วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ ​​​​​​​(ตอนที่ ๕๓)

บทความพิเศษ
เรื่อง : นวธรรมและคณะนักวิจัย DIRI


หลักฐานธรรมกาย ในคัมภีร์พุทธโบราณ
(ตอนที่ ๕๓)

การส่งเสริมการศึกษาพระบาลี : มรดกธรรมอันล้ำค่าที่จะนำไปสู่การค้นคว้าความรู้ภายใน

          ในช่วง ๑ เดือนหลังออกพรรษาของทุกปี กิจกรรมสำคัญประการหนึ่งของชาวพุทธทั่วโลกก็คือ  การทอดกฐินสามัคคี หรือเทศกาลการผลัดเปลี่ยนผ้าไตรจีวรของพระภิกษุสงฆ์ เพราะนอกจากจะเป็นโอกาสเพียงครั้งเดียวในรอบปีที่พระพุทธองค์มีพระบรมพุทธานุญาตให้กระทำได้แล้ว การทอดกฐินยังเป็นประดุจเครื่องหมายที่แสดงถึงการรวมจิตรวมใจของชาวพุทธในการช่วยกันทำนุบำรุงอุ้มชูพระพุทธศาสนาร่วมกันในทุก ๆ ด้านอีกด้วย ซึ่งนับเป็นบุญใหญ่ที่บรรพบุรุษได้ส่งทอดเป็นมรดกธรรมให้เราร่วมกันปฏิบัติสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งสำหรับลูกหลานของมหาปูชนียาจารย์ทุก ๆ คนนั้น ต่างก็ไม่ลืมที่จะตักตวงบุญใหญ่นี้กันอย่างเบิกบานในทุกวัดและทุกศูนย์สาขาทั่วโลกเป็นที่น่าอนุโมทนายิ่ง ควบคู่กับกิจกรรมการสวดบทธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่พวกเราลูกหลานหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ได้ร่วมแรงร่วมใจสวดสืบเนื่องกันมา ก็ถือได้ว่าสามารถทำได้ทะลุเป้า “ชิตัง เม” ๑,๘๑๑,๑๑๑,๑๑๑ จบ เป็นผลสำเร็จอย่างน่าอัศจรรย์เช่นเดียวกัน


          ในฉบับที่แล้ว ผู้เขียนและคณะนักวิจัย DIRI ได้กล่าวถึง “ความสำคัญของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ว่าท่านนั้นเป็นยิ่งกว่าครูผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย” โดยได้สรุปให้เห็นถึงคำตอบที่สำคัญกล่าวคือ เป็นเพราะพระเดชพระคุณหลวงปู่นั้นเป็นบุคคลที่ได้ค้นคว้ารวบรวมความรู้ทั้งทางปริยัติ ปฏิบัติ และปฏิเวธ ที่เคยมีอยู่ในอดีตให้กลับคืนมาเป็นชิ้นเดียวกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อทำให้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายสามารถนำเอาความรู้อันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาที่รวมกับกระบวนการในการปฏิบัติธรรมไปใช้ได้จริงจนกระทั่งหลุดพ้นได้จริง ๆ ทั้งยังสามารถยืนยันความมีอยู่ขององค์ความรู้ทั้ง ๓ ส่วนนี้ได้โดยไม่จำกัดกาลเวลา ทั้งนี้การที่ท่าน (พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร) สามารถก้าวเดินจากจุดเริ่มต้นนับตั้งแต่ท่านได้บรรพชาอุปสมบทจนถึงความสำเร็จนี้ได้ก็คือ การที่ท่านให้ความสำคัญกับการศึกษาพระบาลีมาโดยตลอดชีวิตของท่านนั่นเอง

        สิ่งสำคัญที่เราซึ่งเป็นลูกหลานของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ต่างซาบซึ้งและเข้าใจกันโดยทั่วไปอยู่แล้วก็คือ ท่านเป็นพระมหาเถระที่ให้ความสำคัญกับการศึกษาค้นคว้าธรรมปฏิบัติอย่างมาก จนนำมาสู่ความเชี่ยวชาญแตกฉานในวิชชาธรรมกายเป็นอย่างสูง แต่อีกประเด็นหนึ่งที่ยังอาจขาดไปก็คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ท่านส่งเสริมการศึกษาพระบาลีอย่างไร ? และท่านได้อาศัยการศึกษาพระบาลีเพื่อส่งเสริมความเข้าใจที่ชัดเจนในวิชชาธรรมกายอย่างไรบ้าง ?  ๒ ประเด็นนี้ถือเป็นความรู้ที่น่าสนใจ และควรศึกษาลงไปให้ชัดเจนลึกซึ้งอย่างมากในอนาคต เพราะหากเราสามารถเชื่อมต่อองค์ความรู้ชุดนี้ได้สำเร็จ ก็จะยิ่งส่งผลให้องค์ความรู้ในการอธิบายเรื่องราวของธรรมกายและวิชชาธรรมกายมีความชัดเจนลุ่มลึกลงไปได้มากขึ้นอีก เพราะสิ่งนี้ในทางกลับกันก็ย่อมจะเป็น “มรดกธรรมที่จะนำไปสู่การค้นคว้าความรู้ภายใน” ในภาคปริยัติได้อีกทางหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อเรามีความเชื่อมั่นว่า ภาษาบาลีคือภาษาสวรรค์ที่ถ่ายทอดความรู้อันบริสุทธิ์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้

 

พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร กับภิกษุสามเณรหน้าพระอุโบสถวัดปากน้ำ

 

         สำหรับคำตอบแรก พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ท่านส่งเสริมการศึกษาพระบาลีอย่างไรนั้น ในเอกสารที่เกี่ยวข้องกับชีวประวัติของพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ได้ยืนยันไว้หลาย ๆ แหล่งว่า พระเดชพระคุณหลวงปู่ท่านให้ความอุปการะและปกครองวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ตั้งแต่มีพระภิกษุสามเณรเพียง ๑๓ รูป ส่วนอุบาสิกาแม่ชีก็มีเพียงเล็กน้อย เนื่องจากท่านนิยมเรื่องการศึกษาจึงส่งเสริมให้พระภิกษุ สามเณร ตลอดจนอุบาสิกาแม่ชีได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งคันถธุระ (การศึกษาพระบาลีและนักธรรม) และวิปัสสนาธุระตามกำลังความสามารถของแต่ละท่าน หาไม่แล้วก็ให้ช่วยงานวัดอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยไม่ยอมให้อยู่ว่าง¹ ท่านได้พยายามสนับสนุนส่งเสริมเรื่องการศึกษาและพัฒนาจนวัดปากน้ำมีความเจริญก้าวหน้าขึ้น พระภิกษุ สามเณร และอุบาสิกาแม่ชีที่มีอยู่จำนวนไม่มากก็ได้เพิ่มขึ้นโดยลำดับ และได้รับการยกฐานะขึ้นเป็นสำนักเรียนในเวลาต่อมา (ปีพุทธศักราช ๒๔๙๐) จนเมื่อถึงปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ พระเดชพระคุณหลวงปู่จึงริเริ่มสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นหลังหนึ่ง โดยสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กสูง ๓ ชั้น ขนาด ๑๑ x ๖๐ เมตร ใช้งบประมาณสมัยนั้นราว ๓ ล้านบาทเศษ² หลังจากการสร้างอาคารเรียนพระปริยัติธรรมแล้ว พบว่าทำให้มีผู้นิยมมาบรรพชาอุปสมบทและจำพรรษาที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มากขึ้นโดยลำดับ จนทำให้ปริมาณพระภิกษุเพิ่มขึ้นเป็น ๒๒๕ รูป สามเณรเพิ่มขึ้นเป็น ๒๐๕ รูป อุบาสิกาแม่ชีมีถึง ๔๐๐ คน และศิษย์วัดที่อยู่ประจำมีถึง ๕๐ คนด้วยกัน³ อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาประวัติของท่านทำให้พบว่า ก่อนที่พระเดชพระคุณหลวงปู่จะริเริ่มพัฒนาการศึกษาพระภิกษุสามเณรของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ขึ้นนั้น ท่านเคยเป็นผู้จุดประกายด้านการศึกษาให้แก่เด็ก ๆ ในชุมชนรอบวัดมาก่อนหน้านี้แล้ว ตั้งแต่ได้มาจำพรรษาที่วัดปากน้ำใหม่ ๆ

         ไม่เพียงแต่ในด้านปริมาณเท่านั้น แต่เมื่อพิจารณาลงไปถึงในด้านคุณภาพแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ท่านก็ได้ให้ความสำคัญลงไปอย่างลึกซึ้งด้วยเช่นกัน ไม่เฉพาะแต่การเทศน์สอนด้วยตนเองเพียงอย่างเดียว แต่ท่านยังได้จัดให้มีการเรียนการสอนแผนกคันถธุระ โดยแยกออกเป็นชั้นเรียนภาษาบาลี นักธรรม ธรรมศึกษา สามัญศึกษา อย่างครบถ้วนทุกวิชาด้วย และพยายามจัดหาครูประจำมาทำการสอนอย่างต่อเนื่อง (ทุกแผนก ทุกชั้น ชั้นละ ๓ รูป) ทั้งนี้พระภิกษุสามเณรที่เข้ารับการศึกษาจะต้องผ่านการทดสอบหลังจากเรียนจบหลักสูตรก่อน โดยข้อสอบของวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ จากนั้นจึงจะคัดเลือกให้เข้าสอบบาลีสนามหลวงต่อไป

 

พระเดชพระคุณหลวงปู่ขณะแสดงเทศนาธรรม

 

         เหตุผลที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ให้ความสำคัญกับการศึกษาพระบาลีอย่างมากนั้น อาจลึกซึ้งยิ่งกว่าที่ใคร ๆ จะคาดถึงได้ นั้นเพราะเหตุใด ? กล่าวในกรณีนี้สำหรับผู้เขียนแล้วเชื่อว่าส่วนหนึ่งอาจเกิดจากเหตุผลเดียวกันกับที่ท่านเกิดความสงสัยในคำว่า “อวิชชาปัจจยา” (ความไม่รู้นั้นเองเป็นปัจจัย: ผู้เขียน) นับตั้งแต่ครั้งยังบวชได้เพียงวันเดียว และด้วยเหตุผลนี้เองท่านจึงอาจต้องการปูพื้นฐานทางการศึกษาพระบาลีให้แก่พระภิกษุสามเณรของท่านให้มากที่สุด เข้มแข็งที่สุด เพียงพอที่สุด ก่อนที่จะถ่ายทอดความรู้อันลึกซึ้งจากธรรมปฏิบัติในวิชชาธรรมกายให้ก็เป็นได้ เช่นเดียวกับที่ตัวท่านเองได้เอาชีวิตเป็นเดิมพันในการศึกษาพระบาลีควบคู่กับการปฏิบัติภาวนามาแล้วเป็นเวลานาน ก่อนที่จะได้บรรลุธรรมในกลางพรรษาที่ ๑๒ ณ อุโบสถวัดโบสถ์บน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี โดยอย่างน้อยที่สุดพระภิกษุสามเณรผู้มีความรู้จำนวนมาก ๆ เหล่านั้นจะได้ทำหน้าที่ร่วม “เป็นทนายแก้ต่าง” ให้แก่วิชชาธรรมกาย และ “หลักฐาน” ที่ปรากฏในคำเทศน์สอนของท่านได้ถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งมาสู่อีกรุ่นหนึ่งได้อย่างสมบูรณ์

         อนึ่ง เมื่อกล่าวในส่วนของการที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ได้อาศัยการศึกษาพระบาลีเพื่อส่งเสริมความเข้าใจที่ชัดเจนในวิชชาธรรมกายนั้น ผู้เขียนเห็นว่าท่านได้ปฏิบัติเช่นนั้นมาตลอดชีวิตของท่าน ดังจะเห็นได้จากหลักฐานที่ปรากฏในบทพระธรรมเทศนาที่ท่านแสดงทุกกัณฑ์ (ที่พอจะหลงเหลือให้รวบรวมไว้ได้ประมาณ ๖๙ กัณฑ์ และคณะศิษยานุศิษย์นำมาพิมพ์เผยแพร่จนถึงยุคปัจจุบัน) ว่า ในบทเทศนาธรรม หลวงปู่ท่านจะยกคาถาบาลีขึ้นต้นเสมอ แล้วแปลและขยายความจากคาถาบาลีไปในแง่มุมของการปฏิบัติและปฏิเวธอย่างลึกซึ้ง จนถึงเรื่องของการเข้าถึงพระธรรมกายและการหลุดพ้นจากกิเลสและจากทุกข์ด้วยวิชชาธรรมกาย ซึ่งเป็นที่น่าศึกษาอย่างยิ่งว่าคำอธิบายของท่านดังกล่าวนี้ ล้วนมีลักษณะที่ละเอียดและลุ่มลึกอย่างยากที่จะพบเห็นจากเอกสารแหล่งใดได้ ดังที่ท่านอธิบายในพระธรรมเทศนาของท่านในโอกาสต่าง ๆ ว่า

         “สมฺมาสมฺพุทฺโธ...แปลตามศัพท์ว่า ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองโดยชอบ ...แต่แท้จริงคำว่า พุทฺโธ คำนี้เมื่อพิเคราะห์ให้ลึกซึ้งลงไปตามรูปศัพท์แล้วมีความหมายลึกซึ้งมาก ต่างกันไกลกับคำว่า ชานะ หรือ วิชานะ ซึ่งแปลว่ารู้แจ้งนั้น...เมื่อระลึกถึงพระบาลีในธัมมจักกัปวัตนสูตรที่ว่า 'จกฺขุํ อุทปาทิ ญาณํ อุทปาทิ ปญฺญา อุทปาทิ วิชฺชา อุทปาทิ อาโลโก อุทฺปาทิ' ทำให้แลเห็นความว่าคุณวิเศษทั้ง ๕ อย่าง ดังบาลีที่ยกขึ้นกล่าวนี้ จะเป็นความหมายแห่งคำว่าพุทฺโธ ...ซึ่งเป็นเหตุสนับสนุนว่า ที่ว่าพระพุทธเจ้าตรัสรู้นั้น ไม่ใช่รู้เฉย ๆ แต่เป็นทั้งรู้ทั้งเห็น...”

         “...วิปัสสนา คำนี้แปลตามศัพท์ว่า เห็นแจ้ง เห็นวิเศษ หรือนัยหนึ่งว่าเห็นต่าง ๆ เห็นอะไร ? เห็นนามรูป แจ้งอย่างไร ? แจ้งโดยสามัญลักษณะว่าเป็นของไม่เที่ยง เต็มไปด้วยทุกข์และเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา มีข้อสำคัญที่ว่า เห็นอย่างไร ? เป็นเรื่องแสดงยากอยู่ เห็นด้วยตาเรานี้หรือเห็นด้วยอะไร ตามนุษย์ไม่เห็น ต้องหลับตามนุษย์เสีย ส่งใจไปจดจ่ออยู่ที่ศูนย์ดวงปฐมมรรค เห็น จำ คิด รู้ มีอยู่ในดวงปฐมมรรคนั้น...”

       “ ...กายมนุษย์จะเป็นพระพุทธเจ้าไม่ได้ จะเป็นพระพุทธเจ้าได้ต้องเป็นธรรมกาย ธรรมกายเท่านั้นเป็นพระพุทธเจ้าได้ พระองค์รับสั่งด้วยพระองค์เองว่า ธมฺมกาโย อหํ อิติปิ เราตถาคตคือธรรมกาย ธรรมกายนั้นเป็นพระพุทธเจ้า เป็นพระตถาคตแท้ ๆ ไม่ใช่อื่น...อีกนัยหนึ่ง ในพระสุตตันตปิฎกแท้ ๆ วางตำราไว้ว่า เอตํ โข วาเสฏฺฐา ธมฺมกาโยติ ตถาคตสฺส อธิวจฺนํ ดูก่อน วาเสฏฐโคตรทั้งหลาย คำว่าธรรมกาย ๆ นั้น เป็นตถาคตโดยแท้ ทรงรับสั่งอย่างนี้ ธรรมกายนั้นเองคือตถาคตเจ้า ธรรมกายนั้นเองคือ พุทธรัตนะ เป็นกายที่ ๙ ของมนุษย์นี้ ... กายที่ ๙ ของมนุษย์นี้เป็นพุทธรัตนะ แล้วดวงธรรมรัตนะก็อยู่ ณ ศูนย์กลางกายของพุทธรัตนะนั้น สะดือทะลุหลัง ขวาทะลุซ้าย กลางกั๊กทีเดียว ข้างในวัดเส้นผ่าศูนย์กลางเท่าหน้าตัก..." ซึ่งเป็นที่น่าศึกษาอย่างยิ่งว่าคำอธิบายของท่านดังกล่าวนี้ล้วนมีลักษณะที่ละเอียดและลุ่มลึกอย่างยากที่จะพบเห็นจากเอกสารแหล่งใดได้ ดังที่ท่านอธิบายในพระธรรมเทศนาของท่านในโอกาสต่าง ๆ ว่าธรรมกายกลมรอบตัว ใสเกินกว่าใส ใสเป็นแก้วจึงได้ชื่อว่าธรรมรัตนะ ธรรมเป็นแก้วดวงนั้นคือธรรมรัตนะ ธรรมกายละเอียดอยู่ในกลางดวงธรรมรัตนะนั้น เหมือนพุทธรัตนะแบบเดียวกัน

        หากกล่าวโดยสังเขปในที่นี้ก็คือ พระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ท่านได้อาศัยการศึกษาพระบาลีเป็นเครื่องยืนยันความมีอยู่ของธรรมกายและวิชชาธรรมกายตลอดมา ทั้งยังได้พยายามที่จะสนับสนุนส่งเสริมให้มีการศึกษาพระบาลีให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อคุณประโยชน์หลายประการ เช่น ๑) เมื่อการศึกษาพระบาลีในวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ก้าวหน้าขึ้นก็ย่อมจะทำให้มีพระภิกษุสามเณรเข้ามาศึกษาทั้งภาคปริยัติและปฏิบัติมากขึ้น ๒) เป็นการสร้างศาสนทายาทที่มีความรู้สมบูรณ์เหมาะแก่การเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกายมากขึ้น เป็นแบบแผนมากขึ้น ๓) เป็นเครื่องยืนยันถึงความถูกต้องในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย ในวงกว้าง ๔) เป็นฐานขององค์ความรู้ที่พร้อมสำหรับการศึกษาค้นคว้าที่ถูกต้องของพระพุทธศาสนาภาคปฏิบัติสำหรับชนรุ่นหลัง

        สำหรับผู้เขียนแล้ว เมื่ออธิบายมาถึง ณ จุดนี้ สิ่งที่ผู้เขียนได้กระทำไปพร้อม ๆ กันก็คือ การพยายามไตร่ตรองต่อไปว่าในปัจจุบันนี้ ปฏิปทาของมหาปูชนียาจารย์ โดยเฉพาะในเรื่องของการศึกษาพระบาลีนั้นยังคงได้รับการสานต่อและมีการเชื่อมโยงต่อไปในอนาคตอย่างไรหรือไม่ ซึ่งนับเป็นความโชคดีอย่างยิ่งที่ในปัจจุบันวัดพระธรรมกายรวมทั้งศูนย์สาขาทั่วโลกก็ยังมีการสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมและการศึกษาพระบาลีอยู่อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนส่งเสริมการศึกษาด้านอื่น ๆ เช่น ภาษาสันสกฤต ภาษาโบราณต่าง ๆ หรือในสาขาที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนาอย่างไม่ขาดสาย

 

นำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อ “Buddhist meditative techniques in Dunhuang manuscript S.2585”
ณ สถาบันวิจัยนีดแฮม (Needham Research Institute) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์

สถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) และ มูลนิธิ ๖๐ ปีธรรมชัยเพื่อการศึกษา (DEF)
ให้การสนับสนุนการสัมมนาในครั้งนี้

 

        สำหรับสถาบันวิจัยนานาชาติธรรมชัย (DIRI) ในรอบหลายปีที่ผ่านมานั้น ได้สนับสนุนการศึกษาพระพุทธศาสนาชั้นสูง ทั้งพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา กระทั่งสามารถเข้าไปศึกษาวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา วิชชาธรรมกาย มาโดยตลอด เช่น งานวิจัยเรื่อง “สมาธิกับศูนย์กลางกายในพระพุทธศาสนาจีนยุคราชวงศ์ตงฮั่นถึงราชวงศ์ตงจิ้น”, งานวิจัยเทคนิค การทำสมาธิในจีนยุคต้นที่ปรากฏในคัมภีร์จากตุนหวง (Dunhuang Manuscripts) ซึ่งดำเนินการวิจัยโดยพระเกียรติศักดิ์  กิตฺติปญฺโญ นั้น ได้รับความสนใจจากนักวิชาการจากตะวันตก โดยเมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๖๒ ที่ผ่านมา ท่านได้รับเชิญจากสถาบันวิจัยนีดแฮม (Needham Research Institute) แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ให้นำเสนอผลงานวิจัยในหัวข้อ “Buddhist Meditative Techniques In Dunhuang Manuscript S.2585” โดยมีเนื้อหากล่าวถึงวิธีการปฏิบัติพุทธานุสติสมาธิแบบโบราณ ที่สอนให้ผู้ปฏิบัติรวมใจนิ่ง ๆ ไว้กลางนาภี เมื่อใจหยุดนิ่งสนิทปราศจากนิวรณ์ จะเกิดประสบการณ์เห็นองค์พระพุทธเจ้าผุดซ้อนจากภายในกายเองโดยมิได้นึกนิมิตใด ๆ วิธีนี้ยังสามารถส่งผลให้ผู้ปฏิบัติบรรลุเป็นพระอริยบุคคลได้ ซึ่งสมาธิแบบนี้เคยแพร่หลายในเอเชียกลางมาก่อนหน้านั้นและนำเข้ามาสู่จีนยุคตงจิ้น ตัวคัมภีร์ยังสืบทอดและเก็บซ่อนไว้ในถ้ำโม่วกาวแห่งตุนหวงมาหลายร้อยปี กระทั่งเพิ่งมีการค้นพบคัมภีร์ที่ถ้ำนี้เมื่อราวร้อยปีที่ผ่านมา และปัจจุบันคัมภีร์ถูกเก็บรักษาอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติอังกฤษ

 

พระวีรชัย เตชํกุโร ซึ่งกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก อยู่ ณ มหาวิทยาลัยออสโลว์ ประเทศนอร์เวย์

 

    ในขณะที่บุคลากรอีกท่านหนึ่งคือ พระวีรชัย เตชํกุโร ซึ่งกำลังศึกษาในระดับปริญญาเอก อยู่ ณ มหาวิทยาลัยออสโล ประเทศนอร์เวย์ โดยศึกษาวิจัยการชำระคัมภีร์กิลกิต (Gilgit Manuscript) ที่มีอายุกว่า ๑,๒๐๐-๑,๓๐๐ ปี ก็ใกล้จะสำเร็จการศึกษาภายในปลายปีนี้ (พุทธศักราช ๒๕๖๒) แล้วเช่นกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เท่ากับเป็นเครื่องยืนยันว่าการส่งเสริมการศึกษาพระบาลีและการศึกษาชั้นสูงต่าง ๆ นั้นจะเป็นมรดกธรรมที่สามารถจะนำให้เรายิ่งเข้าถึงความรู้ภายในที่ลึกซึ้งมากขึ้นในอนาคต ดุจเดียวกับที่มหาปูชนียาจารย์ได้สร้างเป็นรอยทางไว้ให้เรา...

ขอเจริญพร

 

 


1 สิงหล, บุคคลยุคต้นวิชชา ๓, กรุงเทพฯ: สุขุมวิทการพิมพ์, ๒๕๔๖, หน้า ๓๒-๓๓.
2 สิงหล, บุคคลยุคต้นวิชชา ๓, กรุงเทพฯ: สุขุมวิทการพิมพ์, ๒๕๔๖, หน้า ๓๔.
3 เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๑.
4 เกี่ยวกับเรื่องของการส่งเสริมการศึกษานั้น ได้ปรากฏว่าแท้จริงแล้วพระเดชพระคุณหลวงปู่ พระผู้ปราบมาร ไม่เพียงให้การสนับสนุนการศึกษาพระภิกษุสามเณรแต่เพียงอย่างเดียว แต่ท่านยังสนับสนุนการศึกษาแก่เด็ก ๆ ชาวบ้านที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงด้วย โดยได้จัดตั้ง “โรงเรียนราษฎร์สำหรับเด็กชาวบ้าน” ขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ขาดการอบรม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทั้งทางภาคราชการและชุมชนเป็นอย่างดี จนกระทั่งเมื่อทางราชการได้จัดตั้งโรงเรียนขึ้นตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. ๒๔๖๔ (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๔๖๔) ท่านจึงได้ยกเลิกไป หันมาทุ่มเทเรื่องการจัดการศึกษาพระปริยัติธรรมเพียงอย่างเดียว
5 เรื่องเดียวกัน, หน้า ๔๘.
6 ความตอนหนึ่งในบทพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒ เรื่อง “ พุทธคุณ ธรรมคุณ สังฆคุณ”, หน้า ๑๘.
7 เรื่องเดียวกัน, หน้า ๒๓.
8 ความตอนหนึ่งในบทพระธรรมเทศนากัณฑ์ที่ ๒๙ เรื่อง “ภัตตานุโมทนากถา” วันที่ ๙ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๗

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๒๐๔ เดือนธันวาคม พ.ศ.๒๕๖๒

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล