โกสิยวรรค หมวดว่าด้วยสันถัตใยไหม

วันที่ 08 เมย. พ.ศ.2565

โกสิยวรรค หมวดว่าด้วยสันถัตใยไหม

โกสิยวรรค
หมวดว่าด้วยสันถัตใยไหม

โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๑
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
         “อนึ่ง ภิกษุใดใช้ให้ทำสันถัตเจือด้วยใยไหม เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุหล่อสันถัตด้วยขนเจียมเจือด้วยไหม ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
         คำว่า ขนเจียม หมายถึงขนแกะ
         คำว่า สันถัต หมายถึงเครื่องลาดชนิดหนึ่งเหมือนพรม ใช้เป็นผ้าหรืออาสนะสำหรับรองนั่ง เป็นสิ่งที่เขาหล่อขึ้นมา มิได้ทอเหมือนพรม โดยเอาขนแกะโรยลงในน้ำข้าวหรือยางเหนียวที่พอให้ขนเจียมจับตัวกัน แล้วนำ ไปรีดหรือทับให้เรียบเป็นแผ่น หนาหรือบางตามต้องการ เมื่อแห้งแล้วสามารถนำติดตัวไปทำเป็นอาสนะได้

         คำว่า ใช้ให้ทำ หมายความว่า ทำเองก็ตาม ใช้ให้เขาทำก็ตาม ซึ่งสันถัตเจือด้วยใยไหมแม้เส้นเดียวเป็นทุกกฏในขณะทำ เมื่อทำเสร็จแล้วสันถัตนั้นเป็นนิสสัคคีย์ภิกษุต้องปาจิตตีย์

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้ 
         สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อให้ภิกษุหล่อสันถัตด้วยขนเจียมธรรมดาห้ามมิให้หล่อหรือผสมด้วยใยไหมลงไปแม้เพียงเส้นเดียว เพราะใยไหมได้มาจากการต้มตัวไหม เป็นการป้องกันมิให้ตัวไหมต้องตายเพราะการทำสันถัตของภิกษุและป้องกันมิให้ภิกษุต้องฆ่าสัตว์ซึ่งเป็นอาบัติอีกข้อหนึ่ง

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
         (๑) ภิกษุทำสันถัตเป็นเพดานก็ดีเป็นเครื่องลาดก็ดีเป็นม่านบังก็ดีเป็นปลอกฟูกก็ดีเป็นปลอกหมอนก็ดี
         (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
         (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่พวกภิกษุฉัพพัคคีย์

 

โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๒ – ๗
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ

สิกขาบทที่ ๒
          “อนึ่ง ภิกษุใดใช้ให้ทำสันถัตด้วยขนเจียมดำล้วนเป็น นิสสัคคิยปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๓
         “อนึ่งภิกษุผู้ใช้ให้ทำสันถัตใหม่ พึงเอาขนเจียมดำล้วน ๒ ส่วน ขนเจียมขาวเป็นส่วนที่ ๓ ขนเจียม แดงเป็นส่วนที่ ๔ ถ้าภิกษุเอาขนเจียมดำล้วน ๒ ส่วน ขนเจียมขาวเป็นส่วนที่ ๓ ขนเจียมแดงเป็นส่วนที่ ๔ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๔
         “อนึ่ง ภิกษุใช้ให้ทำสันถัตใหม่แล้วพึงใช้สอยให้ได้ ๖ ปี ถ้ายังหย่อนกว่า ๖ ปี เธอสละไปแล้วก็ตาม ยังไม่สละไปก็ตาม ซึ่งสันถัตนั้น ใช้ให้ทำสันถัตอื่นใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์เว้นไว้แต่ภิกษุได้สมมติ”

สิกขาบทที่ ๕
         “อนึ่ง ภิกษุผู้ใช้ให้ทำสันถัตสำหรับนั่ง พึงเอาสันถัตเก่าหนึ่งคืบสุคตโดยรอบมาผสมเพื่อทำให้เสียสี ถ้าภิกษุไม่เอาสันถัตเก่าหนึ่งคืบสุคตโดยรอบมาผสม ใช้ให้ทำสันถัตสำหรับนั่งใหม่ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๖
         “อนึ่ง ขนเจียมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้เดินทางไกล ภิกษุต้องการก็พึงรับได้ ครั้นรับแล้ว เมื่อไม่มีคนนำไปให้ ควรนำไปด้วยมือตนเองสิ้นระยะทาง ๓ โยชน์เป็นอย่างมาก เมื่อไม่มีคนนำไปให้ ถ้าเธอนำไปเองเกินกว่านั้น เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๗
         “อนึ่ง ภิกษุใดใช้ภิกษุณีผู้มิใช่ญาติ ให้ซักก็ดี ให้ย้อมก็ดี ให้สางก็ดี ซึ่งขนเจียมเป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

 

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท

สิกขาบทที่ ๒
         “ภิกษุหล่อสันถัตด้วยขนเจียมดล้วน ต้องนิสสัคคิย-ปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๓
         “ภิกษุจะหล่อสันถัตใหม่ พึงใช้ขนเจียมดำ ๒ ส่วนจนเจียมขาวส ่วนหนึ่ง ขนเจียมแดงส ่วนหนึ่ง ถ้าใช้ขนเจียมดำให้เกิน ๒ ส่วนขึ้นไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๔
         “ภิกษุหล่อสันถัตใหม่แล้ว พึงใช้ให้ได้๖ ปีถ้ายังไม่ถึง ๖ ปีหล่อใหม่ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์เว้นไว้แต่ได้สมมติ”

สิกขาบทที่ ๕
         “ภิกษุจะหล่อสัตถัต พึงตัดเอาสันถัตเก่าคืบหนึ่งโดยรอบมาปนลงในสันถัตที่หล ่อใหม ่ เพื่อจะทำลายให้เสียสีถ้าไม่ทำดังนี้ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๖
         “เมื่อภิกษุเดินทางไกล ถ้ามีใครถวายขนเจียม ต้องการก็รับได้ถ้าไม่มีใครนำมา ได้เพียง ๓ โยชน์ถ้าให้เกิน ๓ โยชน์ไป ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

สิกขาบทที่ ๗
         “ภิกษุใช้ให้นางภิกษุณีที่มิใช่ญาติให้ซักก็ดีให้ย้อมก็ดี ให้สางก็ดีซึ่งขนเจียม ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

 

อธิบายความโดยย่อและเจตนารมณ์
         สิกขาบทที่ ๒ ถึง สิกขาบทที่ ๗ เป็นเรื่องของสันถัตและมีเนื้อความชัดเจนในตัว แต่เจตนารมณ์ของแต่ละสิกขาบทมีต่างกันดังนี้

         สิกขาบทที่ ๒ ทรงห้ามทำสันถัตใหม่ด้วยขนเจียมดำล้วน ไม่ทราบเจตนารมณ์ชัดเจน อาจเป็นเพราะชาวบ้านเขานิยมใช้สีดำเป็นปกติของภิกษุน่าจะให้ต่างไป หรือสีดำเป็นสีอัปมงคล ไม่นิยมทั้งคฤหัสถ์และภิกษุก็ได้หรืออาจมีเหตุผลที่ลึกซึ้งกว่านี้ก็ได้


         สิกขาบทที่ ๓ ทรงอนุญาตให้ทำสันถัตใหม่โดยมีสีดำเพียงสองส่วนเท่านั้น คงต้องการให้มีสีอื่นปะปนอยู่ด้วย ไม่ดำล้วนซึ่งห้ามไว้แล้ว

         สิกขาบทที่ ๔ ทรงให้ภิกษุใช้สันถัตที่ทำใหม่ให้ได้๖ ปีเพื่อป้องกันการรบกวนชาวบ้านที่ต้องทำให้ใหม่อยู่ร่ำไป เพราะปกติชาวบ้านเขาใช้สันถัตคงทน แม้จะถูกเด็กอุจจาระปัสสาวะรด หรือถูกหนูกัด ก็ยังอยู่ได้ถึง ๕-๖ ปีหากภิกษุใช้สันถัตน้อยวันน้อยปีกว่านั้น แสดงว่าฟุ่มเฟือยหรือไม่รักษาของเว้นแต่ได้รับสมมติคือภิกษุมีสันถัตหาย เมื่อต้องการทำใหม่สงฆ์ต้องสมมติให้ทำ

         สิกขาบทที่ ๕ ทรงบัญญัติไว้เช่นนี้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุใช้สันถัตซึ่งมีสีอันวิจิตรงดงาม และเป็นการสร้างนิสัยให้ภิกษุเห็นความสำคัญของสันถัตเก่า โดยควรเก็บไว้แล้วนำบางส่วนมาผสมทำใหม่

         สิกขาบทที่ ๖ ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุผู้เดินทางไกลต้องหอบหิ้วขนเจียมติดตัวเพราะเป็นภาระ และเมื่อชาวบ้านเห็นเข้าก็อาจพูดสัพยอกหยอกเย้าเล่นว่าขนสิ่งของมาไกลเหมือนพ่อค้าซึ่งต้นเหตุของสิกขาบทนี้ก็อยู่ที่ภิกษุรูปหนึ่งโดนสัพยอกเช่นนี้ก็เกิดความเก้อเขิน จึงโยนขนเจียมทิ้งเมื่อไปถึงวัดเชตวัน

         สิกขาบทที่ ๗ ทรงบัญญัติไว้เพื่อมิให้ภิกษุไปรบกวนภิกษุณีที่มิใช่ญาติซึ่งอาจไม่รู้จัก ไม่คุ้นเคย ภิกษุณีย่อมเดือดร้อนเมื่อถูกใช้ให้ทำ หรืออาจทำ ให้เสียเวลาไปกับเรื่องนี้จนละเลยภาระส่วนตัวคือการฝึกอบรมในไตรสิกขาคือ อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ไป


โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
         “อนึ่ง ภิกษุใดรับก็ดี ให้รับก็ดี ซึ่งทองหรือเงิน หรือยินดีทองหรือเงินที่เขาเก็บไว้ให้ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุรับเองก็ดีใช้ให้ผู้อื่นรับก็ดีซึ่งทองและเงิน หรือยินดีทองและเงินที่เขาเก็บไว้เพื่อตน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
         คำว่า ทอง ตรัสหมายถึงวัตถุธรรมที่มีสีเหมือนพระฉวีวรรณของพระศาสดา ทรงใช้ศัพท์ว่า ชาตรูป ซึ่งหมายถึงทองคำธรรมชาติคือทองที่ยังเป็นแท่งหรือเป็นลิ่มอยู่ หรือทองรูปพรรณที่ขึ้นรูปเป็นสร้อยเป็นเครื่องประดับต่างๆ

         คำว่า เงิน ตรัสหมายถึงกหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้มาสกที่ทำด้วยครั่ง ทรงใช้ศัพท์ว่า รชต ซึ่งใช้เป็นอัตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในยุคนั้น

         กหาปณะ หมายถึงเงินตรามีพิกัดเท่ากับ ๑ มาสก หรือ ๑ ตำลึง(๔ บาท) อาจทำด้วยทองคำหรือด้วยเงินก็มี

         มาสก เป็นชื่อมาตราเงินสมัยพุทธกาล ๕ มาสกเท่ากับ ๑ บาท ใช้เป็นของแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในยุคนั้น

         ในหนังสือ อรรถกถาพระวินัย ท่านขยายความไว้ว่า

         “มาสกที่ทำด้วยแร่ทองแดงเป็นต้น เรียกว่า โลหมาสก ทำด้วยไม้แก่น ข้อไม้ไผ่ หรือทำด้วยใบตาลสลักเป็นรูป เรียกว่า มาสกไม้ ทำด้วยครั่ง ทำด้วยยาง ดุนให้เกิดรูปขึ้น เรียกว่า มาสกครั่ง

         ใน อรรถกถาพระวินัย นั้นได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า

         “กหาปณะและมาสกที่ใช้เป็นมาตราแลกเปลี่ยนซื้อขายกันในชนบท โดยที่สุดแม้ทำด้วยกระดูกบ้าง ทำด้วยหนังบ้าง ทำด้วยเมล็ดผลไม้บ้าง ดุนให้เป็นรูปบ้าง มิได้ดุนให้เป็นรูปบ้าง วัตถุเหล่านี้ทั้งหมด จัดเป็นนิสสัคคิยวัตถุ

         วัตถุเหล่านี้คือ มุกดา มณี ไพฑูรย์ สังข์ ศิลา ประพาฬ ทับทิม บุษราคัม ธัญญชาติ ๗ ชนิด ทาสหญิง ทาสชาย นา ไร่ สวนดอกไม้ สวนผลไม้ เป็นต้น จัดเป็นวัตถุแห่งทุกกฏ 

         วัตถุเหล่านี้ คือ ด้าย ผาลไถ ผืนผ้า ฝ้าย อปรัณณชาตมีอเนกประการ และเภสัช มีเนยใส เนยข้น น้ำมัน น้ำผึ้ง น้ำอ้อยงบ จัดเป็นกัปปิยวัตถุ (ของที่ควร)

         บรรดานิสสัคคิยวัตถุและทุกกฏวัตถุนั้น ภิกษุจะรับนิสสัคคิยวัตถุเพื่อประโยชน์ตนเอง หรือเพื่อประโยชน์แก่สงฆ์ คณะ บุคคล และเจดีย์ เป็นต้น ย่อมไม่ควร เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์แก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่ตนเอง เป็นทุกกฏแก่ภิกษุผู้รับเพื่อประโยชน์แก่คนที่เหลือ เป็นทุกกฏอย่างเดียว แก่ภิกษุผู้รับทุกกฏวัตถุ เพื่อประโยชน์ทุกอย่าง ไม่เป็นอาบัติในกัปปิยวัตถุ เป็นปาจิตตีย์ด้วยอำนาจที่มาในรัตนสิกขาบท แก่ภิกษุผู้รับวัตถุมีเงินเป็นต้นแม้ทั้งหมด ด้วยหน้าที่แห่งภัณฑาคาริก (ผู้มีหน้าที่จัดเก็บสิ่งของ) เพื่อต้องการจะเก็บไว้”

         คำว่า ยินดีด้วยทองและเงินที่เขาเก็บไว้ให้ ท่านวินิจฉัยไว้ว่า

         “เมื่อเขากล่าวว่าอันนี้เป็นของพระคุณเจ้า ถ้าแม้นภิกษุยินดีด้วยจิต เป็นผู้ที่จะรับเอาด้วยกายหรือวาจา แต่ปฏิเสธว่าอันนี้ไม่ควร ไม่เป็นอาบัติ แม้ไม่ห้ามด้วยกายและวาจา เป็นผู้มีจิตบริสุทธิ์ ไม่ยินดีด้วยคิดว่าไม่สมควรแก่เรา ก็ไม่เป็นอาบัติเหมือนกัน 

         บรรดาไตรทวาร อันภิกษุห้ามแล้วด้วยทวารใดทวารหนึ่ง ย่อมเป็นอันห้ามแล้วแท้ แต่ถ้าไม่ห้ามด้วยกายและวาจา รับอยู่ด้วยจิต (คือมีใจยินดี) ย่อมต้องอาบัติในกายทวารวจีทวาร มีการไม่กระทำเป็นสมุฏฐาน เพราะไม่กระทำการห้ามที่ตนพึงกระทำด้วยกายวาจา ด้วยว่าอาบัติทางมโนทวารไม่มี”

         มีการอธิบายเพิ่มเติมขึ้นมาว่า สิกขาบทนี้เป็นอจิตตกะ เรื่องเงินและทองนี้ถือเป็นกวดขัน แต่ภายหลังมีพุทธานุญาตในที่อื่นให้ผ่อนลงมา คือถ้าคฤหัสถ์เอารูปิยะมอบไว้ในมือกัปปิยการก (คฤหัสถ์ผู้เป็นศิษย์) สั่งไว้ว่า จงจัดของอันเป็นกัปปิยะ (ของที่ถูกต้องพระวินัย) ถวายภิกษุสิ่งใดเป็นของควรทรงอนุญาตให้ยินดีของนั้นซึ่งเกิดจากรูปิยะนั้นได้แต่ทรงห้ามมิให้ยินดีรูปิยะนั้น กล่าวคือยินดีในรูปิยะไม่ได้แต่ถ้าเขาเอารูปิยะนั้นไปซื้อหาแลกเปลี่ยนเป็นอาหารหรือสิ่งของมาถวาย ก็ยินดีหรือรับไว้ได้

         สิกขาบทนี้ ถ้าดูตามพระบาลีที่เป็นสิกขาบท ดูต้นบัญญัติที่เป็นเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบทนี้ และดูคำอธิบายในสิกขาบทวิภังค์แล้ว ทรงห้ามรับ ชาตรูป คือทองคำธรรมชาติ และ รชต คือเงินตรา หรือกหาปณะ หรือมาสกซึ่งเป็นโลหะและวัตถุที่ใช้แทนเงินตราเป็นหลัก

         แต่พระอรรถกถาจารย์ในยุคต่อมาโดยเฉพาะพระมหาเถระที่อยู่ในประเทศศรีลังกาปัจจุบันได้อธิบายขยายความเพิ่มขึ้นมากมายว่าทองและเงินนั้นหมายถึงวัตถุสิ่งของต่างๆ ที่ใช้แลกเปลี่ยนแทนเงินตราได้จัดเป็นวัตถุต้องห้ามทั้งสิ้น ทั้งที่ในพระวินัยข้ออนาปัตติวารมีข้อยกเว้นไว้ว่า ทองหรือเงินตกอยู่ภายในวัดก็ดี ภายในที่อยู่ก็ดี ภิกษุหยิบยกเองก็ดี ใช้ให้หยิบยกก็ดี แล้วเก็บไว้ด้วยตั้งใจว่า เป็นของผู้ใด ผู้นั้นจักมาเอาไป ภิกษุนั้นไม่เป็นอาบัติ หากไม่เก็บกลับถูกปรับเป็นอาบัติฐานละเลยไม่เก็บงำสมบัติของชาวบ้านที่เขาลืมไว้ซึ่งอาจสูญหายไปได้ดังเช่นกรณีที่พระอานนท์เก็บเครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ของนางวิสาขาเป็นต้น

         ดังนั้น จึงเกิดความสับสนทั้งในการทำความเข้าใจ ทั้งในการปฏิบัติทั้งในการอธิบายความ ว่าจะยึดถือปฏิบัติและทำความเข้าใจอย่างไรดีจึงจะถูกต้องและเหมาะสม คือจะยึดไปตามข้อพระบัญญัติหรือขยายไปถึงข้อที่พระอรรถกถาจารย์ตีความเพิ่มเติมไว้ยิ่งในสมัยปัจจุบัน สิ่งที่สามารถใช้แทนเงินตราได้ที่โลกนิยมกันอยู่ เช่นธนบัตร เช็ค บัตรเครดิต ใบสัญญา ตราสารหนี้และอื่นๆ ล้วนเป็นสิ่งที่จำเป็นในการดำเนินชีวิตและในการพัฒนา ในการบริหารจัดการกิจการของหมู่คณะและการพระศาสนามาก ซึ่งเราจะมีทางออกกันอย่างไร

         ปัญหานี้มิใช่เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดมาแล้วตั้งแต่พระพุทธศาสนายังมั่นคงอยู่ที่อินเดียแล้วก็ขาดการดูแลเอาใจใส่จนเลื่อนขยายออกไปที่ประเทศศรีลังกา ประเทศพม่า ประเทศไทย และประเทศอื่นๆ และที่ขยายไปทางทิศตะวันตก เช่น ประเทศเปอร์เซียหรืออิหร่าน ประเทศบังคลาเทศปัจจุบัน ก็เจริญก้าวหน้ามายุคหนึ่งแล้วขาดตอนไป

         เรื่องเหล่านี้เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าศึกษาวิจัย และส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากผลของการตีความสิกขาบทนี้แล้วยึดติดมั่นคง ทำให้เกิดความคิดแตกแยกแล้วก็เกิดการกระทำก็แตกแยกตามมา แม้ในส่วนที่ยังมั่นคงอยู่ก็อาจประสบภาวะเช่นนี้ได้


เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
         สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันภิกษุมิให้ยินดีรับทองและเงินที่เขาถวาย อันจะเป็นเหตุให้ถูกตำหนิติติงได้ว่าประพฤติเหมือนพวกคฤหัสถ์ที่มีเงินทอง เก็บเงินทอง หรือยินดีเงินทองที่คนอื่นเก็บไว้ให้
         อีกประการหนึ่งเมื่อภิกษุรับหรือยินดีทองและเงินอยู่ก็ยิ่งจะทวีความปรารถนายิ่งขึ้นไม่หยุดหย่อน และเป็นเหตุให้สะสมมากขึ้นทุกทีอันเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะไม่ควรแก่เพศและจริยาของตน ทั้งเป็นเหตุให้มีความกังวลที่ต้องระวังรักษา ไปไหนก็ห่วงใย ไปไม่สะดวกปลอดโปร่งใจ และป้องกันภัยอันตรายอันจะเกิดขึ้นจากการมีเงินทองไว้กับตัว

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
         (๑) ทองหรือเงินตกอยู่ภายในวัดก็ดีภายในที่อยู่ก็ดีภิกษุหยิบยกเองก็ดีใช้ให้หยิบยกก็ดีแล้วเก็บไว้ด้วยตั้งใจว่า เป็นของผู้ใด ผู้นั้นจักมาเอาไป 
         (๒) ภิกษุผู้วิกลจริต 
         (๓) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร


โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๙
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
         “อนึ่ง ภิกษุใดทำการแลกเปลี่ยนรูปิยะมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุแลกเปลี่ยนของกับคฤหัสถ์ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
         คำว่า รูปิยะ ได้แก่ ทองคำ กหาปณะ มาสกที่ทำด้วยโลหะ มาสกที่ทำด้วยไม้มาสกที่ทำด้วยครั่ง ซึ่งใช้เป็นอัตราสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขายได้ (ดูรายละเอียดในโกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๘)

         คำว่า ทำการแลกเปลี่ยน หมายถึงการซื้อขาย

         คำว่า มีประการต่างๆ คือ รูปิยะที่เป็นรูปพรรณ เช่น เป็นเครื่องประดับศีรษะ เป็นเครื่องประดับคอ เป็นเครื่องประดับมือ เป็นเครื่องประดับเท้า เป็นเครื่องประดับเอว เป็นต้นบ้าง และรูปิยะที่ไม่เป็นรูปพรรณ คือยังมิได้เปลี่ยนแปลงรูปทรง ยังคงเป็นลิ่มหรือเป็นแท่งอยู่

         สิกขาบทนี้หมายถึงการเอาทองและเงินไปจ่ายซื้อกัปปิยบริขารต่างๆ จ่ายเป็นค่าแรงงาน หรือจ่ายทำการอย่างอื่น

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
         สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อประโยชน์แก่ภิกษุเป็นการป้องกันมิให้ภิกษุรับทองและเงินตามสิกขาบทก่อนแล้วนำมาจ่ายซื้อสิ่งของ หรือจ่ายเป็นค่าจ้างทำงาน เป็นต้น เท่ากับว่าทรงห้ามไว้สองชั้น

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
         (๑) ภิกษุผู้วิกลจริต 
         (๒) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พวกภิกษุฉัพพัคคีย์


โกสิยวรรค สิกขาบทที่ ๑๐
คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
         “อนึ่ง ภิกษุใดทำการซื้อขายมีประการต่างๆ เป็นนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
         “ภิกษุทำการซื้อขายด้วยรูปิยะ คือของที่เขาใช้เป็นทอง และเงิน ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
         คำว่า ซื้อขาย ได้แก่การซื้อและการขายเช่น ภิกษุถือเอากัปปิยภัณฑ์ของคนอื่นมาเป็นของตน ชื่อว่า ซื้อ เมื่อให้กัปปิยภัณฑ์ของตนแก่ผู้ที่ตนรับของมา ชื่อว่า ขาย หรือในเวลาทำภัณฑะ (สิ่งของ) ของผู้อื่นให้อยู่ในมือของตน ชื่อว่า ซื้อ ในเวลาทำภัณฑะของตนให้อยู่ในมือของคนอื่น ชื่อว่า ขาย

         คำว่า ทำการซื้อขาย คือ ภิกษุพูดเป็นเชิงบังคับว่า จงให้ของสิ่งนี้ด้วยของสิ่งนี้หรือจงแลกของสิ่งนี้ด้วยของสิ่งนี้เป็นต้น ต้องอาบัติทุกกฏ เมื่อมีการซื้อขายกันเสร็จแล้ว คือของของตนไปอยู่ในมือของคนอื่น หรือของของคนอื่นมาอยู่ในมือของตน เป็นอาบัตินิสสัคคิยปาจิตตีย์

เจตนารมณ์ของสิกขาบทข้อนี้
         สิกขาบทนี้เกิดขึ้นจากการที่ภิกษุมีผ้าสังฆาฏิเก่าแต่ตบแต่งใหม่จึงสวยงาม ปริพาชกมาเห็นเข้าก็ชอบใจ จึงขอแลกกับผ้าของตน ภิกษุบอกว่าดูเอาเองก็แล้วกัน ปริพาชกบอกว่าตนรู้จึงแลกกันไป ต่อมาปริพาชกถูกพรรคพวกตำหนิว่าผ้าที่แลกมานี้สวยแต่ราคาถูก ปริพาชกผู้นั้นพิจารณาแล้วก็เห็นด้วย นำผ้าสังฆาฏิกลับมาคืนภิกษุ แต่ภิกษุไม่ยอมรับ ปริพาชกจึงได้ตำหนิโพนทะนาภิกษุว่า ธรรมดาคฤหัสถ์ยังคืนให้แก่คฤหัสถ์ผู้เดือดร้อน แต่นี่เป็นบรรพชิตจักไม่คืนให้แก่บรรพชิตด้วยกันเชียวหรือ พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติเป็นข้อห้ามไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุถูกกล่าวหาว่าใจแคบ และทำการแลกเปลี่ยนซื้อขายกันโดยไม่ยุติธรรม

อนาปัตติวาร
         ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
         (๑) ภิกษุถามราคา 
         (๒) ภิกษุบอกแก่กัปปิยการก (ลูกศิษย์) ว่า เรามีของสิ่งนี้อยู่แต่เราต้องการของสิ่งนี้และสิ่งนี้
         (๓) ภิกษุผู้วิกลจริต
         (๔) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ พระอุปนันทศากยบุตร

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0052817980448405 Mins