วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วิธีคิดของผู้มีบารมีแก่กล้าเช่นคุณยายอาจารย์ โดย : พระครูปลัดภูเบศ ฌานาภิญโญ

          การที่จะบรรยายคุณธรรมของคุณยายอาจารย์ต่อนี้ไป ต้องการที่จะชี้ให้พวกเราได้เห็นว่าบุคคลผู้มีบารมีแก่กล้า ความคิด คำพูด การกระทำย่อมไม่ธรรมดา การที่เราได้ชี้ให้เห็นว่าผู้มีบารมีแก่กล้าคิดอย่างไร พูดอย่างไร ทำอย่างไร ก็อยากจะให้พวกเราได้นึกน้อมมองตัวเราเอง เพื่อที่จะให้เราได้เปรียบเทียบนึกถึงตัวเราเอง แล้วจะได้ยกจิตใจของเราให้เข้าสู่กระแสอันเดียว ครรลองเดียวกับผู้มีบารมีแก่กล้าทั้งหลายเหล่านั้น

         ดังพระบาลีว่า วิริเยน ทุกฺขมจฺเจติ บุคคลล่วงทุกข์ได้เพราะความเพียร คนในโลกนี้สัตว์โลกทั้งหลายต่างมีทุกข์ทั้งสิ้น แต่ก็แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ

     ประเภทหนึ่งเกิดขึ้นแล้ว ไม่รู้ว่าตัวเองมีทุกข์ พวกนี้แย่หน่อย จะหาทางพ้นทุกข์ คงลำบากอีกนาน เพราะเขาไม่รู้ว่าตัวเขามีทุกข์
     ประเภทที่ ๒ คือเกิดมาแล้วรู้ว่าตัวเองมีทุกข์ แล้วก็อยากจะพ้นทุกข์

         บุคคลประเภทที่ ๒ นี้ยังแบ่งออกไปอีกว่ารู้ว่าตัวเองมีทุกข์ แล้วก็หาทาง แก้ไขตัวเองให้พ้นทุกข์อย่างไร บางคนเห็นทุกข์อันนี้เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องธรรมดาทั่วๆ ไป นั่นคือคนธรรมดาทั่วๆ ไป

         แต่อีกประเภทหนึ่ง คือผู้ที่มีบารมีแก่กล้า เมื่อรู้ว่าตัวเองมีทุกข์แล้ว ก็คิดจะพ้นทุกข์ จะสลัดทุกข์ จะแก้ปัญหาตามวิถีทาง ซึ่งไม่ใช่คนธรรมดาจะคิด เจ้าชายสิทธัตถะ พระบรมโพธิสัตว์เจ้าเป็นเจ้าชาย มีความสมบูรณ์พร้อมทั้งฐานะ เกียรติยศ ทั้งทรัพย์ศฤงคารทั้งหลาย กามสุขทั้งหลายมีพร้อม บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ยิ่งกว่าพวกเราทั้งหลาย แต่พระองค์เป็นผู้มีบารมีแก่กล้า มองเห็นความทุกข์ ทุกข์ที่เกิดจากการเกิด การแก่ การเจ็บ การตาย

        แต่พระองค์ทนอยู่ไม่ได้กับความทุกข์ที่เกิดขึ้น พระองค์ไม่อยากจะเกิด ไม่อยากจะแก่ ไม่อยากจะเจ็บ ไม่อยากจะตาย พระองค์จะแก้ให้ได้ นี่คือความคิดของผู้มีบารมีแก่กล้า ซึ่งไม่เหมือนคนธรรมดา

        ตรงนี้เราขอพลิกกลับมาดูชีวิตของคุณยายอาจารย์ของเรา แล้วก็ให้เราได้ดูตัวของเราเปรียบเทียบไปด้วย เพื่อที่จะได้ยกใจของเราให้ตกอยู่ในกระแสแห่งความเป็นบัณฑิต เดินตามรอยเท้าท่านทั้งหลายเหล่านั้นต่อไป

        คุณยายเกิดมาในครอบครัวของผู้มีอันจะกินแม้จะต้องทำนา คุณยายอยู่ในหมู่พี่น้อง เป็นคนกลาง คุณยายก็เป็นหัวหน้าของพี่ของน้อง เวลาจะพูดอะไร พี่น้องจะฟัง แสดงออกถึงความเป็นคนรับผิดชอบ คนเอา จริงเอาจัง หรือเป็นคนที่มีเหตุมีผล ความคิดเป็นผู้หลักผู้ใหญ่เกินตัวของคุณยาย เกินวัยของคุณยาย อยู่ในหมู่เพื่อน คุณยายก็มีเป็นลักษณะบุคลิกผู้นำของเพื่อน เพื่อนๆ รักและศรัทธา แล้วก็เชื่อฟังยาย ยายไม่ไปกระทบกระเทียบใคร ไม่กระแนะกระแหน ไม่ด่าไม่ว่าใคร ไม่อิจฉาริษยาใคร ไม่ตำหนิใคร แล้วก็ในหมู่เพื่อน เมื่อเข้าวัยสาวแล้ว จะพูดถึงชายหนุ่มอะไร แต่คุณยายไม่เอาเลย คุณยายใจของท่านสะอาดบริสุทธิ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว

         คุณยายความคิดไม่เหมือนชาวบ้านคือคุณยายจะขยัน ไปนาแต่เช้ามืด ก็จะเห็นพระอาทิตย์โผล่ขึ้นที่ท้องฟ้าอยู่เป็นประจำ คนธรรมดาไม่ได้คิดแบบนี้หรอก เห็นพระอาทิตย์ขึ้นมาก็เออ สวยดีนะ น่าดูน่าชม แล้วก็จบอยู่แค่นั้น แต่คุณยายคิดไม่เหมือนธรรมดา คุณยายบอกคุณยายจะไปพระอาทิตย์ อยากจะไปที่ดวงอาทิตย์ นี่เป็นความคิดที่ไม่ธรรมดา


คุณยายอาจารย์
มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง

ผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกาย 

     ความคิดอันหนึ่งที่เกิดขึ้นมาเมื่อตอนที่คุณพ่อของคุณยาย แช่งคุณยายไว้ ว่าให้หูหนวก ๕๐๐ ชาติ

         ถ้าหากว่าเป็นคนธรรมดา เวลาโดนด่า โดนพ่อโดนแม่ด่า หรือคนอื่นด่า มันก็หนักยิ่งกว่านี้ก็ยังมี ไม่ได้ถือสา แต่คุณยายด้วยความเคารพคุณพ่อคุณแม่ เห็นคุณพ่อคุณแม่น่ะมีวาจาศักดิ์สิทธิ์ เป็นพระอรหันต์ก็เก็บความทุกข์นี้ไว้ในใจ จนกระทั่งวันที่พ่อละโลก ทุกคน อยู่กันพร้อมหน้า ได้ขอขมาลาโทษคุณพ่อ แต่คุณยายออกนา กลับมาไม่ทัน สิ่งนี้มันติดอยู่ในใจของคุณยาย เพราะงั้นคุณยายรู้ว่าตัวเองเป็นทุกข์ ก็อยากจะแสวงหาทางพ้นทุกข์ เพราะมันทนอยู่ไม่ได้ มันมีพลังผลักดันอย่างรุนแรง ทั้งนี้อาจจะเป็นด้วยอำนาจบารมีเก่าของคุณยาย ว่าอยู่แบบนั้นไม่ได้ แล้วก็ได้ยินมาว่าที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เขาสอนไปเที่ยวนรก ไปเที่ยวสวรรค์ได้ คุณยายก็จะไปตามหาพ่อ เป้าหมายอยู่ตรงนั้น

         พอไปแล้วก็หาทาง ยอมตัวนะไปเป็นคนใช้เขา คนใช้ทั้งๆ ที่ตัวเองอยู่ที่บ้านสบาย อยู่ในฐานะเป็นเจ้าของบ้าน แต่ต้องยอมลดตัวเป็นคนใช้เขา เป้าหมายจะไปหาพ่อ ยอมหมดทุกสิ่งทุกอย่าง ยอมลดตัว

         ระหว่างที่คุณยายยังอยู่ที่บ้านคหบดี ก็มีคุณยายทองสุก ได้รับเมตตาจากพระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำให้ไปสอนธรรมะที่บ้านเจ้านาย คุณยายก็ไปเรียน ได้มีโอกาสเรียนธรรมะ

         ใครที่เคยบ่นว่าภารกิจมาก ไม่มีเวลานั่งสมาธิ ไม่มีเวลาทำความเพียร ดูคุณยาย คุณยายแบกรับทั้งครอบครัวทั้งบ้าน การงานสารพัด ดูหมด แต่พอมีเวลาว่างปั๊บ ยายจะหาที่สงบๆ มุมสงบนั่ง แล้วระหว่างที่ทำงานน่ะใจของยายจรดอยู่ จรดอยู่กับคำภาวนา สัมมา อะระหัง จรดอยู่กับคำสอน วิธีการที่คุณยายทองสุกได้แนะนำเอาไว้ให้วางใจที่ศูนย์กลางกาย สัมมา อะระหัง ไปทำอยู่แค่นั้นตลอดวันตลอดคืน ทำอยู่อย่างต่อเนื่อง ทำอยู่อย่างไม่ขาดสาย ไม่ว่าจะเคลื่อนไหวกายก็เคลื่อนไป แต่ใจหยุดนิ่ง จนกระทั่งเข้าถึงธรรม

         คราวนี้คุณยายไปถึงหลวงปู่วัดปากน้ำได้ จากรางวัลที่เจ้านายมอบให้ คุณยายไม่ได้ขอเงินขอทอง ดังที่คนทั่วๆ ไปขอ แต่คุณยายขอรางวัลด้วยการไปปฏิบัติธรรมถือศีล กับหลวงปู่วัดปากน้ำที่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เสร็จแล้วคุณยายก็ไปรู้ ไปพบพระเดชพระคุณ หลวงปู่วัดปากน้ำ คุณยายออกบวชเลย ประกาศเลย เดินตามรอยเท้าหลวงปู่วัดปากน้ำเลย ออกบวชแล้วไม่หันกลับแล้ว เหมือนนกที่โผจากคอน ไม่อาลัยอาวรณ์ในคอนที่จรจากมา ประกาศบวชเลย ไม่ยอมหันกลับไปครองเรือนอีกแล้ว

         จนกระทั่งหลวงปู่วัดปากน้ำท่านละสังขารไปแล้ว คุณยายอยู่ต่อ สืบสายธรรม เอาธรรมะที่หลวงปู่วัดปากน้ำน่ะค้นหามา ด้วยความยากลำบาก ด้วยการเอาชีวิตวางเป็นเดิมพัน ค้นมา ธรรมะที่หายไปเกือบ ๒,๐๐๐ ปีนี่ กลับมาอีกครั้งหนึ่ง

         สืบสายธรรมต่อมา ให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยของเราต่อมาอีก มาสร้างศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรมเป็นที่รวมทีมของนักสร้างบารมี แล้วคุณยายก็เป็นหลักให้ เป็นผู้ให้กำเนิดวัดพระธรรมกายอย่างแท้จริง คุณยายเฝ้าทะนุถนอมพวกเรา เลี้ยงดูพวกเรามาด้วยธรรมะ เรามีความสบาย จนกระทั่ง เหมือนกับเป็นสโลแกนของพวกเราว่า อยู่กับยาย สบายกว่าอยู่กับก๋ง เราทุกคนยอมรับแบบนั้นหมด

        ที่ว่าอยู่กับยายสบายยังไง คือมันสบายใจ แต่ว่ากายเหนื่อย แดดร้อน ตากแดดตากฝน กรำแดดกรำฝน เดี๋ยวกลับมาที่ร่ม ไปพักผ่อนหน่อยเดี๋ยวก็หาย แต่ว่าใจเราสบาย เรารู้แล้ว เป้าหมายของเราอยู่ที่ไหน ประหนึ่งว่าคุณยายนี่มาจุดประทีป นำทางชีวิต ให้มีประทีปชีวิตเดินไปเส้นทางนี้ แล้วจะเจอสิ่งที่ลูกหลานยายกำลังแสวงหา พวกเราได้ประทีปที่ยายส่องมาให้ ผ่านหลวงพ่อธัมมชโย ส่งผ่านมาทางหลวงพ่อทัตตชีโว แล้วพวกเราก็รับเทียนกันมาคนละเล่มคนละเล่ม

         เรามีเทียนเป็นแสงสว่าง เรารู้ทาง รู้ทิศ เรามีเข็มทิศแล้ว ต่อไปนี้เราก็ก้มหน้าก้มตาเดินไป เดินไปเป็นหมู่คณะ ในท่ามกลางความมืดบ้าง สว่างบ้าง เรารู้ว่าเราไม่ได้เดินคนเดียว เรามีพี่ มีน้อง เรามีเพื่อนๆ อีกมากมายมหาศาล เป็นหมู่เป็นคณะ เป็นทีมใหญ่ เดินไปพร้อมๆ กัน        

         คุณยายก็เมตตา อภัยให้พวกเรา ไม่ดุไม่ด่า แต่ว่าคอยว่ากล่าว คอยสั่งสอนเรา อย่าทำแบบนั้นนะ ให้ทำแบบนี้นะ ถ้าทำผิดเอออันนี้อย่าทำนะ ถ้าทำถูกเอ้า ทำต่อไป ก็เป็นแบบนี้แหละ เราเหมือนครอบครัวใหญ่ มีคุณยายเป็นเหมือนพ่อเหมือนแม่ พวกเราไม่เคยมีความรู้สึกว่าคุณยายเป็นผู้หญิงนะ คุณยายเป็นแม่ชี เรามีความรู้สึกว่าคุณยายน่ะ เป็นเหมือนพ่อเป็นเหมือนแม่จริงๆ เป็นเหมือนพระ

         แล้วคุณยายพยายามดูแลพวกเราเหมือนกับเด็กอ่อน สังเกตอะไร ยกตัวอย่าง คุณยายปลูกต้นไม้ กล้าไม้เล็กๆ ตอนสมัยคุณยายแข็งแรงอยู่ พวกเราคิดดูก็แล้วกัน ภาพของวัดสมัยก่อนมันเตียนโล่ง ไม่มีต้นไม้ ต้องปลูกกันขึ้นมาทุกอย่าง ต้องสร้างขึ้นมาด้วยน้ำพักน้ำแรงของเราทั้งนั้น ไม่มีการดลบันดาลเสกเพี้ยงขึ้นมา แล้วคุณยายก็จะนำไปปลูก เอ้ากะระยะเสร็จให้ลูกหลานบ้าง ตัวคุณยายบ้าง ขุดหลุม แล้วเราปลูกต้นไม้ กล้าไม้นี่มันสูงแค่คืบแค่ศอก ยายก็ประคบ ประหงมปลูก ขุดแล้วก็ฝังต้นไม้เอาไว้ให้ได้ระดับพอดีๆ แล้วก็เอามือโกยดินรอบๆ ข้าง มากลบ เอาจอบคุ้ยมากลบ แล้วมือกด กดๆ กดให้มันแน่น รากจะได้ยึดเกาะได้แน่น แล้วคุณยายก็เอาไม้ไผ่ดาม เอาเชือกพลาสติกผูกเอาไว้ ไม่ให้ลมมันพัดโยก

         เท่านั้นไม่พอ คุณยายก็จะไปหาเข่งเก่าๆ ที่ก้นมันทะลุ มาครอบต้นไม้อีกทีหนึ่ง แล้วบางครั้งต้นไม้บางประเภทที่มันโตเร็ว ใบมันจะอ่อน คุณยายก็จะหาอะไรมาคลุมมาบัง แล้วคุณยายจะเวียนมาดูต้นไม้ที่ยายๆ ปลูกนี่ เอาน้ำมารด มีกระป๋องมารดอยู่ตลอดเวลา

         เราดูนะว่าแม้กระทั่งต้นไม้ต้นนิดเดียว ยายยังดูแลทะนุถนอมปกป้องแล้วก็ดูแลกันขนาดนี้ แล้วพวกเราที่เป็นลูกหลานยาย ยายจะตามดูแลกันขนาดไหน วัดพระธรรมกาย เติบใหญ่มาขนาดนี้นี่ ไม่ใช่โชคช่วย ไม่มีใครมาบันดาล นอกจากบุญ นอกจากคุณยาย แล้วก็หลวงพ่อทั้ง ๒ ถึงมีวัดนี้ขึ้นมา

         แล้วคุณยายเวลาปลูกต้นไม้ คุณยายไม่ได้มองว่านี่คือต้นไม้ต้นเล็กๆ กล้าเล็กๆ แต่คุณยายมองไปว่านี่เป็นต้นไม้ใหญ่ที่จะให้ร่มเงา เป็นที่อยู่อาศัยที่ปฏิบัติธรรมของพวกเราที่มาวัดจะได้มีร่ม ร่มเย็น ถ้าใครมานั่งธรรมะที่ใต้ต้นไม้ของยายที่ยายปลูกไว้แล้ว ถ้าได้เห็นธรรม บรรลุธรรมที่ใต้ต้นไม้ที่ยายปลูก ยายก็ได้บุญขึ้นไปอีก แล้วต้นไม้นั้นอยู่คู่กับวัดไปเลย อยู่กันนานเท่านาน ไม่ว่ายายจะอยู่ในโลกนี้หรือละโลกไปสวรรค์แล้วก็ นี่ไงล่ะรัตนบัลลังก์ที่ยายปลูกไว้ ยายไม่ได้ปลูกต้นเดียวหรอก ยายปลูกเป็นร้อยๆ พันๆ ต้น ยายปลูกแล้วปลูกอีก ปลูกจนกระทั่งไม่มีที่ปลูก เต็มวัดไปเลย


  

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๗ ประจำเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล