หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว
เข้าวัดมานาน ทำไมยังชวนสมาชิกในครอบครัว
เข้าวัดไม่ได้สักที?
ANSWER คำตอบ
สำหรับเรื่องนี้มีหลายท่านเคยมาปรารภกับหลวงพ่อว่า เขาเข้าวัดมานานหลายปีแล้วเมื่อเข้าวัดแล้วก็ตั้งใจมาฟังธรรม ปฏิบัติธรรมบำเพ็ญบุญ และปรารถนาให้คนในครอบครัวมาวัดด้วยกัน เขาจึงพยายามที่จะทำหน้าที่กัลยาณมิตรชักชวนให้คนในครอบครัวมาวัดแต่ก็ยังไม่สำเร็จ เขาควรทำอย่างไรจึงจะพาคนมาเข้าวัดได้ทั้งครอบครัว
ก่อนอื่นหลวงพ่ออยากให้ข้อคิดว่า เมื่อเราคิดจะทำการสิ่งใด หากยังทำไม่สำเร็จพระพุทธศาสนาสอนให้หันกลับมาสำรวจดูข้อบกพร่องของตัวเอง การที่เราชักชวนคนในครอบครัวมาเข้าวัดด้วยกันไม่สำเร็จนั้น ก็ต้องลองสำรวจดูว่า คุณสมบัติข้อไหนของเรา ยังบกพร่องบ้างจริงอยู่ว่าเมื่อเราเข้าวัดแล้วได้ทำความดี เพิ่มขึ้น หมั่นทำใจให้ผ่องใส แต่หากยังไม่ละบาปอกุศลหรือนิสัยไม่ดีที่เคยทำมา ก็จะยังไม่สามารถทำให้ผู้ที่อยู่ที่บ้านมองออกว่า เรา ได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าวัด และถ้าเขาตามเรามาวัดจริง ๆ จะมีประโยชน์อะไรกับเขา
ยกตัวอย่างเช่น เดิมทีเราเคยเป็นคนจู้จี้ขี้บ่น แม้เข้าวัดแล้วก็ยังเป็นเหมือนเดิมเมื่อผู้ที่อยู่ทางบ้านเห็นว่า เราเข้าวัดแล้วก็ได้แต่นั่งสมาธิ สวดมนต์ แล้วก็ขยันทำบุญทำทานบ่อยขึ้น แต่ยังไม่เลิกจู้จี้ขี้บ่น เขาก็มองไม่เห็นว่า เราดีขึ้นกว่าเดิมตรงไหน ยังมองไม่ออกว่าเราได้ประโยชน์อะไรจากการมาวัดบ้าง เมื่อเราไปชวนเขามาวัด เขาจึงไม่พร้อมจะมาด้วย
แต่บางคนเมื่อเข้าวัดแล้วก็เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น เลิกประพฤตินิสัยไม่ดีแก้ไขข้อบกพร่องบางสิ่งบางอย่างให้ดีขึ้น ก็พอจะทำให้เกิดการยอมรับจากคนทางบ้านได้พอที่จะทำให้เขาอยากตามมาวัดด้วยในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาหรืองานบุญใหญ่ต่าง ๆ บ้าง แต่ยังไม่พอจะทำให้คนทางบ้านมีแรงบันดาลใจตามมาวัดทำบุญด้วยเป็นปกติ เพราะนิสัยที่เปลี่ยนได้นั้นยังเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยสำคัญนัก ส่วนข้อบกพร่องที่เป็นเรื่องสำคัญ ๆ และมีผลกระทบต่อความทุกข์ใจเดือดร้อนใจแก่ผู้คนในครอบครัว ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลง
ส่วนบางคนที่เข้าวัดแล้ว ก็กลับไปแก้ไขปรับปรุงนิสัยที่สำคัญ ๆ ให้ดีขึ้น จนคนที่บ้านยอมรับว่าเป็นคนดีขึ้น น่ารักขึ้น แต่ก็ยังไม่พอที่จะทำให้เขาอยากจะมาวัดด้วย เพราะว่า อดีตเคยทำความผิดพลาดเอาไว้ แม้ไม่มีใครรู้แต่คนใกล้ตัวรู้ดี และยังเป็นสิ่งฝังใจที่ทำให้เขาไม่แน่ใจว่า ที่เราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นนั้น จะดีไปได้นานแค่ไหน
มนุษย์นี้แปลก อะไรที่ดี ๆ บางทีก็ลืมง่าย แต่อะไรที่ทำให้เจ็บตัว บางทีชาติหน้า ก็ยังไม่ลืม ดังนั้นก็ขอเตือนพวกเราไว้ว่า หากมีอะไรที่เราเคยทำผิดพลาดไว้ ถึงแม้เราจะพยายามทำอะไรให้ดีขึ้น แต่ถ้ายังไม่ยิ่งใหญ่เกินกว่าความผิดพลาดมาก ๆ เมื่อครั้งอดีต ก็ยากที่จะทำให้เขาลืมสิ่งที่ฝังใจได้ แต่ขอจงอย่าท้อถอย ให้อดทนทำความดีต่อไป อย่าท้อเด็ดขาด
เมื่อเราสามารถประพฤติตนได้ดีจริงจนเป็นที่เชื่อใจจากพ่อบ้านแม่บ้านของเราแล้วจนกระทั่งเขาเห็นความดีจากการที่เราได้เข้าวัดอย่างชัดเจนแล้ว เมื่อนั้นก็จะกลายเป็นแรงบันดาลใจให้เขาเข้าวัดตามเรามาเองอย่างไรก็ตาม แม้จะชวนผู้ใหญ่เข้าวัดได้แล้ว แต่กระนั้นก็ยังมีเรื่องของลูก ๆ หลาน ๆว่าจะทำอย่างไรจึงจะสามารถทำให้เด็ก ๆยินยอมพร้อมใจตามพ่อแม่ผู้ปกครองมาวัด
ได้
เรื่องนี้มีข้อเตือนใจพวกเราว่า บางครั้งเราสามารถพูดจาภาษาผู้ใหญ่กับพ่อบ้านแม่บ้านด้วยกันได้ แต่ยังพูดจาอบรมลูกที่ยังเล็กอยู่ไม่ค่อยเป็น ก็เลยทำให้ลูกไม่อยากมาวัดการอบรมลูกให้ดี ให้เรียบร้อยนั้น ต้องค่อย ๆสอนจากง่ายไปหายาก หากไม่เข้าใจธรรมชาติของเด็ก และพ่อแม่มีความคาดหวังสูง หวังจะให้เด็กเปลี่ยนปุ๊บปั๊บ ทำได้ในทันที ลูก ๆ จะตามไม่ทัน เมื่อลูกรับการอบรมสั่งสอนอย่างนี้ไม่ได้ จะเกิดอาการต่อต้าน หลบหลีกได้ก็จะหลบหลีกทันที
เมื่อชวนลูกเข้าวัด แล้วลูกไม่ค่อยอยากจะมาด้วย ก็อาจจะเกิดจากลักษณะดังนี้
๑) พ่อแม่อาจจะไปจ้ำจี้จ้ำไชลูกให้มาวัดมากเกินไป
๒) อาจจะไม่เกี่ยวกับการมาวัด แต่เป็นเรื่องของการอบรมสั่งสอนลูกให้ทำงานการต่าง ๆ ในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการทำความสะอาด การจัดระเบียบข้าวของในบ้าน กิริยาท่าทางอะไรต่าง ๆ เพราะปรารถนาให้ลูกหลานมีความสุภาพเรียบร้อยให้เต็มที่ จะไปที่ไหน ๆ ก็ได้รับความชื่นชม ไม่ทำให้พ่อแม่เสียหน้า จึงเคี่ยวเข็ญลูกหนักไป ลูก ๆ จึงไม่อยากไปไหนกับพ่อแม่ ถ้ามีโอกาสก็จะหนีให้ห่าง
ในการอบรมบ่มนิสัยลูก ๆ นั้น หลวงพ่อขอยกวิธีฝึกคนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาแสดงให้ทราบกัน พระพุทธองค์ได้แสดงไว้ว่า การฝึกคนของพระองค์นั้น แบ่งประเภทการฝึกไปตาอุปนิสัยของคนที่ถูกฝึกได้เป็น ๓ ประเภท คือ
๑) ฝึกแบบนุ่มนวล เหมาะกับคนที่ว่าง่าย
๒) ฝึกแบบทั้งนุ่มนวลและรุนแรงเหมาะกับคนที่ไม่ค่อยทำอะไรจริงจัง มีเชื้อดื้อ
๓) ฝึกแบบรุนแรง สำหรับปราบปรามคนเกเรการฝึกคนนั้นถึงอย่างไรก็ต้องเริ่มต้นฝึกจากแบบนุ่มนวลไปก่อน คุณแม่บางคนฝึกลูกเก่งจริงๆ ลองมาดูกันว่าคุณแม่ทำอย่างไรคุณแม่เตรียมราวตากผ้าไว้ที่บ้าน แยกประเภทสำหรับราวตากผ้าขี้ริ้วและผ้าเช็ดพื้นเอาไว้ต่างหากจากราวตากเสื้อผ้า เท่านั้น
ยังไม่พอ คุณแม่ยังแยกราวสำหรับตากผ้าขี้ริ้วของผู้ใหญ่และมีราวสำหรับตากผ้าขี้ริ้วของลูกด้วย
ลูกทำอะไรหก ทำอะไรเปื้อน คุณแม่ทำอย่างไร
คุณแม่บอกลูกด้วยน้ำเสียงปกติ ให้ลูกไปหยิบผ้าขี้ริ้วมา ๒ ผืน ผืนหนึ่งของลูกอีกผืนหนึ่งของคุณแม่ แล้วคุณแม่กับลูกก็มาช่วยกันเช็ดถูที่ลูกทำเปรอะเปื้อนไว้ ตลอดเวลาคุณแม่ไม่ดุไม่ว่าอะไรเลย ชวนลูกคุยไปประสาแม่ลูก ช่วยกันเช็ดถูจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย
ลูกจะทำหกเลอะเทอะเปรอะเปื้อนกี่ครั้งคุณแม่ก็ทำทำนองนี้ จนกระทั่งเห็นว่าลูกทำได้แล้วจริง ๆ วันหลังลูกทำหก คุณแม่ก็บอกให้ลูกไปเช็ดทำความสะอาดเอง เพราะทำเองได้แล้ว คุณแม่ไม่ดุไม่ว่าอะไร ยังคงบอกลูกด้วยน้ำเสียงอันเป็นปกติ นี้คือการอบรมเลี้ยงดูสั่งสอนลูกแบบนุ่มนวล กำลังกายและกำลังใจของเด็กยังเล็กนักเมื่อเทียบกับผู้ใหญ่ จึงต้องสอนแบบค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อทำเช่นนี้ลูกจะไม่เข็ดขยาดกับสิ่งที่แม่พร่ำสอน และจะมีความเชื่อมั่นว่าสิ่งที่แม่ให้ทำ ลูกสามารถทำได้ และรักที่จะเข้าหา คุณพ่อคุณแม่ เมื่อท่านพร่ำสอนสิ่งใด ลูกจะอยากจดจำและทำตาม จึงเป็นข้อเตือนใจว่า แม้พ่อแม่มีความปรารถนาดี อยากจะฝึกลูกให้เป็นคนดี ก็ขอให้ระมัดระวังด้วย เพราะความปรารถนาดีนั้น ถ้าเกินกำลังของลูก ลูกตามไม่ทัน ลูกก็จะไม่มาด้วย จะกลายเป็นว่าพ่อแม่ไม่สามารถพาลูกเข้าวัด ไม่สามารถห้ามลูกจากการทำความชั่ว แนะนำให้ทำความดีได้
เมื่อเข้าใจธรรมชาติของคนและการฝึกคนแล้ว ก็ขอให้เราทั้งหลายมีความพยายามทำดีเรื่อยไปให้ครบทุกด้าน จนสามารถเป็นกัลยาณมิตรพาสมาชิกในครอบครัวเข้าวัดปฏิบัติธรรม บำเพ็ญบุญได้ทั้งครอบครัว