อานิสงส์แห่งบุญ
เรื่อง : พระมหาเสถียร สุวณฺณฐิโต ป.ธ.๙ / พระมหาวิริยะ ธมฺมสารี ป.ธ.๙
ภาพประกอบ : กองพุทธศิลป์
อานิสงส์สร้างที่ปฏิบัติธรรม
โส จ สพฺพทโท โหติ โย ททาติ อุปสฺสยํ
บุคคลใดให้ที่พักอาศัย บุคคลนั้นชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
การสร้างที่พักอาศัยถวายแด่ภิกษุสงฆ์เพื่อใช้เป็นสถานที่ประพฤติปฏิบัติธรรม ได้ชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง คือ ให้อายุ วรรณะ สุข พละเรื่อยไปจนถึงการบรรลุมรรค ผล นิพพานเพราะเมื่อพระสงฆ์มีสถานที่สำหรับปฏิบัติธรรมอย่างสะดวกสบาย แล้วตั้งหน้าตั้งตาฝึกฝนอบรมตนเอง มีผลการปฏิบัติธรรมที่ก้าวหน้ามากเพียงใด ท่านก็จะนำความรู้ที่เกิดจากการศึกษาธรรมะทั้งทางด้านปริยัติ ปฏิบัติจนถึงขั้นปฏิเวธไปเผยแผ่แก่ชาวโลกต่อไปสันติสุขอันไพบูลย์ก็จะแผ่ขยายออกไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ผลแห่งการให้ของเราผู้มีส่วนสนับสนุนพระพุทธศาสนา ก็จะย้อนกลับมาสู่ตัวของเราเอง ให้ได้รับอานิสงส์แห่งบุญเช่นนั้นด้วยทุกประการ ซึ่งในเบื้องต้นผู้ให้จะได้รับความสุขใจ เพราะต้นทางแห่งความสุขเริ่มจากการให้
สำหรับในแง่ของการทำหน้าที่ต่อพระพุทธศาสนานั้น พระภิกษุทำหน้าที่ระดมธรรม พวกเราทำหน้าที่ระดมทุน หากสองฝ่ายต่างเกื้อหนุนซึ่งกันและกัน สันติสุขย่อมบังเกิดขึ้นแก่โลก ทรัพย์ของเราที่เสียสละเพื่อสร้างมหาทานบารมี เป็นทรัพย์ที่มีประโยชน์ต่อชาวโลก เหมือนแม่น้ำไม่ดื่มกินน้ำของตัวเองแต่เป็นประโยชน์ต่อชาวโลก ให้ได้อาบ ดื่มกินต้นไม้ที่มีผลดก ไม่กินผลไม้ของตัวเอง แต่มีไว้เพื่อแจกจ่ายหมู่สัตว์ทั้งหลาย
บุญสร้างปะรำมณฑปเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม
ในอดีตกาล นายพรานป่าคนหนึ่งอาศัยการล่าสัตว์ในป่าใหญ่เพื่อดำรงชีวิต วันหนึ่งขณะที่พรานกำลังเดินทางอยู่ในป่า พลันได้พบพระปัจเจกพุทธเจ้าซึ่งเข้ามาในป่าเพื่อปลีกวิเวกบำเพ็ญสมณธรรม เมื่อแรกเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า พรานก็เกิดศรัทธาเลื่อมใสอย่างจับจิตจับใจ แม้เป็นพรานนักล่า แต่เมื่อเห็นพระก็อยากเป็นนักบุญ ยิ่งได้รู้ว่า ท่านจะมาบำเพ็ญสมณธรรมในป่าแห่งนี้ ก็คิดที่จะสร้างที่พักอาศัยให้ท่านบำเพ็ญสมณธรรม เขาจึงรีบไปแสวงหาไม้มา ๔ ท่อน ทำเป็นปะรำมณฑปรูปสี่เหลี่ยม เก็บดอกปทุมเป็นจำนวนมากแล้วนำมามุงแทนหลังคากันแดดกันฝนให้ท่านเมื่อนายพรานถวายปะรำเรียบร้อยแล้ว ก็เกิดความปลื้มปีติในบุญ และมีศรัทธาอยากบวชอยู่กับท่าน เขาตัดสินใจเลิกอาชีพพรานป่าที่ทำมานาน แล้วตั้งใจบวชเป็นบรรพชิต ทำตามที่พระปัจเจกพุทธเจ้าแนะนำทุกอย่าง
แต่น่าเสียดาย ท่านบวชได้ไม่นานก็ป่วยหนัก ถูกโรคาพาธเบียดเบียน ครั้นใกล้จะละโลก ท่านรำลึกถึงบุญที่สร้างปะรำมณฑปถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า จิตสุดท้ายของท่านจึงผ่องใสมาก เพราะผูกพันเกาะเกี่ยวในบุญนั้น ยามละโลกจึงได้ไปบังเกิดเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต มีวิมานทองสวยงามมากทิพยวิมานในรูปของปะรำโดยรอบร้อยโยชน์ก็มารองรับการบังเกิดในเทวโลกของท่านตลอดและระหว่างเวียนว่ายในสังสารวัฏ บุญนี้ยังปิดอบาย ทำให้ท่านไม่ตกไปในทุคติภูมิอีกเลยบุญสร้างที่ปฏิบัติธรรมนี้ ยังส่งผลไปถึงตอนที่ท่านไปบังเกิดในโลกมนุษย์อีกด้วย คือ หากท่านเจอสภาพอากาศร้อนมากเพราะแดดจัดแม้ร้อนขนาดที่ว่าเห็นพยับแดดพลิ้วไหวคล้ายคลื่นอยู่เบื้องหน้า แดดร้อนนั้นก็มิอาจมากล้ำ กรายแผดเผาท่านได้เลย หรือหากอาศัยใต้ปะรำมณฑปหรือโคนไม้ใด ตัวท่านก็จะไม่ต้องสัมผัสอากาศร้อนเลย และหากปรารถนาจะข้ามทะเล เพียงแค่อธิษฐานนึกในใจทำทะเลให้เป็นแผ่นดิน ก็สามารถข้ามไปได้อย่างสบาย
ในชาติสุดท้ายท่านเกิดเป็นกุลบุตรในตระกูลของเศรษฐีในเมืองสาวัตถี มีชื่อว่า “นันทกะ” ต่อมา ท่านมีโอกาสอุปัฏฐากพระสัมมาสัพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมแล้วจึงเกิดศรัทธาออกบวช ท่านเจริญวิปัสสนาจนหมดสิ้นกิเลสอาสวะ พร้อมกันนี้ยังได้คุณวิเศษเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญาและแตกฉานในปฏิสัมภิทาญาณอีกด้วย
ผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่า...ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง
การให้ที่พักอาศัยนั้นเป็นบุญที่ยิ่งใหญ่พระพุทธองค์เคยตรัสว่า “ผู้ให้ที่พักอาศัยชื่อว่าให้ทุกสิ่งทุกอย่าง” แต่คำว่า “ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง” นั้น หมายถึงให้อะไรบ้าง?
ก่อนอื่นต้องมาทำความเข้าใจพุทธพจน์ใน “กินททสูตร” ก่อน
“บุคคลให้อาหาร ชื่อว่า...ให้กำลัง
ให้ผ้า ชื่อว่า...ให้วรรณะ
ให้ยานพาหนะ ชื่อว่า...ให้ความสุข
ให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่า...ให้จักษุ
ผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่า...ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง”
ให้อาหาร ชื่อว่า...ให้กำลัง หากอดอาหารหลายวัน พละกำลังจะถดถอย แต่หากได้กินอาหาร เรี่ยวแรงกำลังก็ฟื้นฟูกลับมา
ให้ผ้า ชื่อว่า...ให้วรรณะ วรรณะ หมายถึง ผิวพรรณ แม้หน้าตาดี มีรูปงาม แต่หากไม่มีผ้าสวมใส่หรือใส่ผ้าที่สกปรกก็ไม่น่าดูแต่ถ้าหากมีผ้าที่ดีไว้สวมใส่ บุคคลนั้นก็จะแลดูงดงามเจริญตาเจริญใจ เพราะชุดที่สวมใส่นั้นทำให้ดูโดดเด่นยิ่งขึ้น
ให้ยานพาหนะ ชื่อว่า...ให้ความสุข เกิดความสุขจากความสะดวกสบายในการเดินทางให้ประทีปโคมไฟ ชื่อว่า...ให้จักษุ คนเราถึงแม้มีดวงตาก็ไม่สามารถมองเห็นในที่มืดได้แต่แสงประทีปจะเป็นตัวช่วยให้ดวงตามองเห็นในความมืดได้
ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่า...ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง หมายถึง การให้ที่อยู่อาศัยเพียงข้อเดียวนั้นถือว่าเป็นการให้ที่ครบอานิสงส์ทั้ง ๔ ข้อข้างต้น ครอบคลุมตั้งแต่ให้กำลัง ให้วรรณะให้ความสุข และให้ดวงตา
ดังนั้น บุญที่เกิดจากการให้ที่อยู่อาศัยจึงนับว่าเป็นบุญที่ไม่ธรรมดา เพราะมีอานิสงส์มากมายถึง ๔ ข้อ ซึ่งจะขออธิบายขยายความดังต่อไปนี้
๑. แม้ยังไม่ได้รับประทานอาหาร แต่หากได้นอนพักในที่พักอาศัย เมื่อตื่นขึ้นมากำลังวังชาก็ฟื้นคืน
๒. หากโดนแดดเผาจนผิวคล้ำ แต่พอกลับเข้ามาพักในบ้าน ผิวพรรณก็กลับฟื้นคืนสภาพดีขึ้น
๓. เวลาออกไปนอกบ้านอาจจะเสี่ยงอันตรายหลายอย่าง เช่น หนามตำ สัตว์ร้ายขบกัด แต่พอกลับมาอยู่ในบ้านก็จะรู้สึกอุ่นใจและปลอดภัยจากสิ่งเหล่านั้น จึงเกิดความสุขทางกายและใจ
๔. เมื่อออกนอกบ้าน ดวงตาทั้งสองข้างอาจพร่ามัวเพราะแสงแดด เมื่อกลับเข้าบ้านก็อาจจะยังมองไม่เห็นสิ่งของภายในบ้าน ซึ่งอาจทำให้เดินชนสิ่งของในบ้านเสียหายได้ แต่ถ้าได้ล้มตัวนอนพักสักครู่หนึ่ง เมื่อตื่นขึ้นมาดวงตาก็จะถูกปรับให้แจ่มใสขึ้นได้เอง และสามารถมองเห็นสิ่งของภายในบ้านได้ชัดเจนขึ้นเช่นกัน
ช่วยกันสร้างศาสนสถาน สนับสนุนงานเผยแผ่พระศาสนา
ในช่วงนี้ หมู่คณะเรากำลังแผ่ขยายพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ไปทั่วโลกจึงต้องเร่งสร้างศาสนทายาทผ่านการบรรพชาหมู่สามเณร และอุปสมบทหมู่พระภิกษุรุ่นต่าง ๆหลังจากเสร็จโครงการก็มีการคัดสรรพุทธบุตรที่จะมาเป็นศาสนทายาทเพื่อช่วยกันสืบทอดอายุพระศาสนา ขณะเดียวกันก็มีการสร้างศาสนสถานเพื่อรองรับผู้มีบุญให้ได้มาสั่งสมบุญทั้งทำทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา
ท่านใดอยากเป็นญาติพระศาสนาก็ชักชวนกันมาบวช ส่วนท่านที่อยากได้บุญ “ผู้ให้ที่พักอาศัย ชื่อว่า...ให้ทุกสิ่งทุกอย่าง” ก็ไปช่วยสร้างวัดวาอาราม สร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมไว้ในและต่างประเทศทั่วโลก ไปสร้างอาคารปฏิบัติธรรม กุฏิ ที่พัก ทั้งของพระและฆราวาส ห้องน้ำ หอฉัน โรงครัว สิ่งก่อสร้างทั้งหมดถือว่ารวมเป็นที่พักอาศัยทั้งสิ้น บุญจากการสร้างวัด สร้างศูนย์ปฏิบัติธรรม สร้างที่พักอาศัยจะได้หนุนส่งให้การเผยแผ่เป็นไปได้อย่างราบรื่นชาวโลกจะได้มีโอกาสมาปฏิบัติธรรม เราเองก็จะได้บุญพิเศษ คือ เป็นผู้ปฏิบัติธรรมได้โดยสะดวก บรรลุธรรมได้อย่างง่ายดายเป็นอัศจรรย์ไปทุกภพทุกชาติตราบวันถึงที่สุดแห่งธรรม