ทบทวนบุญ
เรื่อง : พระมหาศุภณัฐ จนฺทชโย ป.ธ. ๙
ปลื้มบุญธรรมยาตรา
พุทธศักราช ๒๕๖๓
“จิตใจตั้งมั่นในมนุษยธรรม ไม่มีการกระทำที่เลวร้าย” มาจากภาษาจีนที่ว่า “苟志於仁矣,無惡也” (โก่วจื้อยวู๋เหรินอี่, อู๋เอ้อเย่) เป็นอมตวาทะของปราชญ์เมธี นามว่า 孔子 (ขงจื่อ) ที่มีชีวิตโลดแล่นอยู่ในยุคชุนชิว (春秋時代) เมื่อกว่า ๒,๐๐๐ ปีที่ผ่านมา โดยเป็นประโยคที่ตอบโจทย์ของชีวิตว่า หากภายในโลกแห่งใจของผู้ใดเต็มไปด้วยความสงบระงับและคุณธรรมความดี หรือที่พุทธศาสนิกชนเรียกว่า “บุญกุศล” แล้วไซร้ เขาผู้นั้นย่อมไม่มีการกระทำอันตรงกันข้ามจากบุญกุศลเลย ซึ่งในทัศนะทางพระพุทธศาสนานั้น อุดมการณ์หรือเป้าหมายสูงสุด คือ พระนิพพาน จะประสบความสำเร็จได้ ล้วนจำต้องอาศัย “บุญ” เป็นสำคัญ ดังเรื่องราวของผู้มีบุญทั้งหลายที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเป็นอันมาก ซึ่งได้เป็นแบบอย่างและแบบแผนอันดีแก่พุทธศาสนิกชนในภายหลัง ให้ได้ประพฤติและปฏิบัติตามตลอด ๒,๖๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้ ระหว่างวันที่ ๒-๓๑ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๓ ตลอดทั้งเดือนที่ผ่านมา องค์กรทางพระพุทธศาสนา องค์การพุทธโลก (พล.) เครือข่ายคณะศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกายทั่วโลก และภาคเครือข่ายอีก ๒๐ องค์กร จึงได้ร่วมกันจัดกิจกรรมงานบุญธรรมยาตราขึ้น โดยใช้ชื่อว่า “โครงการธรรมยาตรา เส้นทางพระผู้ปราบมาร ปีที่ ๘ รักษ์บวร รักษ์ศีล ๕” ซึ่งจัดขึ้นในบริเวณเขตพื้นที่ ๖ จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร โดยเส้นทางพระผู้ปราบมารนี้มีความเกี่ยวเนื่องอย่างแนบแน่นกับอัตชีวประวัติและการสร้างบารมีของ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) พระผู้ปราบมาร ซึ่งตลอดเส้นทางธรรมยาตราล้วนอบอวลไปด้วยบรรยากาศกลิ่นอายของดอกเบญจทรัพย์และทรัพย์บานชื่น ที่พวกเราได้คัดสรรนำเมล็ดพันธุ์ดีมาปลูก ดูแลรดน้ำพรวนดิน และเก็บเกี่ยวดอกที่สวยงามมาปลิดกลีบ จนกระทั่งได้มาร่วมด้วยช่วยกันโปรยต้อนรับพระภิกษุธรรมยาตราผู้ฝึกตนทั้ง ๑,๑๓๖ รูป
นอกจากนี้ ในระหว่างกิจกรรมงานบุญตลอดเส้นทางพระผู้ปราบมารทั้ง ๗ แห่ง ซึ่งมีสถานที่เกิดด้วยรูปกายเนื้อ โลตัสแลนด์ เป็นต้น นั้น นอกจากมีกิจกรรมโปรยดอกเบญจทรัพย์และทรัพย์บานชื่นแล้ว ยังมีกิจกรรมงานบุญอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น พิธีถวายสังฆทาน พิธีตักบาตร พิธีจุดประทีปบูชาธรรม พิธีลอยกระทงธรรม เป็นต้น ซึ่งทุกหยาดเหงื่อที่พวกเราลงแรงไปร่วมกิจกรรมล้วนจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานบุญ ที่จะอำนวยอวยผลให้พวกเราประสบพบเจอแต่สิ่งที่ดีสมความปรารถนา ซึ่งบุญนี้แหละจะเป็นเครื่องขจัดมลทินที่หมักหมมในจิตใจของเราให้เจือจางมลายหายไปได้ อีกทั้งเราจะได้ชื่อว่าดำเนินรอยตามโบราณบัณฑิตทั้งหลายที่หมั่นขจัดกิเลสตนอยู่เนือง ๆ สมดังพุทธศาสนสุภาษิตที่มาในขุททกนิกาย ธรรมบท ว่า
ผู้มีปัญญา พึงกำจัดมลทินของตน
ทีละน้อย ทุกขณะ โดยลำดับ
เหมือนช่างทองกำจัดสนิมทอง ฉะนั้น
(ขุ.ธ. (ไทย) ๒๕/ ๒๓๙/ ๑๐๖)
ในวาระอวสานกาลสมัยนี้ ผู้เขียนและทีมงานทุกท่านขอตั้งจิตอนุโมทนาบุญกับทุกท่าน ทุกองค์กร และเครือข่ายทั้งหลาย ที่ได้มาร่วมมือประสานใจกัน เพื่อให้งานของพระพุทธศาสนาสำเร็จลุล่วงและโชติช่วงขึ้นมาอีกครั้ง ประดุจแสงตะวันยามสนธยารำไรใกล้ลาลับ กลับกระจ่างแจ้งขึ้นมาและจะคงอยู่นิจนิรันดร์ จึงขออนุโมทนาบุญกับทุก ๆ ท่านมา ณ โอกาสนี้