สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ ส่วนที่๓

วันที่ 23 ธค. พ.ศ.2564

สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ

สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ

        สิกขาบท หมายถึง ข้อศีล, ข้อวินัย คือศีลแต่ละข้อวินัยแต่ละข้อที่เป็นพระวินัยบัญญัติและที่เป็นข้อปฏิบัติกล่าวคือ ศีล ๒๒๗ ข้อของภิกษุก็ดีศีล ๓๑๑ ข้อของภิกษุณีก็ดีศีล ๑๐ ของสามเณรก็ดีศีล ๕ ศีล ๘ ของอุบาสกอุบาสิกาก็ดีจัดเป็นสิกขาบททั้งสิ้น

      หรือพระวินัยบัญญัติทั้งที่เป็นอาทิพรหมจริยกาสิกขา มาในพระปาติโมกข์ทั้งที่เป็นอภิสมาจาริกาสิกขา มานอกพระปาติโมกข์ก็เป็นสิกขาบททั้งสิ้น

        ดังนั้น คำว่า สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ กับคำว่า ศีล ๒๒๗ ข้อ จึงมีความหมายอย่างเดียวกัน

         และในการใช้คำเวลาพูดหรือเวลาเขียนทั่วไป ไม่ว่าจะใช้คำว่า สิกขาบทเป็นคำขึ้นต้น เช่น สิกขาบท ๒๒๗ ข้อ, สิกขาบท ข้อที่ ๑ หรือจะใช้เป็นคำลงท้ายเช่น พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติศีลของพระไว้ ๒๒๗ สิกขาบท ก็เป็นอันใช้ได้และเข้าใจความหมายกันได้เป็นอย่างดี

        สิกขาบท ๒๒๗ ข้อนั้น แยกประเภทตามชื่ออาบัติประกอบด้วย
        - ปาราชิก ๔
        - สังฆาทิเสส ๑๓
        - นิสสัคคิยปาจิตตีย์ ๓๐
        - ปาจิตตีย์ ๙๒
        - ปาฏิเทสนียะ ๔
        - อธิกรณสมถะ ๗

        รวมเป็น ๑๕๐ สิกขาบท และเติมอนิยต ๒ สิกขาบท เสขิยวัตร ๗๕ สิกขาบทเข้าไป รวมแล้วเป็น ๒๒๗ สิกขาบท ซึ่งได้กำหนดไว้เป็นพระปาติโมกข์ และพระสงฆ์ได้ประชุมกันสวดและฟังกันทุกกึ่งเดือน ซึ่งเรียกว่าสวดพระปาติโมกข์มาตราบเท่าทุกวันนี้
        ตามความข้างต้น สิกขาบทหรืออาบัติที่เป็นอาทิพรหมจริยกาสิกขามาในพระปาติโมกข์มีจำนวน ๑๕๐ สิกขาบทด้วยกัน แม้ในปฐมสิกขาสูตร อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ก็แสดงไว้เช่นนั้น ดังข้อความว่า 
         “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิกขาบท ๑๕๐ ถ้วนนี้มาสู่อุเทศทุกกึ่งเดือน ซึ่งกุลบุตรทั้งหลายผู้ปรารถนาประโยชน์ศึกษากันอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิกขาที่เป็น ที่รวมแห่งสิกขาบท ๑๕๐ นั้นไว้ทั้งหมดมี ๓ สิกขา ๓ คืออะไรบ้าง คือ อธิสีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย สิกขาซึ่งเป็นที่รวมแห่งสิกขาบท ๑๕๐ นั้นไว้ทั้งหมดมี ๓ นี้แล

       ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ทำ ให้บริบูรณ์ในศีล เป็นผู้ทำพอประมาณในสมาธิ เป็นผู้ทำพอประมาณในปัญญา เธอย่อมล่วงละเมิดสิกขาบทเล็กน้อย (สิกขาบทที่นอกจากปาราชิก) บ้าง ย่อมออกจากอาบัติบ้าง ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร เพราะว่าไม่มีใครกล่าว ความเป็นคนอาภัพเพราะล่วงสิกขาบทนี้ไว้ แต่ว่าสิกขาบทเหล่าใดเป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์สมควรแก่พรหมจรรย์ เธอเป็นผู้มีศีลยั่งยืนและเป็นผู้มีศีลมั่นคงในสิกขาบทเหล่านั้น สมาทาน ศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย เธอย่อมเป็นโสดาบัน ....”

        ตามข้อความพระบาลีข้างต้น สิกขาบทที่ในพระปาติโมกข์มี๑๕๐ ข้อแต่มาเติม อนิยต ๒ และเสขิยวัตร ๗๕ อันเป็นอภิสมาจาริกาสิกขา มานอกพระปาติโมกข์เข้าไปรวมด้วย โดยอนุโลมว่าเป็นพระวินัยบัญญัติเช่นเดียวกันกับสิกขาบทที่มาในพระปาติโมกข์๑๕๐ ข้อนั้น จึงเป็นสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ และพระสงฆ์ได้สวดและฟังกันมาจนถึงปัจจุบัน 

        ในข้อนี้สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงนิพนธ์แสดงทัศนะไว้ในหนังสือวินัยมุข เล่ม ๑ ว่า

        “ตามนัยนี้ สันนิษฐานเห็นว่า ชะรอยเดิมจะมีเพียง ๑๕๐ ถ้วน ตามที่กล่าวไว้ในพระสูตร ก่อนแต่ทำสังคายนาครั้งใดครั้งหนึ่ง ที่แจกอรรถแห่งสิกขาบทซึ่งเรียกว่า บทภาชนะ และสงเคราะห์เข้าเป็นส่วนอันหนึ่งแห่งคัมภีร์วิภังค์นั้น หรือในครั้งนั้นเองจะได้เติมอนิยต ๒ และเสขิยวัตร ๗๕ เข้าด้วย ความข้อนี้ก็น่าจะเห็นจริง ตามนั้น”

        สำหรับสิกขาบทเล็กน้อยที่เป็นบาลีมุตตกะ ที่ปรับโทษเบาเป็นทุกกฏส่วนใหญ่เป็น อภิสมาจาร คือเป็นธรรมเนียมของภิกษุเป็นข้อปฏิบัติเกี่ยวกับกิริยามารยาทเพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยงดงามของภิกษุและเพื่อป้องกันโลกวัชชะที่จะเกิดขึ้น อันมานอกพระปาติโมกข์นั้น มีจำนวนมากข้อ นับไม่ได้แต่ได้จารึกไว้ในพระวินัยปิฎกแล้วทั้งสิ้น

        สิกขาบททั้งที่มาในพระปาติโมกข์และที่มานอกพระปาติโมกข์๒๒๗ ข้อและที่เป็นบาลีมุตตกะทั้งหมดนั้น เป็นข้อศีลข้อวินัยที่ภิกษุจะต้องเรียนรู้และต้องปฏิบัติตาม เพราะเป็นข้อบัญญัติที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้ด้วยเหตุผลตามที่แสดงไว้แล้วข้างต้น

        ต่อจากนี้ไป จักได้พรรณนาความในสิกขาบท ๒๒๗ ข้ออันเป็นพระวินัยบัญญัติ ในการพรรณนานั้น จักยกขึ้นแสดงไปตามลำดับชื่ออาบัติ เริ่มแต่ปาราชิกเป็นต้นไป โดยจักแสดงคำแปลพระพุทธบัญญัติในพระปาติโมกข์ เนื้อความที่ท่านย่อเพื่อกำหนดท่องจำกันไว้ในหนังสือนวโกวาท อธิบายขยายความข้อความที่สำคัญและจำเป็นต้องรู้เพื่อประเทืองปัญญา เจตนารมณ์คือ พระพุทธประสงค์ที่ทรงบัญญัติแต่ละสิกขาบทไว้ซึ่งพอคาดได้ และอนาปัตติวารคือข้อยกเว้นที่ภิกษุไม่ต้องอาบัติตามสิกขาบทนั้น

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.018261901537577 Mins