หลวงพ่อวัดปากน้ำ กับการเผยแผ่วิชชาธรรมกาย
คำว่า “ธรรมกาย” นั้น ยังไม่ได้ยินใครนำมาพูดเลยในประเทศไทย ที่เขียนอย่างนี้หมายความว่า ยังไม่มีใครนำมาแสดงเป็นหลักปฏิบัติทางพระกรรมฐาน มีองค์เดียวเท่านั้นที่นำคำว่าธรรมกายมาใช้สอนพุทธบริษัท ท่านผู้นั้นคือ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
คำว่า “ธรรมกาย” นั้น พระคุณท่านไม่ได้บัญญัติขึ้นเอง แต่หากท่านปฏิบัติธรรมได้มาแล้ว ซึ่งตรงกับคำที่มีอยู่ในพระไตรปิฎกด้วย เมื่อท่านค้นคว้าได้มา บังเอิญไปตรงกับพระไตรปิฎกเข้า จึงเป็นเรื่องที่ท่านภูมิใจและมั่นใจว่า ของจริงมีจริง และมีอยู่ในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ของจริงนั้น บุคคลจะพึงเห็นได้ด้วยการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริงเท่านั้น มิใช่จะเกิดขึ้นเพราะความคิดนึกและความปรารถนา
เมื่อคำว่า “ธรรมกาย” แพร่หลายออกไป ถึงกับเข้าหูท่านผู้เป็นนักปราชญ์มหาบัณฑิต ทำความฉงนสนเท่ห์ให้เกิดขึ้นในวงการคณะสงฆ์ บางท่านก็ปลงใจเอาว่า หลวงพ่อวัดปากน้ำมีความรู้และการปฏิบัติธรรมเกินธงเสียแล้ว ถ้าปล่อยทิ้งไว้จะเป็นภัยแก่ศาสนา แต่ยังไม่มีใครกล้าจะยกความผิดขึ้นมาพิจารณา เพราะเวลานั้นคนทุกชั้นถวายความเคารพนับถือว่าท่านเป็นคณาจารย์ที่มีศิษยานุศิษย์มาก ทั้งสามารถปกครองพระภิกษุสามเณรเป็นจำนวนหลายร้อยรูป มิใช่เพียงแต่ปกครองเปล่า ได้จัดการเลี้ยงอาหารเช้า และเพลถวายแก่พระภิกษุสามเณรตลอดปี และตลอดอายุของท่าน นับแต่เริ่มจัดการเลี้ยงพระภิกษุสามเณรมา
เมื่อธรรมกายเกิดขึ้น วัดปากน้ำได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์กันมาก บางพวกก็ปลื้มใจ บางพวกก็หนักใจ บางพวกก็ตั้งข้อกล่าวหาลงโทษวัดปากน้ำอย่างหนัก ถึงกับพูดว่า อวดอุตริมนุสธรรมก็มี ข่าวนี้มิใช่ท่านจะไม่รู้ ท่านได้ยินเสมอๆ แต่เสียงนั้นก็ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนใจแก่ท่านแม้แต่น้อย ท่านกลับภูมิใจเสียอีกที่ได้ยินได้ฟังคำเช่นนั้น
ผู้เขียนได้เคยปรารภเรื่องนี้กับท่านเจ้าคุณวัดปากน้ำ แสดงความหนักใจให้ท่านเห็น ท่านกลับพูดว่า
“คนเช่นเราใช่จะไร้เสียซึ่งปัญญา ชั่วก็รู้ ดีก็เห็น เราจะฆ่าตัวเองเพราะความปรารถนาลามกทำไม ที่เขาพูดหาว่าเราอย่างนั้น บางคนคงจะไม่รู้จักคำว่า “ธรรมกาย” มีอยู่ที่ไหน หมายเอาใคร เขาอาศัยความไม่รู้มาว่าเราผู้ตั้งใจปฏิบัติชอบ เมื่อผู้ไม่รู้ติเตียนเรา ความไม่รู้ของเขาจะลบล้างสัจธรรมของพระพุทธศาสนาได้อย่างไร ถ้าจะลบก็ลบได้เพียงชั่วคราว ไม่ช้าดวงแก้วของพระพุทธศาสนาก็จะเปล่งรัศมีให้ผู้มีปัญญาเห็นด้วยสายตาของตนเอง
การที่เขานำไปพูดเช่นนั้น เป็นผลแห่งการปฏิบัติที่เราได้กระทำกันอยู่ แสดงให้เห็นว่าคณะวัดปากน้ำไม่ได้กินแล้วนอน เป็นสำนักที่เคร่งครัดในการปฏิบัติธรรม การพูดของเขาเท่ากับเอาสำนักไปเผยแพร่ ดีเสียกว่าการโฆษณาทางหนังสือพิมพ์ เพราะการที่เขานำไปพูดนั้น เป็นการกระทำของผู้พูดเอง เราไม่ได้จ้างไม่ได้วานใคร เมื่อพูดทางไม่ดี ก็ต้องมีคนพูดทางดีได้เหมือนกัน ธรรมะจะต้องชนะอธรรมเสมอ เราไม่เดือดร้อนใจ เพราะ “ธรรมกาย” ของพระพุทธศาสนาเป็นของแท้ ไม่ใช่ของเก๊หรือของเทียม ธรรมกายจะปรากฏเป็นของจริงแก่ผู้เข้าถึงธรรม เรื่องอย่างนี้เราไม่หวั่น เราเชื่อในคุณพระพุทธศาสนา”
จากหนังสือ "ชีวประวัติของพระมงคลเทพมุนี (หลวงพ่อวัดปากน้ำ)
และอานุภาพธรรมกาย" หน้า ๓๓-๓๔
พระนิพนธ์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (ปุ่น ปุณฺณสิริ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๗