วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ วันสงกรานต์และการตั้งประเพณีไทย เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ (หลวงพ่อทัตตชีโว)

 

 

เรียบเรียงจากพระธรรมเทศนา
พระเดชพระคุณพระภาวนาวิริยคุณ
(หลวงพ่อทัตตชีโว)

วันอาทิตย์ที่ ๑๓ เดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๖

 

                 สงกรานต์ เป็นวันปีใหม่ของปู่ย่าตาทวดของเรา ปีใหม่ของเรานั้น ก็มีวิธีนับวันนับเวลาแบบของเรามาแต่โบราณ แล้วขนบธรรมเนียมประเพณีก็เกิดขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับฤดูกาลที่เราใช้เป็นปีใหม่

                 มีคำถามว่า ทำไมปู่ย่าตาทวดจึงเลือกเอาวันที่ ๑๓ เมษายน ซึ่งอยู่ในฤดูร้อน มาเป็น วันขึ้นปีใหม่ของไทย เอาวันที่อยู่ในฤดูฝนหรือฤดูหนาวมาเป็นวันขึ้นปีใหม่ไม่ได้หรือ ?

                 เหตุที่หลวงพ่อยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูด เพราะต้องการชี้ประเด็นให้กับพวกเราเห็นว่า ต่อไปในภายภาคหน้าหากมีความจำเป็นต้องตั้งขนบธรรมเนียมประเพณีอะไรใหม่ๆ ขึ้น เราควรจะมีหลักการอะไรบ้าง ถ้านึกไม่ออก อย่างน้อยก็นึกถึงหลักการที่ปู่ย่าตาทวดของเราคิดเอาไว้ ซึ่งกว่าจะวิวัฒนาการมาถึงจุดนั้น ก็ผ่านกันมาเป็นร้อยเป็นพันปีแล้ว ถ้าไม่ดีจริงก็คงมาไม่ถึงพวกเรา เมื่อมาถึงได้ก็แสดงว่า ต้องมีอะไรดีอยู่ในตัว อย่าไปทิ้งเสีย

                 หลักเกณฑ์วันสงกรานต์นั้นได้อิงอยู่ ๓ เรื่องใหญ่ด้วยกัน แล้วก็กลายมาเป็นขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวไทยมาจนทุกวันนี้ คือ
                 ๑. ใช้หลักธรรมชาติมาเป็นตัวตั้ง
                 ๒. ใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมมาเป็นตัวตั้ง
                 ๓. ใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้ง



ใช้หลักธรรมชาติมาเป็นตัวตั้ง

                 ปู่ย่าตาทวดของเราเวลาจะจัดงานอะไรจะอิงธรรมชาติ กล่าวคือในภูมิภาคของเราเป็นเขตร้อน วันสงกรานต์จึงจัดในฤดูร้อน ให้นึกถึงเมืองฝรั่งในยุโรป หรืออเมริกา ภูมิภาคของเขาเป็นเขตหนาว เพราะฉะนั้น ขนบธรรมเนียมประเพณีของเขา จึงจัดในฤดูหนาว เลยมีเรื่องเกี่ยวกับหิมะหรือเรื่องหนาวๆ แต่ปีใหม่ของเราเกิดขึ้นในฤดูร้อน เพราะฉะนั้น ขนบธรรมเนียมต่างๆ จึงอิงฤดูร้อน

                 ถามว่า ทำไมวันสงกรานต์จึงต้องเอา ฤดูร้อนเป็นตัวตั้ง ไม่เอาฤดูฝนหรือฤดูหนาว ทั้งๆ ที่ในย่านนี้มีถึง ๓ ฤดู ?

                 พวกเราดูแล้วอาจจะเห็นเป็นเรื่องบังเอิญว่า ปู่ย่าตาทวดท่านคงอยากจะตั้งเอาฤดูร้อนเป็นวันปีใหม่ก็เลยตั้งขึ้นมา ถ้ามองอย่างนั้นก็ดูหมิ่นภูมิปัญญาบรรพบุรุษเกินไป

                 ในย่านนี้มีถึง ๓ ฤดู ฤดูฝนเป็นฤดูทำงาน แล้วฝนในย่านนี้ก็ตกหนัก ดินฟ้าอากาศไม่เอื้ออำนวย การรวมคนจึงเป็นไปไม่ค่อยได้ ฤดูฝนห้ามเด็ดขาดอย่าไปทำอะไร และถ้าว่าไปในภูมิภาคนี้ เดือนจนหรือเดือนที่คนไม่มีเงิน คือเดือนต่างๆ ในฤดูฝน เงินทองทั้งหลายทุ่มลงไปในไร่ในนาหมดแล้ว แสดงว่าปู่ย่าตาทวดมีความรู้เรื่องเศรษฐกิจดี ท่านจึงไม่เอาปีใหม่มาไว้ที่ฤดูฝน

                 ฤดูหนาวท่านก็ไม่เอา เพราะถ้าอากาศหนาวคนยังห่มคลุมโปงกันอยู่ เวลาลูกหลานเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่งก็ไม่สะดวก อีกประการหนึ่ง ฤดูหนาวในเมืองไทยยังไม่ได้เก็บเกี่ยวพืชผล ยังเป็นฤดูจนของคนไทยอยู่

                 คนไทยเมื่อก่อนนี้ ปีหนึ่งทำนาเพียงครั้งเดียว จะเกี่ยวข้าวอยู่ประมาณเดือน ๓ พอเข้าเดือน ๔ จึงเกี่ยวข้าวเสร็จ พอขายข้าวแล้ว ใครอยากจะทำอะไรหรือมีงานรื่นเริงอะไรก็ทำไป ปีใหม่ของไทยจึงได้เริ่มที่นี่ ในปีหนึ่งก็มีเดือนจนเดือนรวย ฤดูจนฤดูรวย นี้คือภูมิปัญญาของปู่ย่าตาทวด อย่ามองข้ามเด็ดขาด นี้คือเหตุผลว่า ทำไมเขาเลือกเอา ฤดูร้อนเป็นปีใหม่

 

ใช้ขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมมาเป็นตัวตั้ง

                 เนื่องจากเมืองไทยเป็นเมืองร้อน อุปสรรคก็คือความร้อน จึงต้องดับร้อนให้ได้ ถ้าดับร้อนกายไม่ได้แล้วจะร่าเริงได้อย่างไร เพราะฉะนั้น จึงเกิดขนบธรรมเนียมประเพณีเรื่องดับร้อนขึ้นมา

                 วิธีดับร้อนก็มีตั้งแต่ดับร้อนกายแล้วก็มาดับร้อนใจ ถ้าเป็นของเด็กๆ วิธีดับร้อนก็คือการเอาน้ำมาสาดกัน เจ้าจุก เจ้าแกละ เจ้าเปีย เล่นสนุกกันไป สนุกแล้วก็ต้องอิ่มท้องด้วย เพราะฉะนั้น อาหารต่างๆ ก็เอามาเลี้ยงกัน

                 ส่วนเรื่องของผู้ใหญ่ก็มีวิธีดับร้อนอยู่ ๒ เรื่อง คือ เรื่องการสงเคราะห์ผู้เฒ่า กับเรื่องปิดบัญชีที่กระทบกระทั่งกัน
การสงเคราะห์ผู้เฒ่าก็คือ ปีใหม่แล้วใครจะทำมาหากินที่ไหนก็กลับหมู่บ้านตัวเอง นำผ้าผ่อนท่อนสไบ ข้าวปลาอาหาร ส้มสูกลูกไม้ที่รสเลิศต่างๆ ไปเยี่ยมเคารพผู้เฒ่าที่เรานับถือ ด้วยความรักและคิดถึง

                 จากนั้นก็มาเรื่องของการงาน รดน้ำดำหัว เอาน้ำอบมารดขอขมาผู้ใหญ่ เจ้านาย ครูบาอาจารย์ ที่เคยล่วงเกินกันมา ที่ประมาทพลาดพลั้งไป มารดน้ำขอขมาปิดบัญชีกัน

ใช้หลักธรรมในพระพุทธศาสนามาเป็นตัวตั้ง

                 คราวนี้พิธีกรรมทางศาสนาก็มา ท่านที่ ละโลกไปแล้ว ประเพณีของชาวพุทธจะทำบุญ อุทิศส่วนกุศลไปให้ ตรงนี้เป็นหลักการที่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยชี้ให้หลวงพ่อ ดูว่า ต่อไปข้างหน้า เวลาจะจัดงานอะไรในวัด อย่าทิ้งพระรัตนตรัย เจ้าจุก เจ้าแกละ เจ้าเปีย จะเล่นสาดน้ำก็สาดกันไปเถอะ แต่ไปสรงน้ำพระพุทธรูปเอาบุญก่อน

                 แต่ละแห่งก็มีวิธีผูกกับพระรัตนตรัยหลายรูปแบบ ที่เราคุ้นกันมากที่สุดก็คือ ประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย หรือขนทรายเข้าวัด ด้วยเหตุผลอย่างน้อย ๒ ประการ คือ

                  ๑. ให้ทรายกองนี้เอาไว้เป็นวัสดุก่อสร้าง ซ่อมแซมวัดต่อไป
                  ๒. เมืองไทยโดยทั่วๆ ไปแล้ว โดยเฉพาะเขตภาคกลางเป็นดินเหนียว หน้าฝนเดินเข้าไปเขตวัดก็เหยียบโคลนเลอะเทอะ จึงเกิดประเพณีก่อพระเจดีย์ทราย แล้วเอาทราย ไปเกลี่ยให้ทั่ววัด เวลาที่คนมาทำบุญจะได้ไม่สกปรกเท้า ในเวลาเดียวกันท่านก็อ้างให้ สมเหตุสมผลว่า ก่อพระเจดีย์ทรายเพื่อบูชาพระจุฬามณี บูชาพระเขี้ยวแก้วของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์

                 นอกจากนี้ คนสมัยก่อน ก่อนที่จะออกจากวัดเขาจะถอดรองเท้ามาเคาะๆ กลัวดินจะติดรองเท้าไปเดี๋ยวจะกลายเป็นขโมยของสงฆ์แล้วจะบาป เป็นการฝึกลูกหลานให้ระมัดระวังในเรื่องของการทำบาป

                 ในการที่จะปลูกฝังศีลธรรมให้กับลูกหลาน ให้ปลูกฝังลงในชีวิตประจำวันนี่แหละ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติในแต่ฤดูกาล สิ่งแวดล้อมต่างๆ ในบ้านของเราหรือเทคโนโลยี ในยุคนี้มีอะไรก็เอามาบวกกับพระรัตนตรัยแล้วแปลสู่กิจวัตรประจำวันของเราให้ได

                 แล้วจิตใจลูกหลานของเราจะหยั่งลึกไปในธรรมะของพระพุทธองค์ชนิดไม่ว่าใครจะมาพลิกแปรผันไม่ได้ สัมมาทิฏฐิจะหยั่งรากลึกลงไปในใจลูกหลานเราจนกลายเป็นการปิดนรกได้สนิท เปิดสวรรค์ เปิดพระนิพพานให้ทั้งตัวเราและลูกหลาน ให้กับอนุชนรุ่นหลังที่จะมารับมรดกตกทอดอันสำคัญที่สุดคือพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นแก่น เป็นหัวใจของแผ่นดินไทยสืบต่อไป

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๑๘ ประจำเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๕๔๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล