บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI
หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๓๕)
ร่องรอยธรรมกายในคาถาธรรมกายและพระธัมมกายาทิ
ในฉบับที่แล้ว ผู้เขียนได้กล่าวถึงความคืบหน้าของการค้นพบ “คาถาธรรมกาย” เพิ่มขึ้นอีกในผืนแผ่นดินล้านนาคือที่วัดศรีมงคล (ก๋ง) จ.น่าน
วัดศรีมงคล (ก๋ง) จ.น่าน
https://sites.google.com/site/thawangphatravel
ซึ่งถือว่าเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่แสดงถึงการมีอยู่ของ “ธรรมกาย” โดยผ่านบทสวดมนต์และพิธีพุทธาภิเษก โดยที่การค้นพบครั้งนี้เราสามารถมองในมิติทางวิชาการได้ว่าเป็นเครื่องหมายแห่งการสืบทอดวัฒนธรรมทางพระพุทธศาสนาที่ชัดเจนที่สุดอันหนึ่งในอีกด้านหนึ่งเราอาจนำความรู้ของบทสวดและพิธีพุทธาภิเษกดังกล่าวมาใช้ในการศึกษาหาคำตอบเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ศิลปะ ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาหรือหาคำตอบเกี่ยวกับร่องรอยการเคลื่อนที่ทางพระพุทธศาสนาให้ชัดเจนขึ้น เป็นต้น โดยเฉพาะมีนักวิชาการจากต่างประเทศบางท่าน เช่น Mr.Donald K. Swearerได้ให้ทัศนะที่น่าสนใจไว้ในหนังสือเรื่อง “Becoming the Buddha” ด้วย ว่าพิธีพุทธาภิเษกนี้ คือการ “ทำให้พระพุทธรูปมีชีวิต”
Mr.Donald K. Swearer
ภาพประกอบ www.patheos.com
แต่อีกประเด็นหนึ่งที่มีความน่าสนใจและพบว่ามีความเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์และเรื่องราวของคาถาธรรมกายก็คือ การที่บทสวดคาถาธรรมกายที่พบที่วัดศรีมงคล (ก๋ง) นั้น มีเนื้อหาหรือสาระสำคัญที่สอดคล้องกับเนื้อหาที่ปรากฏในคัมภีร์พระธัมมกายาทิที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) อย่างมีนัยสำคัญ1
ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์
(George Coedes)
ทั้งนี้ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดส์ (George Coedes) ผู้เชี่ยวชาญวิทยาการแขนงต่าง ๆ ทางภาคพื้นเอเชียอาคเนย์และเอเชียใต้ ได้เคยเผยแพร่คาถาบาลีบทเดียวกับที่ปรากฏในคัมภีร์พระธัมมกายาทิไว้ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๙ ในวารสาร Adyar Library Bulletin อินเดีย แต่ใช้ชื่อคาถาแตกต่างออกไปว่า “ธมฺมกายสฺส อตฺถวณฺณนา” บทความดังกล่าวอ้างอิงคัมภีร์ใบลานอักษรเขมรได้จากวัดอุณาโลม กรุงพนมเปญ และคัมภีร์ใบลานอักษรขอมไทย ซึ่งรักษาไว้ที่หอสมุดวชิรญาณ กรุงเทพฯ
คัมภีร์พระธัมมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุม ร.๓
วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร
เนื้อความในคัมภีร์พระธัมมกายาทิเป็นการพรรณนาถึงส่วนต่าง ๆ ของพระวรกายในพระพุทธองค์ว่าประดุจดั่งพระญาณหรือพระคุณต่าง ๆ และกล่าวว่าพุทธลักษณะเช่นนี้คือธรรมกาย จากนั้นเป็นการอธิบายถึงพระญาณและพระคุณต่าง ๆ ข้างต้นท้ายคัมภีร์ได้ผนวกคาถาบาลีชื่ออุณหิสสวิชัยไว้ เนื้อหาต่าง ๆ นี้ปรากฏในคัมภีร์เขมรและคัมภีร์จากหอสมุดวชิรญาณที่ยอร์ช เซเดส์ใช้อ้างอิงเช่นเดียวกัน
ประเด็นสำคัญที่มีความสอดคล้องกันของเนื้อหาจาก “คาถาธรรมกาย” ที่พบที่วัดศรีมงคล (ก๋ง) จ.น่าน กับเนื้อหาที่ปรากฏใน คัมภีร์พระธัมมกายาทิ ที่ถูกเก็บรักษาไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามนั้น อยู่ที่การสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าการเปรียบให้เห็นว่าส่วนต่าง ๆ ของพระวรกายของพระพุทธองค์นั้นคือ “พระญาณ” อาทิ พระสัพพัญญุตญาณ คือ พระเศียร พระนิพพานเป็นอารมณ์ คือ พระเกสา พระจตุตถฌาน คือ พระนลาฏ พระวชิรสมาปัตติญาณ คือ พระอุณาโลม ทิพยจักษุ ปัญญาจักษุ สมันตจักษุ พุทธจักษุ และธรรมจักษุ คือ พระเนตร มรรคผลญาณ (วิมุตติญาณ) คือ พระปราง โพธิปักขิยญาณ คือ พระทนต์ ส่วนพระทศพลญาณนั้น คือ กลางพระวรกาย เป็นต้น ซึ่งจุดที่เป็นสาระสำคัญในการสรรเสริญคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นอยู่ที่การที่ “พระธรรมกายคือลักษณะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า” ควรที่พระโยคาวจรผู้มีญาณแก่กล้า หากปรารถนาความเป็นสัพพัญญูพุทธเจ้าพึงระลึกถึงพระธรรมกายเนือง ๆ ซึ่งข้อความดังกล่าวจบลงที่บรรทัดที่ ๒ ของหน้าอังกา ๒ ในส่วนที่กล่าวถึงความรุ่งเรืองของพระพุทธเจ้าเหนือเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย รวมถึงข้อความที่กล่าวว่าธรรมกายเป็นลักษณะหรือคุณสมบัติของพระพุทธเจ้า และคำแนะนำให้พระโยคาวจรผู้ปรารถนา “สัพพัญญูพุทธภาวะ” ควรระลึกถึงเสมอนั้นไม่มีในอรรถกถา แต่มีในเรื่อง “ธมฺมกายสฺส อตฺถวณฺณนา” ของยอร์ช เซเดส์ ด้วย
คัมภีร์ใบลานหลวงฉบับเทพชุมนุม
หรือฉบับรดนํ้าเทพชุมนุม
นอกจากนี้ ในคัมภีร์พระธัมมกายาทิ ฉบับเทพชุมนุมยังมีคำแนะนำให้สวดคาถา สกฺกตฺวา พุทฺธรตนํ โอสถํ อุตฺตมํ… ๓ จบ ในท้ายคัมภีร์พระธัมมกายาทิฉบับเทพชุมนุมด้วย โดยเป็นคาถาบาลีที่ใช้คำสังขยาบอกถึงการสร้างบารมีของพระปัญญาธิกะ สัทธาธิกะและวิริยาธิกะ ด้วย ซึ่งนับว่ามีความน่าสนใจและเกี่ยวพันถึง “คุณค่า” อันแท้จริงด้านการปฏิบัติและสภาวะแห่งความเป็นพุทธะภายในด้วย ซึ่งผู้เขียนและคณะนักวิจัยของสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ก็ให้ความสนใจและอยู่ในระหว่างการศึกษารวบรวม และจะได้นำมาเสนอให้ท่านผู้อ่านได้ปลื้มใจและร่วมอนุโมทนากันต่อไป
(โปรดอ่านต่อฉบับหน้า)
1 คัมภีร์พระธัมมกายาทิเป็นคัมภีร์ที่คณะนักวิจัยสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัยแห่งออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ได้ค้นพบขณะปฏิบัติงานภาคสนามที่วัดพระเชตุพนฯ คัมภีร์ดังกล่าวเป็นคัมภีร์ใบลานที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓) พระราชทานไว้สำหรับวัดพระเชตุพนฯ เป็นการเฉพาะ เขียนเป็นคาถาบาลี ๑๖ หน้าลานด้วยอักษรขอมไทย ไม่ปรากฏวันที่จาร ตอนต้นเป็นคาถาพระธรรมกายตั้งแต่สพฺพญฺญูตญณปวรสีสํ จนถึง อิมํ ธมฺมกาย พุทฺธลกฺขณํ โยคาวจรกุลปุตฺเตน ติกฺขญเณน สพฺพญฺญุพุทฺธภาวํ ปตฺเถนฺเตน ปุนปฺปุนํ อนุสฺสริตพฺพํ ฯ ซึ่งมีความยาวประมาณ ๒ หน้าลาน ที่เหลืออีก ๑๔ หน้าลานเป็นคาถาบาลีที่อธิบายญาณต่าง ๆ ที่มีอยู่ในพระธรรมกายด้วยเนื้อหาที่ละเอียดขึ้นในลักษณะคล้ายอรรถกถา คัมภีร์ พระธัมมกายาทิจึงนับเป็นคัมภีร์ โบราณที่เสนอรายละเอียดขยายความหมายของพระญาณต่าง ๆ ของธรรมกาย