อ่านอดีต ขีดอนาคต
เรื่อง : พระมหาพงศ์ศักดิ์ ฐานิโย, ดร.
ย้อนอดีต...ท่องประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
ตอนที่ ๖ : การปรับตัวอีกครั้งของศาสนจักรและการทวงอำนาจคืนของวรรณะกษัตริย์ยุคอุปนิษัท (Upanishad Period : ๑๐๐ ปีก่อนพุทธศักราช - ต้นพุทธกาล)
ใน “ยุคพระเวท” และ “ยุคพราหมณะ” ได้มีการปรับตัวของศาสนจักรทั้งในเรื่องคำสอนรวมถึงขั้วอำนาจของวรรณะ กล่าวคือ มีการสร้างความชอบธรรมของวรรณะพราหมณ์ โดยการเอ่ยอ้างถึง “พระพรหม” ผู้สร้างโลก ซึ่งต่อมาพัฒนาการไปสู่ “ตรีมูรติ” อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความเข้มแข็งของวรรณะ “พราหมณ์” ที่อาจจะกล่าวได้ว่าอยู่เหนืออำนาจของวรรณะ “กษัตริย์”
ครั้นเมื่อกาลเวลาผ่านไปไม่นาน ศาสนจักรต้องรับมือกับคำถามในเรื่องโลกและชีวิตอีกครั้ง ซึ่งในอินเดียยุคนั้นมีรากฐานทางสังคมที่มั่นคง ผู้คนทั้งหลายจึงเริ่มฉุกคิดและเริ่มตั้งคำถามในเรื่องดังกล่าว เป็นต้นว่า “การบูชายัญ...เอาชนะความทุกข์ได้จริงหรือ” หรือ “ชีวิตคืออะไร...เราเกิดมาทำไม...ตายแล้วจะไปไหน...อะไรคือที่สุดในสังสารวัฏ” จนเกิดเป็นการรวมกลุ่มของนักคิดต่าง ๆ ถึงกับมีการตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับศาสนจักรหรือวรรณะ “พราหมณ์” โดยบางกลุ่มมีวรรณะ “กษัตริย์” เป็นผู้ขับเคลื่อนอยู่ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ อาจกล่าวได้ว่า เป็นการทวงอำนาจคืนของ “กษัตริย์” หลังจากสูญเสียอำนาจให้แก่ “พราหมณ์” ใน “ยุคพราหมณะ”
เมื่อมีคำถามจากกลุ่มนักคิดทั้งหลายมากขึ้น จึงเป็นหน้าที่ของพวกพราหมณ์ที่จะต้องตอบคำถามทั้งหลายในเรื่องโลกและชีวิตเหล่านั้น ด้วยเหตุนี้ “คัมภีร์อุปนิษัท” (Upaniṣad) จึงถือกำเนิดขึ้น โดย “คัมภีร์อุปนิษัท” นี้มีอยู่มากกว่า ๒๐๐ คัมภีร์ แต่ไม่ได้หมายความว่าคัมภีร์เหล่านี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กันในช่วงยุคสมัยนี้ หากเป็นเพราะคัมภีร์ที่กำเนิดในยุคต่อมาก็ยังคงใช้ชื่อเรียกคัมภีร์เหล่านั้นว่า “คัมภีร์อุปนิษัท” อยู่นั่นเอง
คำสอนใน “คัมภีร์อุปนิษัท” เป็นแนวคิดที่ลึกซึ้งและยากต่อการทำความเข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดในเรื่อง “พรหมัน-อาตมัน” (Brahman-Ātman) ซึ่งเป็นสิ่งใหม่ ไม่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์ยุคต้นอย่าง “คัมภีร์พระเวท” แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังมีการกล่าวสำทับลงไปอีกว่า...
“แม้ผู้ที่ฉลาดในพระเวท ก็ยังมิอาจหลุดพ้นจากทุกข์หรือโมกษะ (mokṣa) ได้ ทั้งนี้เป็นเพราะเขายังไม่รู้จักพรหมัน แต่ทว่าผู้ที่รู้จักพรหมัน แม้จะไม่รู้จักพระเวทเลย ย่อมสามารถทำตนให้หลุดพ้นจากทุกข์ได้”
ทั้งนี้เป็นเพราะ “คัมภีร์พระเวท” ซึ่งถือว่าเป็นวจนะของพระผู้เป็นเจ้าโดยตรงนั้น แท้ที่จริงแล้วเป็นสิ่งที่เกิดมาจาก “พรหมัน” กล่าวคือ ออกมากับลมหายใจของพรหมันนั่นเอง ดังนั้น “คัมภีร์อุปนิษัท” จึงมีความสำคัญเหนือกว่า “คัมภีร์พระเวท” ด้วยเหตุนี้
ในตอนต่อไปเราจะมาพูดถึงแนวคิดในเรื่อง “พรหมัน-อาตมัน” กับ “การหลุดพ้น” หรือ “โมกษะ” เพื่อให้เห็นถึงวิวัฒนาการด้านคำสอนของศาสนาพราหมณ์ในอินเดียโบราณ ก่อนจะมีการปรากฏขึ้นของศาสนาที่มีแนวคิดตรงกันข้าม...อย่างพระพุทธศาสนา