Case Study กรณีศึกษา
คนอัศจรรย์ (ตอนที่ ๑)
๘,๙,๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๓
กราบนมัสการคุณครูไม่ใหญ่ด้วยความเคารพอย่างสูงครับ
กระผม ดร.กฤษฎา จ่างใจมนต์ เป็นเบอร์ ๑ ของธุรกิจกาแฟลดความอ้วน ภายใต้ชื่อว่า เนเจอร์กิฟ ครับ
ตั้งแต่คุณครูไม่ใหญ่เมตตาให้คนมาถ่ายทำเรื่องราวชีวิตของผมเป็นละคร ผมกลายเป็น Talk of the Temple ที่ hot ไปแล้วครับ เพราะใครจะเชื่อว่า อดีตเด็กสลัมอย่างผมจะกลายเป็นมหาเศรษฐีผู้ใจบุญ ที่ทะยานขึ้นสู่ความรวยในระดับ Top แบบนี้ ซึ่งใคร ๆ เขาก็ว่าน่าจะมีเบื้องหลังสุดลึกอะไรบางอย่างที่เป็นเหตุเป็นผลในระดับข้ามภพข้ามชาติ และวันนี้ก็ถือเป็นความโชคดีสูงสุดของครอบครัวผมและนักเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยา ที่คุณครูไม่ใหญ่เมตตาช่วยฝันในฝันให้ครับ
หลังจากส่งคำถามไปกราบเรียนถามคุณครูไม่ใหญ่แล้ว
ก็มีคำตอบจากโรงเรียนอนุบาลฝันในฝันวิทยาดังนี้
๑. สาเหตุที่ทำให้ลูกเกิดเป็นเด็กสลัม ก็เพราะบุพกรรมที่เคยปฏิเสธการทำบุญ ไม่เชื่อเรื่องผลของบุญ มารวมกับวิบากกรรมที่เคยดูถูกดูแคลน และเคยเบี้ยวค่าแรงและค่าสินค้าของพวกชาวไร่ชาวสวนในหลาย ๆ พุทธันดรก่อน ๆ โน้นตามมาส่งผล
ในภพชาติดังกล่าวตัวลูกเกิดมาเป็น “กุลบุตรสุดหล่อ” ในตระกูลเศรษฐีที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงชอบชวนลูก ๆ ให้ไปทำบุญที่วัดเป็นประจำ
๒. แต่ด้วยความที่ตัวลูกในภพชาตินั้นได้รับการเลี้ยงดูแบบตามใจมาโดยตลอด ไม่ว่าอยากได้อะไร คุณพ่อคุณแม่และเหล่าพี่เลี้ยงก็ตามใจและหามาให้เสมอ ๆ จึงทำให้เวลาที่ตัวลูกได้พบเจอคนที่มีฐานะต่ำกว่า ก็จะชอบดูถูกดูแคลนอยู่เสมอ อีกทั้งลูกยังชอบชักชวนเพื่อน ๆ ให้ไปเที่ยวเล่นสนุกสนานตามประสาวัยรุ่นที่พ่อแม่มีเงินอีกด้วย
๓. เมื่อออกไปเที่ยวเล่นกับเพื่อน ๆ บ่อยเข้า ลูกก็เริ่มติดเพื่อน คราวนี้เวลาคุณพ่อ คุณแม่เรียกให้ไปทำบุญที่วัด ลูกก็เริ่มรู้สึก ไม่อยากไป อย่างไรก็ตามลูกก็มิอาจขัดใจ คุณพ่อคุณแม่ได้ แม้ตัวลูกไปวัด แต่ในใจลูก ก็ไม่ได้ไปเลย เพราะลูกอยากไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนมากกว่า และเมื่อวันเวลาผ่านไป ลูกก็ยิ่งติดเพื่อนติดเที่ยวมากขึ้น ทำให้ช่วงหลัง เวลาที่ลูกไปทำบุญที่วัด ลูกก็ไปเพราะเกรงใจที่ คุณพ่อคุณแม่มาชวน ซึ่งท่านก็จะคอยเป็น ยอดกัลยาณมิตรชักชวนลูกให้ไปทำบุญอยู่เสมอ ๆ
๔. ต่อมา เมื่อลูกเติบใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ก็ยกกิจการให้ดูแลต่อ ด้วยภารกิจดังกล่าวจึงยิ่งทำให้ลูกห่างจากการไปวัดทำบุญมากขึ้น เพราะใจลูกมุ่งอยู่กับการทำธุรกิจตลอดเวลา จนกระทั่งช่วงหลัง แม้คุณพ่อคุณแม่จะทำหน้าที่ยอดกัลยาณมิตรชักชวนลูกให้เข้าวัดทำบุญ สักแค่ไหน ลูกก็มักปฏิเสธ แถมบางครั้งยังพูดจากระทบกระแทกแดกดันจิตใจคุณพ่อคุณแม่ ว่า “ไม่อยากไปทำบุญ! จะทำไปทำไมกัน!”
๕. ในเวลาต่อมา ลูกขยายกิจการออกไป โดยพยายามหาตลาดใหม่ ๆ และสินค้าใหม่ ๆ ด้วยการไปปรึกษาเพื่อนที่เป็นเศรษฐีบ้าง นักธุรกิจที่รู้จักกันบ้าง ซึ่งในบรรดาพวกเศรษฐีที่ลูกรู้จักก็มีทั้งคนดีและคนที่คิดจะมาเอาผลประโยชน์จากตัวลูก
๖. จนในที่สุด ลูกก็ได้รู้จักกับเศรษฐีหน้าเลือดขี้โกงคนหนึ่ง ซึ่งถ้าดูจากลักษณะภายนอกเป็นคนที่น่าเชื่อถือ ทำให้ลูกรู้สึก คล้อยตามเขา และด้วยความเชื่อใจนี่เอง ลูกจึงร่วมลงทุนทำธุรกิจกับเศรษฐีขี้โกงคนนี้ โดยไปว่าจ้างคนงานในหมู่บ้านที่มีฐานะยากจน มาเป็นคนงานผลิตสินค้าให้ ซึ่งสินค้าทั้งหมดลูกจะต้องออกเงินลงทุนไปก่อน
ดังนั้น เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิตสินค้า ลูกจึงกดค่าแรงของคนงานให้ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ด้วยเหตุนี้ลูกจึงสามารถผลิตสินค้าออกมาขายได้เป็นจำนวนมาก เพราะลดต้นทุนการผลิตด้วยวิธีดังกล่าว
๗. ส่วนเพื่อนที่เป็นเศรษฐีขี้โกงก็ทำหน้าที่จัดเตรียมเรือสำเภาสำหรับขนส่งสินค้าเพื่อนำไปขายตามแคว้นต่าง ๆ และด้วยความที่บุญเก่าของลูกยังคอยตามส่งผลอยู่ จึงทำให้กิจการในช่วงแรกไปได้สวย ทำกำไรมหาศาล อีกทั้งกิจการก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้ต้องจ้างคนงานมาเพิ่มจากอีกหลาย ๆ หมู่บ้าน
๘. ด้วยเหตุนี้เองจึงทำให้ลูกไม่มีเวลาและไม่คิดที่จะไปทำบุญอีกเลย ถึงแม้คุณพ่อ คุณแม่จะชวนไปและพยายามอธิบายให้เข้าใจว่า ที่ตัวลูกมีเงินได้ในทุกวันนี้มาจากบุญเก่าที่สั่งสมเอาไว้ แต่ด้วยความที่ลูกถูกเลี้ยงมาแบบตามใจ อีกทั้งตัวลูกก็จัดเป็นหนุ่มมั่น จึงทำให้ลูกไม่เชื่อในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่บอก และยังพูดกับท่านว่า ที่กิจการเจริญรุ่งเรืองนั้น มาจากความสามารถของตัวลูกเอง ซึ่งนับจากวันนั้นเป็นต้นมา ลูกก็ไม่เคยไปทำบุญที่วัดอีกเลย
๙. ในเวลาต่อมา แคว้นที่ลูกเดินทางไปค้าขายมีมหาวาตภัยหรือภัยจากพายุใหญ่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนในแคว้นดังกล่าวบาดเจ็บ ล้มตายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเรือกสวนไร่นาและพืชผลก็เสียหายเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้คนในแคว้นเกิดทุพภิกขภัย อดอยากขาดแคลนตามไปด้วย เมื่อลูกทราบข่าวนี้ ก็เห็นว่าเป็น ช่องทางในการทำมาค้าขาย และน่าจะหากำไรได้มากมายจากเหตุการณ์นี้ ลูกจึงตัดสินใจ ทุ่มทุนทรัพย์เพื่อลงทุนทำการค้าในครั้งนี้ ด้วยการรีบนำเอาทรัพย์สินส่วนใหญ่ไปขาย เพื่อซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากแคว้นของตน แล้วนำไปขายโก่งราคาที่แคว้นดังกล่าว
๑๐. โดยเพื่อนที่เป็นเศรษฐีขี้โกงเป็นคนจัดการเรื่องการขนส่งเหมือนเดิม แต่ด้วยความละโมบโลภมากอยากได้กำไรจากการค้าเยอะ ๆ เพื่อนเศรษฐีขี้โกงจึงเร่งให้ลูกเรือช่วยกันขน สินค้าใส่เรือเป็นจำนวนมากจนเรือปริ่มน้ำ เพราะบรรทุกสินค้าเกินขนาด แล้วรีบนำเรือออกเดินทางไปยังแคว้นดังกล่าว
ในคราวนั้นเอง เมื่อวิบากกรรมเก่าของเศรษฐีขี้โกงที่เคยทำไว้ในอดีตชาติตามมาส่งผลในช่วงที่กำลังบุญเก่าของตัวลูกก็หย่อนลงจนทำให้บุญขาดช่วงส่งผลพอดี กอปรกับวิบากกรรมปาณาติบาตของพวกลูกเรือ ที่แต่ละคนเคยประกอบเหตุแบบต่างกรรมต่างวาระมารวมกันส่งผล จึงทำให้เรือที่เต็มไปด้วยสินค้าเจอกับลมพายุ จนอับปางลงกลางทะเลในที่สุด
๑๑. จากอุบัติเหตุทางเรือดังกล่าวนี้ ทำให้สินค้าจมหายไปในทะเลทั้งหมด และทำให้ลูก จนลงทันตาเห็น นอกจากนั้นลูกยังถูกพวกคนงานกับพวกเกษตรกรที่ขายสินค้าให้พากันมาทวงเงิน ทำให้ลูกรู้สึกโกรธและเสียศักดิ์ศรี จึงออกไปด่าทอและพูดจาดูถูกชาวบ้านที่มาทวงเงิน ด้วยถ้อยคำหยาบคาย และในที่สุดด้วยความที่ไม่มีเงินแล้ว ลูกจึงตัดสินใจชักดาบ เบี้ยวค่าแรงที่จะต้องจ่ายให้พวกคนงาน รวมทั้งเบี้ยวหนี้ ที่ติดค้างจากการไปซื้อสินค้าจากเหล่าเกษตรกร
วิบากกรรมที่ลูกทำไว้ในชาติดังกล่าวนี้ ส่งผลให้ในภพชาติต่อ ๆ มาหลังจากนั้น ลูกต้องมาเกิดอยู่ในครอบครัวที่มีฐานะยากจน และต้องใช้ชีวิตด้วยความยากลำบากอยู่หลายภพหลายชาติ แม้ในชาติปัจจุบัน วิบากกรรมดังกล่าวก็ยังตามมาส่งผล ทำให้ลูกต้องไปเกิดอยู่ในสลัมและใช้ชีวิตด้วยความยากลำบาก
๑๒. การที่ลูกสามารถสอนตัวเองในเรื่องการทำบุญและไม่คบคนพาลมาได้ตั้งแต่เด็ก ก็เพราะผลบุญที่เคยทำไว้กับหมู่คณะในชาติที่ เกิดเป็นกุลบุตรในตระกูลเศรษฐีนั่นเอง
เรื่องมีอยู่ว่า หลังจากที่เรือบรรทุกสินค้าของลูกจมหายไปในทะเล ลูกก็รู้สึกเศร้าโศกเสียใจมาก เพราะทำให้กิจการของครอบครัวเจ๊งจนแทบหมดตัว ในช่วงนั้นมีกัลยาณมิตร มาชักชวนให้ลูกไปวัดของหมู่คณะ ซึ่งตอนแรกลูกก็อิดออดไม่อยากไป เพราะในใจลึก ๆ ยังต่อต้านการสั่งสมบุญอยู่
๑๓. แต่เมื่อลูกประสบความทุกข์จนถึงขีดสุดแล้ว ลูกจึงเริ่มแสวงหาบางสิ่งที่จะช่วยทำให้พ้นจากความทุกข์ในครั้งนี้ได้ และใน ช่วงนั้นลูกก็นึกถึงคำที่คุณพ่อคุณแม่เคยอบรมสั่งสอนไว้ว่า “ทุกชีวิตอยู่ได้ด้วยบุญ เพราะบุญคือสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความสุขและความสำเร็จของมนุษย์ทุก ๆ คน”
หลังจากนั้น ลูกจึงหันหน้าเข้าวัดเรื่อยมา ซึ่งวัดที่ลูกเข้าก็คือวัดของหมู่คณะของเรา เมื่อเข้าวัดแล้ว ลูกก็มีโอกาสศึกษาธรรมะ จนเข้าใจในเรื่องกฎแห่งกรรม บุญ บาป รวมถึงเรื่องอานิสงส์ของการทำบุญ ซึ่งเป็นเรื่องที่ คุณพ่อคุณแม่เคยพูดให้ฟังอยู่เป็นประจำ
๑๔. เมื่อลูกทราบความจริงของชีวิตแล้ว ลูกจึงมีความศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างเต็มเปี่ยม และตั้งใจทำบุญทุก ๆ บุญอย่างเต็มที่เต็มกำลัง ไม่ว่าจะเป็นการทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
แต่ทว่าในช่วงนั้นเป็นช่วงที่ลูกกำลังตกอับและมีฐานะยากจน จึงทำให้ลูกรู้สึกเสียดายว่า ในช่วงที่ตนเองมีเงินได้ใช้ชีวิตด้วยความประมาท ไม่เห็นคุณค่าของการทำบุญเลย แต่พอมาเห็นคุณค่าของการทำบุญ ตนเองกลับตกต่ำและมีเงินทำบุญได้น้อยนิดเหลือเกิน
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทุก ๆ ครั้งที่สั่งสมบุญ ลูกก็มักอธิษฐานจิตตอกย้ำซ้ำ ๆ อยู่เสมอว่า “ขอให้พบแต่กัลยาณมิตร ขออย่าได้ไปคบกับคนพาลอีกเลย และขอให้รักการทำบุญ มาก ๆ และขออย่าได้ประมาทในการดำเนินชีวิตเหมือนดังอดีตที่ผ่านมาอีกเลย”
๑๕. คำอธิษฐานจิตที่ลูกได้อธิษฐานตอกย้ำซ้ำ ๆ ในภพชาติดังกล่าวนี้ กลายเป็นผังที่ติดตามตัวลูกนับตั้งแต่ภพชาตินั้นเรื่อยมา ถึงแม้ในภพชาติต่อ ๆ มา วิบากกรรมที่ลูกเคยปฏิเสธการทำบุญและไม่เชื่อในเรื่องผลของบุญ กับวิบากกรรมที่ลูกเคยเบี้ยวหนี้ เบี้ยวค่าแรง ลูกน้องและพวกเกษตรกร ส่งผลทำให้ลูกต้องไปเกิดในพื้นที่ที่ทุรกันดาร อดอยาก และแห้งแล้งมาหลายภพหลายชาติแล้วก็ตาม
๑๖. แต่สุดท้ายด้วยคำอธิษฐานจิตและบุญที่ลูกได้สั่งสมเอาไว้ในภพชาติดังกล่าวนี้ ก็ตามมาส่งผลทำให้ลูกได้มาเจอกัลยาณมิตร ที่คอยสอนให้ลูกรู้จักคุณค่าของบุญ รักในการสั่งสมบุญ และช่วยประคับประคองไม่ให้ลูกต้องหลุดจากเส้นทางการสร้างบารมีอีกเลย
ในภพชาติปัจจุบัน ด้วยผลบุญที่ลูก เคยร่วมสั่งสมบุญกับหมู่คณะและอธิษฐานจิต ตอกย้ำซ้ำ ๆ ดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงกลายมาเป็นผังที่ส่งผลให้สอนตนเองในเรื่องการทำบุญและการไม่คบคนพาลมาตั้งแต่เยาว์วัย
๑๗. บุพกรรมที่ทำให้ลูกมีความขยัน อดทนตั้งแต่ยังเด็ก ก็เป็นเพราะอานิสงส์จากการที่ลูกได้พบเจอแต่กัลยาณมิตรที่คอยแนะนำสั่งสอนให้ลูกมีอุปนิสัยขยัน อดทน จนกลายเป็นอุปนิสัยที่ติดตัวมาข้ามภพข้ามชาติ
เรื่องก็มีอยู่ว่า ในหลายพุทธันดรก่อน โน้น ลูกเกิดเป็นลูกชายของคนสวนที่อาศัย อยู่ในบ้านเศรษฐีท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นคนจิตใจดี มีเมตตา และมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา
๑๘. ด้วยความที่ท่านเศรษฐีเป็นคนที่มีจิตใจดี กอปรกับคุณพ่อคุณแม่ของลูกในชาตินั้น (ซึ่งเป็นบริวารของท่านเศรษฐี) เป็นคนซื่อสัตย์ ท่านเศรษฐีจึงส่งเสียเรื่องการเรียนและช่วยอุปการะเลี้ยงดูตัวลูก เพื่อที่ลูกจะได้เป็นเพื่อนเล่นกึ่งคนรับใช้ของลูกชายและลูกสาวของท่านเศรษฐี (ไม่ได้รับเลี้ยงดูแบบลูกบุญธรรม)
๑๙. นอกจากส่งเสียเรื่องการเรียนและให้การอุปการะเลี้ยงดูตัวลูกแล้ว ท่านเศรษฐี ยังให้การอบรมสั่งสอน และปลูกฝังคุณธรรมเรื่องความขยันและความอดทนให้กับลูกอีกด้วย เพราะมีอยู่บ่อยครั้งที่ลูกถูกกลุ่มเพื่อน ๆ ของลูกชายและลูกสาวของท่านเศรษฐี รวมถึงเด็ก ๆ ที่อยู่ในละแวกนั้นดูถูกดูแคลนอยู่เสมอ ๆ ว่า “ไอ้ลูกคนใช้” หรือ “ไอ้ลูกคนสวน”
๒๐. แต่ลูกก็ไม่ได้รู้สึกเสียใจ เพราะยึดถือคำที่ท่านเศรษฐีสอนเอาไว้ นั่นก็คือ ให้มีความมุมานะ เพียรพยายาม อดทน และต้องทำให้คนอื่นยอมรับให้ได้
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผังแห่งความขยันและความอดทนฝังแน่นติดอยู่ในใจของลูก เรื่อยมา และกลายเป็นอุปนิสัยที่ติดตัวลูกมาข้ามภพข้ามชาติ จนกระทั่งมาถึงชาติปัจจุบัน ด้วยอุปนิสัยที่ติดตัวมานี้เอง จึงทำให้ลูกเป็นคนที่มีความขยันและอดทนมาตั้งแต่เด็ก
๒๑. ในเวลาต่อมา เมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว ท่านเศรษฐีก็ส่งเสริมให้ลูกออกไป สร้างเนื้อสร้างตัว โดยส่งให้ไปฝึกงานกับเพื่อนของท่านคนหนึ่ง เพื่อช่วยงานค้าขายอยู่ที่หัวเมืองในระหว่างที่กำลังฝึกงานอยู่นั้น ลูกก็พยายามเรียนรู้วิธีการทำงานและการติดต่อประสานงาน จนทำให้ลูกมีความรู้และความเข้าใจในระบบการทำงานอย่างชัดเจน
๒๒. เมื่อลูกสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานจนมีความมั่นใจแล้ว จึงขอแยกตัวออกมาทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจนั้น บุญเก่าที่ลูกเคยสั่งสมไว้ในอดีตชาติได้ช่องตามมาส่งผลในช่วงนั้นพอดี ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ธุรกิจการค้าของลูกเจริญเติบโตชนิดที่เรียกว่าขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ทำให้ลูกมีฐานะร่ำรวยอย่างยิ่ง เมื่อลูกสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นเศรษฐีคนหนึ่งแล้ว ลูกจึงเดินทางกลับไปเยี่ยมท่านเศรษฐี เพื่อขอบคุณในฐานะที่ท่านเป็นผู้มีพระคุณ ที่คอยช่วยเหลือดูแลตัวลูกมาโดยตลอด และที่สำคัญก็คือ ลูกตั้งใจที่จะเดินทางไปสู่ขอลูกสาวของท่านเศรษฐีซึ่งเป็นคนที่ลูกแอบปลื้มมาตั้งแต่เด็ก
๒๓. เมื่อท่านเศรษฐีเห็นว่าลูกเป็นผู้ที่ มีความมุ่งมั่น มีความเพียรพยายามดี และสามารถสร้างเนื้อสร้างตัวจนกลายเป็นเศรษฐีคนหนึ่ง ท่านเศรษฐีจึงรู้สึกวางใจและยินยอมพร้อมใจที่จะให้ลูกมาดองเป็นทองแผ่นเดียวกันกับครอบครัวของท่าน
สำหรับลูกสาวของท่านเศรษฐีคนนี้ (คือภรรยาของลูกในภพชาติปัจจุบัน) เป็นคนที่ลูกสนิทสนมคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็ก จากความ คุ้นเคยที่มีให้กันก็พัฒนากลายเป็นความชอบ จากความชอบก็แปรเปลี่ยนเป็นความรักในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ลูกจึงรู้สึกดีใจและภูมิใจ เป็นอย่างมาก ที่ได้พิสูจน์ความสามารถให้ ท่านเศรษฐีเห็น จนท่านยอมให้ลูกแต่งงานกับลูกสาวของท่านในที่สุด
๒๔. บุพกรรมที่ทำให้ลูกมีฐานะร่ำรวยและประสบความสำเร็จอย่างสูงมาก ก็เป็นเพราะบุญที่ลูกเคยรวมกลุ่มกัลยาณมิตรและชาวบ้านช่วยกันสร้างวัด และสั่งสมบุญกับหมู่คณะอย่างเต็มที่เต็มกำลังในชาติที่เกิดเป็นลูกชายคนสวนของท่านเศรษฐีตามมาส่งผล
ในชาติดังกล่าว หลังจากที่ลูกและ บุตรสาวของท่านเศรษฐีแต่งงานกัน วิบากกรรมเก่าที่ลูกเคยปฏิเสธการทำบุญและไม่เชื่อในเรื่องผลของบุญ กับวิบากกรรมที่เคยเบี้ยวหนี้ เบี้ยวค่าแรงลูกน้องและพวกเกษตรกร ในชาติที่ลูกเคยเกิดเป็นกุลบุตรในตระกูลเศรษฐีได้ช่อง ส่งผล ทำให้กิจการที่เคยเจริญรุ่งเรืองกลับเริ่มถดถอยและตกต่ำลง
๒๕. เพราะในช่วงนั้นมีคนผลิตสินค้าขึ้นมาเลียนแบบสินค้าของลูก จนทำให้กิจการการค้าของลูกได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก
เมื่อกิจการของลูกเริ่มตกต่ำลง พวกชาวบ้านที่คอยหาสินค้ามาขายให้ลูกก็พลอยย่ำแย่ตามไปด้วย เมื่อชาวบ้านเหล่านั้นไม่รู้จะไปพึ่งใคร พวกเขาจึงพากันมาขอความช่วยเหลือจากลูก ซึ่งลูกก็ไม่ปฏิเสธ ทั้ง ๆ ที่ลูกก็กำลังประสบปัญหาทางการเงินเช่นเดียวกัน เพราะลูกรู้สึกสงสารและเห็นอกเห็นใจที่ชาวบ้านต้องพลอยได้รับผลกระทบตามไปด้วย ดังนั้นลูกจึงพยายามคิดหาวิธีการที่จะช่วยเหลือชาวบ้านอย่างเต็มที่
๒๖. แต่ด้วยภาวะการค้าที่ฝืดเคืองมาก อีกทั้งเงินทุนที่มีอยู่ก็ใกล้จะหมดแล้ว ลูกจึงตัดสินใจรวมกลุ่มชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนให้ไปช่วยกันหักร้างถางพงในที่ดินต่าง ๆ ที่ไม่มีเจ้าของ จากนั้นก็บอกพวกชาวบ้านให้มาช่วยกันเพาะปลูกพืชผล จะได้มีผลผลิตทางการเกษตรไปขายเพื่อเลี้ยงชีพ ซึ่งตัวลูกก็คอยให้กำลังใจพวกชาวบ้านเหล่านั้นอยู่เสมอว่า “ช่วงนี้ขอให้ทุกคนสู้และอดทนกันไปก่อน ถ้าหากทุก ๆ คนช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไม่ช้าพวกเราก็จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้”
ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีชาวบ้านบางส่วนทนความลำบากไม่ไหวขอลาออกจากกลุ่มไป ส่วนชาวบ้านที่เหลืออยู่ก็ยังคงหยัดสู้เคียงข้างลูกอย่างไม่หวั่นเกรงต่อความลำบาก
๒๗. นอกจากลูกจะคอยให้กำลังใจพวก ชาวบ้านที่เหลือแล้ว ลูกยังมาช่วยพวกชาวบ้านเหล่านั้นหักร้างถางพงด้วยตัวของลูกเองอีกด้วย และไม่ว่าพื้นที่ทำกินที่ตัวลูกและพวกชาวบ้านช่วยกันหักร้างถางพงจะมีสภาพที่แห้งแล้งเพียงใด แต่ลูกก็ยังคงเดินหน้าสู้ต่อไปอย่างไม่หวั่นไหว ด้วยกำลังใจที่เข้มแข็งของทั้งตัวลูกเองและ คนข้างกายของลูก นั่นก็คือภรรยาสุดที่รัก ที่คอยอยู่เคียงข้างและคอยให้กำลังใจตัวลูกอยู่เสมอ
๒๘. จนกระทั่งอยู่มาวันหนึ่ง ได้มี ยอดกัลยาณมิตรที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแถวนั้นมาชักชวนลูกให้ไปทำบุญกับคณะพระภิกษุสงฆ์ของหมู่คณะที่จาริกผ่านมาที่หมู่บ้านของลูก
เมื่อลูกเห็นคณะพระภิกษุเหล่านั้นแล้ว ด้วยบุญเก่าที่เคยร่วมสร้างบารมีกับหมู่คณะมา กอปรกับความสงบเสงี่ยม สง่างาม ของคณะพระภิกษุสงฆ์ จึงส่งผลดลบันดาลให้ลูกเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในคณะสงฆ์เป็นอย่างมาก
ดังนั้น ลูกจึงกราบอาราธนาคณะสงฆ์ให้มาอยู่ประจำที่หมู่บ้านของลูก เพื่อท่านจะได้เป็นเนื้อนาบุญและเป็นที่พึ่งให้กับพวกชาวบ้านในละแวกนี้ต่อไป ซึ่งคณะสงฆ์ท่านก็เมตตารับนิมนต์อยู่โปรดญาติโยม ณ หมู่บ้านของลูก
๒๙. เมื่อคณะสงฆ์รับนิมนต์แล้ว ลูกก็ รู้สึกปลื้มปีติยินดีอย่างสุด ๆ และได้ทำหน้าที่ ยอดกัลยาณมิตร ชักชวนชาวบ้านที่เหลืออยู่ รวมถึงกลุ่มกัลยาณมิตรและชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านใกล้ ๆ กันว่า “ในละแวกหมู่บ้านของพวกเรายังไม่มีวัด ไม่มีพระที่อยู่ประจำเลย พวกเราน่าจะช่วยกันสร้างวัดไว้ที่นี่ เราจะได้ มีพระ มีวัด ไว้เป็นที่พึ่งแก่ตัวเราและทุกคน ในพื้นที่แห่งนี้” เมื่อทุกคนได้ฟังคำเชิญชวนจากลูกแล้ว ต่างก็ตกลงอย่างเป็นเอกฉันท์
เมื่อเป็นเช่นนี้ ลูกจึงจัดการตัดแบ่งพื้นที่ทำกินบางส่วนที่ลูกและพวกชาวบ้านช่วยกัน หักร้างถางพงไว้ โดยเลือกเอาแปลงที่ดีที่สุด สวยที่สุด เป็นพื้นที่สำหรับสร้างวัด
๓๐. หลังจากที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดจนเสร็จแล้ว ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาก็มีพระภิกษุของหมู่คณะมาอยู่ประจำที่วัดแห่งนั้น เพื่อเป็นที่พึ่งและเป็นเนื้อนาบุญแก่ชาวบ้านที่อยู่ในหมู่บ้านของลูกและหมู่บ้านใกล้เคียง ซึ่งตัวลูกเองก็ได้เข้าวัดทำบุญโดยทำหน้าที่อุปัฏฐากพระ ดูแลวัดแห่งนั้นอย่างเต็มที่เต็มกำลัง และยังทำอย่างตลอดต่อเนื่องจนตลอดชีวิตอีกด้วย
๓๑. ด้วยอานิสงส์จากการที่ลูกได้ รวมกลุ่มกัลยาณมิตรและชักชวนชาวบ้านให้ มาช่วยกันสร้างวัดนี้เอง จึงเป็นบุญใหญ่ที่มาหนุนนำและตามส่งผลให้ตัวลูกในชาติปัจจุบันมีฐานะร่ำรวยและประสบความสำเร็จในชีวิต สูงมาก ๆ
(อ่านต่อฉบับหน้า)