วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ หลวงพ่อตอบปัญหา : สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราทำแต่ความดีตลอดชีวิตได้สำเร็จคืออะไร ?

หลวงพ่อตอบปัญหา
เรื่อง : หลวงพ่อทัตตชีโว

 

หลวงพ่อตอบปัญหา

ถาม : สิ่งสำคัญที่จะทำให้เราทำแต่ความดีตลอดชีวิตได้สำเร็จคืออะไร ?

ตอบ : การทำความดีก็เพื่อสั่งสมบุญเป็นเสบียงติดตัวไว้ใช้ตลอดทุกภพทุกชาติจนกระทั่งเข้าสู่พระนิพพาน เพราะบุญนั้นเป็นพลังงานบริสุทธิ์ที่เราใช้ทุกลมหายใจ ใช้กันข้ามโลกไม่ว่าจะอยู่ในโลกนี้หรือโลกหน้า แม้จะไปนิพพานก็ต้องใช้บุญ บุญนั้นเกิดขึ้นในใจทุกครั้งที่ตั้งใจละบาป บุญเกิดขึ้นทุกครั้งที่ตั้งใจทำความดี ทำกุศล และบุญเกิดขึ้นทุกครั้งที่เจริญภาวนากลั่นใจให้ใส เราจึงจำเป็นจะต้องสั่งสมบุญให้ได้ทั้ง ๓ ส่วนนี้ ทั้งละชั่ว ทำความดี และเจริญภาวนา

      โอกาสที่เราจะสั่งสมบุญได้เต็มที่ก็มีแต่ชีวิตมนุษย์ในโลกนี้เท่านั้น ส่วนโลกหน้าเป็นช่วงเวลาของการเสวยผลบุญหรือผลบาปที่ได้กระทำไว้ในยามที่มีชีวิตอยู่ การที่เราจะสั่งสมบุญทำแต่ความดีได้ตลอดชีวิตนั้น สิ่งสำคัญคือ เราจะต้องมีเป้าหมายหรือมีกรอบของการกระทำในชีวิตที่ถูกต้องก่อน ถ้าหากไม่ตั้งเป้าหมายที่จะทำให้ถูกต้องไว้ก่อน ก็ยากจะทำความดีได้ตลอดรอดฝั่ง

            เป้าหมายสำคัญที่นักสร้างบารมีทุกคนต้องมีอยู่ในใจคืออะไร ? 
            พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงชี้ให้เห็นไว้ว่า มี ๓ ประการ

            เป้าหมายสำคัญข้อที่ ๑
            พระพุทธองค์ตรัสเป็นภาษาบาลีว่า
            ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา แปลว่า ความอดทนเป็นตบะเครื่องเผาผลาญบาปอย่างยิ่ง

           ความอดทนเป็นอุปกรณ์สำคัญที่สุดในการเผาผลาญบาป   จึงต้องนึกไว้เลยว่า  ความดีอะไรที่คิดว่าทำไม่ได้ เราต้องทำให้ได้ หลวงพ่อคุณครูไม่ใหญ่ท่านจึงฝึกให้เราตระหนักไว้ในใจเสมอว่า เมื่อจะทำภารกิจบุญกุศลใด ๆ คำว่า ไม่ได้ไม่มี ต้องได้ ต้องดี ต้องดีกว่าดีที่สุด

            เราจำเป็นจะต้องฝึกความอดทนทุกรูปแบบให้มี ให้เป็น ขึ้นมาในตัวเราให้ได้

            อดคืออะไร ?
            อด คือ เมื่อมีสิ่งที่อยากได้ แต่ไม่ได้ ก็ต้องอดให้ได้ ไม่ว่าอดอย่างไร ก็ไม่ยอมทำบาปกรรมหรือทำในสิ่งที่ไม่ควรทำเพื่อให้ได้มา

            ทนคืออะไร ?
           ทน คือ สิ่งที่ไม่อยากได้ แต่ได้มา  เช่น  คำด่า คำตำหนิติเตียน ก็ต้องทนให้ได้ จะไม่ยอมให้สิ่งเหล่านั้นยั่วยุให้ต้องก่อบาปกรรมเพิ่มอีก

           การอดทนมีเป้าหมายเพื่อกำจัดกิเลส คือเป้าหมายประการที่ ๑ ของชีวิตนักสร้างบารมีเราจะต้องเตือนตัวเองว่า ชาตินี้จะต้องอดทนให้ถึงที่สุด มิฉะนั้นบารมีข้ออื่นจะไม่อาจเกิดขึ้นได้

          เช่น เมื่อจะทำทาน ถ้าไม่อดทนทำงานแล้วจะไปหาเงินหาทองที่ไหนมาให้ทานได้ จะรักษาศีล ถ้าไม่อดไม่ทน ก็รักษาศีลได้ไม่ข้ามวัน หรือจะแสวงหาความรู้ ถ้าไม่อดทน ก็รับความรู้จากครูบาอาจารย์ไม่ได้ เมื่อรักจะเป็นนักสร้างบารมีแล้ว ความอดทนคือด่านแรกที่ต้องฝึกให้ผ่าน ถ้าฝึกไม่ผ่าน ก็ทำความดีให้ตลอดรอดฝั่งไม่ได้ มันยาก

            อดทนขนาดไหน ?
           คำของพระเดชพระคุณหลวงปู่พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ท่านบอกไว้ว่า อดทนให้เหมือนกับผ้าเช็ดเท้า

           ผ้าเช็ดเท้า ก่อนที่เราจะเข้าบ้านมีอุปการคุณดีเหลือเกิน แต่ว่ามันไม่สวยหรอก มันเก่าเร็วที่สุด โทรมเร็วที่สุด เปื้อนเร็วที่สุด แต่ว่ามันก็ให้ประโยชน์มาก

           ดังนั้น ถ้าจะให้ได้บุญได้บารมีครบทั้ง ๑๐ ทัศ มีหนทางเดียว คือ ต้องฝึกความอดทนให้ถึงที่สุดเหมือนอย่างผ้าเช็ดเท้า พอมีเรื่องอะไรแล้วรู้สึกว่าจะทนไม่ได้ ขอให้นึกถึงผ้าเช็ดเท้าก็แล้วกัน แล้วจะอดทนต่อไปได้

           เมื่อหลวงพ่อไปพบคุณยายเป็นครั้งแรก ได้ไปที่บ้านหลังเล็ก กุฏิหลังแรกของคุณยาย เห็นเขานั่งหลับตาอยู่บนบ้านกันสัก ๓๐ คน ข้างล่างมีรองเท้าเกลื่อนอยู่ ก็คิดว่ารองเท้าเกลื่อนอยู่อย่างนี้ จะให้ใจสงบคงยาก เราเอาบุญดีกว่า จัดรองเท้าให้เรียบร้อยแล้วเราจึงค่อยไปนั่ง

          พอเอื้อมมือจะไปหยิบรองเท้ามาจัดให้เป็นระเบียบเท่านั้น ทิฐิมานะในใจมันพุ่งเข้ามาก้ก้มหยิบรองเท้าไม่ลง ก็เตือนตัวเองว่า ‘นี่เราเข้าวัดแล้วนะ’

           พอก้มจะไปหยิบอีก ก็หยิบไม่ลงอีก ก้มอยู่ ๓-๔ ครั้ง ยังไม่ได้ ก็เตือนตัวเองแรง ๆ ว่า ‘เข้าวัดแล้ว ขืนมีมานะถือตัวอย่างนี้ ชาตินี้คงไม่เข้าถึงธรรม’ ก็เลยก้มหน้าก้มตาหยิบและจัดรองเท้าไป พอหยิบคู่แรกได้ คู่ต่อ ๆ ไปก็หยิบได้ ตั้งแต่วันนั้นมา ความถือตัวต่าง ๆ ที่เคยมี ก็เลยหลุดไป พร้อมที่จะอดทนเหมือนกับผ้าเช็ดเท้าให้แก่ทุก ๆ คนได้

 

           เป้าหมายสำคัญข้อที่ ๒
           พระพุทธองค์ตรัสเป็นภาษาบาลีว่า
           นิพฺพานํ ปรมํ วทนฺติ พุทฺธา แปลว่า พระพุทธเจ้าทุก ๆ พระองค์ทรงสรรเสริญว่า การบรรลุพระนิพพานเป็นความยอดเยี่ยมเหนือทุกสรรพสิ่งในโลก

        การที่เราจะสร้างความดีไปได้ตลอดรอดฝั่ง เราจะต้องตั้งเป้าหมายชีวิตในชาตินี้ว่า เราจะต้องฝึกสมาธิให้ ‘ใจหยุดใจนิ่งที่ศูนย์กลางกาย เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งให้ได้’

         ถ้าเราทำใจหยุดนิ่งไม่ได้ ใจเราก็เข้าศูนย์กลางกายไม่ได้ เมื่อเข้าศูนย์กลางกายไม่ได้ ก็หาพระนิพพานไม่เจอ เพราะพระนิพพานไม่ได้อยู่ที่อื่น แต่อยู่ในกลางกายของเรา

         เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบวชเพื่อจะหาทางไปพระนิพพาน หาอยู่ ๖ ปี แล้วทรงพบว่าทางไปนิพพานอยู่ในกลางกายนั่นเอง เรียกว่า ‘มัชฌิมาปฏิปทา’ จากนั้นทรงบำเพ็ญภาวนาทำใจหยุดใจนิ่งไปตามลำดับ ในที่สุดก็ทรงพบว่า พระนิพพานอยู่ในตัว แล้วก็ทรงตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์เอง แล้วทรงมาสอนให้ชาวโลกได้รู้จักการบำเพ็ญภาวนาทำใจหยุดใจนิ่งไว้ในศูนย์กลางกาย ทำให้มีผู้เห็นแจ้งพระนิพพานในตัวตามพระองค์ไป พระองค์จึงได้ทรงมาเป็นพระบรมครูให้กับพวกเรา

         ดังนั้น การที่เราจะไม่ย่อท้อต่อการทำความดี เราก็ต้องตั้งเป้าหมายชีวิตเหมือนกับพระองค์ นั่นคือ ชาตินี้ต้องหมั่นทำใจหยุดใจนิ่งเพื่อทำพระนิพพานให้แจ้งให้ได้ เราถึงจะทำความดีไปได้ตลอดรอดฝั่ง


           เป้าหมายสำคัญข้อที่ ๓
           พระพุทธองค์ตรัสเป็นภาษาบาลีว่า
           น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปรํ วิเหฐยนฺโต  แปลว่า  เราจะไม่ก่อเวรก่อภัยใด ๆ กับใคร ๆ อีกทั้งสิ้น

           การป้องกันไม่ให้ตัวเราไปก่อกรรมทำเวรกับใครอีก เราจำเป็นต้องตั้งเป้าหมายในชาตินี้ว่า เราจะบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรให้แก่สรรพสัตว์โดยทั่วหน้า

           ถ้าหากไม่ทำเช่นนั้น โอกาสที่เราจะก่อเวรก่อภัย ก็จะมีอีกมาก

           ยิ่งกว่านั้น การที่เราบำเพ็ญตนเป็นกัลยาณมิตรให้แก่ชาวโลก ยังเป็นการฝึกใจให้มีความเมตตากรุณาติดตัวเราไปด้วย

           ความเมตตากรุณาที่ติดตัวเราและเพิ่มขึ้นมาทุกวัน ๆ นี้ จะกลายเป็นเกราะกำบังป้องกันให้เราไม่มีเวรภัยใหม่กับใคร

        คนมีหัวใจกัลยาณมิตรเต็มที่ จะไม่มีนิสัยรำคาญคนนั้นคนนี้ ความน้อยอกน้อยใจคนนั้นคนนี้ก็ไม่มี ยิ่งความคิดจะก่อเวรก่อภัยกับใครอีกก็จะไม่มี ดังนั้นเมื่อเวรใหม่ภัยใหม่ไม่เกิดขึ้นกับเรา หนทางที่จะไปพระนิพพานของเราก็จะราบรื่นยิ่งขึ้น

           เพราะฉะนั้น การที่เราจะตั้งใจทำแต่ความดีและไม่ก่อเวรภัยกับใคร เราก็ต้องตั้งเป้าหมายคือ การฝึกตัวเองให้เป็นกัลยาณมิตรต่อเพื่อนร่วมโลก

          ดังนั้น ในชาตินี้เมื่อเราเกิดมาเป็นมนุษย์แล้ว เราควรตั้งเป้าหมายสิ่งที่จะทำในชีวิตนี้ให้ถูกต้องและครบถ้วน เพื่อเป็นกรอบแนวทางการกระทำของตน เพื่อประสบความสำเร็จในความพากเพียรที่จะทำความดีได้ตลอดชีวิต และเพื่อตระเตรียมเสบียงบุญให้แก่ชีวิตของเราไปทุกภพทุกชาติตราบถึงที่สุดแห่งธรรม

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด ฉบับที่ ๒๐๙ เดือนพฤษภาคม พ.ศ.๒๕๖๓

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล