อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ

พระมหาสิริราชธาตุ รุ่นดูดทรัพย์ สำหรับ ผู้สร้างพระธรรมกายประจำตัวภายในมหาธรรมกายเจดีย์นั้น จะได้รับของที่ระลึกเป็นพระธรรมกายของขวัญ

อานุภาพพระมหาสิริราชธาตุ ครอบครัว นักสร้างบารมี

ครอบครัว นักสร้างบารมี

อุบาสกแก้ว แห่งวัดพระธรรมกาย

ความเจริญรุ่งเรืองและดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนา ขึ้นอยู่กับความร่วมมือร่วมใจของพุทธบริษัท ๔ ได้แก่ พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทั้งภายในและภายนอกวัด


อุบาสก คือชายผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย โดยเฉพาะอุบาสกที่เป็นเจ้าหน้าที่ช่วยงานวัด คือบุคคลที่สละความสุขภายนอก มาช่วยงานพระพุทธศาสนาโดยมิได้มุ่งหวังเงินทอง เกียรติยศชื่อเสียง ต้องการเพียงอย่างเดียวคือบุญ อันเป็นความสุขภายในที่่ทุกคนสามารถสัมผัสได้


ความสำเร็จของการเผยแผ่พระพุทธศาสนาของวัดพระธรรมกายนั้น ส่วนหนึ่งเกิดมาจากการอุทิศชีวิตช่วยงานพระพุทธศาสนาของอุบาสก อุบาสกที่เป็นผู้ที่จบการศึกษาทางโลก แล้วเสียสละอุทิศตัวเอง เข้ามาศึกษาทางธรรม ถือศีล ๘ เป็นเจ้าหน้าที่ช่วยงานวัดพระธรรมกาย และมูลนิธิธรรมกาย โดยไม่หวังค่าจ้าง เงินเดือน หวังเพียงบุญบารมีเท่านั้น มีจำนวนประมาณ ๒๐๐ คน เรื่องต่อไปนี้ขอเสนอเส้นทางของ ๔ พี่น้อง คือ "ครอบครัวพันธุ์วิริยรัตน์" ที่เมื่อจบการศึกษาแล้ว ได้เข้ามาเป็นอุบาสกมาช่วยงานพระพุทธศาสนาอย่างเต็มตัว

พื้นฐานของครอบครัวนี้ นับถือศาสนาอื่นที่ไม่ใช่พระพุทธศาสนา เป็นชาวทะเลบนเกาะเล็กๆ ชื่อเกาะมุกด์ ห่างไกลความเจริญ อยู่ในฝั่งทะเลอันดามัน จังหวัดตรัง ปัจจุบัน "ครอบครัวพันธุ์วิริยรัตน์" นับถือพระพุทธศาสนากันทั้งหมด... และทั้งหมดก็เป็น ศิษย์วัดพระธรรมกาย


เรามาติดตามเรื่องราวของครอบครัวนี้ จากอุบาสกวินิช ซึ่งเป็นบุคคลแรกที่ก้าวเข้ามาเป็นอุบาสก ขณะนี้อยู่วัดมาได้ ๑๑ ปี เขาเล่าว่า
"เป็นเรื่องแปลกแต่จริง ผมเป็นคนชอบพระสงฆ์ตั้งแต่เด็ก ผมจำได้ ปีๆ หนึ่งจะมีพระธุดงค์มาที่เกาะ ซึ่งมีแค่สำนักสงฆ์ ผมจะต้องไปคลุกคลีกับท่าน โดยเฉพาะเครื่องรางของขวัญผมชอบมาก หากระดูกปลาพะยูน หาหลอดยาสีฟัน ให้ท่านทำของขลัง, ทำตะกรุดบ้าง ทั้งที่ในทะเบียนบ้านของผมนับถือศาสนาของพ่อ ผมเคยทำผิดพิธีทางศาสนาของพ่อในวันศุกร์เพียงครั้งเดียว แล้วผมก็ไม่กล้าไปร่วมพิธีอีกเลย มีความรู้สึกว่า กลัว ไม่ชอบ และยิ่งอัศจรรย์มากขึ้น เพราะพ่อ ไม่ดุด่า หรือทุบตีเลย ที่เราไปเป็นลูกศิษย์พระธุดงค์ ซึ่งผมมีความสุขมาก ที่ได้กินนอนกับท่านที่สำนักสงฆ์"

อุบาสกวินิชได้เล่าถึงการเข้าวัดพระธรรมกายว่า
"ตอนนั้นผมเรียนอยู่ที่วิทยาลัยเกษตรกรรมตรัง ชั้นปวช.๒ มีพระป่ามาหาที่วิทยาลัย เพื่อจะชวนไปบวชธรรมทายาท ณ วัดพระธรรมกาย พอผมทราบข่าวจากเพื่อนก็หูผึ่งเลย อยากบวช เพราะคุณพ่อคุณแม่ท่านเสียชีวิตไปหมดแล้ว ไม่รู้จะตอบแทนพระคุณท่านอย่างไรดี รู้อย่างเดียวว่า ถ้าบวชแล้วพ่อแม่จะได้บุญมาก ครั้นจะบวชเองก็ไม่มีเงิน ค่าใช้จ่ายสูง พอพระป่าท่านมาชวน แล้วบอกว่า มีเจ้าภาพสนับสนุนทุกรายการ สรุปง่ายๆ คือฟรี บวชฟรีและเป็นช่วงปิดเทอมด้วย ผมสมัครทันทีเลย"

จุดหักเหของอุบาสกวินิชก็คือ ธรรมทายาทรุ่นที่ ๑๒ (ปี พ.ศ. ๒๕๒๗)
"ใช่ครับ! ตอนแรกต้องบอกว่าโหดมากสำหรับผม เพราะภาพที่ผมฝันไว้ กับความจริงมันคนละอย่าง ผมวาดภาพว่าเมื่อมาถึง วัดจะมีการซ้อมขานนาค แล้วก็บวชเลย ความเป็นจริง ถูกจับโกนหัวก่อน จับนั่งสมาธิ ซึ่งตั้งแต่เกิดมาไม่เคยนั่งเลย ที่ทรมานที่สุดคือ อดข้าวเย็น เจ้าพระคุณเอ๋ย... ปกติเรากินวันละ ๕ มื้อ มาเหลือ ๒ มื้อ... แทบจะเผ่นกลับบ้าน ภาวะจำยอมครับ เนื่องจากเรามาฟรี จึงไม่มีเงินกลับ เจ้าภาพจะมารับกลับเมื่อลาสิกขาแล้ว ทรมานจิตใจและร่างกายอยู่ ๗ วัน ความรู้สึกนึกคิดเริ่มเปลี่ยน ร่างกายเริ่มชิน มีความสุขมากขึ้น ธรรมะที่คิดว่าล้าสมัย น่าเบื่อ น่านอน ที่นี่ไม่ใช่ น่าฟัง น่าติดตาม ไม่อยากนอน ฟังแล้วมีกำลังใจทำความดี ผมจำได้ว่ารุ่นนั้นพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว (ประธานการอบรม) ท่านเทศน์ให้ฟังทุกบ่าย เรื่องลักษณะมหาบุรุษ ว่ามีจริงอย่างไร? ทำอะไรจึงได้ เป็นเหตุ เป็นผล และเป็นครั้งแรกที่ผมจดธรรมะได้เป็นเล่ม วันแล้ววันเล่า จริยวัตรของหลวงพ่อ หลวงพี่ที่อบรม ผมได้ซึมซับต้นแบบที่ดี ต้นแบบแห่งการเสียสละ จากการที่ได้นั่งสมาธิอย่างต่อเนื่อง ไม่ต่ำกว่าวันละ ๘ ชั่วโมง ใจเริ่มละเอียดอ่อน จนมีอุดมการณ์ว่า เมื่อเรียนจบ ตั้งใจจะบวชตลอดชีวิตอุทิศชีวิตให้พระพุทธศาสนาเหมือนพระเดชพระคุณหลวงพ่อ วันบวชปลื้มปีติ วันลาสิกขาร้องไห้ เสียดายผ้าเหลือง ถ้าตอนนั้นผมเรียนจบแล้ว ผมจะบวชต่อ ไม่ลาสิกขา ตั้งเป้าหมายในใจว่า จบแล้วจะกลับมา"

อุบาสกวินิช ได้กล่าวถึง วิธีการรักษาเป้าหมายชีวิตว่า "เมื่อผมมีเป้าหมายอย่างนี้ ผมก็เริ่มศึกษาว่า รุ่นพี่เขาทำอย่างไร? ก็ได้หลักว่าวันธรรมดาให้รักษาศีล ๕ วันพระรักษาศีล ๘ แล้วหาพวกเดียวกันตั้งชมรมพุทธฯ แล้วหมั่นมาวัด ชวนรุ่นพี่ รุ่นเดียวกัน และรุ่นน้อง บวชธรรมทายาท ทำอย่างนี้จนเรียนจบเกษตรฯ ตรัง"
ปี ๒๕๓๐ ก้าวเข้ามาเป็นอุบาสก
"...ครับ! เป้าหมายของผมคือบวชตลอดชีวิต แต่ผมต้องฝึกฝนและพิสูจน์ตนเองก่อน ช่วงแรกก็เป็นเจ้าหน้าที่แก้วภูธร แล้วก็อยู่โครงการปฏิบัติธรรมพิเศษ" (ขณะนี้อยู่ได้ ๖ ปีกว่า)
 
แล้วอุบาสกวินิช ก็ได้อธิบายถึงการชวนพี่ๆ น้องๆ เข้าสู่เส้นทางของอุบาสกดังนี้"เมื่อผมเป็นอุบาสกได้ระยะหนึ่ง ก็เห็นว่าเส้นทางนี้ประเสริฐที่สุด ก็เริ่มคิดถึงพี่ๆ น้องๆ น่าจะได้สร้างบารมีเช่นเดียวกัน โดยเริ่มต้นกับคนที่ง่ายที่สุดคือ อุบาสกศักดิ์ชัย (คนสุดท้อง) อุบาสกสมโชค (คนรองสุดท้อง) โดยการให้มาบวชธรรมทายาท เมื่อเขาได้อบรม เขาก็มีอุดมการณ์เช่นเดียวกับเรา อุบาสกศักดิ์ชัยเมื่อเรียนจบเทคนิคกรุงเทพ ก็เข้ามาเป็นอุบาสก ปัจจุบันช่วยงานแก้วภูธร
 
ส่วนอุบาสกสมโชค เมื่อจบจากการอบรม ก็ทำเช่นเดียวกับผมขณะที่ยังเรียนอยู่ คือทำกิจกรรมพุทธศาสนา เขาเรียนคณะเภสัช อยู่ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร เป็นประธานชมรมพุทธ จัดรถมาวัดทุกต้นเดือน เอาคนมาบวช ฯลฯ เมื่อจบ และทำงานใช้ทุนหมดแล้ว ก็ก้าวมาเป็นอุบาสก ตอนนี้เป็นหัวหน้ากลุ่มบัณฑิตรัตน์ "
เป็นอุบาสก ๓ คนแล้ว อีกคนหนึ่งละครับ
 
" อีกคนหนึ่งคือพี่ชาย คืออุบาสกวิชิต ตอนเรียนได้ทุนจากรัฐบาลอังกฤษ ไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ๑๐ ปี กลับมาก็ทำงานในบริษัท มีเงินเดือนหลายหมื่น ตอนแรกก็ชวนมาวัดก่อน พร้อมกับน้องอีกคนคือ กัลยาณมิตร ปรีชา แล้วก็ชวนให้บวชธรรมทายาท ทั้งสองคนก็บวช เมื่อลาสิกขาแล้ว ก็ทำงานทางโลกต่อ ครั้นมหาธรรมกายเจดีย์เกิดขึ้น ก็เลยชวนพี่วิชิตลาออกจากงานมาช่วยกันสร้างมหาธรรมกายเจดีย์ก่อน พี่วิชิตก็ตกลง ตอนนี้ทำงานอยู่ที่แก้วภูธร ส่วนกัลยาณมิตรปรีชา ก็เป็นผู้นำบุญแก้วภูธร มาวัดทุกวันอาทิตย์"
กว่าจะได้อย่างนี้ เป็นอุบาสก ๔ คน ผู้นำบุญ ๑ คน ใช้เวลานานเท่าไร

"...๗ ปี ครับ ๗ ปีแห่งความพากเพียร อันที่จริงไม่ได้มีแค่ ๕ คนนะครับ ผมมีพี่สาวอีกสองคน โดยพี่สาวคนโต เป็นพี่สาวต่างบิดา ส่วนพี่สาวที่ท้องเดียวกัน คือกัลยาณมิตรสุจิต (วีระกุล) ตอนนี้เป็นผู้นำบุญแก้วภูธร จ.ตรัง ส่วนพี่สาวต่างบิดาก็ได้มาสร้างบุญที่วัดพระธรรมกายเช่นเดียวกัน
ไม่ง่ายและไม่ยาก อยู่ที่ตัวเราต้องมีอุดมการณ์มั่นคง ใช้เวลา และความอดทน ในที่สุดก็สำเร็จ"
สุดท้ายนี้อุบาสกวินิชได้กล่าวด้วยเสริมความเชื่อมั่นว่า
"ณ เวลานี้ ผมเชื่อมั่น มั่นใจ และมั่นคงในเส้นทางแห่งการสร้างบารมี ซึ่งได้ ใช้เวลาผ่านมาไม่ต่ำกว่า ๑๑ ปีแล้วจากความเชื่อเบื้องต้นว่า ถ้าพระพุทธศาสนาไม่ดีจริง คงไม่มีหลวงพ่อทั้งสอง จากบัณฑิตหนุ่มผู้มีความรู้ และความสามารถ สละความรุ่งเรืองทางโลก มาบวชเป็นพระอุทิศแรงกาย แรงใจในพระพุทธศาสนา

ในวันแรกที่ได้พบต้นแบบแห่งความดี คือพระเดชพระคุณหลวงพ่อทัตตชีโว และเมื่อก้าวมาเป็นอุบาสกก็ได้เห็นต้นแบบที่เยี่ยมยอดอีกคือพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโย และคุณยายอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง และเป็นเช่นนี้เสมอต้น เสมอปลาย แถมยังดีขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอด ๑๑ ปี ผมจึงไม่เชื่ออะไรง่ายๆ ถ้าไม่เจอของจริง ดีจริง คงไม่อยู่นานถึง ณ บัดนี้ ครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในการทำความดี ผมว่า ผมทุ่มเท เสียสละ แรงกาย แรงใจ ๑๐๐% แต่ก็ไม่ได้เสี้ยวหนึ่งของหลวงพ่อทั้งสอง ของคุณยายฯ ดังนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเห็นในวัดพระธรรมกาย ก็เพื่อทุกคนจะได้เข้าถึงสันติสุขภายใน และสันติภาพภายนอกก็จะเกิดขึ้นแก่ชาวโลกทั้งหลายอย่างแน่นอน

มโนปณิธานของหลวงพ่อ ก็คือ มโนปณิธานของเรา
งานของหลวงพ่อ ก็คือ งานของเรา
ความสำเร็จของหลวงพ่อ ก็คือ ความสำเร็จของเรา"

 

วินิช พันธุ์วิริยรัตน์

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล