มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริงแก่อนุปสัมบัน ต้องปาจิตตีย์

วันที่ 24 พค. พ.ศ.2565

มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๘ ภิกษุบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริงแก่อนุปสัมบัน ต้องปาจิตตีย์

มุสาวาทวรรค สิกขาบทที่ ๘

คำแปลพระบาลีที่เป็นพุทธบัญญัติ
        “อนึ่ง ภิกษุใดบอกอุตตริมนุสสธรรมแก่อนุปสัมบัน เป็นปาจิตตีย์ เพราะมีจริง”

เนื้อความย่อในหนังสือนวโกวาท
        “ภิกษุบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริงแก่อนุปสัมบัน ต้องปาจิตตีย์”

อธิบายความโดยย่อ
        คำว่า อุตตริมนุสสธรรม หมายถึงธรรมที่ข้ามพ้นพวกมนุษย์, ธรรมที่ล่วงเลยพวกมนุษย์แล้วทำให้ลุถึงความเป็นพรหม หรือภาวะนิพพาน (พึงดูรายละเอียดใน ปาราชิก สิกขาบทที่ ๔)
        คำว่า อนุปสัมบัน คือ ผู้ที่ยังมิได้อุปสมบทเป็นภิกษุหรือเป็นภิกษุณี ได้แก่ สามเณร สามเณรีนางสิกขมานา นักบวชลัทธิอื่น และคฤหัสถ์ทุกคนทั้งชายและหญิง

        การบอกอุตตริมนุสสธรรมตามสิกขาบทนี้ที่เป็นมูลเหตุให้ทรงบัญญัติสิกขาบทก็โดยเหตุที่มีภิกษุต้องการปัจจัย ๔ มาเลี้ยงชีพ เพราะถิ่นนั้นอดอยากแร้นแค้นขึ้นมา ภิกษุทั้งหลายจึงโกหกชาวบ้านว่าท่านรูปนั้นได้บรรลุธรรมชั้นนี้ท่านรูปนี้ได้บรรลุธรรมชั้นนั้น ทำให้ชาวบ้านเชื่อและศรัทธาเลื่อมใส ถวายปัจจัย ๔ เลี้ยงดูภิกษุเหล่านั้น


เจตนารมณ์ของสิกขาบทนี้
        สิกขาบทนี้ทรงบัญญัติไว้เพื่อป้องกันมิให้ภิกษุพูดโอ้อวด แสดงตนเป็นผู้วิเศษ แม้สิ่งที่พูดจะมีจริงเป็นจริงในตน เพราะเป้าหมายของการบวชก็คือการบรรลุธรรมถึงความบริสุทธิ์เฉพาะตน มิใช่เพื่อเมื่อบรรลุแล้วโอ้อวดและการพูดเช่นนั้นแสดงว่ามีวัตถุประสงค์คือเพื่อให้ได้ปัจจัย ๔ เพื่อเกียรติยศชื่อเสียง และเพื่อให้ชาวบ้านศรัทธาเลื่อมใส

อนาปัตติวาร
ในสิกขาบทนี้ท่านแสดงภิกษุผู้ได้รับยกเว้นไม่ต้องอาบัติไว้คือ 
       (๑) ภิกษุบอกอุตตริมนุสสธรรมที่มีจริงแก่อุปสัมบัน 
       (๒) ภิกษุผู้เป็นต้นบัญญัติหรือ ภิกษุอาทิกัมมิกะ ได้แก่ ภิกษุฝั่งแม่น้ำวัคคุมุทา

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.030561550458272 Mins