วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ ชีวิตและจิตใจขออุทิศให้พระพุทธศาสนา

สร้างพระให้เป็นพระแท้
เรื่อง : มาตา

ชีวิตและจิตใจขออุทิศให้พระพุทธศาสนา

      หากเปรียบโลกนี้เหมือนสระบัวมหึมาและมนุษย์แต่ละคนเสมือนบัวดอกหนึ่งแล้วสมณะผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ หมั่นปรารภความเพียร ก็คงเปรียบได้กับบัวปริ่มน้ำ ที่มีโอกาสเบ่งบานด้วยแสงแห่งธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

        ในวันวิสาขบูชาที่ผ่านมานี้ สามเณรเปรียญธรรม เหล่ากอของสมณะ จำนวน ๗ รูป ผู้เปรียบเสมือนบัวปริ่มน้ำ ได้เข้าพิธีอุปสมบทอุทิศชีวิต ยกตนขึ้นเป็นพระภิกษุมอบกายถวายชีวิตไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นกำลังสำคัญของพระศาสนาสืบไป

           วันนี้ เรามาดู ๑๐ เรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับการบวชอุทิศชีวิตกันดีกว่า


๑. บวชอุทิศชีวิตคืออะไร ?
        การบวชอุทิศชีวิตเป็นการบวชพลีกายถวายชีวิตแด่พระพุทธศาสนา คือ บวชแล้วไม่คิดสึก ขอตายในผ้าเหลือง ดังที่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อธัมมชโยเคยกล่าวเปรียบเทียบไว้ว่า “การตัดสินใจบวชอุทิศชีวิตเหมือนกับเป็นการประกาศศึกว่า... เรานี้จะทุ่มทั้งชีวิตของเราไปข้างหน้าโดยไม่เหลียวหลังกลับมาเหมือนเราทุบหม้อข้าว เอาชีวิตทั้งชีวิตถวายไว้ในพระศาสนา”


๒. บวชอุทิศชีวิตสำคัญอย่างไร ?
         ยุคนี้เป็นยุคที่มนุษย์มีกิเลสหนาปัญญาหยาบมากขึ้น และพระพุทธศาสนามีแนวโน้มเสื่อมถอยลง การที่มีผู้ตั้งสัจจาธิษฐานขอบวชอุทิศชีวิต เพื่อรักษาความรู้อันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ยืนยาวสืบต่อไปจึงมีความหมายอย่างยิ่งต่อการดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา


๓. ผู้บวชอุทิศชีวิตในโครงการนี้คือใคร ?
      คือ สามเณรวัดพระธรรมกายที่ได้รับการฝึกฝนอบรมจนกระทั่งถึงพร้อมด้วยปริยัติ ปฏิบัติ ปฏิเวธ และสามารถปฏิบัติตนตามคำขวัญสามเณรได้อย่างเคร่งครัด คือ “สามเณรดี มีวินัย ใฝ่ศึกษา เทศนาแกล้วกล้าค้นคว้าวิชชาธรรมกาย มุ่งไปสู่เป้าหมายถึงที่สุดแห่งธรรม” เมื่อสามเณรอายุครบ ๒๐ ปี หลวงพ่อจึงเมตตารับเป็นเจ้าภาพในการอุปสมบท


๔. อะไรเป็นแรงจูงใจให้อยากบวชอุทิศชีวิต ?
       ลูกสามเณรของหลวงพ่อทุกรูปต่างได้รับความรัก ความเมตตา และการดูแลเอาใจใส่จากหลวงพ่อทั้งสองเป็นอย่างดีในทุก ๆ ด้าน และได้รับการปลูกฝังให้รักชีวิตสมณะ รักพระพุทธศาสนา มีความซาบซึ้งในมโนปณิธาน และมีเป้าหมายในการบวช
อุทิศชีวิตตามรอยบาทพระบรมศาสดา ส่งผลให้สามเณรสมัครใจที่จะอยู่ในเพศสมณะต่อไปจนตลอดชีวิต ที่สำคัญการได้มีโอกาสเป็นลูกของหลวงพ่อ ได้บวชสร้างบารมีในวัดพระธรรมกายใต้บารมีธรรมของหลวงพ่อถือเป็นความปีติและภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของสามเณรทุกรูป


๕. โครงการนี้เริ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อไร ?
      เริ่มเมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๖ ครั้งนั้นมีสามเณรบวชอุทิศชีวิตถึง ๒๒ รูป ที่พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามราชวรวิหาร ส่วนรุ่นที่ ๒ จนกระทั่งถึงรุ่นปัจจุบัน คือ รุ่นที่ ๒๖ บวชที่อุโบสถวัดพระธรรมกาย


๖. ทำไมต้องบวชวันวิสาขบูชา ?
          วันวิสาขบูชาเป็นวันที่สว่างและดีที่สุด เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน และเป็นวันที่พระองค์ทรงชนะมาร วันนี้จึงเป็นวันที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการบวชอุทิศชีวิตของสามเณรผู้สั่งสมบารมีมานับภพนับชาติไม่ถ้วน


๗. จากปีแรกถึงปัจจุบันมีสามเณรบวชอุทิศชีวิตกี่รูปแล้ว ?
        การบวชอุทิศชีวิตของสามเณรวัดพระธรรมกายมีขึ้น ๒๖ ปีแล้ว จากปีแรกถึงปัจจุบันมีสามเณรบวชอุทิศชีวิตรวม ๓๑๙ รูป


๘. ภารกิจของผู้บวชอุทิศชีวิตต่อตนเองมีอะไรบ้าง ?
       ทุกรูปมีภารกิจสำคัญต่อตนเอง คือ ๑. ต้องพยายามแก้ไขความประพฤติของตนเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้น ๒. ต้องหมั่นปฏิบัติธรรมให้ใจหยุดใจนิ่ง ให้เข้าถึงพระธรรมกายให้ได้


๙. ภารกิจของผู้บวชอุทิศชีวิตต่อสังคม ต่อพระพุทธศาสนา มีอะไรบ้าง ?
       หลังจากสามเณรได้บวชอุทิศชีวิตเป็นพระมหาเปรียญแล้ว ทุกรูปมีภารกิจในการช่วยกันดูแลวัด ดูแลหมู่คณะ และทำงานเพื่อพระศาสนาและสังคมอย่างเต็มความสามารถตามความถนัดของแต่ละรูป อาทิ เผยแผ่พระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งภายในและต่างประเทศ อบรมศีลธรรมแก่ประชาชน ช่วยเหลืองานของการคณะสงฆ์ เป็นต้น


๑๐. ผู้สนับสนุนการบวชอุทิศชีวิตจะได้อานิสงส์อย่างไร ?
      การบวชอุทิศชีวิตเกิดขึ้นได้ยาก ผู้บวชต้องมุ่งมั่น มีมโนปณิธานแน่วแน่ เป้าหมายชัดเจน และรักพระพุทธศาสนามาก จึงจะกล้าตั้งสัจจาธิษฐานบวชอุทิศชีวิต ดังนั้นผู้สนับสนุนการบวชจะได้อานิสงส์มาก และหากผู้สนับสนุนการบวชอยากบวชอุทิศชีวิตจะไม่มีคนขัดขวาง จะมีแต่คนสนับสนุนให้บวชทำพระนิพพานให้แจ้งได้ตลอดรอดฝั่ง


      ในกรณีของสามเณรวัดพระธรรมกายนั้น นอกจากต้องมีคุณสมบัติดังกล่าวแล้วท่านยังต้องผ่านการทดสอบจากพระอาจารย์ผู้ดูแลครั้งแล้วครั้งเล่าเป็นเวลานานหลายปีจนกระทั่งเข้าเกณฑ์มาตรฐานที่ตั้งไว้ จึงจะได้รับอนุญาตให้บวชอุทิศชีวิต ดังนั้นท่านจึงเป็นเนื้อนาบุญผู้ควรแก่การเทิดทูน เคารพยกย่อง และจะนำอานิสงส์อันมหาศาลมาสู่ผู้สนับสนุนการบวช ผู้ถวายข้าว น้ำ และปัจจัยไทยธรรมต่าง ๆ

         ประการสุดท้ายที่จะขอฝากไว้ก็คือ พระภิกษุรูปอื่น ๆ ที่ไม่ได้บวชในโครงการนี้แต่มีความตั้งใจบวชถวายชีวิตแด่พระพุทธศาสนายังมีอยู่อีกไม่น้อย เพียงแต่เราไม่รู้จักท่านหรือไม่เคยรู้ความตั้งใจของท่าน ดังนั้นหากได้ยินข่าวเกี่ยวกับพระภิกษุในทางลบก็ไม่ควรเชื่อทันที เพราะเรื่องจริงอาจไม่เป็นเช่นนั้นก็ได้ ควรพิจารณาให้รอบคอบ และไม่ควรมีอคติกับพระ สิ่งที่พุทธศาสนิกชนควรปฏิบัติต่อพระภิกษุผู้เปรียบเสมือนทิศเบื้องบนก็คือ ๑. จะทำสิ่งใด ก็ทำด้วยเมตตา ๒. จะพูดสิ่งใด ก็พูดด้วยเมตตา ๓. จะคิดสิ่งใดก็คิดด้วยเมตตา ๔. ต้อนรับด้วยความเต็มใจ ๕. อุปถัมภ์ด้วยปัจจัยสี่ ในกรณีที่เห็นพระรูปใดประพฤติตนไม่เหมาะสม ก็ไม่ควรเอาตัวเองไปเสี่ยงกับไฟนรกด้วยการด่าว่าตำหนิติเตียนท่าน ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของพระสังฆาธิการผู้มีอำนาจในการปกครองสงฆ์ดูแลแก้ไขไปตามพระธรรมวินัยดีกว่าฆราวาสทั้งหลายไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายเรื่องของสงฆ์

 

คำบอกเล่าจากพระอาจารย์
พระมหาสุวิทย์ ธมฺมิกมุนิ ป.ธ.๙ (นาคหลวง), ดร.
หัวหน้าหมู่กุฏิสามเณรวัดพระธรรมกาย

        “กว่าจะมาเป็นสามเณรบวชอุทิศชีวิตได้ ต้องใช้เวลาเจียระไนตนเองยาวนานกว่า ๑๐ ปี คือ สามเณรแต่ละรูปเมื่อเข้าวัดมาแล้ว ต้องผ่านกระบวนการคัดเลือก มีการตรวจเช็กสุขภาพร่างกาย การสอบวัดความรู้พื้นฐาน การสัมภาษณ์ทดสอบความตั้งใจ ทดสอบกำลังใจที่จะบวชเรียนบาลี ที่จะบวชฝึกฝนตนเอง ถ้าพร้อมก็จะผ่านขั้นตอนนี้มาได้ และจะเข้าสู่กระบวนการอบรมโดยการฝึกความรับผิดชอบต่อตัวเองและหมู่คณะผ่านกิจวัตรประจำวัน การใช้สอยปัจจัยสี่

    “ในช่วงของการฝึกฝนนั้น จะมีการประเมินจากพระอาจารย์และพระพี่เลี้ยงอยู่ตลอด ถ้ายังฝึกไม่ถึงมาตรฐาน ก็จะต้องฝึกเพิ่มซ้ำไปซ้ำมา และจะได้รับการปลูกฝังอุดมการณ์ เป้าหมายชีวิต ความรักพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย จนกระทั่งสามเณรเข้าใจในมโนปณิธานของหลวงพ่อและหมู่คณะ มีศรัทธาในพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเต็มที่ ก็จะตัดสินใจดำเนินรอยตามหลวงพ่อ และกล้าตัดสินใจอุปสมบทอุทิศชีวิต”


พระมหาฉัตรทอง ปคุณชโย ป.ธ.๔

 

พระมหาชาญชัย ชญฺญชโย ป.ธ.๕

 

พระมหาสุพรเทพ เทวชโย ป.ธ.๔

 

พระมหาปฏิพล พลิทฺธิชโย ป.ธ.๕

 

พระมหานัทดนัย วิภาวิชโย ป.ธ.๕

 

พระมหาโนบุ จกฺกชโย ป.ธ.๖

 

พระมหาธนากร ธุตชโย ป.ธ.๕

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล