วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ รักษ์ศาสน์ วาดศิลป์ แผ่นดินสยาม

บทความน่าอ่าน     
เรื่อง : Tipitaka (DTP)

 

 

รักษ์ศาสน์ วาดศิลป์ แผ่นดินสยาม

 

    บรรพชนชาวสยามน้อมรับเอาพระพุทธศาสนามานับถือและรักษาไว้ ไม่ว่าจะเปลี่ยนผ่านมากี่ยุคสมัย ผ่านมากี่แผ่นดิน อาณาประชาราษฎร์ล้วนอยู่ร่วมกันอย่างร่มเย็นเป็นสุขภายใต้พระบรมโพธิสมภารแห่งพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงเป็น “ธรรมราชา” องค์เอกอัครศาสนูปถัมภก ปกครองแผ่นดินโดยธรรมตามหลักพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า

 

แม้พระมหากษัตริย์จะได้รับการยกย่องประดุจสมมุติเทพ แต่พระองค์ทรงเคารพบูชาพระรัตนตรัยเหนือสิ่งใด ดังจะเห็นได้จากจารึกวัดป่ามะม่วง จารึกด้วยอักษรขอมสุโขทัย ภาษาเขมร เมื่อ    พ.ศ. ๑๙๐๔ ด้านที่ ๒ บรรทัดที่ ๔๔-๔๗ ว่า 


พระบาทกัมรเดงอัญศรีสุริยพงศ์รามมหาธรรมราชาธิราช
เสด็จยืนขึ้นยกอัญชลีนมัสการพระพุทธรูปทอง
และพระไตรปิฎกที่เก็บไว้บนพระราชมณเฑียร    

 

   
จารึกวัดป่ามะม่วง บนหินแปร กว้าง ๓๐ ซม. สูง ๒๐๐ ซม. หนา ๒๙ ซม.

 

 

   จารึกดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คัมภีร์พระไตรปิฎกถูกจารขึ้นในแผ่นดินสยามตั้งแต่หลายร้อยปีมาแล้วเป็นอย่างน้อย และได้รับการดูแลรักษาอย่างดีภายในพระราชมณเฑียร ซึ่งแม้แต่กษัตริย์ก็ทรงให้
ความเคารพพระธรรมคำสอนนั้น


    แม้เราจะทราบว่ามีการจารคัมภีร์พระไตรปิฎก และการสร้างอาคารเพื่อเก็บรักษาพระไตรปิฎก ในแผ่นดินสยามมานานแล้ว แต่ยังไม่มีหลักฐานใดระบุชี้ชัดว่าชาวสยามเริ่มรู้จักใช้ตู้พระธรรมตั้งแต่ เมื่อใด เราสามารถสันนิษฐานได้เพียงว่า เมื่อมีการสร้างหอไตรขึ้น ก็น่าจะมีการสร้างสิ่งที่บรรจุคัมภีร์พระไตรปิฎกใบลานอย่างเหมาะสม และมีการตกแต่งที่ประณีตงดงาม ให้สมกับความศักดิ์สิทธิ์         ของพระคัมภีร์อันเป็นตัวแทนของพระบรมศาสดา 


       เชื่อกันว่าตู้พระไตรปิฎก หรือตู้พระธรรม   หรือเป็นที่รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่าตู้ลายรดน้ำ แต่เดิมเป็นหีบที่ใช้เก็บเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มของคหบดีหรือขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ตกแต่งด้วยลายรดน้ำ    เมื่อเจ้าของหีบเสียชีวิตไป ลูกหลานจึงนำมา      ถวายวัดให้เป็นบุญกุศล พระภิกษุจึงนำมาใช้  เพื่อเก็บรักษาคัมภีร์

 


หีบพระธรรมลายรดน้ำ ศิลปะอยุธยา
พุทธศตวรรษที่ ๒๓ ไม้ลงรักปิดทอง
  


   ตู้ที่ทำขึ้นใช้สำหรับบรรจุพระไตรปิฎกจริง ๆ มีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมลูกบาศก์ ส่วนบนสอบเข้าทำให้ดูแคบกว่าตอนล่าง ตกแต่งด้วยลายรดน้ำหรือลงรักปิดทอง ภาพลายรดน้ำทั่วไปเป็นเรื่องเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ภาพเทวดาทวารบาล ภาพธรรมชาติ เป็นต้น แม้ความนิยมของลวดลายจะแตกต่างไปตามยุคสมัย     แต่ผลงานที่ช่างศิลป์สรรค์สร้างขึ้นล้วนสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะฝากผลงานชั้นเลิศของตนไว้เคียงคู่และปกปักรักษาคำสอนของพระบรมครู อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นเรื่องราวประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองในแต่ละยุคสมัยอีกด้วย 


    อาทิเช่นความงดงามประณีตและความมีชีวิตชีวาอย่างหาที่ติไม่ได้ของงานศิลป์ลายรดน้ำสมัยอยุธยา กระหนกเปลวที่มีพลังและเป็นกลุ่มก้อนแสดงให้ประจักษ์ถึงความภาคภูมิใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ ความสงบผาสุกของราษฎร โดยเฉพาะลวดลายรดน้ำช่วงอยุธยาตอนปลายที่มีความสลับซับซ้อน อ่อนช้อย สะท้อนถึงความเจริญรุ่งเรืองและสังคมที่หรูหราในช่วงปลายอาณาจักร

 

ตู้พระธรรม ศิลปะอยุธยา 
ต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๓ 
ไม้ลงรักปิดทองประดับกระจก

 

    สมัยอยุธยาตอนกลางจนถึงอยุธยาตอนปลาย มักเขียนภาพเทวดาทวารบาลขนาดใหญ่บน            บานประตูตู้พระไตรปิฎก คือรูปเทวดายืนบนแท่น มีพระรัศมีรอบพระเศียร มียักษ์แบกแท่นสูงเต็ม   สองบานประตูตู้ สันนิษฐานว่ามีจุดประสงค์เพื่อให้เทวดารักษาคุ้มครองคัมภีร์พระไตรปิฎกให้อยู่รอดปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง

 


    สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชมีการ เจริญสัมพันธไมตรีการค้ากับชาวต่างประเทศ จึงมีการเขียนภาพกษัตริย์ชาวต่างชาติขึ้นบนบานประตูตู้พระไตรปิฎก ฝั่งขวาเป็นภาพพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ กษัตริย์แห่งฝรั่งเศส ส่วนบานประตูฝั่งซ้ายเป็นรูปกษัตริย์เปอร์เซีย แสดงว่ารัชสมัยนี้มีความโดดเด่นด้านการค้าและการทูตกับต่างประเทศเป็นอย่างดี

 

ซึ่งต่างจากลวดลายหลังสงครามสมัยกรุงธนบุรีเชื่อมต่อถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ ๑-๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นช่วงที่บ้านเมืองผ่านความคุกรุ่นของสงคราม สถาปัตยกรรมอันงดงามและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาถูกเผาทำลายไปมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงสละพระราชทรัพย์จ้างช่างจารจารึกพระไตรปิฎกลงในใบลาน สร้างตู้ใส่ไว้ในหอมณเฑียรธรรม และสร้างพระไตรปิฎกถวายพระสงฆ์ไว้ในพระอารามหลวงทุกแห่ง ส่วนศิลปะลายรดน้ำบนตู้พระไตรปิฎกในช่วงนี้ยังคงความงามเพราะสืบต่อจากสมัยอยุธยาอันรุ่งเรือง          แต่ความสูญเสียจากสงครามบั่นทอนขวัญและกำลังใจของช่างศิลป์ทำให้งานที่ออกมาแม้จะไม่ ด้อยค่าความงาม แต่ไม่มีพลังและไม่เป็นกลุ่มก้อนเหมือนก่อน 

 

คัมภีร์สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช


 

คัมภีร์มหาวคฺคนิสฺสย
ฉบับทองใหญ่

คัมภีร์นิสฺสคฺคิยปาจิตฺติยวณฺณนา 
สมนฺตปาสาทิกา วินยฏฺฐกถา ฉบับทองชุบ


    สถาปัตยกรรม จิตรกรรม ประติมากรรมทั้งหลายที่ยังปรากฏให้เราเห็นในทุกวันนี้นั้น       ผ่านกาลเวลามาหลายยุคสมัย และล้วนแล้วแต่เป็นศิลปะที่สะท้อนถึงสภาพความรุ่งเรืองของสังคม การดำเนินชีวิต และจิตใจของคนในชาติที่ช่างศิลป์ในยุคสมัยนั้น ๆ สื่อออกมาให้คนรุ่นหลังทราบ ภายใต้ความงามของศิลปะทุกแขนงจึงมีเรื่องราวแทรกอยู่ ให้มองเห็นสังคมที่สงบสุขไพร่ฟ้าหน้าใส หรือให้รู้สึกถึงช่วงเวลาทุกข์ยากที่มีสงคราม มีการรบพุ่งฆ่าฟันกัน พระพุทธศาสนาในสยามเองก็เดินทางผ่านทั้งแสงเพลิงแห่งสงคราม ทั้งรุ่งเรืองในยามที่แผ่นดินสงบ แต่ไม่ว่าจะผ่านช่วงเวลาใดความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของผู้คนยังมั่นคง และแสดงออกมาในรูปแบบศิลปะแขนงต่าง ๆ ทั้งสถาปัตยกรรมโบสถ์ วิหาร ที่เป็นเอกลักษณ์ ทั้งลายภาพจิตรกรรมที่บรรจงวาดไว้  ทั้งความงดงามของลายรดน้ำบนตู้พระไตรปิฎกที่งามสมศรัทธาแห่งช่างศิลป์แผ่นดินสยามวาดไว้ให้เป็นที่ประจักษ์ว่าจะปกปักรักษาคัมภีร์ที่จารจารึกพระธรรมคำสอนอันล้ำค่าให้ปลอดภัย ขณะเดียวกันก็บอกเล่า  เรื่องราวความเป็นมาของประวัติศาสตร์แผ่นดินสยามให้คนรุ่นหลังภาคภูมิใจในความเป็นชาติ   และให้ยืนหยัดรักษาพระศาสนาให้คู่แผ่นดินไทย แผ่นดินธรรมตลอดไป..

 

 

 

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๕ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล