วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย

ข้อคิดรอบตัว
เรื่อง : พระครูปลัดสุวัฒนโพธิคุณ (สมชาย ฐานวุฑฺโฒ) จากรายการข้อคิดรอบตัว ออกอากาศทางช่อง DMC


ข้อสงสัยเกี่ยวกับวัดพระธรรมกาย

ทำไมต้องสร้างอะไรใหญ่โต สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ใช้เงินทุนจากที่ไหน?

     วัดพระธรรมกายเริ่มจากเล็ก ๆ ตั้งแต่พระเทพญาณมหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย)อุปสมบทเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๒ ในพรรษานั้นคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี เห็นความตั้งใจของท่าน จึงถวายที่ดินมา ๑๙๖ ไร่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของวัดพระธรรมกาย ที่ดินผืนนี้เป็นท้องนา ตอนแรกหลวงพ่อนั่งเทศน์บนลอมฟาง มีโยมมา ๒๐, ๓๐ คน แล้วค่อย ๆ ทยอยมาเพิ่มขึ้น พอขุดคูขุดคลองเริ่มจะลงตัวขึ้นมาบ้าง ท่านก็เริ่มงานสอนทันที เพราะท่านถือว่า หัวใจหลักของวัด คือ การสอนประชาชน

     หน้าที่หลักของวัดมี ๒ อย่าง คือ ๑. เป็นที่พักอาศัยและปฏิบัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ ๒. เป็นที่สอนธรรมะให้ประชาชน เพราะฉะนั้นทันทีที่เริ่มพัฒนาสิ่งก่อสร้างไปเล็กน้อย ท่านก็เริ่มการสอนธรรมะทันที เรียกว่าทำไปใช้ไปสิ่งก่อสร้างทั้งหลายเป็นแค่ส่วนเสริมเพื่อมารองรับการสอนธรรมะเท่านั้น

      ผ่านไปประมาณ ๖ ปี เริ่มสร้างศาลาปฏิบัติธรรมหลังแรก ชื่อศาลาจาตุมหาราชิกาจุคนได้ประมาณ ๕๐๐ คน ต่อมา โยมมาวัดมากขึ้น และในปี พ.ศ. ๒๕๒๘ เป็นต้นมามีคนมาวัดทีละหลายหมื่นคน แต่ศาลานี้จุคนได้ ๕๐๐ คน จึงต้องกางเต็นท์รอบ ๆ ศาลา

 

คนส่วนใหญ่มาจากไหนกัน?

    มาจากทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑล และทั่วประเทศ เริ่มด้วยคนไม่มาก แต่พอมาวัดแล้วเขาได้ประโยชน์ หลวงพ่อสอนให้นั่งสมาธิให้ฟังเทศน์ฟังธรรม เขารู้สึกว่าฟังแล้วเอาไปใช้ประโยชน์ได้ นั่งสมาธิก็ดีจังเลย ชีวิตเขามีความสุข รู้สึกว่าครอบครัวดีขึ้น การงานดีขึ้นทุกอย่างดีขึ้น จึงเล่าต่อ ๆ กันไป ปากต่อปากคนก็มามากขึ้น ๆ

      ตอนแรกพระเดชพระคุณหลวงพ่อตั้งใจจะให้มีพระอยู่ในวัดแค่ ๒๐ รูปเท่านั้น สิ่งที่เป็นประจักษ์พยานก็คือ การออกแบบให้ทั้งวัดมีกุฏิแค่ ๒๐ หลัง เตรียมรับพระแค่ ๒๐ รูป วันจันทร์ถึงวันเสาร์สอนตัวเอง วันอาทิตย์สอนญาติโยม แต่ว่าต่อมามีคนมามากขึ้น ๆ เราจะบอกว่าพอแล้ว ไม่ต้องมาแล้ว รับได้แค่ ๕๐๐ คน ที่เหลือให้กลับบ้านไปก็ทำไม่ได้ทำร้ายจิตใจกันเกินไป

    เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๘ คนมาวัด ๓๐,๐๐๐ คน ศาลาจาตุมหาราชิกาจุคนได้แค่ ๕๐๐ คน จะให้รองรับคน ๓๐,๐๐๐ คน อย่างไรก็รับไม่ไหว เลยต้องขยายพื้นที่ แล้วสร้างศาลาขึ้นอีกหลังหนึ่ง (สภาธรรมกายสากลหลังคาจาก) มุงหลังคาด้วยจาก สร้าง ๓ เดือนใช้งานได้เลยประหยัดที่สุด ตามคอนเซปต์ของหลวงพ่อนั้นสิ่งปลูกสร้างมีไว้เพื่อรองรับการสอนธรรมะศาลาหลังนี้มีพื้นที่ประมาณ ๑๕,๐๐๐ ตารางเมตร จุได้หมื่นกว่าคน ที่เหลือต้องกางเต็นท์ให้นั่ง

      ต่อมา ในปี พ.ศ. ๒๕๓๗ วันงานหล่อรูปเหมือนทองคำพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) มีคนมาวัดนับแสนคน ศาลาที่สร้างไว้และเต็นท์รอบ ๆ รองรับคนเป็นแสนไม่ได้ จึงต้องขยายพื้นที่ออกไปอีก ๒,๐๐๐ ไร่ ตอนนั้นปฏิบัติธรรมกันกลางแจ้ง ที่นั่งเป็นดินโรยทราย มุงหลังคาด้วยตาข่ายกรองแสง (Slan) ที่ใช้ในเรือนเพาะชำขึง ๒, ๓ ชั้น พอกันแดดได้ นี้คือที่ปฏิบัติธรรมของคนเป็นแสน ใช้อย่างนี้อยู่ ๒ ปี พอมีงานใหญ่คนมาเป็นแสนก็ทำอย่างนี้ทีหนึ่ง จัดงานอีกทีก็ทำอีกที นี้คือวัดพระธรรมกายในตอนนั้นแต่ในวันวิสาขบูชา พ.ศ. ๒๕๓๙ ก่อนวันงานฝนตกลงมา ๓-๔ รอบ พระเณรไม่ได้จำวัดเลยทั้งคืน ช่วยกันวิดน้ำ ซับน้ำ เอาจีวร เอาผ้าเช็ดตัวไปซับแอ่งเล็ก ๆ แอ่งใหญ่ก็ขุดร่องระบายน้ำออก เพราะว่าวันรุ่งขึ้นสาธุชนจะมาเป็นแสน เดี๋ยวไม่มีที่นั่ง ตอนเช้าสาธุชนมาถึงก็แจกพลาสติกให้คนละผืน เอาไปปูนั่ง กระนั้นมีสาธุชนอีกประมาณ ๕๐,๐๐๐ คนต้องไปนั่งกลางแดด เพราะข้างในแฉะเกินจะนั่ง วันนั้นต้องจบพิธีช่วงเช้าแล้วให้กลับบ้านกันเลยตากแดดทั้งวันเดี๋ยวจะไม่สบาย

      ตอนนี้ทุกคนเห็นแล้วว่า จะอยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่ได้แล้ว ต้องสร้างศาลา จึงเกิดศาลาที่จุคนหลายแสนคนขึ้นมา คือ สภาธรรมกายสากล จะเห็นได้ว่าทุกอย่างเกิดจากความจำเป็นไม่ถึงที่สุดจริง ๆ ไม่ทำ

 

ที่ดินที่ขยายออกมาเป็นที่ของใคร? ได้มาอย่างไร?

     มีที่ดินด้านข้างวัด เริ่มต้นเขามาเสนอขาย วัดบอก ๑๙๐ กว่าไร่พอแล้ว แต่พอมีคนมามากขึ้น ญาติโยมบอกว่าไม่ไหวแล้ว คนแน่นขนาดนี้ต้องขยายแล้ว แต่ด้านข้างเขาทำเป็นที่จัดสรรไปแล้ว เริ่มมีคนมาปลูกบ้านแล้ว เวลาเรานั่งสมาธิเขาเปิดสเตอริโอเสียงลอยข้ามกำแพงวัดมารบกวน อีกหน่อยคงเป็นเมืองล้อมวัด เราจะทำอย่างไร ผลก็คือต้องไปซื้อที่ครั้งละแปลงเป็นร้อยแปลง ช่วยกันจนกระทั่งซื้อครบหมด เป็นที่ด้านข้างร้อยกว่าไร่ ส่วนด้านหลังง่ายหน่อยเพราะเป็นที่ดินกองมรดกของตระกูลสนิทวงศ์ ซื้อจากเจ้าเดียวไม่ยากแต่ปัญหาคือไม่มีเงิน เพราะจะต้องซื้อครั้งละ ๑,๐๐๐ ไร่ แล้วผ่อนตั้งหลายปีกว่าจะหมด

     ถามว่าปัจจัยทั้งหลายมาจากไหนกัน ทั้งซื้อที่ ทั้งสร้างอาคาร โยมเป็นคนใช้ใช่ไหม แล้วโยมเป็นคนเรียกร้องให้สร้าง ฉะนั้นปัจจัยก็มาจากญาติโยมนั้นแหละ ถ้ามาถึงให้สร้างเลยไม่มีเงินหรอก แต่เพราะญาติโยมเห็นว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าดีจริง เมื่อทั้งหมดเห็นพ้องต้องกัน ก็มาช่วยกันคนละไม้คนละมือ บางคนมีเงินไม่มาก ทำบุญ ๑๐ บาทผ่านไป ๒๐ ปีแล้วก็ยังมาเล่าให้ฟัง เขาปลื้มใจมากที่ได้ทำบุญซื้อที่ดิน ๑๐ บาท ยังเก็บอนุโมทนาบัตรไว้เลยตอนนั้นทำได้แค่นั้น ตอนหลังทำเป็นล้าน ๆ ก็ยังไม่ปลื้มเท่านั้นเลย เพราะ ๑๐ บาทนั้นหมดกระเป๋าจริง ๆ แปลกดีนะ ตอนเงินน้อย ๆแต่ทำสุดตัวกลับรู้สึกว่าปลื้มใจกว่าตอนมีเงินเยอะ ๆ อีก

     โยมมาช่วยกันทำ ช่วยกันสร้าง และช่วยกันใช้ เพราะวัดเป็นของชาวพุทธทุกคน ไม่ใช่ของเจ้าอาวาสหรือของพระ สร้างเสร็จแล้ววัดเป็นของใคร เอาไปขายได้ไหม ไม่ได้ วัดเป็นของชาวพุทธทุกคน มาช่วยกันใช้ ช่วยกันบำรุงรักษา หน้าที่ของพระคือเป็นผู้ดูแล อำนวยความสะดวก และสอนธรรมะให้แก่ญาติโยมเท่านั้น

     แล้วไม่ต้องห่วงว่าสร้างใหญ่ ๆ จะมีใครมาใช้ไหม อย่างมหาธรรมกายเจดีย์มีลานธรรมมีวิหารคดรอบ ๆ พื้นที่โดยรวมประมาณล้านตารางเมตร จุได้ประมาณล้านคน ปรากฏว่ายังสร้างไม่ทันเสร็จ งานบวชอุบาสิกาแก้วคนมาเต็มหมด มหารัตนวิหารคดยังสร้างไม่เสร็จเลยต้องบอกบริษัทก่อสร้างว่าช่วงนี้ขอให้หยุดก่อสร้างชั่วคราว แล้วช่วยเคลียร์พื้นที่ให้หน่อยตรงไหนหลังคายังไม่เสร็จก็มุงตาข่ายกรองแสงไม่อย่างนั้นที่นั่งไม่พอ

 

รูปแบบและสถาปัตยกรรมของสิ่งก่อสร้างต่างจากวัดทั่วไปไหม?

    พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านยึดหลักประหยัดสุด ประโยชน์สูง เพราะฉะนั้นคอนเซปต์ในการก่อสร้างคือทำให้เรียบง่ายแต่คงทนถาวร ให้มีการซ่อมบำรุงน้อยที่สุด จะเห็นว่าโบสถ์ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ เพราะจะต้องซ่อมบ่อยมาก เราต้องประหยัดที่สุด ฉะนั้นรูปแบบโบสถ์ก็คือ เอาตัวโครงสร้างเป็นตัวรองรับน้ำหนัก เป็นหลังคาไปในตัวเลย ซึ่งถือเป็นรูปแบบที่ประหยัดที่สุด โบสถ์ทั้งหลังใช้งบแค่ ๑๐ ล้าน สิ่งก่อสร้างอื่น ๆ ก็ทำนองเดียวกันเน้นให้ซ่อมบำรุงน้อยที่สุด

     แต่สิ่งใดที่เป็นศูนย์รวมใจเราจะทำให้ดีเพื่อแสดงความเคารพต่อพระรัตนตรัย ชาวพุทธทั่วโลกหรือชาวโลกทั้งหลายจะได้เห็นว่าชาวพุทธมีความศรัทธาและมีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเรามีคอนเซปต์เรื่องนี้เสริมเข้ามาด้วย

 

รูปแบบที่ต่างกันทำให้พุทธศาสนิกชนคิดไหมว่าทำไมต่างจากวัดอื่น?

   สมัยเริ่มสร้างโบสถ์ใหม่ ๆ มีคำถามมากเหมือนกันว่าทำไมโบสถ์ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีคำถามแล้ว เพราะว่าที่วัดอื่นก็มีโบสถ์ทรงพิเศษ เช่น วัดนิเวศธรรมประวัติที่รัชกาลที่ ๕ สร้างไว้ที่อยุธยา ก็ไปจำลองโบสถ์คริสต์มา บางแห่งก็เป็นโบสถ์ลานหินโค้งซึ่งไม่ได้ผิดพระวินัย

 

ทำไมใครมาวัดพระธรรมกายจะต้องติดใจ มีอะไรดีหรือเปล่า?

     ติดวัดแล้วดี ถ้าไปติดบาร์ ติดผับ ติดการพนัน ท่าทางจะแย่ แต่ที่จริงแล้วต้องบอกว่า วัดเราถือธรรมเป็นใหญ่ บางคนบอกว่า คนไม่คุ้นกับการนั่งสมาธิ นั่งสัก ๕ นาทีก็พอ เดี๋ยวเขาจะเมื่อย หลวงพ่อไม่ได้ตามใจโยม ท่านถือธรรมเป็นใหญ่ ใครมาถึงจับนั่งสมาธิเป็นชั่วโมงมาใหม่ ๆ เมื่อยหน่อยก็พับไปพับมา ฝืน ๆ นั่งไป ต่อ ๆ ไปใจเริ่มสงบ เริ่มนั่งได้ นั่งเสร็จแล้วก็ให้ฟังเทศน์ บางคนบอกว่าอยากดูหมออยากเสี่ยงเซียมซี ซึ่งบางแห่งอาจจะบอกว่าเอาใจเขาหน่อย เขาชอบเจ้าพ่อเจ้าแม่ก็เอามาตั้งให้เขากราบเขาไหว้หน่อย จะได้ดึงคนเข้าวัด แต่หลวงพ่อไม่เอาเลย ท่านถือธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นใหญ่ เซียมซีไม่เอา ดูหมอไม่เอา ใบ้หวยไม่เอา เจ้าพ่อเจ้าแม่ไม่เอาเอาแต่ธรรมะของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

     ที่วัดพระธรรมกายมีแต่พระรัตนตรัยเท่านั้น พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างอื่นไม่เอา แล้วก็สอนให้เขาให้ทาน รักษาศีล และทำสมาธิ ไม่ยุ่งอบายมุข พอเป็นอย่างนี้แล้วคนที่จะติดวัดก็คือ คนที่มีเชื้อดีในใจ แต่ไม่ใช่มาแล้วจะติดทุกคน บางคนมาครั้งเดียวแล้วหายไปเลยก็มี คนที่มาแล้วสบายใจ ปฏิบัติธรรมแล้วรู้สึกดี ศึกษาธรรมะแล้วดี เขาก็มาอีกที่จริงเขาไม่ได้ติดอย่างอื่น เขาติดธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

     เพราะฉะนั้น สอนให้โยมรักษาศีลไปเลยไม่ต้องกลัวว่าเป็นการไปจู้จี้กับโยม ไม่ต้องกลัวโยมจะไม่เข้าวัด เราเชื่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา แล้วเดินตามที่พระองค์สอนเอาไว้ผลก็คือ นอกจากคนไม่ลดแล้วยังเพิ่มขึ้น และเป็นคนที่มีคุณภาพด้วย คือ มาวัดด้วยศรัทธาไม่ใช่มาเพราะจะเสี่ยงเซียมซี จะขอหวย จะเล่นไพ่ในงานศพ ฯลฯ คนมาวัดคือมาศึกษาธรรมะ วัดก็ได้ทำหน้าที่วัดจริง ๆ พระภิกษุทำหน้าที่พระภิกษุจริง ๆ ญาติโยมก็ได้ทำในกิจที่ญาติโยมควรทำจริง ๆ และทกุ คนก็มีความสุขความเจริญ

     บางคนบอกว่าวัดพระธรรมกายมีแต่คนรวยเข้า ที่จริงคนมาวัดมีทั้งคนรวย คนไม่รวย แต่คนที่เข้าวัดนาน ๆ แล้ว มักจะรวย คือเริ่มต้นไม่รวย แต่อยู่ไปนาน ๆ เอาหลักธรรมไปใช้ ชีวิตมีความสุข การงานเจริญก้าวหน้าเลยรวยขึ้น มีอย่างนี้เยอะเลย บางคนทำบุญเริ่มต้นที่ ๑๐ บาท บางคนเริ่มจากร้อย ต่อมาทำเป็นแสนเป็นล้านเหมือนกัน เพราะฐานะเขาดีขึ้น เขาก็เห็นว่าเป็นเพราะธรรมะที่เขานำไปปฏิบัติ เขาจึงมีความสุขความเจริญ เขาก็เลยมาบำรุงวัด เพื่อให้คนอื่น ๆ มีโอกาสศึกษาธรรมะอย่างนี้บ้าง

     อาตมาเองมีประสบการณ์ตรงอย่างหนึ่งเหมือนกัน ตอนไปศึกษาที่ญี่ปุ่น พอการศึกษาอยู่ตัวก็เลยสร้างวัด เพราะมีญาติโยมเรียกร้องมาก เริ่มต้นคนที่มาวัดมีหลากหลาย เขามาเพราะอยู่เมืองนอกนานรู้สึกเหงา เห็นผ้าเหลืองก็ดีใจ แต่ยังไม่รู้จักเป็นการส่วนตัว พอรู้ว่ามีพระมีวัดเขาก็มา มาถึงก็ตามธรรมเนียมไทยพระอาจารย์ช่วยดูลายมือหน่อย ดูหมอหน่อยดวงไม่ค่อยดี อาตมาบอกว่าที่นี่ไม่มี ใครจะสะเดาะเคราะห์สวดมนต์นั่งสมาธิให้ดี พอบุญเกิดแล้ว บุญจะไปแก้ไขเคราะห์ให้เอง ฉะนั้นรักษาศีล ๕ ให้ครบ นั่งสมาธิ แล้วตั้งใจอยู่ในธรรมะพระพุทธเจ้าให้ดี เขามาถึงก็เอาหลักที่วัดไปใช้ ให้นั่งสมาธิชั่วโมงกว่า บ่ายฟังเทศน์บางคนมาครั้งเดียวหายไปเลยก็มี แต่คนที่อยู่ต่อ ๆ มาชีวิตดีขึ้นหมดเลย ใหม่ ๆ คนมาวัดถ้าฝ่ายหญิงอาจจะประมาณครึ่งหนึ่งทำงานกลางคืน แต่พอเข้าวัดสม่ำเสมอเขาจะรู้สึกว่าไม่อยากทำอาชีพนี้แล้ว หาช่องทางเลิก สุดท้ายก็เลิกได้ มีครอบครัวเป็นหลักเป็นฐาน ลูกเต้าก็ดี ปรากฏว่าทำบุญบำรุงวัดไม่น้อยเลย น่าสรรเสริญน้ำใจเป็นอย่างยิ่ง สิ่งที่เขาบำรุงวัดมหาเศรษฐีเมืองไทยยังสู้ไม่ได้เลย แล้วพอทำบุญกับวัดมาก ๆ ฐานะทางบ้านก็ดีขึ้น แต่หลายคนที่ไม่ได้เข้าวัดไม่มีอะไรเหลือเลยเพราะว่าไปเล่นไฮโล ดื่มสุรา อะไรต่าง ๆ คนเข้าวัดได้ทั้งบุญ อาชีพการงานและครอบครัวก็มั่นคงขึ้นด้วย นี้คือเครื่องพิสูจน์ว่าธรรมะของพระพุทธเจ้าเป็นของจริง ขอให้เราปฏิบัติตามคำสอนของพระองค์ อย่าออกนอกลู่นอกทางให้ถือเอาธรรมะเป็นหลัก แล้ววัดก็จะเจริญญาติโยมที่มาวัดก็จะเจริญ ธรรมะพระพุทธเจ้าเป็นของจริง ขอให้พระตั้งใจปฏิบัติธรรมจริง ๆ ตั้งใจอบรมประชาชนจริง ๆ แล้วเขาจะเห็นประโยชน์ แล้วก็มาสนับสนุนงานพระศาสนา

 

ถ้าเรามีน้อย ให้ทานน้อย จะได้บุญมากเหมือนคนที่ให้ทานมาก ๆ ไหม?
     “เมื่อจิตเลื่อมใสแล้ว ทักษิณาทานหาใช่เป็นของน้อยไม่” มีเรื่องจากพระไตรปิฎกเรื่องหนึ่งบันทึกไว้ว่า มีคนจะไปบูชาเจดีย์แต่ไม่มีทรัพย์ จึงเก็บดอกบวบขม ๔ ดอกจากข้างทางไปบูชา อานิสงส์ยังส่งให้ไปเกิดบนสวรรค์เลยขอให้มีความเลื่อมใสเถิด

     แต่ถ้าใจมีความเลื่อมใสเท่ากันจะเป็นอย่างไร ก็ต้องมาดูเงื่อนไขที่จะทำให้ได้บุญมากพระพุทธเจ้าบอกว่ามีองค์ประกอบ ๓ อย่างที่จะทำให้ได้บุญมากดังนี้

   ๑. วัตถุบริสุทธิ์ คือ ของที่ให้ทานได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ดอกบวบข้างทางก็ได้มาด้วยความบริสุทธิ์ ถ้าทำบุญเยอะแต่ไปโกงเขามาบุญก็น้อย ทรัพย์ที่ทำบุญน้อยแต่ได้มาด้วยความสุจริตได้บุญเยอะกว่า
     ๒. เจตนาบริสุทธิ์ คือ เพื่อขจัดความตระหนี่ และก่อนให้ทานก็เลื่อมใส ระหว่างให้ก็ตั้งใจ หลังให้แล้วก็ปลื้มอกปลื้มใจ ยิ่งเลื่อมใสมากบุญยิ่งเยอะ ทำบุญบาทเดียวแต่ทั้งเนื้อทั้งตัวมีอยู่แค่บาทเดียวนี้แหละเลื่อมใสจริง ๆ บุญมหาศาล แต่ถ้าใครทำบุญเงินล้านอย่างเสียไม่ได้ ทำเพื่อเอาหน้า ได้บุญนิดเดียว
    ๓. บุคคลบริสุทธิ์ ถ้าผู้รับเป็นพระภิกษุที่อยู่ในศีลในธรรม ยิ่งมีคุณธรรมสูงเท่าไรบุญเรายิ่งมาก และตัวเราเองในฐานะผู้ให้ทานยิ่งอยู่ในศีลในธรรมมากเท่าไร บุญก็ยิ่งเยอะ

      แต่ถ้าเป็นบุคคลคนเดียวกัน มีความศรัทธาเท่ากัน วัตถุบริสุทธิ์เหมือนกัน อย่างนี้เราก็คิดเอาง่าย ๆ ได้ว่า ถ้าทำมากก็ย่อมได้มากไปตามส่วน แต่ไม่ใช่ตัวชี้ขาด จะมาวัดจากตัวเงินอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูความเลื่อมใสความตั้งใจ ดูทั้งหมดประกอบด้วย

 

ทำไมต้องทำบุญเยอะ ๆ ด้วย?
    ที่จริงเราให้ทำบุญตามกำลัง คนไหนมีกำลังทรัพย์มากก็ทำมาก คนไหนมีน้อยก็ทำตามกำลังของตัวเอง บางคนพนมมืออยู่หน้าตู้รับบริจาคตั้งนาน ในมือมีแค่เหรียญบาทหรือเหรียญห้าเหรียญหนึ่ง การที่วัดออกค่ารถให้และมีอาหารเลี้ยงทำให้คนในกรุงเทพฯ ที่จนที่สุดก็สามารถมาวัดได้ ขึ้นรถมาฟรี ทานข้าวฟรีด้วย

      ถามว่าทำไมถึงต้องเลี้ยงอาหาร ทำไมถึงให้นั่งรถมาวัดฟรี เป็นเพราะวัดเรามีคอนเซปต์ตั้งแต่สร้างวัดว่า ไม่ควรให้ฐานะทางเศรษฐกิจเป็นเครื่องกีดกั้นการปฏิบัติธรรม หลวงพ่อต้องการเปิดกว้างให้คนทุกชั้นสามารถมาวัดได้ถ้าวัดคิดจะรับแต่คนรวยไม่ต้องเลี้ยงข้าวหรอกเขาหาข้าวกินเองได้ แล้วก็ไม่ต้องจัดรถมา เขาขับรถมาเองได้ แต่เพราะเราไม่ได้คิดจะรับแต่คนรวย ดังนั้นตั้งแต่เริ่มสร้างวัดจนถึงปัจจุบันจึงยังคงมีการจัดรถมาวัดฟรี เลี้ยงข้าวฟรีทำให้คนจนที่สุดก็มาวัดได้ เมื่อมาแล้วชีวิตเขาดีขึ้น ๆ อีกหน่อยเขาก็มาบำรุงวัด

       ถามว่าการจัดรถมาวัดฟรี ค่ารถมาจากไหน อาหารฟรี ค่าอาหารมาจากไหน ก็มาจากคนที่มีทรัพย์มาก เขาทำตามกำลังของเขา เขาไม่เดือดร้อน ทำเสร็จแล้วทรัพย์นี้ก็จะกลายเป็นเสนาสนะบ้าง เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติธรรมบ้าง เป็นค่าใช้จ่ายให้แก่คนที่ยังมีทรัพย์น้อยบ้าง นี้คือการเกื้อกูลกันระหว่างคนรวยและคนที่กำลังจะรวยในอนาคตนี้คือความเอื้อเฟื้อกันของคนในสังคม โดยมีวัดเป็นศูนย์กลาง เป็นจุดร่วม

      การทำบุญทำได้ตามกำลังของเรา ใครจะมาบังคับเราได้ เงินในกระเป๋าเรา เราพอใจทำเท่าไรก็ทำเท่านั้น

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๖๕ เดือนกรกฏาคม ๒๕๕๙

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล