วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ การทำบุญกับพระอรหันต์ในบ้าน

DOU ความรู้สากล
เรื่อง : พระมหาวุฒิชัย วุฑฺฒิชโย ป.ธ. ๙

 

 

การทำบุญกับพระอรหันต์ในบ้าน

 

    คนทั่วไปมักใช้สำนวน “ทำบุญ ทำทาน” ไปคู่กัน หรือใช้แทนกันจนคุ้นเคย โดยเวลาถวายของแด่พระภิกษุสงฆ์ เรามักใช้คำว่า “ทำบุญ” เพราะจิตใจของผู้ให้มีความศรัทธา ต้องการบุญกุศล จึงให้เพื่อชำระใจของตนให้ใสสะอาดบริสุทธิ์ แต่เมื่อให้ของแก่คนยากจนหรือคนที่ต่ำกว่า ด้อยกว่าตน ก็มักใช้คำว่า    “ทำทาน” แทน เพราะจิตใจของผู้ให้มุ่งไปในทางสงเคราะห์หรืออนุเคราะห์แก่คนยากจน


    “บุญ” คือ สิ่งที่เมื่อเกิดขึ้นในจิตใจแล้ว ทำให้จิตใจใสสะอาด ปราศจากความเศร้าหมอง ขุ่นมัว 


    บุญทำให้ใจมีคุณภาพดีขึ้น คือ ใจจะ     ตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีความบริสุทธิ์ สะอาด โปร่ง โล่ง สบาย สงบ สว่างไสว เป็นสุข และบุญ     ที่เกิดขึ้นนั้นยังสามารถสะสมเก็บไว้ในใจได้    อีกด้วย


        
     ในทางพระพุทธศาสนามีวิธีทำบุญ     ด้วยกันถึง ๑๐ วิธี (บุญกิริยาวัตถุ ๑๐) ดังนี้   คือ 


๑.    ทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการให้


๒.    สีลมัย บุญที่สำเร็จด้วยการรักษาศีล


๓.    ภาวนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการเจริญสมาธิภาวนา


๔.    อปจายนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตน


๕.    ไวยาวัจมัย บุญที่สำเร็จด้วยการให้ความช่วยเหลือ ขวนขวายในกิจการงานที่ถูกที่ควร


๖.    ปัตติทานมัย บุญที่สำเร็จด้วยการอุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้อื่น


๗.    ปัตตานุโมทนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการอนุโมทนา (แสดงความยินดี) ในการทำบุญกุศล หรือการทำความดีของผู้อื่น


๘.    ธัมมัสสวนมัย บุญที่สำเร็จด้วยการฟังธรรม


๙.    ธัมมเทสนามัย บุญที่สำเร็จด้วยการแสดงธรรม


๑๐.  ทิฏฐุชุกัมม์ บุญที่สำเร็จด้วยการทำ   ความเห็นให้ถูกต้องดีงาม ตรงตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ)


        
        การทำบุญทั้ง ๑๐ วิธีนี้ สามารถย่อให้ง่ายขึ้นเป็นบุญกิริยาวัตถุ ๓ ประการ คือ ทาน ศีล และภาวนา ก็ได้ ทาน ประกอบด้วย ทานมัย (ข้อ ๑), ปัตติทานมัย (ข้อ ๖), ปัตตานุโมทนามัย (ข้อ ๗) ศีล ประกอบด้วย สีลมัย (ข้อ ๒), อปจายนมัย (ข้อ ๔), ไวยาวัจมัย (ข้อ ๕) ภาวนา ประกอบด้วย ภาวนามัย (ข้อ ๓), ธัมมัสสวนมัย (ข้อ ๘) และธัมมเทสนามัย (ข้อ ๙) ส่วนทิฏฐุชุกัมม์ (ข้อ ๑๐) สามารถจัดเข้าได้ทั้งทาน ศีล และภาวนา
        
    การทำบุญด้วยวิธีต่าง ๆ ข้างต้นนี้ ถ้าจะให้ได้บุญมากต้องทำกับเนื้อนาบุญ ซึ่งได้แก่ พระภิกษุสงฆ์ รวมถึงพ่อแม่ซึ่งเปรียบเสมือนพระอรหันต์ในบ้าน ดังข้อความที่ปรากฏในมังคลัตถทีปนี ว่า 


    “วิสุทธิเทพ กล่าวคือ พระขีณาสพ        ไม่คำนึงถึงความผิดอันพวกชนพาลทำแล้ว หวังแต่ความเสื่อมไปแห่งความพินาศและความเกิดขึ้นแห่งความเจริญ ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่พวกเขาโดยส่วนเดียวแท้ ๆ และ ย่อมนำความที่สักการะทั้งหลายของพวกเขา มีผลานิสงส์มาก เพราะเป็นทักษิไณยบุคคล ฉันใด มารดาและบิดาแม้นั้น ก็ฉันนั้น ไม่คำนึงถึงความผิดของบุตรทั้งหลาย ปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขแก่บุตรเหล่านั้นโดยส่วนเดียวเท่านั้น เป็นผู้สมควรแก่ทักษิณา นำความที่     สักการะของบุตรเหล่านั้นอันเขาทำแล้วในตน มีผลานิสงส์มาก” 


    จากข้อความนี้ เราจึงมักได้ยินคำเรียกพ่อแม่ว่าเป็น “พระอรหันต์ในบ้าน” ของลูก เพราะท่านมีคุณธรรม คือ มีความรักต่อลูกด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่มีความคิดร้าย มุ่งหวังแต่ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ลูกเพียงอย่างเดียว  

 

    สำหรับแนวทางในการประพฤติปฏิบัติต่อพ่อแม่นั้น พระพุทธองค์ทรงให้แนวทางไว้ ๕ ประการ คือ


๑.    เลี้ยงดูท่านตอบด้วยการให้ข้าว น้ำ เสื้อผ้า ที่พักอาศัย เป็นต้น (ทานมัย)


๒.   ช่วยเหลือกิจการ คือ เมื่อมีภาระใดเกิดขึ้น ก็เป็นหน้าที่ของลูกที่ต้องสอบถาม เพื่อแบ่งเบาภาระหรือรับทำธุระแทนท่าน (ไวยาวัจมัย)


๓.    เคารพเชื่อฟังท่าน ยามท่านแนะนำให้ทำสิ่งต่าง ๆ ซึ่งก็เป็นปกติของพ่อแม่ที่มักจะแนะนำสิ่งต่าง ๆ ที่ดีแก่ลูก ซึ่งหากเราเคารพเชื่อฟังท่าน ก็จะทำให้เราไม่ประพฤติเสียหาย ไม่นำเรื่องเดือดร้อนใจมาให้ท่าน เป็นการรักษาชื่อเสียงให้วงศ์ตระกูล (อปจายนมัย)


๔.    ทำตนให้เป็นคนดี มีศีลธรรม ทำทาน รักษาศีล เจริญสมาธิภาวนา หมั่นฟังธรรม ปฏิบัติธรรม อนุโมทนาการทำ ความดีของผู้อื่น และเป็นกัลยาณมิตรให้ผู้อื่น ชักชวนผู้อื่นทำความดี เมื่อเป็นเช่นนี้ก็เท่ากับเป็นการทำให้พ่อแม่ภาคภูมิใจ และพร้อมที่จะมอบทรัพย์มรดกที่ท่าน    หามาได้ เพื่อให้ลูกสืบทอดรักษาต่อไป (ทานมัย, สีลมัย, ภาวนามัย, ธัมมัสสวนมัย, ธัมมเทสนามัย,  ปัตตานุโมทนามัย และทิฏฐิชุกัมม์)


๕.    เมื่อท่านลาจากโลกนี้ไปแล้ว ก็ตามทำบุญ และอุทิศส่วนกุศลไปให้ท่าน (ปัตติทานมัย) 


    การที่ลูกสามารถทำหน้าที่ตามที่พระพุทธองค์ทรงให้แนวทางไว้ทั้ง ๕ ประการนี้ นอกจากจะถือว่าเป็นการทำหน้าที่ของลูก    ที่ดีได้ครบถ้วนแล้ว ยังถือเป็นการสร้างบุญกุศลให้ตนเองตามหลักบุญกิริยาวัตถุ ๑๐  ประการ อีกทั้งยังได้ชื่อว่าเป็นการสร้างบุญกับเนื้อนาบุญ ซึ่งแม้ว่าทั้งพ่อและแม่จะไม่ได้เป็นพระสงฆ์สาวก เนื้อนาบุญของโลก ดังที่พระพุทธเจ้า     ตรัสว่า “สาวะกะสังโฆ อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตังโลกัสสะ” แต่ท่านทั้งสองก็ถือว่าเป็นเนื้อนาบุญของลูก ที่เมื่อลูก ๆ ได้ทำบุญด้วยแล้ว ย่อมมีผลานิสงส์มาก

 

    ดังนั้น ลูก ๆ ทั้งหลายผู้รักและปรารถนาบุญ เมื่อได้ทำบุญกับเนื้อนาบุญของโลกในวาระสำคัญต่าง ๆ ทางพระพุทธศาสนาแล้ว ก็อย่าลืมไปทำบุญกับพระอรหันต์ในบ้าน ด้วยการทำหน้าที่ของความเป็นลูกที่ดีทั้ง ๕ ประการ ให้ครบถ้วน และอย่าลืมตอบแทนท่าน ด้วยการชักชวนท่านที่ยังไม่มีศรัทธาให้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ชักชวนท่านที่ยังไม่ยินดีในการให้ทาน ให้ให้ทาน ชักชวนท่านที่ยังไม่ยินดีในการรักษาศีล ให้รักษาศีล ชักชวนท่านที่ยังไม่ยินดีในการนั่งสมาธิ ให้นั่งสมาธิ หากทำได้เช่นนี้ จึงจะได้ชื่อว่า เป็นการตอบแทนคุณท่านอย่างสูงสุด..

 


เรียบเรียงจากหนังสือ SB 101 วิถีชาวพุทธ  
กำหนดการศึกษาภาคฤดูร้อน / ๒๕๕๗
ระบบ ก    นักศึกษารับข้อสอบ                                       ๑๐-๑๖     สิงหาคม ๒๕๕๗
               นักศึกษาส่งข้อสอบและแบบฝึกปฏิบัติ             ๑๗-๒๔   สิงหาคม ๒๕๕๗
ระบบ ข    นักศึกษาสอบปลายภาคและส่งแบบฝึกปฏิบัติ   ๑๖-๑๗    สิงหาคม ๒๕๕๗

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล