วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา "พระพุทธศาสนา นำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างไร" โดย : พระภาวนาวิริยคุณ

 






               หลวงพ่อครับ นักเรียนมักจะถามเสมอว่า วิชาความรู้ที่เขาเรียนในโรงเรียนนั้น ส่วนใหญ่ได้ประโยชน์นำความรู้มาใช้ในชีวิตประจำวัน และในการบริหารปัจจัย ๔ ของเขา แต่วิชาพระพุทธศาสนานั้น เมื่อศึกษาไปแล้วให้ประโยชน์อะไรกับผู้เรียนครับ ?

 



             เจริญพรโยมอาจารย์ ความที่เวลาเราสอนพระพุทธศาสนาเมื่อไร

             ประการที่ ๑ ทุกยุคทุกสมัยมักจะเริ่มต้นด้วยพุทธประวัติ ซึ่งเด็กๆ บางทีตามไม่ทัน เพราะความเป็นมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามีเรื่องภูมิหลังเยอะมาก

             ประการที่ ๒ พอเจาะลึกเข้าไปในพระพุทธศาสนา ก็มักจะเอาหลักธรรมหนักๆ มาสอนเด็ก เด็กชั้นประถมสอนเรื่องอริยสัจ ๔ แล้ว ครูยังไม่รู้เรื่องเลยอย่าว่าแต่เด็ก เมื่อเราเอาเรื่องหนักๆ ในพุทธศาสนาไปสอน จึงทำให้ เด็กมีความรู้สึกว่า ไม่ค่อยจะเกี่ยวอะไรกับชีวิตของแก เลยค่อนข้างจะต่อต้านวิชาพระพุทธศาสนา

             ลองเปลี่ยนแนวสอนใหม่ คือแทนที่จะสอนในลักษณะที่เป็นธรรมะแท้ๆ กลับสอนพระพุทธศาสนาที่แทรกเข้าไปในชีวิตประจำวัน

             ยกตัวอย่าง เรื่องของการใช้ปัจจัย ๔ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องของข้าวปลาอาหารที่เราต้องกินต้องดื่มกันอยู่ทุกวัน พระพุทธศาสนาได้แทรกเอาไว้เรียบร้อยแล้วอยู่ในนั้น

             คนส่วนมากในโลกนี้มักไม่ได้กินเพื่ออยู่ แต่มุ่งอยู่เพื่อจะกิน เพราะฉะนั้นความโลภ ความเห็นแก่ได้เลยมีมากในมนุษย์ ตรงกันข้ามถ้าเราสอนเด็กให้กินเพื่ออยู่ ซึ่งถ้ากินเพื่ออยู่ คนกินไม่มากหรอก และไม่ได้กินเล่น กินจุกกินจิก

             ยิ่งไปกว่านั้น สอนลูกหลานของเราให้รู้ว่า ในการกินข้าวปลาอาหาร ถ้าเรารู้จักคุณค่าอาหาร แค่ข้าวจานเดียวนั้น ถ้ากินเมื่อตอนโกรธ พอมีเรี่ยวแรงแล้วก็เอาเรี่ยวแรงจากอาหารนั้นไปยกพวกตีกัน ข้าวปลาอาหารนั้นก็กลายเป็นข้าวบาปไป แต่ว่าข้าวปลาอาหารจานเดียวกันนั้น กินเมื่อตอนจิตใจงาม พออิ่มแล้วก็เอาเรี่ยวแรงไปทำความดี ข้าวปลาอาหารนั้นก็กลายเป็น ข้าวบุญไป ไม่ใช่ข้าวบาปเหมือนจานที่แล้ว

             เพราะฉะนั้น วิธีที่จะทำให้ใจเป็นบุญตอนกินข้าว ควรจะทำอย่างไร เราต้องสวดมนต์บูชาข้าวพระก่อนที่จะกิน ข้าวนั้นจะกลายเป็นข้าวบุญ เราก็กินด้วยใจผ่องใส เพียงเท่านี้พระพุทธศาสนาก็เข้าไปอยู่ในใจเด็ก

             เรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มก็สอนเด็กว่า "ลูกเอ๊ย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มใช้ให้เป็นนะลูก ไม่ใช้เพื่อเอามาอวดสัดส่วนว่าใครจะสวยใครจะงามกว่ากัน ใส่เสื้อผ้าเพื่อเอามากันร้อน กันหนาว กันอาย เอามาแล้วก็เหมาะกับการประกอบความดี ไม่ใช่เอามาเพื่อยั่วให้กามราคะคนอื่นกำเริบ"

             สิ่งเหล่านี้ถ้ารู้จักสอนเขา พระพุทธศาสนาก็แทรกเข้าไปในเสื้อผ้าของเขา แทรกผ่านเข้าไปในใจ ทำให้เขารู้จักแต่งเนื้อแต่งตัวในทางที่ถูกที่ควร

             หรือแค่สอนให้เด็กเมื่อตื่นนอน ก็ช่วยกันเก็บที่นอน กวาดบ้านกวาดเรือน เช็ดถูห้องพระ ปักดอกไม้ใส่แจกันไว้บูชาพระให้ดี

             สิ่งเหล่านี้ถ้ารู้จักสอนเด็ก ในที่สุดจะกลายเป็นว่า พระพุทธศาสนาได้สอนให้เด็กเกิดความรับผิดชอบตั้งแต่อยู่ในบ้านทุกอณูพื้นที่ไปในตัวแล้ว เราสอนพระพุทธศาสนาประเภทที่นำเอามาใช้ในชีวิตจริงให้ได้คือ นำมาเพื่อการวิเคราะห์นิสัยเด็กให้มีสัมมาทิฏฐิเกิดขึ้นได้ นี่คือพระพุทธศาสนาที่เด็กต้องการ ถ้าเราสอนด้วยวิธีอย่างนี้ เด็กจะไม่ย้อนมาถามเราอีกว่า เรียนพระพุทธศาสนาแล้วได้อะไร เพราะเด็กได้รู้จักพระพุทธศาสนาไปตามลำดับๆ ตั้งแต่ข้าวแต่ละคำ น้ำแต่ละอิ่ม นมแต่ละอึก ตั้งแต่เขาหยิบผ้า ขึ้นมาสวมใส่ ตั้งแต่เขาปักแจกันไว้ที่โต๊ะหมู่ บูชาพระ รวมกระทั่งผ่านวิธีรักษาสุขภาพในชีวิตประจำวัน ถ้าครูบาอาจารย์สอนพระพุทธศาสนาเป็น จะสอนอย่างนี้


บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๒๓ ประจำเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๔๗

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล