อานิสงส์บุญ
เรื่อง : ณัชชี่
อานิสงส์การทำบุญบำรุงวัด
การทำบุญปฏิสังขรณ์บำรุงวัด
ทำให้มีพร้อมในทุกสิ่ง
แม้จะต้องไปอยู่ในป่าที่ลำบากกันดารก็ตาม
เรียบเรียงจาก :
๑. อรรถกถา ขุททกนิกาย เถรคาถา ติกนิบาต พากุลเถรคาถา อรรถกถาพากุลเถรคาถา
๒. อรรถกถา มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ สุญญตวรรค พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร อรรถกถาพักกุลสูตร
๓. อรรถกถา อังคุตตรนิกาย เอกนิบาต เอตทัคคบาลี วรรคที่ ๔ อรรถกถาสูตรที่ ๔
๔. พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๔ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ ข้อ ๓๘๐-๓๘๗ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พักกุลัตเถรัจฉริยัพภูตสูตร
หากใครได้ศึกษาประวัติพระพากุลเถระ จะพบว่า..นอกจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะทรงตั้งให้พระพากุลเถระ..เป็นเลิศทางด้านมีอาพาธน้อยแล้ว ยังพบว่า..ด้วยผลบุญที่ท่านทำมาในอดีตส่งผลให้ท่านรวยมหาศาลและมีพร้อมในทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ท่านออกบวชแล้วต้องไปอยู่ในป่า ถือธุดงค์ข้อ “อรัญญิกธุดงค์” คือการอยู่ป่าเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ตลอดชีวิต
ซึ่งถ้าเป็นผู้อื่นจะต้องพบกับความยากลำบากมากในเรื่องภัตตาหาร เรื่องจีวร ทำให้ดำรงอยู่ในสภาพที่กันดารได้ยากยิ่ง แต่ด้วยบุญที่พระพากุลเถระสร้างไว้ในอดีต แม้จะต้องไปอยู่ในป่า ซึ่งเป็นสถานที่ที่แทบไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ เลย แต่ท่านกลับมีภัตตาหารที่อุดมสมบูรณ์ขบฉัน มีจีวรอันประณีตใช้สอยอย่างเหลือเฟือ และไม่เคยขาดตกบกพร่องในเรื่องปัจจัย ๔ เลย
รู้ไหม..ท่านทำบุญอะไรมา ???
หลายคนอาจตอบว่า เป็นเพราะท่านได้ถวายยารักษาโรคแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุอาพาธมาหลายชาติ แต่ก็มีน้อยคนนักที่รู้ว่า..ท่านได้ทำบุญที่สำคัญมาก ๆ อีกบุญหนึ่งไว้ในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า แล้ว บุญนี้เองก็มีส่วนส่งผลทำให้ท่านร่ำรวยและมีชีวิตที่สมบูรณ์พร้อมในทุกสิ่ง ซึ่งบุญนั้นก็คือ “บุญปฏิสังขรณ์บำรุงวัดตลอดชีวิต”
ในอดีตชาติ พระพากุลเถระเคยสร้างบุญใหญ่ โดยการปฏิสังขรณ์บำรุงวัดในสมัยพระกัสสปพุทธเจ้า
ในยุคของพระกัสสปพุทธเจ้า พระพากุลเถระได้เกิดเป็นฆราวาสผู้ครองเรือน อาศัยอยู่ในกรุงพาราณสี และแล้ววันหนึ่งท่านพิจารณาดูบ้านที่ตัวเองอาศัยอยู่ ก็รู้สึกว่าเก่า ทรุดโทรม จึงออกเดินทางไปยังชายแดนกับพวกช่างไม้ เพื่อจัดหาวัสดุอุปกรณ์มาซ่อมแซมบ้านของตน แต่ระหว่างเดินทางก็ได้พบวัดใหญ่ซึ่งเก่าคร่ำคร่าปรักหักพัง เพราะขาดการบำรุงรักษา ท่านจึงบอกกับพวกช่างไม้ทั้งหมดว่า ขอชะลอการซ่อมแซมบ้านของท่านไว้ก่อน โดยให้เอาวัสดุอุปกรณ์ทั้งหมดมาซ่อมแซมวัดและสร้างโรงอุโบสถ สร้างโรงฉัน โรงไฟ (ที่จงกรม) เรือนไฟ กัปปิยกุฏิ (เรือนพยาบาล) ที่พักกลางคืน ที่พักกลางวัน วัจจกุฏิ (ส้วม) และที่สำคัญ ยังจัดตั้งยาใช้และยาฉันสำหรับภิกษุสงฆ์ไว้ครบถ้วนทุกอย่าง
ด้วยอานิสงส์ผลบุญตรงนี้เอง หลังจากละโลกแล้ว ท่านได้เวียนว่ายอยู่ใน ๒ ภพภูมิ คือ เทวโลกและมนุษย์โลกตลอดระยะเวลาหนึ่งพุทธันดร
และในชาติสุดท้ายที่ท่านบรรลุเป็นพระอรหันต์ ด้วยบุญนี้มีส่วนส่งผลให้พระพากุลเถระมีภัตตาหารอุดมสมบูรณ์ เลิศรส แม้จะอยู่ในป่าและไม่ได้รับกิจนิมนต์
พระพากุลเถระถือธุดงค์อยู่ป่าเป็นวัตร ท่านจึงไม่รับกิจนิมนต์ไปฉันในบ้านใครเลยตลอดชีวิต แม้เป็นอย่างนี้ ท่านก็ไม่ลำบากด้วยข้าวปลาอาหารใด ๆ เลย ตรงกันข้าม ด้วยบุญในตัวท่านกลับทำให้ท่านได้ภัตตาหารอันประณีต เลิศรส โดยไม่ต้องเสียเวลารับกิจนิมนต์แล้วดึงเวลาปฏิบัติธรรมของท่านไป เพราะชาวเมืองและคนในตระกูล ๒ นคร ของท่านได้เตรียมอาหารเลิศรสแล้วพากันมาใส่บาตรท่านอย่างเนืองนิตย์ มิได้ขาดเลย จึงส่งผลให้พระพากุลเถระสามารถถือธุดงค์ข้อ “อรัญญิกธุดงค์” คือการอยู่ป่าเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ได้ตลอดชีวิต
และที่สำคัญ บุญปฏิสังขรณ์บำรุงวัดยังมีส่วนส่งผลให้ท่านมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยปัจจัย ๔ โดยไม่ขัดสนขาดแคลนเลย คือ เป็นผู้มีจีวรใช้สอยเหลือเฟือ ทั้ง ๆ ที่ในสมัยนั้น พระภิกษุต่างลำบากมากในเรื่องการหาจีวรมาใช้สอย เพราะต้องบังสุกุลผ้ามาช่วยกันตัด เย็บ ย้อม และกว่าจะได้แต่ละผืนต้องเสียเวลาและเสียกำลังคนไปมาก แต่ด้วยบุญที่พระพากุลเถระสั่งสมมา ทำให้ท่านไม่ต้องเสียเวลาไปหา ไปตัด ไปเย็บ ไปย้อมจีวรใด ๆ เลย ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ท่านมีเวลานั่งสมาธิเจริญสมาบัติมากกว่าภิกษุทั่วไป
การที่ท่านมีจีวรใช้อย่างเหลือเฟือ เพราะบุญที่ท่านสั่งสมมา บันดาลให้ท่านไปเกิดในตระกูลเศรษฐีมหาศาล และมีพ่อแม่ที่มียศใหญ่ถึง ๒ ตระกูล ซึ่งต่างมีหน้าที่ทำจีวรส่งไปถวายให้ท่านใช้สอย โดยครึ่งเดือนแรก ตระกูลของท่านที่อยู่เมืองโกสัมพีจะส่งไปถวายผืนหนึ่ง พอเวลาผ่านไปอีกครึ่งเดือน คนในตระกูลที่อยู่เมืองพาราณสีก็จะทำจีวรอีกผืนหนึ่งไปถวาย สลับกันไปถวายทุกครึ่งเดือนไม่ขาดเลย
อีกทั้งจีวรของท่านยังเป็นจีวรที่ประณีต จัดทำด้วยผ้าเนื้อละเอียดชั้นดี ซึ่งเอามาย้อมแล้วใส่ในผอบส่งไปถวาย โดยจะวางไว้ให้ที่ประตูห้องน้ำ ในเวลาที่พระเถระสรงน้ำเสร็จก็จะนุ่งห่มจีวรที่วางไว้ แล้วท่านก็บริจาคจีวรเก่าให้บรรพชิตทั้งหลายไป