พระคาถาชินบัญชร

วันที่ 12 มิย. พ.ศ.2564

พระคาถาชินบัญชร สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

พระคาถาชินบัญชร
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

ก่อนเจริญภาวนาคาถาชินบัญชร
ตั้งนะโม ๓ จบ ก่อน แล้วระลึกถึงพระคุณของเจ้าประคุณสมเด็จฯ

กล่าวคาถานำ ดังนี้

ปุตตะกาโม ละเภ ปุตตัง       ธะนะกาโม ละเภ ธะนัง

อัตถิ กาเย กายะญายะ       เทวานัง ปิยะตัง สุต๎วา.

      ผู้ปรารถนาบุตร พึงได้บุตร, ผู้ปรารถนาทรัพย์พึงได้ทรัพย์,บัณฑิตได้ฟังมาว่า ความเป็นที่รักของเหล่าเทวดาและมนุษย์มีอยู่ในกาย (เรา) เพราะรู้ได้ด้วยกาย.

แล้วพึงเจริญภาวนา ดังนี้

๑. ชะยาสะนาคะตา  พุทธา        เชต๎วา มารัง สะวาหะนัง
จะตุสัจจาสะภัง ระสัง       เย ปิวิงสุ นะราสะภา.

       พระพุทธเจ้าผู้องอาจในหมู่ชน ประทับ ณ ชัยอาสน์บัลลังก์, ทรงชนะพระยามาร ผู้พรั่งพร้อมด้วยเสนามารแล้ว, เสวยอมตรส คือ อริยลัจ ๔ ประการ อันทำโหัผู้รู้แจ้ง ข้ามพ้นจากทุกข์ทั้งปวงเป็นผู้องอาจได้.

๒. ตัณหังกะราทะโย พุทธา        อัฏฐะวีสะติ นายะกา
สัพเพ ปะติฏฐิตา มัยหัง        มัตถะเก เต มุนิสสะรา.

      พระพุทธเจ้า ๒๘ พระองค์ มีพระผู้ทรงพระนามว่า ตัณหังกรเป็นต้น, ขออัญเชิญพระพุทธเจ้า ผู้เป็นจอมมุนีทุกพระองค์มาประดิษฐานเหนือเศียรเกล้าของข้าพเจ้า.

๓. สีเส ปะติฏฐิโต มัยหัง        พุทโธ ธัมโม ทะวิโลจะเน
สังโฆ ปะติฏฐิโต มัยหัง        อุเร สัพพะคุณากะโร.

      ขออัญเชิญพระพุทธเจ้า ประดิษฐานบนศีรษะ; พระธรรมอยู่ที่ดวงตาทั้งสอง; พระสงฆ์ผู้เป็นบ่อเกิดความดีทุกอย่าง อยู่ที่อกของข้าพเจ้า.

๔. หะทะเย เม อะนุรุทโธ        สารีปุตโต จะ ทักขิเณ
โกณฑัญโญ ปิฏฐิภาคัส๎มิง        โมคคัลลาโน จะ วามะเก.

      ขอพระอนุรุทธะอยู่ที่หัวใจ; พระสารีบุตรอยู่เบื้องขวา; พระมหาโมคคัลลานะอยู่เบื้องซ้าย ; พระอัญญาโกณฑัญญะอยู่เบื้องหลัง.

๕. ทักขิเณ สะวะเน มัยหัง        อาสุง อานันทะราหุลา
กัสสะโป จะ มะหานาโม        อุภาสุง วามะโสตะเก.

      พระอานนท์กับพระราหุลอยู่หูขวา ; พระกัสสปะกับพระมหานามะอยู่ที่หูซ้ายของข้าพเจ้า.

๖. เกสันเต ปิฏฐิภาคัส๎มิง        สุริโย วะ ปะภังกะโร
นิสินโน สิริสัมปันโน        โสภิโต มุนิ ปุงคะโว.

      พระมุนีผู้ประเสริฐ คือ พระโสภิตะผู้เพียบพร้อมด้วยสิริอันเรืองรอง ดังพระอาทิตย์ทอแสง, อยู่ที่ทุกเส้นขนตลอดร่างทั้งข้างหน้า และข้างหลังของข้าพเจ้า.

๗. กุมาระกัสสะโป เถโร        มะเหสี จิตตะวาทะโก
โส มัยหัง วะทะเน นิจจัง
       ปะติฏฐาสิ คุณากะโร.

      ขอพระกุมารกัสสปเถระ ผู้แสวงบุญที่ยิ่งใหญ่ผู้เป็นบ่อเกิดคุณความดี, มีวาทะไพเราะนุ่มนวลชวนฟัง ประดิษฐานที่ปากเป็นประจำของข้าพเจ้า.

๘. ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ        อุปาลี นันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา
       นะลาเฏ ติละกา มะมะ.

      พระเถระทั้ง ๕ องค์ คือ พระปุณณะ พระอังคุลิมาล พระอุบาลี พระนันทะและพระสีวลี, จงปรากฏเป็นกระแจะจุณเจิมที่หน้าผากของข้าพเจ้า.

๙. เสสาสีติ มะหาเถรา        วิชิตา ชินะสาวะกา๖ 
เอตาสีติ มะหาเถรา        ชิตะวันโต ชิโนระสา 
ชะลันตา
สีละเตเชนะ        อังคะมังเคสุ สัณฐิตา.

      พระมหาเถระ ๘๐ องค์ที่เหลือ ผู้ชนะแล้ว ผู้เป็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย, พระมหาเถระทั้ง ๘๐ เหล่านั้น นับเป็นผู้มีชัยและเป็นโอรสของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย เป็นผู้รุ่งเรืองอยู่ด้วยเดชแห่งศีล, ประดิษฐานที่อวัยวะน้อยใหญ่ทั้งหลาย

๑๐. ระตะนัง ปุระโต อาสิ        ทักขิเณ เมตตะสุตตะกัง
ธะชัคคัง ปัจฉะโต อาสิ
       วาเม อังคุลิมาละกัง.

      พระรัตนสูตรอยู่เบื้องหน้า, พระเมตตาสูตรอยู่เบื้องขวา, พระอังคุลิมาลปริตรอยู่เบื้องซ้าย, พระธชัคคสูตรอยู่เบื้องหลัง.

๑๑. ขันธะโมระปะริตตัญจะ        อาฏานาฏิยะสุตตะกัง
อากาเส ฉะทะนัง อาสิ
       เสสา ปาการะสัณฐิตา.

      พระขันธปริตร พระโมรปริตร และพระอาฏานาฏิยสูตร ขอให้มาเป็นเครื่องกางกั้นดุจหลังคาบนนภากาศ, ขอพระสูตรที่เหลือมาตั้งเป็นดุจกำแพงป้องกัน.

๑๒. ชินาณา๑๐ วะระสังยุตตา        สัตตัปปาการะลังกะตา
วาตะปิตตาทิสัญชาตา
       พาหิรัชฌัตตุปัททะวา.

      ขอพระอาณา คือ อำนาจของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย อันประกอบด้วยพระคุณอันประเสริฐ, มาประดับเป็นกำแพง ๗ ชั้นคุ้มครองข้าพเจ้าจากอันตรายภายนอกมีโรคที่เกิดจากลม และอันตรายภายในมีโรคที่เกิดจากดีกำเริบ เป็นต้น.

๑๓. อะเสสา วินะยัง ยันตุ        อะนันตะชินะเตชะสา
วะสะโต เม สะกิจเจนะ
       สะทา สัมพุทธะปัญชะเร.

      ด้วยเดชานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย มีพระคุณต่อสรรพสัตว์ไม่มีที่สิ้นสุด, ขออันตรายที่เหลือจงพินาศไป, อนึ่ง เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในพระบัญชรแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่ว่าจะทำกิจใด ๆ ขอให้สำเร็จทุกเมื่อเถิด.

๑๔. ชินปัญชะระมัชฌัมหิ        วิหะรันตัง มะหีตะเล๑๑
สะทา ปาเลนตุ มัง สัพเพ        เต มะหาปุริสาสะภา.

      ขอให้พระมหาบุรุษผู้องอาจทั้งปวงนั้น, จงคุ้มครองข้าพเจ้า ผู้อยู่ ณ ภาคพื้น ในท่ามกลางแห่งชินบัญชรตลอดไป.

๑๕. อิจเจวะมันโต        สุคุตโต สุรักโข
ชินานุภาเวนะ
       ชิตูปัททะโว
ธัมมานุภาเวนะ
       ชิตาริสังโค
สังฆานุภาเวนะ
       ชิตันตะราโย
สัทธัมมานุภาวะปาลิโต
       จะรามิ ชินะปัญชะเรติ.

      ข้าพเจ้าได้รับการคุ้มครองรักษาไว้ในภายใน (ชินบัญชร) ดังพรรณนามาฉะนี้แล้ว
      ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย ย่อมเอาชนะอุปสรรคอันตรายได้
      ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรม จึงชนะข้าศึกศัตรูได้
      ด้วยอานุภาพแห่งพระสงฆ์ จึงชนะอันตรายทั้งปวงได้
      ข้าพเจ้าได้รับการอภิบาลรักษาจากพระสัทธรรม ดำเนินชีวิตไป ในพระบัญชรของพระพุทธเจ้าผู้ทรงชัย ดังนี้แล.

 

บันทึกย่อ

     ๑. บัญชร แปลว่า กรง, ซี่กรง, หน้าต่าง ชินบัญชร จึงหมายถึง กรง คือ พระคุณของพระพุทธเจ้า
     ๒. ต่อจากคาถานำนิยมเติมข้อความว่า อิติปิโส ภะคะวา ยะมะราชาโน ท้าวเวสสุวัณโณ มะระณัง สุขัง อะระหัง สุคะโต นะโมพุทธายะ ข้อความนี้เป็นมนต์คาถา
     ๓. บางฉบับเป็น ชะยาสะนากะตา แปลได้ความหมายเหมือนกัน
     ๔. บางฉบับเป็น อานันหะราหุโล ซึ่งไม่ถูกหลักไวยากรณ์ เพราะอาสุง เป็นพหูพจน์
     ๕. บางฉบับเป็น เกสะโต และเกเสนเต ก็มี แปลได้ความเหมือนกัน
      ๖. ฉบับสิงหลไม่มีวรรคนี้ (เสสาสีติ มะหาเถรา วิชิตา ชินะสาวะกา)
     ๗. เอตาสีติ = เอเต + อะสีติ เป็นโลปสระสนธิ คือ ลบ เอ ที่ เต ออกเสียคงเป็น เอต สนธิกัน ทีฆะ อะ เป็น อา สำเร็จรูป เอตาสีติ แปลว่า พระมหาเถระ ๘๐ เหล่านั้น บางฉบับเป็น เอเตสีติ ซึ่งแปลได้ความเหมือนกัน
     ๘. บางฉบับเป็น ชะวันตา แปลว่า แล่นไป หรือขจรไป (ด้วยเดชแห่งศีล)
     ๙. บางฉบับเป็น ปาการะลังกะตัง เป็นเอกพจน์ ไม่ถูกหลักไวยากรณ์ เพราะ เสสา เป็นพหูพจน์
     ๑๐. ชินาณา = ชิน + อาณา แปลว่า อำนาจแห่งพระชินเจ้า บางฉบับเป็น ชินา นานา ฯลฯ
    ๑๑. มะหีตะเล บาลีออกเสียงเป็น มะฮีตะเล
    พระคาถาชินบัญชรของเจ้าประคุณสมเด็จฯ ถ้าใครท่องจำได้ขึ้นใจ ภาวนาทุกคืนวันมีคุณานุภาพมากมาย มีความสักดิ์สิทธิ์และทรงอานุภาพทุกบทจะทำให้เกิดโชคลาภ ไม่ว่าจะถูกกระทำคุณไสย คุณผีคุณคนทั้งปวง ใช้ปลุกเสกพระเครื่องรางของขลังจะเพิ่มอิทธิปาฏหาริย์มากยิ่งขึ้น แต่ถ้าท่องจำไม่ได้หมด จะเลือกจำแต่ละบทก็ได้สุดแต่จะเจตนาจะใช้ ดังนี้
     ๑. อาราธนาพระสมเด็จไปกับตัว                      ใช้บทที่  ๓ ภาวนา
     ๒. สำหรับนักพูด นักแสดง ก่อนพูดก่อนแสดง    ใช้บทที่  ๗ ภาวนา
     ๓. สำหรับเสกน้ำล้างหน้า เสกแป้งเจิม              ใช้บทที่  ๘ ภาวนา
     ๔. ถ้าต้องการแคล้วคลาดปลอดภัยอันตราย      ใช้บทที่  ๙ ภาวนา
     ๕. สำหรับป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ                       ใช้บทที่ ๑๓ ภาวนา
     ๖. อาราธนาขอให้คุณพระคุ้มครอง                   ใช้บทที่ ๑๔ ภาวนา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0024381836255391 Mins