บูชาธรรม หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (สด จนฺทสโร)
ก้มกราบมนัสน้อม วรจอมวิช์ชาจารย์
นบองค์พระทรงญาณ ชินะบุตรชิโนดม
เอกสงฆ์พระนาม "จัน ทสโร" วิสุทธิ์สม
ทวยเทพมนุษย์พรหม อภิวันทนาการ ฯ
บทสรรเสริญพระมงคลเทพมุนีที่ได้ยกมาพอสังเขปนี้ เป็นบทสรรเสริญอันไพเราะและเปี่ยมด้วยความหมายอันล้ำเลิศและลึกซึ้ง งดงามทั้งด้านภาษาที่เรียงร้อยให้เป็นมธุรสบทกวีที่ให้ความรู้สึกเคารพ รัก และเทิดทูน อีกทั้งเป็นการพรรณนาคุณอันประเสริฐของบุคคลสำคัญของโลกคือ หลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ (พระมงคลเทพมุนี)
โดยเฉพาะขณะนี้ เมื่อวันเวลาได้เวียนมาถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ ของทุกปี ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ ๑๐ กันยายน ผู้รักการปฏิบัติธรรมทั้งหลายต่างรู้ว่าวันนี้เป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวันคล้ายวันเข้าถึงพระธรรมกายของหลวงปู่เมื่อ ๘๖ ปีมาแล้ว ณ อุโบสถวัดโบสถ์บน บางคูเวียง จังหวัดนนทบุรี และถัดไปเมื่อถึงวันที่ ๑๐ ตุลาคม ของทุกปี ทุกคนก็จะระลึกถึงวันเกิดด้วยกายเนื้อของหลวงปู่วัดปากน้ำ อันภูมิลำเนาเดิมของท่านคือ อำเภอ สองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี ดังนั้นวาระสำคัญ อันเนื่องด้วยครูผู้เป็นมหาปูชนียาจารย์ กัลยาณมิตรทั้งหลาย ต่างน้อมใจรำลึกถึงท่านและมุ่งจะเดิน ตามรอยท่าน ตามเส้นทางแห่งพระรัตนตรัย
การจะพรรณนาคุณของมหาปูชนียาจารย์ผู้เลิศด้วยเมตตาและมีคุณธรรมอันวิเศษนี้ ย่อมกล่าวได้ไม่สิ้นสุด บุคคลใดมีสติปัญญาเท่าใด ก็พรรณนาสรรเสริญคุณท่านได้ตามกำลังสติปัญญาของตนเท่านั้น แต่พระคุณอันมหาศาล ของท่านเกินกว่านั้นหลายเท่านัก ด้วยปัญญาอันน้อยนิดประดุจแสงหิ่งห้อย เมื่อเทียบกับดวงตะวัน จึงได้แต่นอบน้อมใจที่จะศึกษาเรียนรู้ ประพฤติปฏิบัติตามคำสอนของท่าน แม้จะไม่บรรลุผลในชาตินี้ ก็หวังเพื่อให้เป็นอุปนิสัยติดตามไปในปรภพเบื้องหน้า ควรที่เหล่ากัลยาณมิตรทั้งหลายจะได้เจริญฉันทะ วิริยะ จิตตะ และวิมังสา ที่จะดำเนินตามแบบอย่างของท่านให้ก้าวหน้าเรื่อยไป อันจะเกิดผลและจะรู้ด้วยตัวของเราเองได้ในที่สุด
เพราะธรรมะของหลวงปู่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ที่ท่านสอนนั้น มิใช่เป็นเพียงความรู้ที่สามารถศึกษาด้วยการอ่าน การท่องจำ การสังเกต หรือการวิเคราะห์เท่านั้น แต่จะต้องปฏิบัติให้เกิดผลและมีประสบการณ์ด้วยตนเองด้วย ปรากฏว่านักวิชาการสมัยปัจจุบัน อีกทั้งนักศึกษาที่ทำการวิจัยเพื่อทำเป็นวิทยานิพนธ์ระดับบัณฑิตศึกษา ส่วนใหญ่มักจะศึกษาเพียงการวิเคราะห์ หรือเปรียบเทียบ แล้ววิจารณ์ตรงบ้างไม่ตรงบ้าง หากกล่าวอ้างอิงด้วยหลักฐานในพระไตรปิฎกก็ย่อมควรค่าแก่การศึกษา แต่หากกล่าววิพากย์วิจารณ์และชี้นำด้วยความเห็นของตนก็ย่อมเป็นการเสี่ยงต่อความผิดพลาด เพราะเราแต่ละคนยังไม่สามารถ จะเอาตัวเองเป็นมาตรฐานและเป็นบรรทัดฐานว่าตัวเราถูกที่สุด จริงที่สุด
ดังนั้นอุปนิสัยของบัณฑิต จึงเป็นผู้ใคร่ศึกษา เรียนรู้ ทดลองปฏิบัติ และรับรู้รับฟังผู้รู้ท่านอื่นด้วยความใคร่ครวญพินิจพิเคราะห์ อีกทั้งให้เกียรติต่อความเห็นของบุคคลอื่นด้วยจิตใจที่ปราศจากอคติหรือความลำเอียงใดๆ
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ หลวงปู่วัดปากน้ำ ได้รับพระราชทานพัดเทียบเปรียญ ซึ่งย่อมเป็นการแสดงว่าท่านมีความรู้ทางด้านปริยัติตลอดจนด้านภาษาบาลีที่เชี่ยวชาญ ดังสังเกตได้จากพระธรรมเทศนาของท่านมักจะได้รับคำยกย่องว่า ท่านจะยกบาลีและอธิบายได้อย่างพิสดาร อีกทั้งระมัดระวังรักษารูปแบบภาษาเดิมอย่างมิให้คลาดเคลื่อน จากสิ่งที่ยาก ท่านสามารถนำมาอธิบายให้เห็นจริงในเชิงปริยัติและนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างแจ่มแจ้งชัดเจน ซึ่งผู้รู้ในสมัยก่อนนั้นกล่าวถึงหลวงปู่ด้วยความยกย่องว่า
"พระภิกษุผู้ที่มุ่งทางปฏิบัติจะชอบแสดงธรรมในเชิงปริยัติอย่างหลวงปู่วัดปากน้ำหาได้ไม่ง่ายนัก"
ทั้งนี้แสดงให้เห็นภูมิรู้ของหลวงปู่ว่าการปฏิบัติของท่านมิใช่เป็นเรื่องนอกตำรา หรือคิดขึ้นมาสอนโดยไม่มีหลักการ ดังในพระธรรมเทศนาเรื่องหลักการสอนสมถวิปัสสนากรรมฐานของท่านที่ได้แสดงไว้ดังความตอนหนึ่งว่า
"พระพุทธศาสนาแปลว่าคำสั่งสอนของ พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าสอนให้สัตว์โลกทั้งหมด ละชั่วด้วยกาย วาจา ใจ ทำความดีด้วยกาย วาจา ใจ ทำใจให้ใส ๓ ข้อนี้แหละเป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์ ทั้งอดีตปัจจุบัน อนาคต ยืนยันกันหมด เหตุนี้ท่านทั้งหลายเมื่อตั้งใจมั่นลงในพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ก็เพื่อจะทำใจของตนให้ดีตามประสงค์ในทางพระพุทธศาสนา การที่จะทำใจให้ดีนี้ มีบาลีเป็นตำรับตำราว่า
เทฺวเม ภิกฺขเว วิชฺชาภาคิยา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย วิชชามี ๒ อย่าง
กตเม เทฺว ๒ อย่างอะไรบ้าง
สมโถ จ สมถะ ความสงบระงับอย่าง ๑
วิปสฺสนา จ วิปัสสนาความเห็นแจ้งอย่าง ๑
สมโถ ภาวิโต กิมตฺถมนุโภติ สมถะเป็นขึ้นแล้วต้องการอะไร
จิตฺตํ ภาวิยติ ต้องการให้จิตเป็นขึ้น
จิตฺตํ ภาวิตํ กิมตฺถมนุโภติ จิตเป็นขึ้นแล้วต้อง การอะไร
โย ราโค โส ปหียติ ความกำหนัดยินดีอันใดที่มีอยู่ในจิตใจ ความ กำหนัดยินดีอันนั้นก็หมดไปด้วยสมถะ ความ สงบระงับ
วิปสฺสนา ภาวิตา กิมตฺถมนุโภติ วิปัสสนาเป็นขึ้นแล้ว ต้องการอะไร
ปญฺญา ภาวิยติ ต้องการทำปัญญาให้เป็นขึ้น
ปญฺญา ภาวิตา กิมตฺถมนุโภติ ปัญญาเป็นขึ้นแล้วต้องการอะไร
ยา อวิชชา สา ปหียติ ความไม่รู้จริงอันใดที่มีอยู่ในจิตใจ ความไม่รู้จริงอันนั้นก็หมดไปด้วยความเห็นแจ้ง คือวิปัสสนาทางพระพุทธศาสนามีวิชาทั้งสองอย่างนี้ เป็นข้อสำคัญนัก"
นอกจากนี้หลวงปู่ยังกล่าวในเทศนาบทเดียวกันว่า
"สมถะเป็นวิชาเบื้องต้น พุทธศาสนิกชนต้องเอาใจใส่ คือแปลความว่า สงบระงับใจ เรียกว่า สมถวิปัสสนาเป็นธรรมขั้นสูงกว่าสมถะ ซึ่งแปลว่า เห็นแจ้ง เป็นธรรมเบื้องสูง เรียกว่าวิปัสสนา สมถวิปัสสนา ๒ อย่างนี้เป็นธรรมอันสุขุมลุ่มลึกในทางพระพุทธศาสนา ผู้พูดนี้ (หมายถึงหลวงปู่วัดปากน้ำ) ได้ศึกษามาตั้งแต่บวช พอบวชออกจากโบสถ์แล้วได้วันหนึ่ง รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งก็เรียนทีเดียว เรียนสมถะทีเดียวไม่ได้หยุดเลย จนกระทั่งถึงบัดนี้ บัดนี้ทั้งเรียนด้วย ทั้งสอนด้วย ในฝ่ายสมถวิปัสสนาทั้ง ๒ อย่างนี้"
การที่หลวงปู่กล่าวเช่นนี้ แสดงถึงความเป็นบัณฑิตที่แท้ เพราะท่านเป็นผู้ขวนขวายใฝ่ศึกษาและปฏิบัติอยู่เสมอ นอกจากนี้ท่านยังกล่าวถึงการปฏิบัติที่ให้เอาใจวางไว้ ณ ศูนย์กลางกาย อันเป็นจุดรวมกันของความเห็น ความจำ ความคิด และความรู้ของตัวมนุษย์ โดยท่านได้อธิบายว่า
"พอใจหยุดเท่านั้นถูกตัวสมถะแล้ว หยุดนั่นแหละเป็นตัวสมถะ หยุดนั่นเองเป็นตัวสำเร็จ ทั้งทางโลกและทางธรรมสำเร็จหมด โลกที่จะได้รับความสุข ใจต้องหยุดตามส่วนของโลกธรรมที่จะได้รับความสุข ใจต้องหยุดตามส่วนของธรรม ท่านได้แนะนำไว้ตามวาระพระบาลีว่า นตฺถิ สนฺติปรํ สุขํ สุขอื่นนอกจากหยุดจากนิ่งไม่มี หยุดนั่นเองเป็นตัวสำคัญ เพราะเหตุนั้นต้องทำใจให้หยุด"
คำสอนอันเป็นอมตวาจานี้ จึงเป็นสิ่งที่ล้ำค่า แสดงออกถึงภูมิรู้ภูมิธรรมและแสดงถึงผลจากการปฏิบัติที่ได้สัมผัสจริง มิใช่เป็นสิ่งที่คิดๆ ขึ้นมาสอน เพราะการที่ท่านเคยอุทิศแม้ชีวิตของท่าน เพื่อการพบกับพระธรรมกายภายในที่แต่ละยุคแต่ละสมัยที่ผ่านมาช่วงหลังพุทธปรินิพาน ยังไม่เคยมีใครเข้าถึงหรือแม้แต่จะกล่าวถึงคำว่า "ธรรมกาย" เพราะต่างไม่ทราบที่มาและไม่ทราบการปฏิบัติเพื่อจะให้เข้าถึง ดังนั้นการสอนของท่านเพื่อจะนำพามหาชนทั้งหลายให้รู้จัก "ธรรมกาย" และการปฏิบัติเพื่อให้เข้า ถึงพระธรรมกาย จึงเป็นสิ่งที่ชาวไทยและ พุทธศาสนิกชนทั้งหลายภาคภูมิใจที่มีพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบเช่นหลวงปู่วัดปากน้ำ สามารถศึกษาและเข้าถึงพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สามารถเป็นพยานในพระสัทธรรมนั้นว่า ปฏิบัติได้จริงและมีผลประเสริฐจริง
และด้วยหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์สาวกแห่งพระบรมศาสดา เมื่อเรียนรู้ธรรม เข้าใจในธรรม และเข้าถึงธรรมแล้ว ย่อมจะมีหน้าที่ในการเผยแผ่ธรรม ทั้งนี้หลวงปู่วัดปากน้ำผู้เป็นพระนักปฏิบัติธรรม แทนที่ท่านจะปลีกตัวออกแสวงหาความวิเวก อยู่ลำพังตามป่าเขา และปฏิบัติตนไม่ข้องแวะกับชาวโลก ในทางตรงข้าม ท่านกลับมีเมตตากรุณาอย่างมหาศาลที่จะยืนหยัดอยู่ในละแวกบ้าน เผยแผ่การปฏิบัติเพื่อยังประโยชน์แก่ประชาชนในสังคมเมือง อุทิศตนเพื่อการเทศนาสั่งสอนและการปฏิบัติธรรมอย่างเด็ดเดี่ยว แม้จะต้องพบกับความไม่เข้าใจของคนบางกลุ่ม แต่กระนั้น เกียรติคุณของท่านยังปรากฏไปถึงต่างประเทศ มีนักวิชาการ ต่างประเทศเดินทางมาขอบวช และปฏิบัติธรรมกับท่านมากมาย วัดปากน้ำภาษีเจริญ จึงเป็นวัดหนึ่งที่มีชื่อเสียงในการสอนธรรมปฏิบัติแห่งหนึ่งของประเทศไทย
ดังนั้น ในปีพุทธศักราช ๒๕๔๖ นี้ เมื่อถึงวาระวันสำคัญที่เนื่องด้วยหลวงปู่วัดปากน้ำกล่าวคือวันที่ ๑๐ กันยายน เป็นวันครบรอบ ๘๖ ปีของการเข้าถึงธรรมกายของท่าน และวันที่ ๑๐ ตุลาคม เป็นวันครบรอบ ๑๑๙ ปี ของหลวงปู่วัดปากน้ำ โดยในวาระดังกล่าวนี้ ศิษยานุศิษย์และผู้มีบุญทั้งหลาย ย่อมจะถือเอาเป็นโอกาสที่จะร่วมกันรำลึกถึงท่านด้วยการประพฤติปฏิบัติธรรม และจะได้น้อมสรรเสริญท่านด้วยความเคารพศรัทธาดังพรรณนาในบทกวี ทำนองสรภัญญะอันเลิศด้วยความงดงามแห่งภาษาและความหมายอันลึกซึ้ง ที่จะตราตรึงอยู่ในดวงใจของมหาชนตลอดไป