วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ สนองคุณพระศาสน์ บทบาทสตรีไทย

บทความน่าอ่าน     
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 

 

สนองคุณพระศาสน์

บทบาทสตรีไทย

 

    ดอกไม้หลากสีต่างพันธุ์ ยังถูกร้อยเรียงรวมกันด้วยเส้นด้ายเป็นพวงมาลัยเพื่อบูชาพระรัตนตรัย แผ่นลานแต่ละหน้าเมื่อได้จารจารึกอักษรสำคัญถ่ายทอดคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ก็ต้องเรียงร้อยเป็นผูกเป็นมัดรวมเป็นเรื่องราวเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการสืบรักษาและศึกษาพระธรรม        คำสอนอันเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย

 

 

    สายสนอง คือ ไหม ด้าย หรือเชือก          ที่ร้อยแผ่นลานเข้ากันเป็นผูก โดยทำเป็นหูร้อยตามรูที่เจาะไว้ทางด้านซ้ายเพียงด้านเดียว ส่วนด้านขวาปล่อยว่างไว้เพื่อความสะดวกในการพลิกอ่าน เป็นวิธีเข้าเล่มหนังสือแบบโบราณ นอกจากวัสดุดังกล่าวแล้ว บางแห่งยังพบสายสนองทำจากเส้นผม ที่ผู้หญิงไทยในอดีตตั้งใจสละบูชาเพื่อถักฟั่นเป็นสายสนองร้อยแผ่นลาน บ้างก็นำเส้นผมมาถักเปียใช้เป็นเชือกมัดห่อคัมภีร์ใบลาน   


เชือกมัดผ้าห่อคัมภีร์และสายสนองทำจากเชือกและสายฟั่น

 

    การถวายเส้นผมที่ดูแลรักษาอย่างดีเพื่อทำเป็นสายสนองหรือเชือกมัดคัมภีร์แสดงถึงแรงศรัทธาของสตรีที่มีต่อพระรัตนตรัยอันเป็นที่พึ่งที่ระลึกอันสูงสุด และยังแสดงถึงความปรารถนาอยากมีส่วนร่วมในการตอบแทนคุณพระศาสนา เฉกเช่นฝ่ายชายซึ่งเป็นผู้จารคัมภีร์ 
    

เชือกมัดผ้าห่อคัมภีร์ทำจากเส้นผม 
ความยาวประมาณ ๓-๕ เมตร และสายสนองเส้นผมถักเปีย

ภาพเส้นผมถักเปีย 
สำหรับมัดผ้าห่อคัมภีร์
(ที่มา : สุรสิทธิ์ ไทยรัตน์, ๒๕๕๖)

 

เชือกมัดไม้ประกับทำจากเส้นผม  ความยาวประมาณ ๑ เมตร

 


ภาพเส้นผมถักเปีย 
สำหรับมัดไม้ประกับ
(ที่มา: สุรสิทธิ์ ไทยรัตน์, ๒๕๕๖)

 


สายสนองทำจากเส้นผมถักเป็นเปีย เพื่อร้อยแผ่นใบลานรวมเป็นผูก

 

 

    ทั้งนี้เพราะสตรีไทยโบราณส่วนใหญ่อ่านหนังสือไม่ออก เนื่องจากการศึกษา   แต่เดิมไม่นิยมให้เล่าเรียนหนังสือ เน้น    ให้มีความรู้เฉพาะการบ้านการเรือนและงานฝีมือเป็นความรู้ติดตัว จะมีเฉพาะสตรี     ชั้นสูงในรั้วในวังเท่านั้นที่มีโอกาสได้        เล่าเรียนเขียนอ่าน
    

 

    ส่วนฝ่ายชายเป็นผู้ได้รับโอกาสทางการศึกษามากกว่า เพราะศูนย์กลางของสรรพศาสตร์อยู่ที่วัด มีพระภิกษุสงฆ์ ทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่กุลบุตรที่เข้ามาฝากตัวเป็นศิษย์ สอนหนังสือไทย มอญและขอม ให้ความรู้คัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา รวมทั้งอบรมสั่งสอนจริยธรรม กระทั่งถึงวัยอันควรก็จะได้รับการบรรพชาเป็นสามเณรหรืออุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณี ต่อไป ดังนั้นผู้ที่สามารถจารคัดลอกคัมภีร์ใบลานทางพระพุทธศาสนาได้ จึงมีแต่ฝ่ายชายที่ผ่านการบวชเรียนมาเท่านั้น

 

 

    แม้พระพุทธศาสนาจะให้โอกาสในการบวชเรียนแก่บุรุษมากกว่าสตรี อย่างไรก็ตามในกรอบของวัฒนธรรมยังมีการจัดสมดุลของการจรรโลงพระพุทธศาสนา ซึ่งสะท้อนความสำนึกรู้คุณของฝ่ายหญิงผ่านสายสนองเส้นผม ที่ร้อยรวมแผ่นคัมภีร์ใบลาน หรือเส้นผมที่ผูกรวมคัมภีร์เป็นมัด ประหนึ่งสายใยที่ผูกโยงพระธรรมคำสอนให้ร้อยรวมเรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน อันเป็นสัญลักษณ์ของบทบาทคู่กันระหว่างเพศภาวะชายในฐานะผู้สร้างสรรค์คัมภีร์ใบลาน และบทบาทของเพศภาวะหญิงในฐานะผู้ปกป้องรักษา อันแสดงถึงบทบาทการตอบแทนคุณพระศาสน์ได้อย่างงดงามและทัดเทียมกัน..

 


สุรสิทธิ์ ไทยรัตน์. คัมภีร์ใบลานในประเทศไทย. กรุงเทพ : มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, ๒๕๕๖.

 

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๒ เดือนสิงหาคม ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล