วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๑) หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต

ต้นบัญญัติมารยาทไทย
เรื่อง :  หลวงพ่อทัตตชีโว

ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๑)
หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต
ข้อ ๑๔ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักทำคำข้าวให้กลมกล่อม”
ข้อ ๑๕ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อคำข้าวยังไม่ถึงปากเราจักไม่อ้าปากไว้ท่า”
ข้อ ๑๖ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อฉันอยู่ เราจักไม่เอานิ้วมือสอดเข้าปาก”
ข้อ ๑๗ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อข้าวอยู่ในปาก เราจักไม่พูด”
ข้อ ๑๘ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่โยนคำข้าวเข้าปาก”
ข้อ ๑๙ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันกัดคำข้าว”
ข้อ ๒๐ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย”
ข้อ ๒๑ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง”
ข้อ ๒๒ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าวให้ตกลงในบาตรหรือในที่นั้น ๆ”
ข้อ ๒๓ “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันแลบลิ้น”

 

ต้นบัญญัติมารยาทไทย (ตอนที่ ๑๑) หมวดที่ ๒ โภชนปฏิสังยุต


ข้อ ๑๔. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เรา จักทำคำข้าวให้กลมกล่อม”

     คนรุ่นก่อน ๆ กินข้าวกันด้วยมือ เขาไม่มีช้อนใช้กัน บางคนเวลาเปิบข้าวเขาหยิบได้พอดีคำ น่าดูมาก มีบ้างเหมือนกันที่หยิบคำโตเกินไปพอเอาเข้าปาก ก็เข้าได้บ้าง หลุดออกมานอกปากบ้าง ไม่น่าดู แต่คนรุ่นนี้กินด้วยมือไม่เป็นกันแล้ว ขืนให้กินคงป้ายกันเละ

    คนที่กินข้าวคำพอดี ๆ ฟ้องว่าคนพวกนี้ทำอะไรก็พอดี พระที่วัดพระธรรมกายมีอยู่รูปหนึ่งมือแม่นมาก เวลาท่านปั้นยา ท่านหยิบมาปั้นโดยไม่ต้องเล็งเลย พอปั้นเสร็จไปดูเถิดยาทุกก้อนกลม ๆ เท่ากันหมด แล้วท่านก็เป็นช่างฝีมือเยี่ยมอีกด้วย

     เพราะฉะนั้น อยากรู้ว่ามือไหนเป็นช่าง มือไหนเป็นได้แค่กรรมกร ไปดูวิธีกินข้าว ตักข้าวของเขาก็พอรู้  ในบางภูมิภาคที่เขากินข้าวเหนียว ไปเห็นเขาปั้นข้าวได้พอดี ๆ คำแล้วทึ่งมาก อยากนั่งกินกับเขาด้วย แต่กับบางคนแม้มาคะยั้นคะยอเรียกให้กิน ก็ไม่อยากกินร่วมวง โธ่…ก็กินมูมมามอย่างนั้น ใครเขาจะอยากนั่งกินด้วย


ข้อ ๑๕. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อคำข้าวยังไม่ถึงปาก เราจักไม่อ้าปากไว้ท่า”

    ท่าทางกินข้าวที่ไม่น่าดูเช่นนี้ทำให้เสียบุคลิกไม่เป็นที่ตั้งแห่งศรัทธา ส่วนมากเป็นไปด้วยความอยากเอาแต่ใจ ด้วยความขาดสติพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติพระวินัยไว้แก้ไขบุคลิกลูกของท่านอย่างละเอียดลออเพราะฉะนั้น ในสมัยพุทธกาล ไม่ว่าพระสงฆ์สาวกของพระพุทธองค์ไปปรากฏกายที่ไหนประชาชนต่างยินดีต้อนรับขับสู้ อยากฟังท่านแสดงธรรมพวกที่อ้าปากรอคำข้าว ส่วนมากเป็นเด็กที่พ่อแม่เพิ่งสอนให้กินข้าว ต้องล่อหลอกกันมากแต่ทำไปทำมาพ่อแม่เองนั่นแหละติดนิสัยอ้าปากรอคำข้าวเสียเอง ระวังจะขายหน้าชาวบ้าน


ข้อ ๑๖. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อฉันอยู่ เราจักไม่เอานิ้วมือสอดเข้าปาก”

   นี้ก็เป็นอาการของเด็กอมมือเหมือนกันสมัยนี้ไม่ได้อมมือแต่อมช้อน ถ้าไม่มีช้อนกลางไว้ตักกับข้าวโดยเฉพาะ เพื่อนฝูงที่นั่งร่วมวงพะอืดพะอมน่าดูเหมือนกัน


ข้อ ๑๗. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เมื่อข้าวอยู่ในปาก เราจักไม่พูด”

    ปากเราทำหน้าที่ได้หลายอย่าง แต่ทำ   พร้อม ๆ กันหลายอย่างไม่ค่อยได้ดีนัก ถ้าข้าวยังอยู่ในปากจะพูดก็ไม่ค่อยถนัด ไม่น่าฟังข้าวไม่ทันละเอียดก็ต้องรีบกลืน เดี๋ยวโรคลำไส้ก็ถามหา คนที่กินไปคุยไป ผู้ใหญ่ท่านตำหนิว่า กินข้าวเสียงดังเอะอะราวกับขี้เมา คือเท่ากับคนขาดสตินั่นเอง


ข้อ ๑๘. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่โยนคำข้าวเข้าปาก”

   เคยเห็นอยู่บ่อย ๆ เหมือนกัน ส่วนมากเป็นกับพวกที่กินด้วยมือ ถ้ากินด้วยช้อน สิ่งที่ใช้โยนเข้าปากมักเป็นของโก้เก๋ไป ถ้าผู้ใหญ่ไม่ตักเตือนชี้ถูกผิดกันบ้างจะพลาดนะ


ข้อ ๑๙. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันกัดคำข้าว”

    การกัดคำข้าว เข้าใจว่าคงเป็นการกินข้าวเหนียว เวลาปั้นแทนที่จะปั้นเป็นก้อนพอดีคำ กลับปั้นเป็นแท่งยาว เลยต้องกัดกินจัดเป็นความมักง่าย ไม่สำรวม ขาดสติ


ข้อ ๒๐. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันทำกระพุ้งแก้มให้ตุ่ย”

   ถ้านึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ให้ไปดูเวลาลิงมันกินอาหารแถวเขาสามมุข ชลบุรี มีให้ดูชัด ๆ ลิงมันรีบกินเพราะกลัวถูกแย่ง มันจึงรีบคว้าเข้าปากเอาไปอมไว้ก่อน ภายหลังจึงคายออกมาเคี้ยวใหม่

    คนที่เวลากินแล้วกระพุ้งแก้มตุ่ย เพราะเปิบคำโตเกินไป เวลาเคี้ยวจึงไม่ค่อยน่าดูปรับคำข้าวเสียใหม่ให้พอดี ๆ ก็จะแก้ได้ เรื่องปลีกย่อยเล็ก ๆ น้อย ๆ นี้ ถ้ามองข้ามจะทำให้เสียบุคลิก เสียโอกาสดี ๆ ไปอย่างน่าเสียดาย


ข้อ ๒๑. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันพลางสะบัดมือพลาง”

    ที่มาวัดกันทุก ๆ วันอาทิตย์นี้ หลวงพ่อเห็นอยู่บ่อย ๆ พวกกินข้าวเหนียวแต่กินด้วยมือพอเม็ดข้าวติดก็สะบัดมือ ไม่ดูว่ามันจะกระเด็นไปโดนใคร

   อีกพวกหนึ่ง พอข้าวติดช้อนก็ใช้ช้อนขูดกันเสียงแควก ๆ บาดหู ชาวบ้านมองก็ยังไม่รู้ว่าเขามองทำไม อีกพวกหนึ่งไม่ขูด แต่ใช้ช้อนกับส้อมเคาะกันเสียงดังช้งเช้งอย่างกับหนังกำลังภายในฟันดาบกัน

   สาเหตุที่ข้าวติดช้อนเพราะช้อนแห้ง ถ้าเอาน้ำแกงราดเสียนิดหนึ่งข้าวก็จะไม่ติดเลย แล้วก็ไม่ต้องสะบัด ส่วนบางคนไม่สะบัด ไม่เคาะแต่เลีย หนักเข้าไปอีก พวกนี้พาไปกินอาหารที่บ้านใครก็ขายหน้าเขา


ข้อ ๒๒. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันโปรยเมล็ดข้าวให้ตกลงในบาตรหรือในที่นั้น ๆ”

   ในข้อนี้คือ มีบางคนกินข้าวแล้วหยิบข้าวไม่พอดีคำทำนิ้วมือห่าง ๆ ข้าวเลยรอดตกร่วงลงมาเหมือนโปรย เดี๋ยวนี้กินกันด้วยช้อนเลยไม่ค่อยเห็น แต่ก็ยังมีบางคนตักข้าวมากจนล้นช้อน หรือยกช้อนไม่ดี ข้าวก็ร่วงกราวลงมาเหมือนกัน อย่างนี้ต้องแก้ไขเสีย


ข้อ ๒๓. “ภิกษุพึงทำความศึกษาว่า เราจักไม่ฉันแลบลิ้น”

     มีบางคนเวลากินข้าวมักแลบลิ้นออกมารองคำข้าว ทำลิ้นแผล็บ ๆ เหมือนเวลากบตวัดลิ้นกินแมลง หรือไม่ก็แลบลิ้นเลียปาก แบบนี้ไม่น่าดู อย่าไปทำ 

 

(อ่านต่อฉบับหน้า)
 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๖๕ เดือนกรกฏาคม ๒๕๕๙

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล