วในเรื่องนั้น ๆ มีข้อที่จะต้องปฏิบัติอย่างไรก็นำไปปฏิบัติ เช่น ฟังธรรมเรื่องทาน พอฟังจบแล้วก็ไปทำทาน ฟังธรรมเรื่องศีล ฟังเสร็จแล้ว เข้าใจแล้ว ก็ทบทวนศีล แล้วก็ตั้งใจรักษาศีลให้ดี ฟังธรรมเรื่องภาวนา      ฟังแล้วก็ไปเจริญสมาธิภาวนา 


    เมื่อภาวนามากเข้า ๆ ธรรมทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นทานหรือศีล ทั้งหมดนั้นจะเนื่องเข้าหากันเป็นเนื้อเดียว คือธรรมทุกข้อจะนำเข้าสู่การภาวนา ซึ่งเป็นต้นทางแห่งการเข้าถึงธรรมภายในต้นทางแห่งการพ้นทุกข์ พบสุขแท้จริง


    เวลาทั้งหมดที่ใช้ไปเพื่อกาลทั้ง ๔ นี้ เป็นเวลาเพื่อชีวิต เพื่อปิดนรก เปิดสวรรค์ สร้างเสบียงใหญ่ไปนิพพาน เมื่อเราได้ใช้เวลาที่มีในชีวิตนี้ไปกับเรื่องสำคัญ เรื่องที่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ตัวของเราทั้งในปัจจุบันชาติ ชาติหน้า ชาติต่อ ๆ ไป จนถึงที่สุดแห่งธรรมได้ นั่นคือเราได้ใช้ทรัพย์ที่มีอยู่อย่างคุ้มค่าที่สุด ตามเยี่ยงอย่างที่ผู้มีบุญ ผู้เป็นบัณฑิตนักปราชญ์ในกาลก่อนได้ประพฤติปฏิบัติมา..   

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล