วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ เพราะเหตุใดคำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ จึงสำคัญต่อชาวโลกมาก?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

       อะไรเป็นสาเหตุให้มนุษย์แสดงท่าทีต่อความทุกข์ในชีวิตแตกต่างกันไป และเพราะเหตุใดคำสอนเรื่องอริยสัจ ๔ จึงสำคัญต่อชาวโลกมาก?


ANSWER คำตอบ

      การกระทำของแต่ละคนในคราวที่เผชิญปัญหา โดยมากทำโดยอาศัยพื้นฐานความคิดเห็นและมุมมองจากความเข้าใจต่อโลกและชีวิตตามที่ตนเองรู้และเข้าใจ บางคนจะโอดครวญ          บ่นเพ้อเสียใจว่าทำดีมามากแล้วทำไมจึงต้องประสบกับเคราะห์กรรม บางคนกลับรักษาใจให้มั่นคงไม่หวั่นไหวขึ้นลงไปกับสิ่งที่ได้ประสบ บางคนสามารถพลิกวิกฤตในชีวิตให้เป็นโอกาส สร้าง         ความดีและช่วยเหลือสงเคราะห์เพื่อนร่วมโลกต่อไปอีก

    เมื่อชาวพุทธมีพระนิพพานเป็นเป้าหมายชีวิต เวลาเผชิญปัญหาก็จะต้องพากเพียรใน        การสั่งสมบุญบารมีให้ตลอดรอดฝั่ง แม้มีอุปสรรคใดมาขวางกั้นก็ไม่หวั่นไหว ไม่เลิกละความเพียรพยายาม แต่บุคคลจะสามารถทำอย่างนี้ได้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเห็น “ภาพรวมของชีวิต” รู้จักมองทุกสิ่งทุกอย่างได้ตรงตามความเป็นจริง 

“กฎไตรลักษณ์เร่งให้เราแก่ เร่งให้เราเจ็บ เร่งให้เราตาย 
เราจะชักช้าไม่ได้ เพราะทุกอนุวินาทีมีค่ากว่าทองคำ 
ต้องเปลี่ยนเป็นบุญให้หมด” 


    พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนให้ชาวพุทธมองโลกและชีวิตผ่านความรู้ที่แท้จริง คือ     “อริยสัจ ๔” ซึ่งเป็นความจริงอันประเสริฐที่ทุกคนต้องรู้ เพราะเมื่อรู้แล้วถึงจะดำเนินชีวิตให้บรรลุเป้าหมายได้ตรงตามความเป็นจริง

    ๑) ทุกขอริยสัจ คือรู้ตามความเป็นจริงว่า ชีวิตนี้เป็นทุกข์ เพราะเราคือนักโทษประหาร    ต้องเกิดและตายอยู่ในคุกคือวัฏสงสารนี้ 

    เราเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในคุกมาหลายรอบแล้ว ถูกขังอยู่ในคุกคือโลกและจักรวาล โดยที่เราซึ่งเป็นนักโทษก็ไม่เคยรู้ว่า ตัวเองทำผิดอะไรมาก่อน แล้วจะหมดโทษพ้นโทษเมื่อใดก็ไม่ทราบ นอกจากนี้ คุกนี้ยังมี กฎแห่งกรรม ที่บังคับไว้ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำให้เราเป็นผู้ทำกรรมและได้รับผลของกรรมนั้นเอง กรรมดีทำให้โทษเบาบาง ได้ไปสู่สวรรค์ แต่สวรรค์นั่นก็คือคุกอยู่ดี แต่เป็นคุกชั้นดี ถ้าทำกรรมชั่ว ผลของกรรมชั่วคือต้องไปรับโทษหนักในนรก นอกจากกฎแห่งกรรมแล้ว คุกนี้ยังมี กฎไตรลักษณ์ ที่มีกลไกคือเวลาเป็นตัวเร่งและบีบคั้นให้เราทุกข์จากความแก่ ทุกข์จากความเจ็บ ทุกข์จากความตาย บีบคั้นให้เพิ่มโทษเพิ่มทุกข์ให้ตัวเอง

    สภาพที่แท้จริงของเราถูกปิดบังให้มืดมิด มนุษย์ไม่เคยรู้ความจริงมาก่อน ชีวิตจึงวนเวียนอยู่แต่ในการทำผิดทำพลาด จนกระทั่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณด้วยพระองค์เอง ทรงกำจัดทุกข์ของพระองค์เองให้สิ้นไป ทรงเป็นผู้ค้นพบถึงความจริงที่สำคัญเหล่านี้แล้วจึงทรงนำมาบอกให้ชาวโลกทราบ แล้วมีผู้ปฏิบัติตามสามารถกำจัดทุกข์ให้สิ้นไป ปรากฏเป็นพระอรหันตเจ้ามากมาย

    ดังนั้น เมื่อกฎแห่งกรรมตามประกบเราอยู่ เราจึงว่างเว้นจากการทำความดีไม่ได้ มีโอกาสแล้วต้องรีบทำดีเพื่อสั่งสมบุญให้มาก ๆ เราจะได้เอาบุญเป็นเสบียงไว้ไปปราบกิเลส ขณะเดียวกัน เมื่อกฎไตรลักษณ์เร่งให้เราแก่ เร่งให้เราเจ็บ เร่งให้เราตาย เราจะชักช้าไม่ได้ เพราะทุกอนุวินาทีมีค่ากว่าทองคำ ต้องเปลี่ยนเป็นบุญให้หมด และต้องเปลี่ยนเป็นบุญอย่างมีประสิทธิภาพด้วย

    ชาวพุทธได้ยินเรื่องความจริงอันประเสริฐประการที่ ๑ คือโลกและชีวิตนี้เป็นทุกข์กันมา   นานแล้ว แต่ไม่ค่อยนำไปคิดกัน สิ่งสำคัญคือความจริงเรื่องทุกข์นี้ต้องชัดเจนในใจ ถ้าเพียงแต่นำไปคิดเท่านั้น ชาวโลกจะรู้และเข้าใจสภาพความจริงของตัวเอง แล้วจะเริ่มมีความปลอดภัยขึ้นมา ระดับหนึ่ง ถ้าความจริงนี้ชัดเจนในใจของใครเข้าเมื่อไร คุกคือวัฏสงสารนี้จะสะเทือนด้วยคนคนนั้นขึ้นมาทีเดียว พระพุทธองค์จึงทรงบอกว่าความจริงเรื่องทุกขอริยสัจนี้ คือ ความจริงอันประเสริฐ ที่ชาวโลกทุกคนต้องรู้


    ๒) ทุกขสมุทัยอริยสัจ คือรู้ตามความเป็นจริงว่า ทุกข์ทั้งหลายเกิดจาก “กิเลส” ที่เป็น     เครื่องติดตามและบังคับบัญชานักโทษ โดยบังคับให้นักโทษทำบาปเพื่อให้มีทุกข์โทษเพิ่มขึ้น จะได้วนเวียนอยู่กับการเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีวันได้หมดทุกข์ ไม่มีวันได้ออกจากคุกไปตลอดกาล

    กิเลสที่ฝังอยู่ในใจมนุษย์ จะคอยบังคับให้มนุษย์อยากในสิ่งที่ผิด ๆ เพราะกิเลสทำให้ใจ    ขุ่นมัวไม่ผ่องใส เมื่อใจขุ่นก็มองเห็นไม่ตรงตามจริง ได้ยินไม่ตรงตามจริง ได้กลิ่นไม่ตรงตามจริง     ได้รสไม่ตรงตามจริง ได้สัมผัสไม่ตรงตามเป็นจริง เมื่อใจคิดแต่สิ่งที่ไม่ตรงตามเป็นจริง ก็เลยเกิดความอยากในทางผิด ๆ คืออยากคิดร้าย ๆ คือคิดโลภ คิดโกรธ คิดหลง ส่งผลให้อยากพูด          ร้าย ๆ อยากทำร้าย ๆ ตามมา นี้คือการบังคับของกิเลส ซึ่งนักโทษไม่รู้ความจริงมาก่อน ดังนั้น เพียงแค่นักโทษรู้หลักอย่างนี้เข้าเท่านั้น รู้ว่าความจริงแล้วตัวเองถูกกิเลสควบคุมอยู่ คุกนี้ก็จะ    สะเทือนขึ้นมาอีกระดับทันที ยิ่งไปเห็นกิเลสได้อีก คุกนี้ก็แทบจะระเบิดออกแล้ว

    เมื่อวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ความจริงเรื่องนี้ แผ่นดินสะเทือนไหวอย่างหนัก เพราะมีผู้แหกคุก คือวัฏสงสารนี้ออกไปได้แล้วอีกหนึ่งท่าน คุกก็จึงสะเทือนหนักหนา

    มาร ผู้เป็นเจ้าของคุก กลัวเหลือเกินว่าจะมีใครแหกคุกออกไปได้อีก จึงไม่อยากให้พระสัมมา- สัมพุทธเจ้าทรงนำเรื่องอริยสัจนี้มาเทศน์สอนชาวโลก พอมารรู้ว่าพระองค์ตรัสรู้ความจริงนี้แล้ว        ก็รีบปรากฏตัวทันที เพื่อมาทูลเชิญพระองค์ให้เสด็จเข้านิพพาน เพราะว่าสิ่งที่มารหวาดกลัวนั้น คือกลัวความจริงจะถูกเปิดเผย กลัวต้นกำเนิดความชั่วที่มารปิดบังไว้จะถูกเปิดโปง  

    ดังนั้น การที่ชาวพุทธได้รู้ความจริงว่า กิเลสคือต้นเหตุของทุกข์ทั้งหลาย จึงเป็นความจริงอันประเสริฐอย่างยิ่ง เป็นความจริงที่สั่นคลอนคุกคือวัฏสงสารได้เลยทีเดียว


    ๓) ทุกขนิโรธอริยสัจ คือรู้ตามความเป็นจริงว่า กิเลสนั้นเป็นสิ่งที่กำจัดได้ หากกำจัดได้   เมื่อใดก็จะออกจากคุกนี้ได้เมื่อนั้นทันที

    เมื่อมนุษย์รู้มาถึงจุดนี้ว่า ทุกข์ทั้งหลายสามารถกำจัดได้ด้วยการกำจัดกิเลสออกไป คุกก็ยิ่งสั่นสะเทือนหนักกว่าเดิม รู้เพียงคนเดียวก็สั่นสะเทือนแบบคนเดียว ถ้ารู้กันจำนวนมากเป็นหมู่เป็นคณะ คุกก็ยิ่งสั่นสะเทือนอย่างหนัก ถ้าความรู้นี้รู้ให้เต็มโลก มันจะสั่นสะเทือนขนาดไหน เพราะฉะนั้น ความรู้อย่างนี้ต้องแผ่ขยายออกไปให้รู้กันมากที่สุด เร็วที่สุด 

    ความจริงอันประเสริฐประการที่ ๓ นี้ เรียกว่า “นิโรธ” มารกลัวมากว่ามนุษย์จะรู้ จึงใช้   น้ำบ้าง ไฟบ้าง  แผ่นดินบ้าง ลมบ้าง มาขู่มนุษย์ให้กลัว จะได้เลิกล้มการไปค้นหาความจริง    ฉะนั้นการที่น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ พายุกระหน่ำ มันคืออาการที่เจ้าของคุกกลัวคนจะ         รู้ความจริง จึงรีบหาทางมาขัดขวางหนทาง เบนความสนใจไปจากการค้นหาความจริงเหล่านี้     หาทางให้ไปติดเรื่องอื่น ดังนั้นอย่ากลัวจนเกินเหตุ อย่าไขว้เขว ยิ่งเจออุปสรรค ยิ่งต้องสู้ต่อไป


    ๔) ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ คือรู้ตามความเป็นจริงว่า วิธีเดียวเท่านั้นที่จะถอน     กิเลสได้คือปฏิบัติตนตามอริยมรรคมีองค์ ๘ 

    วิธีถอนกิเลสที่ควบคุมสัตว์โลก กำจัดทุกข์ให้สิ้นไป มีวิธีเดียว คือต้องปฏิบัติอริยมรรค       มีองค์ ๘ ซึ่งประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ            สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ 

    พระพุทธองค์ทรงปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ ถอนกิเลสไปเรียบร้อยแล้ว แล้วก็สอนพระอรหันต์ให้ปฏิบัติตาม สอนชาวโลกให้ปฏิบัติตาม 

    อันที่จริงแล้ว ชาวพุทธได้ยินเรื่องกิเลสมาเยอะ ได้ยินเรื่องอริยสัจ ๔ มาเยอะ เรื่องต่าง ๆ ที่หลวงพ่อนำมาพูดนี้ไม่ใช่ไม่เคยได้ยิน เคยได้ยินแล้ว แต่มโนภาพที่เกิดในใจยังไม่ชัดเจนมากนัก หรือบางอย่างชัดเจนแต่ไม่ปะติดปะต่อเป็นภาพใหญ่ ข้อมูลที่ได้รับจึงอยู่ในลักษณะความทรงจำ  ยังเอามาใช้งานไม่ได้ ยังเป็นเพียงความฉลาดหรือปัญญาในระดับความจำ ฤทธิ์ของความรู้          ยังไม่เต็มที่ 

    เราจะต้องนำความรู้ทั้งหมดนี้ก้าวเข้าสู่อริยมรรคมีองค์ ๘ ในภาคปฏิบัติ เพื่อพัฒนา         เข้าสู่ความฉลาดในระดับญาณทัสสนะหรือการเห็นด้วยธรรมกาย เมื่อฝึกไปความสว่างก็เกิดขึ้นภายในใจ สว่างจนกระทั่งเห็นพระธรรมกาย อาศัยพระธรรมกายไปเห็นกิเลสที่ซ่อนอยู่ในใจ       เห็นได้เมื่อไร กิเลสจะถูกทำลายทันที เหมือนเมื่อดวงอาทิตย์ขึ้นพ้นขอบฟ้า ก็ขับไล่ความมืดที่    หุ้มห่อโลกได้ทันที

    เรื่องอริยมรรคมีองค์ ๘ ในภาคปฏิบัตินี้ นักสร้างบารมีต้องมีภาพรวมเหล่านี้ชัดเจนอยู่      ในใจ แล้วไม่ว่าประสบเหตุเภทภัยใด ๆ นอกจากตัวเองไม่หวั่นไหวแล้ว กลับมีกำลังใจที่จะเดินหน้าต่อไป มีกำลังใจที่จะบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรชักชวนชาวโลกให้มาประพฤติปฏิบัติธรรมต่อไป เพื่อให้มาร่วมกันศึกษาคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาศึกษาความจริง อันประเสริฐทั้ง ๔ ประการ ที่เรียกว่า “อริยสัจ ๔” นี้ให้จงได้ 

    ความจริงเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ยากเกินไปในการทำความเข้าใจ เพียงแต่ที่ผ่านมาเรายังไม่ได้หยุดพิจารณาอย่างจริงจัง เรายังไม่ได้นั่งสมาธิอย่างต่อเนื่อง หรือยังไม่ได้ทำการบ้าน ๑๐ ข้อ     มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้มันยากและรู้สึกห่างไกลจากตัวเราเหลือเกิน แต่เมื่อเราตั้งใจทำการบ้าน ๑๐ ข้อมาตามลำดับ เราจะพบว่า อริยสัจทั้ง ๔ ข้อ ไม่ได้ยากอย่างที่เราเคยกลัวมาก่อน 

    ขอให้รักษาแล้วพัฒนาความเข้าใจหรือปัญญาของเราจากระดับความจำสู่ระดับการขบคิด       จนกระทั่งกลายเป็นทิฎฐิ มีกำลังใจปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ สามารถทำใจหยุดทำใจนิ่งเข้าถึง             พระธรรมกาย เข้าไปสู่ระดับญาณทัสสนะ คือการรู้ การเห็น ด้วยญาณของธรรมกาย ปราบกิเลส ให้สิ้นเชื้อไม่เหลือเศษ สามารถทลายคุกคือโลกนี้ได้เป็นอัศจรรย์โดยพลัน นับแต่วันนี้เป็นต้นไปเทอญ..   

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๔๕ เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล