วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ โอวาทปาฏิโมกข์ เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา
พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ
(หลวงพ่อทัตตชีโว)

วันอาทิตย์ที่ ๒๑ เดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๕

 

 

                        วันนี้ หลวงพ่อตั้งใจที่จะมาเทศน์เรื่องโอวาทปาฏิโมกข์ให้กับพวกเรา ซึ่งโอวาทนี้เป็นเรื่องใหญ่ว่าด้วยหลักการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงพระธรรมเทศนาให้กับกัลยาณมิตรรุ่นแรกของโลก ก่อนที่จะออกไปประกาศธรรมเมื่อวันมาฆบูชาครั้งแรกนั่นเอง

                        โอวาทปาฏิโมกข์นี้เป็นโอวาทที่แปลก คือโอวาทต่างๆ นั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสให้กับผู้ที่ยังไม่หมดกิเลสฟัง เพื่อจะได้ปรับปรุงตัวเองให้ดีจะได้หมดกิเลสเป็นพระอรหันต์ แต่โอวาทปาฏิโมกข์นี้ เป็นบทเทศน์ที่พระองค์ตรัสให้กับพระอรหันต์ผู้หมดกิเลสแล้วจำนวน ๑,๒๕๐ รูปฟัง ซึ่งต้องวางหลักการต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อพระอรหันต์ทั้ง ๑,๒๕๐ รูปนั้น จะได้ไปทำหน้าที่เป็นกัลยาณมิตร ปลุกสัตวโลกให้พลิกฟื้นตื่นจากกิเลส และประกาศพระศาสนาอย่าง เป็นระเบียบแบบแผน เป็นปึกแผ่นเหมือนๆ กัน


โครงสร้างคำสอนในพระพุทธศาสนา

                        ก่อนจะเข้าสู่เนื้อเรื่อง หลวงพ่อขอนำโครงสร้างคำสอนในพระพุทธศาสนา ซึ่งเอามาจากโอวาทปาฏิโมกข์มาให้พวกเราได้เห็นภาพกันก่อน ให้พวกเรานึกถึงภาพปิระมิด บนยอดปิระมิดมีธงติดไว้ เขียนว่าจะไปนิพพานด้วยความอดทนและไม่เบียดเบียนฆ่าใคร และที่ยอดยังแบ่งเป็นก้อนหิน ๓ ก้อน ถ้าจะไปนิพพานต้อง ละชั่ว ทำดี ทำใจให้ใส และขยายความต่อว่า

                        ละชั่ว หรือการไม่ทำบาปทั้งปวง ต้องมีเจรจาชอบ ทำการงานชอบ และประกอบอาชีพชอบ ได้แก่ การรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ข้อ ซึ่งขยายออกเป็นพระวินัย อยู่ในพระวินัยปิฎก ๒๑,๐๐๐ ข้อ

                        ทำดี ต้องมีความเพียรชอบ ความระลึกชอบ และความตั้งใจมั่นชอบ ซึ่งขยาย ออกเป็นความดีทุกรูปแบบ ขยายเป็นการทำความดีในพระสุตตันตปิฎกหรือพระสูตร ๒๑,๐๐๐ ข้อ

                        ทำใจให้ผ่องใส ต้องมีความเห็นชอบหรือความเข้าใจถูกเรื่องโลกและชีวิตตรงตามความเป็นจริง มีความดำริชอบหรือมีความคิดถูกเรื่องการออกจากกาม คิดออกจากพยาบาท และคิดออกจากความเบียดเบียน ซึ่งขยายออกเป็น พระอภิธรรมปิฎก อีก ๔๒,๐๐๐ ข้อ

                        รวมคำสอนในพระพุทธศาสนา จากพระวินัย ๒๑,๐๐๐ ข้อ พระสูตร ๒๑,๐๐๐ ข้อ และพระอภิธรรม ๔๒,๐๐๐ ข้อ เป็น ๘๔,๐๐๐ ข้อ ดูโครงสร้างได้จากภาพ ดังนี้

 

 
 

โอวาทปาฏิโมกข์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้แบ่งออกเป็น ๓ ตอน ดังนี้
ตอนที่ ๑ อุดมการณ์ของชาวพุทธ


                        อุดมการณ์ข้อที่ ๑ ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา ความอดทน คือความทนทานเป็นตบะอย่างยิ่ง

                        คนเราเมื่อเกิดมาแล้วต้องอดทน ถ้าไม่ทนถึงจะมีสติปัญญาฉลาดเฉียบแหลมแค่ไหนก็ใช้ไม่ได้ ใครที่เป็นหัวหน้าคนจะซาบซึ้งเรื่องความอดทนได้ดีว่า ถ้าลูกน้องของเราคนไหนไม่อดทน ก็ไม่อยากได้เข้ามาร่วมงานเลย

เรื่องที่ต้องอดทนมีอะไรบ้าง?

                        ๑.ทนต่อความลำบากตรากตรำ เพราะคนเรามีโรคติดตัวมาทุกคน คือ โรคหิว เมื่อยังเล็กเวลาหิวนม แม่ยังป้อนนมให้เราได้ แต่พอโตแล้วก็ต้องหากินเอง ถ้าไม่อดทนจะทำมาหากินได้อย่างไร เพราะฉะนั้น เราจึงต้องมีความอดทนต่อสภาพดินฟ้าอากาศ แดด ลม ฝน ร้อน หนาว เย็น

                        ๒.อดทนต่อทุกขเวทนา อันเกิดจากการเจ็บไข้ได้ป่วย ยิ่งใครอายุเกินเลขห้าไปแล้วจะลุกนั่งก็โอย หายามากินแล้วก็ยังไม่หาย ได้แต่ประคอง ในระหว่างการรักษาก็ต้องทนกันไป

                        ๓.อดทนต่อความกระทบกระทั่ง เพราะเราเป็นสัตว์เมืองอยู่กันเป็นหมู่เหล่า จึงอดที่จะกระทบกระทั่งกันไม่ได้ คนนี้จะเอาอย่างโน้นอย่างนี้ ไม่ได้มีถูกใจกันง่ายๆ ถ้าเราไม่อดทนต่อการกระทบกระทั่งแล้วเราจะอยู่กับคนได้อย่างไร และเมื่อเราเจอการกระทบกระทั่ง ถูกเขาใส่ความ ให้จำหลักนี้ไว้ คือไม่สู้ ไม่หนี แต่ให้ทำดีเรื่อยไป

                        ๔.อดทนต่ออำนาจกิเลส ตั้งแต่คำสรรเสริญเยินยอ ความเห่อเหิมทะเยอทะยานต่างๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะพลาดต่อความสรรเสริญเหล่านี้ เขาด่าแล้วไม่โกรธ ยังถือว่าพอไปได้ แต่คนชมแล้วไม่ยิ้ม หายาก นั่นเตรียมตัวพลาดต่ออำนาจกิเลสแล้ว

                        อุดมการณ์ข้อที่ ๒ นิพพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา ท่านผู้รู้ทั้งหลายย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม
เท่ากับพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบอกว่า นิพพานมีจริง ขอให้อดทนปฏิบัติธรรมปราบกิเลสให้หมดจริง แล้วจะได้ไปนิพพานเหมือน กับพระองค์

                        อุดมการณ์ข้อที่ ๓ นหิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํวิเหฐยนฺโต บรรพชิตผู้ฆ่าสัตว์อื่น ไม่ชื่อว่าสมณะเลย

                        คำว่า "บรรพชิต" แปลว่า นักบวช ในยุคก่อนพุทธกาลนั้น มีนักบวชประเภทบรรพชิตนี้อยู่หลายพวก เมื่อพระพุทธศาสนาเกิดขึ้น ชาวโลกเขาก็ถือเอาว่าพระภิกษุเป็นบรรพชิตหรือนักบวชประเภทหนึ่ง แต่บรรพชิตบางพวกนอกจากไม่ปฏิบัติธรรมกันแล้ว ยังมีความเห็นผิด ฆ่าสัตว์บูชายัญกันมากมาย เพราะคิดว่าการฆ่าสัตว์บูชายัญทำให้ไปนิพพานได้

                        พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงสั่งพระอรหันต์ไปบอกชาวโลกว่า การฆ่าสัตว์บูชา ยัญนั้น ไม่มีทางไปพระนิพพานได้ วิธีการนี้เท่ากับเป็นการล้มล้างลัทธิฆ่าสัตว์บูชายัญนั่นเอง

                        ทั้งหมดนี้ เราเรียกกันว่าอุดมการณ์ของชาวพุทธ พูดภาษาชาวบ้านว่า ๓ ข้อนี้ คือเป้าหมายสูงสุดของชาวพุทธในการดำเนินชีวิต โดยมีเป้าหมายว่า เราจะอดทนให้ได้ถึงที่สุด เพื่อจะได้ไปพระนิพพาน แล้วเรื่องแก่งแย่งชิงดีกันเราจะไม่ทำเด็ดขาด นี่คืออุดมการณ์

ตอนที่ ๒ หลักการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง
หลักการข้อที่ ๑ สพฺพ ปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำบาปทั้งปวง

                        คนเราจะทำดีทำชั่วก็ด้วยหนทาง ๓ ทาง คือ กาย วาจา ใจ ถ้าไม่ควบคุมหนทางทั้ง ๓ ไว้ให้ดี เดี๋ยวก็ก่อเหตุทำความชั่วขึ้นจนได้ เพราะฉะนั้น การไม่ทำบาปทั้งปวง ตั้งแต่คิดชั่ว พูดชั่ว ทำชั่ว พระพุทธองค์ตรัสให้เลิกเสียให้หมด

หลักการข้อที่ ๒ กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญกุศลให้ถึงพร้อม
                        ในการทำความดีนั้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า ให้ทำความดีให้ถึงพร้อมทั้ง ๓ ทาง คือกาย วาจา ใจ เช่น จะทำทานทางกาย มีข้าวของอะไรก็แบ่งปันกัน ทำทานทางวาจา มีความรู้อะไรก็มาเล่ากันฟัง ทำทานทางใจก็นั่งสมาธิแผ่เมตตาทำใจให้ผ่องใส เป็นต้น

หลักการข้อที่ ๓ สจิตฺต ปริโยทปนํ การกลั่นจิตทำจิตของตนให้ผ่องแผ้ว
                        การทำความดีด้วยการทำใจให้ผ่องใสโดยการนั่งสมาธิ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ซึ่งในส่วนนี้ถือว่าเป็นหลักการโดยมีหลักพิจารณาดังนี้ คือทำอะไรแล้วเดือดร้อนใจภายหลังอย่าทำ อะไรที่ทำแล้วได้บุญกุศลเพิ่มเรื่อยๆ จงทำเถิด

ตอนที่ ๓ วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
วิธีการที่ ๑ อนูปวาโท ไม่ว่าร้ายใคร

                        จากเป้าหมายในการดำเนินชีวิตที่จะต้องอดทนเพื่อจะไปนิพพาน วิธีการขั้นต้นที่เราจะต้องทำคือระวังปากให้ดี เพราะคำพูด พูดมากก็มากเรื่อง พูดน้อยก็น้อยเรื่อง แต่ถ้าไม่พูดก็ไม่รู้เรื่อง ในการทำหน้าที่กัลยาณมิตรเผยแผ่พระพุทธศาสนา ข้อแรกต้องไม่ว่าร้าย ไม่โจมตีใคร อย่าไปว่าศาสนาอื่นไม่ดี แต่ให้บอกว่าพุทธศาสนาดีอย่างไร

วิธีการที่ ๒ อนูปฆาโต ไม่ทำร้ายใคร
                        การเผยแผ่ศาสนาต้องระวังมือ ระวังเท้า อย่าทำร้ายหรือฆ่าใคร อย่าไปบังคับใครเขาด้วยกำลังให้เขาเชื่อ แต่ให้ค่อยพูดค่อยจา อ้างเหตุผลทีละเล็กทีละน้อยจนกระทั่งเขาคล้อยตาม

วิธีการที่ ๓ ปาฏิโมกฺเข จ สํวโร มีความสำรวมในศีลและมารยาทให้ดี
                        ต้องระวังรักษาศีล ทั้งศีล ๕ ศีล ๘ รวมทั้งรักษามารยาทตั้งแต่การยืน เดิน นั่ง นอนให้ดี หลาย ๆ คนศีลไม่บกพร่องแต่ไม่น่าเข้าใกล้ เพราะมารยาทดีไม่พอ

วิธีการที่ ๔ มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ รู้จักประมาณในการกิน
                        นักเผยแผ่ศาสนา ถ้าเห็นแก่กินอย่างเดียว จะประกาศศาสนาไม่ได้ ต้องระวังท้องให้ดี ข้าวปลาอาหารการกินดูให้ดี กินมากไปน้อยไปก็ไม่ดี ไม่รู้จักกิน กินล้างกินผลาญก็ไม่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งมารยาทในการกินอาหารต้องไปฝึก บางคนถึงเวลาทำงาน เราอยากจะได้เขามาช่วยงาน แต่ถึงเวลากินเราไม่อยากไปกินกับเขา เพราะกินมูมมาม ก็ต้องฝึกกัน

วิธีการที่ ๕ ปนฺตญฺจ สยนาสนํ นั่งนอนในที่สงบ
                        นักเผยแผ่ศาสนาถ้าอยู่ในที่โอ่อ่าฟุ้งเฟ้อ เขาไม่เชื่อถือหรอก นักปฏิบัติธรรมต้องอยู่ในที่สงบ การเลือกอยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงบ มีผลทำให้สมาธิก้าวหน้า มีเวลาให้เห็นข้อบกพร่องของตัวเอง แล้วความสงบของสถานที่ จะทำให้เกิดความน่าเลื่อมใสตามมา

วิธีการข้อที่ ๖ อธิจิตฺเต จ อาโยโค ประกอบความเพียรในอธิจิต
                        นักเผยแผ่ศาสนาต้องฝึกสมาธิให้มาก เพราะว่าเราจะต้องเป็นกัลยาณมิตรให้กับตัวเอง ซึ่งเป็นเรื่องหนักอยู่แล้ว ยังต้องไปเป็นกัลยาณมิตรให้กับคนอื่นด้วย ซึ่งหนักขึ้นอีกตั้งหลายเท่า ถ้าฝึกสมาธิน้อย จะรับอารมณ์ใครไม่ไหว

                        ทั้งหมดนี้คือโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงให้ไว้

                        ตอนนี้ใกล้จะถึงวันมาฆบูชาแล้ว วันนั้น จะมีพระภิกษุสามเณรจำนวนมากมาที่วัดของเรา ผลจากการที่เราได้เชิญพระท่านมาร่วมงานใหญ่ๆ ของเรามา ๔-๕ ปีที่ผ่านมานั้น ท่านได้มาเห็นภาพการจัดงาน เกิดแรงบันดาลใจที่จะไปจัดงานในวัดของท่าน ตามจังหวัดต่างๆ ซึ่งแต่ก่อนปล่อยให้พิธีมาฆบูชาซบเซามาหลายปี ต่อมามีความพยายามจัดกันเกือบทุกจังหวัด สิ่งที่เราปรับปรุงทำให้ท่านนำกลับไปทำที่วัดของท่าน นับว่าเป็นบุญของพวกเราที่ได้เป็นต้นบุญ ทำให้เกิดความเคลื่อนไหวในทางที่ดีงาม เป็นการพัฒนากิจกรรมทางพระศาสนาให้ก้าวหน้าขึ้น เพราะฉะนั้น เมื่อพระภิกษุจำนวนมากมากันแล้ว ก็ขอให้พวกเราได้เต็มใจช่วยกันต้อนรับให้เต็มที่ ท่านจะได้ประทับใจที่ได้มาร่วมงาน

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล