วารสารอยู่ในบุญ ธรรมะออนไลน์

พระธรรมเทศนา ปุจฉา-วิสัชนา บทความข่าว ผลการปฏิบัติธรรม ตักบาตรพระ บาลีน่ารู้ กฏแห่งกรรม ฝันในฝัน บวชพระ

บทความอยู่ในบุญ กตัญญูบูชา สถาปนาหล่อรูปเหมือนทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

CV_4605_30.jpg

กตัญญูบูชา สถาปนาหล่อรูปเหมือนทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

 

                มนุษย์ที่เกิดมาบนโลก นับตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ยากจะมีใครที่ได้รับยกย่องว่าสมบูรณ์ที่สุด ดีที่สุด เพราะพระพุทธองค์ทรงเป็นพระธรรมกายผู้มีพระสัพพัญญุตญาณ รู้แจ้งในสรรพสิ่ง สามารถเอาชนะพญามารและนำพาชาวโลกเป็นอันมาก ข้ามพ้นห้วงแห่งความทุกข์ในวัฏสงสาร สู่ความเป็นอมตสุขแห่งพระนิพพานอันเกษม

 

                แม้พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพานไปแล้ว ใช่ว่าชาวโลกจะหมดสิ้นหนทาง ที่จะประพฤติปฏิบัติตามแบบอย่างพระพุทธองค์ เพื่อบรรลุสู่บรมสุขนี้ได้ ทั้งนี้เพราะเมื่อ ๘๐ กว่าปีที่ผ่านมา พระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้ค้นพบการปฏิบัติเพื่อการเข้าถึงธรรมกาย อันเป็นกายแห่งการตรัสรู้ธรรม แห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การค้นพบครั้งนี้ท่านจึงได้ชื่อว่าเป็นบุคคลสําคัญอย่างยิ่ง เพราะการค้นพบของท่านได้รับการยกย่องว่า เป็นการค้นพบที่ยิ่งใหญ่เหนือการค้นพบใดๆ ที่เคยปรากฏมา ด้วยเป็นแนวทางอันประเสริฐที่จะนำพาชาวโลกทั้งหลาย ที่กำลังแสวงหาได้พบกับสันติสุขที่แท้จริง 

 

                และเป็นที่ประจักษ์ว่า การบังเกิดขึ้นของท่านได้ทําให้เกิดปรากฏการณ์อันสําคัญ แห่งพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย และเป็นการจุดประกายความรุ่งโรจน์ของพระพุทธศาสนา ในอันที่จะนำธรรมที่สามารถทั้งรู้และเห็นได้นี้ ไปยังความสงบสุขให้แก่ผองชนชาวโลกทั้งหลาย หาใช่จะแสวงหาความหลุดพ้นแต่เพียงลำพัง แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้ว แต่บารมีธรรมของท่านก็ยังคงอยู่ ยังคอยปกป้องคุ้มครองรักษาเหล่าศิษยานุศิษย์และผู้ประพฤติปฏิบัติตามอยู่เสมอ สิ่งที่ท่านได้ประกอบกรณียกิจอันเป็นมรดกธรรมทั้งหลาย ล้วนเป็นการวางรากฐานเพื่อการเผยแผ่และสืบทอดอายุพระพุทธศาสนา ทั้งด้านการศึกษาพระปริยัติธรรมและธรรมปฏิบัติ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่อนุชนรุ่นหลัง ทั้งที่เป็นพระภิกษุและฆราวาสเป็นเอนกอนันต์

 

                อย่างไรก็ตาม การจะกล่าวสรรเสริญคุณของพระเดชพระคุณพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) หรือหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญนั้นจึงเป็นสิ่งที่ยากจะกล่าวได้จบสิ้น หากจะกล่าวพรรณนาได้ ก็เพียงส่วนเล็กน้อยตามภูมิรู้ภูมิธรรมที่ตนมีอยู่ เสมือนหิ่งห้อยที่จะแสดงความสว่างของพระอาทิตย์ได้เพียงแสงอันริบหรี่ที่มีในตน หรือเสมือนนกน้อยจะบอกความกว้างของท้องฟ้า ก็ได้เพียงสุดช่วงปีกทั้งสองของตนเท่านั้น ด้วยบุญบารมีธรรมอันยิ่งใหญ่ของท่าน นับตั้งแต่การอุทิศชีวิตทุ่มเทปฏิบัติธรรมจนค้นพบวิชชาธรรมกาย ไพศาลเกินประมาณคุณแล้ว ท่านยังนำเอาสิ่งที่เลิศประเสริฐนี้ออกเผยแผ่ อบรมสั่งสอนให้บุคคลทั้งหลายได้รู้และเห็นตามโดยไม่ปิดบัง นอกจากนี้ท่านยังมีมโนปณิธานอย่างแรงกล้า มุ่งปฏิบัติที่จะปราบมารประหารกิเลส เพื่อพลิกโลกและจักรวาลทั้งหลาย ให้เป็นดินแดนแห่งวิชชาหลุดพ้น จากการครอบงำของอวิชชาแห่งพญามารโดยสิ้นเชิง

 

                ด้วยบารมีธรรมอันยิ่งใหญ่ของท่าน จึงควรที่จะได้รับการยกย่องและถือเป็นแบบแผนแห่งการประพฤติปฏิบัติ ดังเช่นบัดนี้คณะศิษยานุศิษย์ผู้รักการสร้างบารมีทั้งหลาย ต่างมีศรัทธาอย่างแรงกล้า ที่จะพร้อมใจกันหล่อรูปเหมือนทองคําของท่าน ด้วยทองคําขนาดเท่าองค์จริงจํานวน ๓ องค์ เพื่อนำไปประดิษฐาน ณ มงคลสถาน อันเป็นสถานที่ทําให้เกิดความรําลึกถึงพระเดชพระคุณหลวงปู่ ที่ได้ประกอบกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ คือ ณ ถิ่นกําเนิด อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรีอันเป็นบ้านเกิดของพระเดชพระคุณหลวงปู่

 

CV_4605_31.jpg

สถานที่ก่อสร้าง อนุสรณ์สถานบ้านเกิด อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี เพื่อประดิษฐานรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) 

 

 

                แห่งที่สอง คือ วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง อำเภอบางกรวย จังหวัดนนทบุรี อันเป็นสถานที่ที่ท่านเคยไปจำพรรษา และประพฤติปฏิบัติธรรม เอาชีวิตเป็นเดิมพันจนบรรลุถึงธรรมกาย ณ อุโบสถของวัดแห่งนี้

CV_4605_32.jpg

สถานที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคําพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)
ณ อุโบสถ (หลังเดิม) วัดโบสถ์ (บน) บางคูเวียง อ.บางกรวย
จ.นนทบุรี อนุสรณ์สถานที่บรรลุธรรม

 

 

                แห่งที่สาม คือ วัดบางปลา อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม อันเป็นวัดที่พระเดชพระคุณหลวงปู่ได้แสดงธรรม จนมีผู้เห็นธรรม และเข้าถึงธรรมกายเป็นครั้งแรก 

 

CV_4605__33.jpg

        สถานที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร)

ณ อาคารปฏิบัติธรรม วัดบางปลา อ.บางเลน จ.นครปฐม

อนุสรณ์สถานที่เผยแผ่ธรรมครั้งแรก

 

                การหล่อรูปเหมือนหลวงปู่ครั้งนี้ ถือเป็นครั้งสำคัญอย่างยิ่ง เพราะจะนำไปประดิษฐาน ณ สถานที่ที่มีความหมายและแสดงให้ชาวโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคตอีกยาวนาน ได้รับทราบและตระหนักว่า ได้มีการค้นพบวิชชาธรรมกายขึ้นในประเทศไทยในยุคปัจจุบัน และสถานที่แต่ละแห่งดังกล่าว คือพยานทางวัตถุที่แสดงให้เห็นเส้นทางของมหาปูชนียาจารย์ที่ท่านได้บำเพ็ญกรณียกิจ นับตั้งแต่การบวช การค้นพบและเผยแผ่การปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรมกาย

 

                ทั้งนี้ การสถาปนาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ก่อให้เกิดคุณค่าทางจิตใจ และทำให้จิตใจสูงส่ง ถือเป็นการบูชาสักการะที่ประมาณค่ามิได้  โดยเฉพาะความยิ่งใหญ่ในจิตใจ อันเปี่ยมด้วยกตัญญูกตเวทิตาของเหล่าลูกหลานและศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย ที่กำลังจะพร้อมกันแสดงให้ปรากฏออกมา ด้วยการบูชาธรรมด้วยสิ่งที่ดีที่สุด และแสดงให้เห็นจิตใจอันสูงส่ง เปี่ยมด้วยความมีกตัญญูกตเวทิตา ด้วยการหล่อรูปเหมือนทองคำในครั้งนี้ ถือเป็นบุคคลที่แม้สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ยังทรงสรรเสริญ ดังปรากฏในปิงคิยานีสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรว่าด้วยรัตนะที่หาได้ยากยิ่ง ๕ ประการว่า กตัญญูกตเวทีบุคคลนั้น เป็นหนึ่งในรัตนะ ๕ ประการที่หาได้ยากยิ่งในโลก

 

                เพราะหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เกิดมาเพื่อประโยชน์อันสูงสุดสำหรับมหาชนชาวโลกโดยแท้ ดังนั้น การที่เราทั้งหลายร่วมกันบูชาคุณและสรรเสริญคุณท่าน นอกจากจะเป็นการบูชาพระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว ยังเป็นการบูชาพระธรรม อันเป็นสิ่งพิสูจน์ยืนยันว่า พระธรรมเป็นสิ่งที่ประพฤติปฏิบัติได้จริงและก่อให้เกิดความดีแก่ผู้ประพฤติปฏิบัติจริง จนบุคคลธรรมดากลายเป็นบุคคลผู้มีคุณธรรมสูงส่ง เป็นที่ยกย่องบูชากราบไหว้ของมหาชนทั่วไป และในที่สุดก็เป็นการบูชาสักการะในพระพุทธองค์ ผู้ตรัสรู้และจําแนกธรรม นำเอาความประเสริฐนี้ออกเผื่อแผ่แก่มวลมนุษยชาติยังให้เกิดความสุขความเจริญ นำไปสู่สันติสุขอันแท้จริงแก่โลกได้ ดังนั้น การบูชาบุคคลผู้ควรบูชา ย่อมจะเป็นมงคลแก่ชีวิตอย่างสูงสุด

 

                ประเทศหรือสังคมใดที่มีความเจริญ ล้วนย่อมยกย่องบัณฑิตนักปราชญ์ผู้เป็นคนดีมีศีลธรรม ทั้งนี้ทุกคนย่อมตระหนักดีว่าอนุสาวรีย์บุคคลสําคัญใดๆ ไม่ใช่จะเพียงแสดงความงดงามมีค่าของวัตถุที่สร้างขึ้นเท่านั้น แต่หากมุ่งประกาศความดีของท่าน ให้เป็นแบบอย่างแก่บุคคลทั้งหลาย พร้อมทั้งย้ำเตือนให้มหาชนต่างระลึกถึงคุณความดีของท่าน เพื่อจะดำเนินรอยตาม

 


                ดังนั้น การพร้อมใจกันหล่อรูปเหมือน พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำในครั้งนี้ ยิ่งน่าจะสะท้อนให้ทุกคนตระหนักว่า ถึงเวลาหรือยังที่พวกเราทั้งหลายจะยกย่องคนดี เพราะการยกย่องคนดีและการบูชาบุคคลผู้ควรบูชา ย่อมเป็นความประเสริฐและเป็นการยังความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่ผู้กระทำการบูชานั้น ดังเช่นพระคาถาตอนหนึ่งที่ได้ยินเสมอๆ เวลาพระสวดให้พรว่า

                                อภิวาทนสีลิสฺส                นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน
                                จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ   อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ

 

                ซึ่งอธิบายความหมายได้ว่า ธรรม ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเจริญแก่บุคคลผู้กราบไหว้เป็นปกติ และย่อมเจริญแก่ผู้อ่อนน้อม ต่อท่านผู้เจริญด้วยคุณอยู่เป็นนิตย์ นั่นเอง 

 

CV_4605_34.jpg
เส้นทางมหาปูชนียาจารย์
เส้นทางแห่งความดี ของนักสร้างบารมี

 

                พระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ได้บันทึกประวัติของท่านเมื่อคราวดำรงสมณศักดิ์ที่ พระภาวนาโกศลเถร ว่า


              “ชาติภูมิเดิมเป็นพ่อค้า เข้าตั้งภูมิลำเนา อยู่ที่บ้านหมู่เหนือของวัดสองพี่น้อง มีคลองกั้นเป็นระหว่างวัดกับบ้าน ค้าขายมาตั้งแต่อายุ ๑๔ ปีเศษๆ นับตั้งแต่บิดาล่วงไปก็เป็นพ่อค้าแทนบิดาเลี้ยงมารดามาจนถึงอายุ ๑๙ ปี ตรงนี้ได้ปฏิญาณตัวบวชจนตาย"

 


                ตั้งแต่นั้นมา ท่านก็ประกอบอาชีพตามปกติของพ่อค้ามาจนอายุครบ ๒๒ ปีจึงปรารภถึงการบวชในปีนั้น ครั้นถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๔๙ ต้นเดือน ๘ ท่านได้อุปสมบท ณ วัดสองพี่น้อง อำเภอสองพี่น้อง จังหวัดสุพรรณบุรี มีฉายาว่า จนฺทสโร ได้จำพรรษา อยู่วัดสองพี่น้อง ๑ พรรษาปวารณาพรรษาแล้วเดินทางมาจำพรรษา ณ วัดพระเชตุพนฯ กรุงเทพฯ เพื่อเล่าเรียนพระธรรมวินัยต่อไป

 


                “ถึงพรรษา ๑๑ ก็สําเร็จในการเล่าเรียนคันถธุระได้พอสมควรแก่ที่ตั้งใจไว้ว่าต้องเรียนแปลให้ออก จะได้ค้นธรรมในมคธภาษาได้ตามต้องการ ก่อนแต่จะมาเรียนคันถธุระนั้น ได้ตั้งหนังสือใบลานมหาสติปัฏฐานลานยาวไว้ที่วัดสองพี่น้องผูกหนึ่งว่า ถ้าไปเรียนคราวนี้ต้องแปลหนังสือผูกนี้ให้ออก...

 


                แต่พอแปลออกก็หยุดในพรรษาที่ ๑๑ เมื่อหยุดต่อการเรียนปริยัติแล้ว ก็เริ่มทำจริงจังในทางปฏิบัติ ก็คิดว่าในวัดพระเชตุพนนี้ ในอุโบสถก็ดีมีบริเวณกว้างขวางดีมาก เป็นสถานที่ควรทำภาวนามาก แต่มาหวนระลึกถึงอุปการคุณของวัดบางคูเวียงในคลองบางกอกน้อย เจ้าอธิการชุ่มได้ถวายมูลกัจจายน์แลคัมภีร์พระธรรมบทให้ ในตอนเล่าเรียนปริยัตินั้นก็มีอุปการคุณอยู่มากควรไปจำพรรษาแล้วจะได้แสดงธรรมแจกแก่ภิกษุ จึงได้กราบลาเจ้าคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เข้ม) เจ้าอาวาสวัดพระเชตุพน ไปจำพรรษาวัดบางคูเวียงในพรรษา ที่ ๑๒

 


                แต่พอได้กึ่งพรรษาก็มาหวนระลึกขึ้นว่า ในเมื่อเราตั้งใจจริงๆ ในการบวช จำเดิมอายุสิบเก้าเราได้ปฏิญาณตนบวชจนตาย ขออย่าให้ตายในระหว่างก่อนบวช บัดนี้ก็ได้บอกลามาถึง ๑๕ พรรษาย่างเข้าพรรษานี้แล้วก็พอแก่ความประสงค์ของเราแล้ว บัดนี้ของจริงที่พระพุทธเจ้าท่านรู้ท่านเห็น เราก็ยังไม่ได้บรรลุ ยังไม่รู้ไม่เห็น สมควรแล้วที่จะต้องกระทำอย่างจริงจัง เมื่อตกลงใจได้ดังนี้แล้ว วันนั้นเป็นวันกลางเดือน ๑๐ ก็เริ่มเข้าโรงอุโบสถแต่เวลาเย็น ตั้งสัจจาธิษฐานแน่นอนลงไปว่า ถ้าเรานั่งลงไปครั้งนี้ไม่เห็นธรรมที่พระพุทธเจ้าต้องการ เป็นอันไม่ลุกจากที่นี้จนหมดชีวิต เมื่อตั้งจิตมั่นลงไปแล้วก็เริ่มปรารถนา จึงได้แสดงความอ้อนวอนแด่พระพุทธเจ้าว่า

 

                “ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดข้าพระพุทธเจ้า ทรงประทานธรรมที่พระองค์ได้ทรงตรัสรู้อย่างน้อยที่สุดแลง่ายที่สุดที่พระองค์ ได้ทรงรู้แล้วแด่ข้าพระพุทธเจ้า ถ้าข้าพระพุทธเจ้ารู้ธรรมของพระองค์แล้ว เป็นโทษแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์อย่าทรงพระราชทานเลย ถ้าเป็นคุณแก่ศาสนาของพระองค์แล้ว ขอพระองค์ได้ทรงพระกรุณา โปรดพระราชทานแด่ข้าพระองค์ ข้าพระองค์รับเป็นทนายศาสนาในศาสนาของพระองค์จนตลอดชีวิต"

 


                ประมาณครึ่งหรือค่อนคืนไม่มีนาฬิกา เห็นผังของจริงของพระพุทธเจ้า ในขณะนั้นก็มาปริวิตกว่า ธรรมเป็นของลึกถึงเพียงนี้ ใครจะไปคิดคาดคะเนเอาได้ พ้นวิสัยของความตรึกนึกคิด ถ้ายังตรึกนึกคิดอยู่ก็เข้าไม่ถึง ที่จะเข้าถึง ต้องทำให้รู้ตรึก นึกรู้คิด นั้นหยุดเป็นจุดเดียวกัน แต่พอหยุดก็ดับ แต่พอดับแล้วก็เกิด ถ้าไม่ดับแล้วไม่เกิด ตรองดูเถิดท่านทั้งหลายนี้เป็นของจริง วิตกอยู่ดังนี้สักครู่ใหญ่ๆ จึงเข้าที่ต่อไปใหม่ ราวสักสามสิบนาทีก็เห็นวัดบางปลาปรากฏเหมือนตัวเองไปอยู่ที่วัดนั้น จึงมีความรู้สึกขึ้นมาว่าจะมีผู้รู้เห็นได้ยากนั้น ในวัดบางปลานี้จะต้องมีผู้รู้เห็นได้แน่นอน จึงมาปรากฏขึ้น จนถึงออกพรรษารับกฐินแล้ว ก็ลาสมภารวัดบางคูเวียงไปสอนที่วัดบางปลาราวสี่เดือน มีพระทำเป็นสามรูป คฤหัสถ์สี่คน นี้เริ่มต้นแผ่ธรรมกายของจริงที่แสวงหาได้มาจริงปรากฏอยู่จนบัดนี้"

(*ตัดตอนจากบันทึกพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) บันทึกเอง ลงพิมพ์ใน “มงคลสาร”  ปีที่ ๑ เล่ม ๑ เมื่อ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๗)

 


                เมื่อมีประจักษ์พยานรู้เห็นในธรรมะที่ได้ค้นพบแล้ว พระเดชพระคุณหลวงปู่วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้มาปักหลักเผยแผ่อย่างจริงจัง ณ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีผู้ประพฤติปฏิบัติรู้เห็นความเป็นจํานวนมาก จวบจนกระทั่งสิ้นอายุขัยเมื่อวัย ๗๕ ปี คุณยายอาจารย์ มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ศิษย์เอกผู้สืบสายธรรม พร้อมด้วยหมู่คณะมาพลิกผืนนา ๑๙๖ ไร่ ณ ทุ่งรังสิต จ.ปทุมธานี จนกลายเป็นวัดพระธรรมกาย และขยายเป็นศูนย์กลางธรรมกายแห่งโลกยังประโยชน์และสันติสุขให้เกิดขึ้นแก่ชาวโลกสืบต่อไป

 

บทความนี้ ถูกใจคุณหรือไม่ + -

บทความอยู่ในบุญทั้งหมด อยู่ในบุญ ฉบับที่ ๗ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๔๖

สิ่งดีๆมีไว้แบ่งปัน อะไรดีๆมีอีกเยอะ กด Like facebook กัลยาณมิตร

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล