จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๗ ถ้าคหบดีก็ดี คหปตานีก็ดี ผู้มิใช่ญาติ

วันที่ 18 มีค. พ.ศ.2565

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๗ ถ้าคหบดีก็ดี คหปตานีก็ดี ผู้มิใช่ญาติ

จีวรวรรค สิกขาบทที่ ๗

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “ถ้าคหบดีก็ดี คหปตานีก็ดี ผู้มิใช่ญาติ นำจีวรเป็นจำนวนมากมาปวารณาต่อภิกษุนั้น ภิกษุนั้นพึงยินดีจีวรมีอุตตราสงค์กับอันตรวาสกเป็นอย่างมากจากจีวรเหล่านั้น ถ้ายินดีเกินกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
          “ในสมัยเช่นนั้น จะขอเขาได้ก็เพียงผ้านุ่งผ้าห่มเท่านั้นถ้าขอให้เกินกว่านั้น ได้มาต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
        สิกขาบทนี้มีเนื้อความค่อนข้างชัดเจน โดยต่อเนื่องกับสิกขาบทก่อน คือ เมื่อจีวรถูกแย่งชิงหรือถูกขโมยไป สูญหายหรือเสียหายไป ทรงอนุญาตให้ภิกษุขอจีวรได้โดยถือว่าขอในสมัย เมื่อเขานำจีวรมาถวาย ก็สามารถรับได้แต่ในการรับนั้นต้องรู้จักประมาณ มิใช่เห็นแก่ได้แบบเขาถวายเท่าไรก็รับไว้ทั้งหมด โดยทรงแนะนำไว้ว่า เมื่อจีวรหายไป ๓ ผืน พึงยินดีรับเพียง ๒ ผืน คือผ้าอุตตราสงค์(ผ้าห่ม) กับผ้าอันตรวาสก (ผ้านุ่ง) เท่านั้น หากหายไป ๒ ผืน พึงยินดีรับได้๑ ผืน แต่ถ้าหายไปผืนเดียว ไม่พึงยินดีรับเลย

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้ 
       สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุรู้จักประมาณตน ไม่เห็นแก่ได้โดยใช่เหตุแม้จะมีโอกาสได้มาก ก็พึงรับพอประมาณ ทั้งนี้เพื่อลดภาระในการดูแลรักษาและการนำติดตัวไป ซึ่งทรงแนะนำไว้ว่า การจาริกไปในที่ต่างๆ นั้น พึงทตัวเหมือนกับนกซึ่งนำไปเฉพาะขนปีกและหางเท่านั้น ทำให้เกิดความสะดวกและคล่องตัวด้วยประการทั้งปวง

อนาปัตติวาร
       ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ

(๑) ภิกษุนำเอาไปด้วยคิดว่าจักนำจีวรที่เหลือมาคืน

(๒) คหบดีถวายด้วยบอกว่าจีวรที่เหลือเป็นของท่านรูปเดียว

(๓) คหบดีถวายมิใช่เพราะเหตุถูกชิงจีวรไป

(๔) คหบดีถวายมิใช่เพราะเหตุจีวรหาย

(๕) ภิกษุผู้ขอต่อญาติ

(๖) ภิกษุผู้ขอต่อคนปวารณา

(๗) ภิกษุซื้อมาด้วยทรัพย์ของตน

(๘) ภิกษุผู้วิกลจริต

(๙) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013569474220276 Mins