ลูกอยากจะกราบเรียนถามหลวงพ่อเรื่องการเลี้ยงลูกวัยรุ่นสมัยนี้เจ้าค่ะ ลูกชายของลูกมาวัดเรียนหนังสือก็ดี แต่ว่าเขาติดเกมออนไลน์ เล่นพร้อมกันเลยได้เป็นแสน ๆ คน เวลาเล่นต้องใช้โทรศัพท์ติดต่อกัน ๓ - ๔ ชั่วโมง ห้ามแล้วก็ไม่ค่อยหยุด ถ้าไปเล่นหน้าปากซอย เราก็เป็นห่วงอีก จะมีวิธีที่จะพูดหรือเลี้ยงเขาอย่างไรดีเจ้าคะ
การแก้ไขความประพฤติของลูก หรือความประพฤติของใครก็ตาม หลักง่ายๆ มีอยู่ว่า
๑. คุมเวลา
๒. คุมงบประมาณ
๓. ฝึกตัดสินใจและตัดใจ
หลัก ๓ ข้อนี้อย่าทิ้ง
เรื่องของการคุมเวลา หมายถึงว่า ใน วันหนึ่งๆ คนเราจะต้องแบ่งเวลาเอามาใช้ให้พอเหมาะพอดี ถ้าเราไม่ได้กำหนดเวลามาตรฐานของตัวเราและของลูกให้ดีก่อน การสอนอย่างอื่นให้ลูกจะทำได้ยาก
กำหนดเวลาอย่างไร
๑. กำหนดเวลาส่วนตัวก่อน คือเวลากิน เวลานอน เวลาตื่น
๒. กำหนดเวลางานประจำครอบครัว คือช่วยกันปัด กวาด เช็ด ถูในบ้าน
๓. กำหนดเวลาด้านการเรียนของเขา
เมื่อเรากำหนดเวลาเหล่านี้ได้ลงตัว การที่ลูกเราหรือว่าจะใครก็ตาม แม้ตัวเราด้วย จะทำอะไรที่นอกขอบเขตไปไม่ได้ เช่น กลัวว่าลูกจะอยู่ดึก เวลาบ้านนี้นอนกี่ทุ่ม ต้องระบุให้ชัดเจนลงไป พอถึงเวลาปิดไฟก็นอนพร้อมกันทั้งบ้าน ตรงนี้ต้องฝึกลูกตั้งแต่เล็ก ถ้าปล่อยตั้งแต่อนุบาลหรือประถม ไม่เคยกำหนดเวลานอนให้ชัดเจน การฝึกให้ลูกทำอะไรเป็นเวลาตรงนี้เริ่มยาก
เมื่อหลวงพ่อเป็นเด็ก โยมพ่อระบุชัดเจนเลย บ้านนี้พอ ๔ ทุ่มต้องนอน ไม่มีข้อแม้ เอาล่ะเดี๋ยวนี้ยุคสมัยเปลี่ยนไป เราอาจบอกว่า ๕ ทุ่มต้องนอน แต่อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่ลูกยังเป็นนักศึกษาอยู่ ต้องชัดเจนลงไปเลยว่า ห้ามเกินเที่ยงคืน เพราะถ้านอนเกินเที่ยงคืน รุ่งขึ้นเช้าจะไปเรียนด้วยความไม่สดชื่น
เมื่อเวลานอนถูกล็อกไว้แล้ว เวลาตื่นก็ต้องล็อกด้วยว่า คนทั้งบ้านจะตื่นกี่โมง เมื่อล็อกเวลาลงไปแล้ว มันมีประโยชน์มหาศาลสำหรับเรา คือ ถ้าบ้านนี้ตื่นแต่เช้า เท่ากับเป็นการรักษาสุขภาพและอารมณ์ของคนทั้งบ้าน
ใครตื่นเช้าร่างกายก็สดชื่นอยู่แล้ว จากการพักผ่อน พอได้รับอากาศสดๆ เข้าไปอีก สุขภาพก็ดีขึ้นมา แล้วโอกาสจะเตรียมข้าวปลาอาหารไว้สำหรับตักบาตรพระก็ได้ทำอีก บุญก็เกิดตั้งแต่ตรงนี้
คุณพ่อคุณแม่ที่จะไปทำงานหรือคุณลูกที่ต้องไปโรงเรียนพร้อมๆ กัน ก็มีเวลาที่จะเตรียมตัวว่า ก่อนจะไปทำงานวันนี้ จะต้อง เตรียมอะไรไปจากบ้านบ้าง กลายเป็นว่าคนที่ตื่นนอนและเข้านอนเป็นเวลา จะเป็นคนที่สดชื่น กระปรี้กระเปร่า พร้อมที่จะเผชิญทุกสิ่งทุกอย่างตลอดเวลา นี่คือ ฤทธิ์ของการเข้านอนและการตื่นเป็นเวลา
คุณพ่อคุณแม่จะต้องฝึกให้ลูก โดยตัวเองก็ต้องเป็นต้นแบบก่อน แล้วพอลูกตื่นต้อง กำหนดงานให้ชัด ตั้งแต่เก็บที่นอนของตัวเอง ช่วยกันปัดกวาดเช็ดถู ช่วยแม่เข้าครัวเตรียมอาหาร สิ่งเหล่านี้ต้องมีให้เขาทำ
นอกจากนี้พอถึงมื้อกินอาหารเข้าจริงๆ ลูกได้กินข้าวพร้อมกับพ่อแม่ มีอะไรได้คุยกันนิดหน่อยในช่วงเช้าก็ยังดี
พอกินข้าวกินปลาเรียบร้อยแล้ว กำหนดงานให้ลูกอีก จะต้องล้างถ้วย ล้างจาน เก็บโต๊ะอาหาร ก็ต้องแบ่งกันทำ
โดยสรุปเป็นอันว่า เรื่องกิน เรื่องนอน เรื่องตื่น เรื่องงาน ในแต่ละช่วงเวลาของวัน คุณพ่อคุณแม่จะต้องหาเอาไว้ให้ลูกทำ อย่าโยนไปให้คนใช้ทั้งหมด เดี๋ยวลูกจะรับผิดชอบตัวเองไม่เป็น
งานทุกอย่างที่ลูกควรจะฝึกได้ตั้งแต่เล็ก แม้ตัวเองมีฐานะดี จะมีคนรับใช้เท่าไรก็ตามอย่าฝึกให้ลูกโยนงานให้คนรับใช้ทำ
เพราะเป็นการฝึกความมักง่ายให้กับลูก ฝึกความไม่รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเราให้กับลูก ฝึกความไม่รู้คุณค่าของเวลาให้กับลูก ฝึกความไม่รู้จักงานไม่รับผิดชอบงาน ไม่รับผิดชอบพ่อแม่ ไม่รับผิดชอบต่อครอบครัวให้กับลูก
เพราะฉะนั้น การแก้ไขให้เรื่องลูกของคุณโยมนี้ เราจะต้องกำหนดเรื่องเวลาภายใน ๑ วันให้ชัดเจน ควบคุมด้วยการแบ่งซอยลงไปว่า ในแต่ละวันนั้น ช่วงนี้ทำอะไร เพราะฉะนั้น พอเห็นว่าขณะนี้ลูกหรือคนในบ้านทำอะไร ไม่ต้องไปดูนาฬิกาก็รู้ว่า เวลานี้กี่โมงแล้ว สิ่งที่หลวงพ่อพูดนี้ หลวงพ่อเองก็ต้องฝึกเหมือนกัน โยมพ่อโยมแม่ฝึกให้ที่บ้านมีเวลากิน เวลานอน เวลาตื่น พร้อมกันหมด ครั้นพอมาอยู่กับ คุณยายอาจารย์ ถึงเวลาคุณยาย ก็เป็นต้นแบบอีก คุณยายแบ่งเวลา นั่งสมาธิ เวลาอบรมเด็กวัด เวลาดูอาหารที่เตรียมให้พระ เวลาในหนึ่งวัน คุณยายกำหนดไว้ลงตัวทั้งหมด เพราะฉะนั้น พระภิกษุสามเณรในวัดพระธรรมกายจึงโต๋เต๋ไม่ได้ กลายเป็นว่ามีงานรับผิดชอบตลอดทั้งวัน วัดก็เลยโตวันโตคืน
นอกจากกำหนดในเรื่องเวลาแล้ว ยังต้องกำหนดงบประมาณในบ้านและงบประมาณที่ลูกจะได้รับด้วย อันนี้คุณโยมจะต้องฝึกให้กับเขา
ในกรณีที่เขาจะออกจากบ้านไปพักที่มหาวิทยาลัยก็ต้องกำหนดงบประมาณต่อวัน ต่อสัปดาห์ ต่อเดือนให้ชัดเจน
แม้ที่สุด งบประมาณที่ใช้ในบ้านแต่ละวัน ก็ต้องสอนให้ลูกได้รู้ว่า ค่าไฟ ค่าน้ำคิดเป็นเงินจำนวนเท่านี้ต่อเดือน และการที่ลูกนั่งจมอยู่ในคอมพิวเตอร์ หรือนั่งจมอยู่ในอุปกรณ์การเล่นอะไรต่างๆ ก็ต้องคำนวณงบประมาณต่อชั่วโมงออกมาให้ลูกดูให้ชัด
เรื่องของการตัดสินดี-ชั่ว ผิด-ถูก ควร-ไม่ควร เป็นอย่างไร พูดง่ายๆ หลักธรรมเรื่องสัมมาทิฏฐิเบื้องต้น ๑๐ ประการ ต้องชัดเจน อยู่ในใจของเขา
พ่อแม่ยุคนี้ เขาห้ามลูกไม่ได้ กลัวลูกจะ หนีไปเล่นที่อื่น แต่พอเรากำหนดเวลาในบ้านลงตัวเท่านั้น พอถึงเวลาเล่น เขาอยากจะเล่นก็ เล่นไป แล้วอะไรที่ไม่ดีไม่งามอยู่ในเกมนั้น เราก็เอาสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการมาเตือนให้แก แกก็จะรู้จักตัดสินได้ว่า อะไรผิด-ถูก ดี-ชั่ว ที่อยู่ในเกมนั่นแหละ
แต่พอถึงเวลาอื่นที่จะต้องทำตามตารางเวลาประจำบ้าน ลูกต้องหยุดเล่นเลย เพราะจะต้องไปช่วยคุณพ่อคุณแม่เรื่องนั้นเรื่องนี้ ถึงเวลาของส่วนรวม ลูกต้องมาทำ อย่าตามใจ ถ้าเราไม่ตามใจลูก ลูกจะรู้จักตัดใจ
ลูกของคุณโยมฉลาดในการตัดสินได้ว่า ผิด-ถูก ดี-ชั่ว เพราะตามคุณแม่มาวัดนานแล้ว แต่ว่าการตัดใจเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่จะต้องฝึกขึ้นมา
การที่เราฝึกลูกของเราให้มีเวลาแน่นอน ถึงเวลาต้องทำตามที่เราได้ตกลงกันไว้ จะกลายเป็นบทฝึกที่เฉียบที่สุด พูดง่ายๆ คุณโยมกำลังฝึกลูกให้เป็นผู้นำต่อไปในอนาคต
เพราะว่านายกไม่ใช่มีไว้แค่เพื่อตัดสิน แต่ต้องมีความสามารถในการตัดใจด้วย และจะต้องตัดใจให้เฉียบที่สุด เร็วที่สุดเท่าที่จะเร็วได้ ความที่เราไม่ได้ตั้งใจฝึกตัดใจมา ทุกคนตามใจกันหมด เพราะฉะนั้น ทุกยุค ทุกสมัย ทุกประเทศหาผู้นำได้ยากเหลือเกิน วันนี้ถือว่าเรื่องที่คุณโยมพูดมานี้ เป็นเรื่องของการหามาตรการฝึกลูกให้เป็นผู้นำก็แล้วกัน
ความยากความง่ายของการฝึกโดยหลักการ ๓ ข้อนี้ อยู่ตรงที่ว่า ลูกรักคุณพ่อรักคุณแม่มากแค่ไหน ถ้าแกรักมาก เรื่องนี้พูดกันคำสองคำก็จบ แต่ว่าถ้าลูกไม่ค่อยจะรักคุณพ่อคุณแม่เลย จะเพราะอะไรก็ตามที วันนี้ คุณโยมคงหนักหน่อย
แต่ถึงคุณโยมจะหนักอย่างไร ก็ขอให้หนักแน่นเอาไว้ ไม่ใช่ว่าลูกไม่รักเราหรอก เพียงแต่เขาปรับตัวไม่ได้ แล้วเราก็ยืนหยัดไว้ที่เรื่องการแบ่งเวลาในบ้านให้ลงตัว แล้วก็สอนลูกว่า "ลูกเอ๊ย เชื่อแม่เถอะ เสียอะไรในโลกนี้ วันหลังยังหาใหม่ได้ เช่นมีเงิน มีทอง มีจังหวะ แต่เวลาที่ผ่านไปแล้วเรียกกลับไม่ได้ วันนี้ความชราของพ่อแม่มาถึงแล้ว แม่ห่วงลูก ความรู้ความดีอะไรที่ฝึกอบรมตัวเองมาตลอดชีวิตของพ่อแม่ ตั้งใจจะมอบให้ ขอเวลาช่วงนี้ให้พ่อกับแม่นะลูก" คุณโยมลองนำไปทำดูก็แล้วกัน