คำว่า ศีล มีความหมายอย่างไร สำคัญแค่ไหน แล้วทำไมเราต้องรักษา?
ในทางโลกประเทศชาติจะอยู่อย่างสงบสุข ทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมาย เพราะกฎหมายจะเป็นตัวบอกให้รู้ว่า อะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้แต่ละคนล้ำเส้น แล้วเกิดกระทบกระทั่งกัน
เพราะฉะนั้น ทางโลกก็เลยต้องมีกฎหมาย เอาไว้ควบคุม ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายแพ่ง หรือว่ากฎหมายอาญาก็ตาม
แต่ในศาสนาพุทธของเรานั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดศีล เอาไว้เป็นเครื่องควบคุมทางกายและทางวาจาของเรา ให้ประพฤติอยู่ในกรอบ เพื่อว่าบาปจะได้ไม่รั่วรดเข้าไปในใจของเราได้ แล้วก็ไม่ไปทำให้คนอื่นเดือดร้อนด้วย
คำว่า "ศีล"เป็นภาษาอินเดีย แปลว่า ปกติ แต่คำว่าปกตินี้เราเอามาพูดกัน จนกระทั่งต้องมาถามกันว่า ปกติ แปลว่าอะไร?
คำว่า "ปกติ" แปลว่า สิ่งที่เป็นอยู่แล้วโดยธรรมชาติ เช่น ร่างกายของคนเราถ้าปกติก็จะมีความอบอุ่น คืออุณหภูมิในตัวประมาณ ๓๗ องศาเซลเซียส ถ้าร่างกายของใครมีอุณหภูมิสูงหรือต่ำกว่านี้เเสดงว่าป่วยแล้ว เพราะว่าผิดปกติ
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงกำหนดมาตรฐาน แห่งความประพฤติปกติ ทางกายกับทางวาจาของคนเราไว้ ว่ามีอยู่ ๕ ประการด้วยกัน คือ
๑. ไม่ฆ่าสัตว์
๒. ไม่ลักทรัพย์
๓. ไม่ประพฤติผิดในกามหรือไม่เจ้าชู้
ถ้าใครไปล่วงละเมิด ๓ ประการนี้เข้า ก็หมายความว่า ความประพฤติทางกายของเขาผิดปกติ ซึ่งเป็นการผิดปกติทั้งทางด้านศีลธรรมและทางด้านจิตใจไปด้วยในตัว
เมื่อผิดปกติไปอย่างนี้แสดงว่าเขากำลังหาบาปใส่ตัว เพราะกำลังทำให้ใจของตนเอง ขุ่นมัวไป
๔. ไม่พูดเท็จ
ในเวลาเดียวกัน ถ้าหลอกลวงโดยพูดโกหกกันเมื่อไรก็ผิดปกติคน เพราะพอไปหลอกลวง กันเข้า ใจก็ขุ่น ใจก็มัว แล้วกรรมแห่งการที่ใจขุ่น ใจมัวนี้ ก็จะบีบคั้นใจของเรา ให้เกิดความเสียหาย ต่างๆ นานาอีกมากมาย
๕. ไม่ดื่มสุรา
ความเป็นปกติทั้ง ๔ ประการนี้จะคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อมีสติ หากขาดสติเมื่อไร ความปกติทั้ง ๔ ประการนั้น ไม่อยู่หรอก
สิ่งที่สติของเราแพ้ก็คือ สุราและยาเสพติด เพราะถ้าสติมาเจอกับสิ่งเหล่านี้ สติก็จะขาดไป แล้วความประพฤติทั้ง ๔ ประการที่กล่าวมาข้างต้น ก็จะกลายเป็นผิดปกติขึ้นมา
ความสำคัญของการรักษาศีล
ความสำคัญที่เราจะต้องรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อให้ได้ ก็อยู่ตรงที่ว่า
๑. ทำให้เราไม่ไปก่อบาปก่อกรรม ไม่ไปก่อความเดือดร้อนเสียหายให้กับตนเอง
ยกตัวอย่าง ใครที่คิดฆ่าคนหรือฆ่าสัตว์ก็ตาม ความจริงแค่คิดก็ทำให้ตัวเองเดือดร้อนแล้ว ยิ่งถ้าไปลงมือฆ่าเข้า เดี๋ยวเถอะจะเดือดร้อนอย่างหนัก เพราะจะถูกคนอื่นเขาคิดฆ่าเอาบ้าง
ไปขโมย ไปลักของเขา ระวังเถอะ เขาก็จะโต้ตอบเอาเข้าให้บ้าง
ไปยุ่งกับลูกเขา ภรรยาเขา หรือสามีเขา ของรักของใครใครก็หวง เดี๋ยวได้เกิดเรื่องใหญ่ หรือไม่เกิดเรื่องเพราะเขาต่อต้าน บางทีโรคภัยไข้เจ็บ เช่น โรคเอดส์ก็เล่นงานเอาได้อีกเหมือนกัน
๒. การที่เราควบคุมตัวเองด้วยศีล ก็เท่ากับว่าเราสามารถควบคุมตัวเองไม่ให้วิปริต คือไม่ให้ก่อความเดือดร้อนให้กับตัวเอง แล้วก็ทำให้ไม่ไปก่อความเดือดร้อนให้กับคนอื่น
๓. ยิ่งกว่านั้น ที่แน่ๆ จากการที่มีศีลทั้ง ๕ ข้อนี้อย่างบริบูรณ์ จะเป็นผลให้เราพร้อมที่จะทำความดีในรูปแบบอื่นๆ ได้อีกมาก
๔. เมื่อทุกคนสามารถรักษาศีลทั้ง ๕ ข้อนี้ พร้อมกับประพฤติปฏิบัติตนตามกฎหมายทางโลก ก็จะกลายเป็นความมั่นคงของประเทศชาติไปด้วยในตัว
ประเภทของการรักษาศีล
ศีล ๕ รักษาเพื่อไม่ให้ไปทำผิดทำพลาด เป็นการรักษาความดีขั้นพื้นฐาน คือไม่ยอมทำ ความชั่ว ไม่ให้กิเลสกำเริบ
แต่ยังมีศีลที่ยิ่งขึ้นไปอีก คือ ศีล ๘ ศีล ๑๐ และศีล ๒๒๗ ที่เรียกว่า "ศีลพรต" เป็นการ รุกคืบกำจัดกิเลสให้หมดไปตามลำดับๆ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับความพยายามของผู้ที่รักษาศีลนั้น