วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ จะแนะนำลูกหลานอย่างไร ต่อการทุ่มทุนเผยแผ่ ความเชื่อของบางศาสนา

 

จะแนะนำลูกหลานอย่างไร ต่อการทุ่มทุนเผยแผ่ ความเชื่อของบางศาสนา

 

       หลวงพ่อเจ้าคะขณะนี้บางศาสนามีการทุ่มทุนเผยแผ่ความเชื่อของตนผ่านทางสื่อต่างๆอย่างกว้างขาง ในสภาวการณ์เช่นนี้ควรจะแนะนำลูกหลานอย่างไร

 

         พูดง่ายๆชาวพุทธควรปฏิบัติตนอย่างไรต่อการเผยแผ่ศาสนาอื่นๆ นั่นเอง

 

       เอาหลักการขั้นต้นก่อนก็แล้วกัน คือ เรื่องความเชื่อ เรื่องการนับถือศาสนานั้น เป็นเรื่องสากล ใครพอใจจะเชื่อ จะนับถือศาสนาใด ก็ตามใจเถอะ

     แต่ว่าสำหรับพวกเรา เมื่อเลือกที่จะนับถือพระพุทธศาสนาแล้ว มาทำตัวให้สมกับการเป็นชาวพุทธที่ดีกันดีกว่า เพราะยิ่งเราประพฤติปฏิบัติตัวให้เคร่งครัดต่อคำสอนในพระพุทธศาสนามากเท่าไร นั่นคือการเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด

       เพราะฉะนั้น ใครอยากจะเผยแผ่ศาสนาของเขาอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขา ส่วนเราก็ทำตัว ให้เป็นชาวพุทธที่ดียิ่งๆ ขึ้นไป

        แต่ว่าเราจะพิจารณาเรื่องการเผยแผ่ศาสนาอื่นๆ อย่างไรถึงจะเป็นประโยชน์กับตัวเราและพระพุทธศาสนา

       สำหรับเรื่องนี้ หลวงพ่ออยากจะให้ข้อคิดง่าย ๆ ว่า "เรื่องส่วนตัวให้วางอุเบกขา เรื่องพระพุทธศาสนา ต้องเอาอุเบกขาวาง" และสิ่งที่เราจะต้องทำ ก็คือ

       ประการที่ ๑ เมื่อมีการว่าร้าย กล่าวโจมตี พระพุทธศาสนา เราต้องรีบเข้าไปป้องกันและแก้ไข ทันที

       ยกตัวอย่าง ถ้าเขากล่าวโจมตี ด่าว่า ล่วงล้ำ ก้ำเกินคำสอนในพระพุทธศาสนา ว่าผิดอย่างนั้น ผิดอย่างนี้ ล่วงล้ำก้ำเกินศาสนพิธีว่าพิธีกรรมของเรา คร่ำครึบ้าง ล้าสมัยบ้าง หรือมาทำลายศาสนสถาน เช่น วัดวาอาราม ทำลายศาสนวัตถุเช่น พระพุทธรูป เหล่านี้เป็นต้น

       นอกจากนี้มีหลายครั้งที่พระพุทธศาสนาของเรา ถูกศาสนาอื่นมาทำลาย ถ้ามีใครมาทำร้ายทำลายศาสนาของเราไม่ว่าจะโดยวาจา หรือโดยการกระทำก็ตาม เราก็คงยอมไม่ได้จะต้อง รีบเข้าไปจัดการแก้ไข ตั้งแต่ทักท้วง ติเตียน และถ้ายังไม่เชื่อฟังกันก็คงต้องดำเนินตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป ที่จะอยู่นิ่งเฉยนั้นไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของพระศาสนาซึ่งเป็นแสงสว่างที่จะทำให้สัตวŒโลกพ้นทุกข์

       แต่ในเวลาเดียวกัน ถ้าเขาไม่ได้ล่วงล้ำ ก้ำเกิน อะไร เขาก็พูดแต่เรื่องของเขา อย่างนั้นก็เป็นสิทธิของเขาเหมือนกันเราจะไปตำหนิ ไปห้ามปราม ไม่ได้ และไม่ควรจะห้ามด้วย

 สำหรับกรณีนี้ สิ่งที่เราจะต้องทำก็คือ ย้อนกลับมาดูตัวเราเองว่า ตัวเรานั้น
        ๑. ได้ทำหน้าที่ของตัวเอง ด้วยการปฏิบัติตนเป็นชาวพุทธที่ดีแล้วหรือยัง
      ๒. ได้ทำหน้าที่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ดีแล้วหรือยัง คือ ย้อนกลับมามองที่ตัวของเราเองดีกว่า ว่าทำอย่างไรตัวของเราถึงจะดีวันดีคืน ให้สมกับเป็นชาวพุทธ และทำอย่างไรชาวโลกถึงจะรู้จักพระพุทธศาสนาปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เพื่อพวกเขาจะได้พ้นทุกข์ พ้นร้อนกันเสียที ต้องมองอย่างนี้ อย่าไปด่า อย่าไปว่า อย่าไปโจมตีใคร 

     ส่วนการที่เราจะเผยแผ่พระพุทธศาสนาของเราบ้างนั้น พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงให้หลักในการ เผยแผ่พระพุทธศาสนาเอาไว้ ๖ ข้อด้วยกัน คือ

     ๑. ไม่ว่าร้าย ชาวพุทธทั้งหลายต้องไม่ว่าร้าย ไม่โจมตีใคร ไม่ว่าเขาจะนับถือศาสนาอื่น หรือว่าเป็นคนที่ไม่มีศาสนาก็ตาม ใครชอบใจอย่างไร ก็เป็นเรื่องของเขา แต่ถ้าเขาสงสัยคำสอนในพระพุทธศาสนา เราก็สามารถอธิบายให้เขาเข้าใจถูกได้
นี่คือ หน้าที่ของเรา

    ๒. ไม่ทำร้าย พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้แก่ชาวโลกมาเป็นเวลานาน ทั้งในสมัยพุทธกาลก็ดี หรือการเผยแผ่สืบทอดต่อ ๆ กันมากว่า ๒,๕๐๐ ปีก็ดี พระพุทธองค์ไม่เคยบังคับให้ใครมาเชื่อ ให้มานับถือพระองค์
และไม่เคยฆ่า ไม่เคยทำร้ายใคร เพื่อให้เขาหันมานับถือพระพุทธศาสนามีแต่คนของศาสนาอื่นที่มาฆ่าชาวพุทธ
เพื่อบังคับให้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาของตน

       เพราะฉะนั้น จำไว้เลยว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่เคยบังคับให้ใครมาเคารพพระองค์ แต่ว่า ถ้าใครจะมาทำร้าย เราก็ต้องต่อสู้ป้องกันตัวถึงอย่างนั้นก็แค่ป้องกันตัว เพราะชาวพุทธปรารถนาสันติ ที่จะให้ไปทำร้าย ทำลายใคร
ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นชีวิต ไม่ว่าจะเป็นอวัยวะ ไม่ทำเด็ดขาด นี้คือ หลักการของชาวพุทธ

       ๓. เข้มงวดกวดขันตัวเอง เคร่งครัดในศีลและมารยาทให้สมกับเป็นลูกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

       สิ่งใดที่เป็นการแสดงความหยาบคาย ความไม่ศิวิไลซ์ ความกักขฬะต่างๆ จะต้องไม่ออกมาจากกิริยาท่าทางหรือคำพูดของชาวพุทธเด็ดขาด เพราะว่าเราไม่อยากมีบาปนั่นเอง

       ทั้งไม่ว่าใคร ทั้งไม่ทำร้ายใคร ทั้งกวดขันศีล และมารยาทของตัวเองให้ดี เมื่อทำได้อย่างนี้ ต้องบอกว่าชนะใจกันสุดๆทีเดียว คือ ทั้งชนะใจตัวเอง และชนะใจคนอื่นๆ ด้วย

 

 

 

       ๔. รู้จักประมาณ ชาวพุทธต้องเป็นผู้รู้จักประมาณ คือ รู้จักความพอดี ไม่ว่าเรื่องอาหารการกินเรื่องเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น

      พูดง่ายๆ ชาวพุทธต้องรู้จักพอ รู้จักประหยัด ต้องไม่ฟุ่มเฟือย เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็จะทำให้เป็นที่ยอมรับของคนที่นับถือ
ศาสนาอื่นได้

      ๕. เลือกอยู่ในที่สงบ สำหรับเรื่องที่อยู่อาศัย ที่นั่งที่นอนนั้น ต้องเลือกอยู่ในที่สงบ เพื่อจะได้มีเวลาพิจารณาตัวเองมากๆ เพราะเวลาลืมตา เรามองเห็นคนอื่นแต่ว่าไม่เคยเห็นตัวเองอย่างชัดเจนเลย

        เพราะฉะนั้น ถ้าหากได้อยู่ในที่สงบ ได้นั่งหลับตาทำสมาธิ ได้ทบทวนพฤติกรรมของตัวเองเสียบ้างก็จะทำให้เรารู้จัก
ตัวเองได้ดียิ่งขึ้น

       ๖. ตั้งใจฝึกสมาธิไม่เลิกรา ตั้งใจฝึกสมาธิ กลั่นใจให้ใสเป็นแก้ว ใสเป็นเพชร ทุกวัน ทุกคืนไป ถ้าหากทำได้อย่างนี้
ก้อนกายของเราทั้งก้อนก็จะใสบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีตำหนิใดๆ ให้ใครมากล่าวหาได้ ใจของเราก็ใสเป็นแก้ว ใสเป็นเพชร เป็นต้นแบบแห่งคุณความดีทั้งหลายในโลก

       เราก็จะได้ชื่อว่าเป็นทั้งชาวพุทธที่แท้จริง และเป็นผู้ประกาศ เป็นผู้เผยแผ่ พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง อย่างสันติสุข ชนะวิธีการกล่าวร้ายโจมตี หรือวิธีเผยแผ่ของศาสนาใดๆ ในโลกนี้ ได้อย่างเด็ดขาด

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ 58 สิงหาคม ปี 2550

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล