“บวชให้แม่นะลูกนะ”
โครงการอบรมธรรมทายาท สร้างคนดี (ที่จิตใจ) เพื่อให้สังคมดี
ภาพที่แม่ถวายผ้าไตรให้กับพระลูกชายภาพที่นาคได้ก้มลงกราบเท้าขอขมาบุพการีอย่างสุดหัวใจ ภาพน้ำตาแห่งความปลื้มปีติของแม่ ยังติดอยู่ในใจธรรมทายาททุกคน
ภาพเหตุการณ์ประทับใจเหล่านี้เกิดขึ้นมาปีแล้วปีเล่า นับเป็นปีที่ ๓๑ แล้วของการเปิดอบรมธรรมทายาทของวัดพระธรรมกายที่ก่อตั้งมานานถึง ๓๓ ปี
ดั่งความมุ่งหมายและปณิธานเดิมของการสร้างวัดที่กล่าวไว้ว่า “สร้างวัดให้เป็นวัดสร้างพระให้เป็นพระ สร้างคนให้เป็นคนดี” นับจากปีแรกจนถึงปัจจุบัน ยังคงทําหน้าที่ตามปณิธานอย่างต่อเนื่อง และเป็นไปตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงประทานให้ในวาระแห่งปรินิพพานสมัยว่า... “ภิกษุทั้งหลาย เธอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”
จากครั้งแรกที่จัดอบรมธรรมทายาทมีผู้เข้าอบรมรุ่นที่ ๑ จำนวน ๖๐ คน จากการจัดอบรมธรรมทายาทชายเพียงอย่างเดียวปัจจุบันได้ขยายวงกว้างมากขึ้น ในปีนี้มีผู้สมัครเข้ารับการอบรมมากทั้งชายและหญิงรวม ๑๐ รุ่น อันได้แก่ ธรรมทายาทรุ่น ๕๙ ปี พระราชภาวนาวิสุทธิ์, ธรรมทายาทภาคฤดูร้อน รุ่นที่ ๓๑. ธรรมทายาท รุ่นเข้าพรรษา, มัชฌิมธรรมทายาท ม.ปลาย รุ่น ที่๗, มัชฌิมธรรมทายาท ม.ต้น รุ่นที่ ๒. ยุวธรรมทายาท รุ่นที่ ๑๖. เตรียมยุวธรรมทายาท, YUWA CAMP, ธรรมทายาทหญิง ภาคฤดูร้อน รุ่นที่ ๒๐, และมัชฌิมธรรมทายาทหญิง รุ่นที่ ๑๐
จากภาพของเยาวชนชายที่มาบวชเพียงอย่างเดียว ต่อมาได้มีภาพของเยาวชนหญิงให้เห็นด้วย จากระดับอุดมศึกษา ได้ขยายไปสู่ระดับประถม วัยซุกซนแต่บริสุทธิ์ และมัธยมวัยสดใส ที่อยากรู้สนใจในทุกสิ่งรอบตัว รวมทั้งผู้ใหญ่ที่จบการศึกษาและทำงานแล้วผู้เห็นประโยชน์และมาศึกษาอย่างตั้งใจ โดยในปีนี้เฉพาะช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา มีผู้เข้าอบรมธรรมทายาทเป็นจำนวนถึง ๑,๓๙๘ คนและถ้านับตั้งแต่เริ่มรุ่นแรกถึงปัจจุบันวัดพระธรรมกายได้จัดอบรมคุณธรรมให้กับเยาวชนไทย ผลิต “เด็ก” และ “คนดี” สู่สังคมไทยเป็นจํานวนหลายหมื่นคน
ธรรมทายาทเหล่านี้หลังจบการอบรม ได้นําความรู้จากการอบรมไปใช้ในชีวิตประจําวันได้อย่างชัดเจน ทั้งในภาคทฤษฎีที่ทำให้มีความรู้ความเข้าใจ ในพระพุทธศาสนามากขึ้นและนำไปใช้ในการดำรงชีวิตได้ อาทิ การอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขจากหลักสังคหวัตถุ ๔ หรือ สร้างความเจริญให้กับตนเองด้วยหลักอิทธิบาท ๔ เป็นต้น
รวมทั้ง ธรรมะภาคปฏิบัติในเรื่องการทำสมาธิ ที่นำมาพัฒนาจิตใจให้สงบ นิ่ง บริสุทธิ์บริบูรณ์มากขึ้น จนเป็นที่ประจักษ์ของผู้ปกครองหรือบุคคลรอบข้าง และธรรมทายาทเหล่านี้ ยังคงมาวัดเพื่อปฏิบัติธรรม สั่งสมบุญอย่างต่อเนื่องจากจำนวนสาธุชนที่มาวัดจำนวนหลักสิบ ได้เพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย หลักพัน หลักหมื่น ปัจจุบันแต่ละครั้ง งานบุญใหญ่มีสาธุชนมาร่วมงานมีจํานวนเป็นเรือนแสนและนับวันยิ่งจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
นอกจากนั้น ธรรมทายาทส่วนหนึ่งที่จบการศึกษาได้เข้ามาช่วยงานวัดเป็นบุคลากรเต็มตัวทั้งในส่วนของพระภิกษุ-สามเณรจำนวนกว่า ๑,๐๐๐ รูป รวมทั้งอุบาสก อุบาสิกาอีกกว่า ๑,๐๐๐ คน
นับเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เห็นได้ชัดในแง่รูปธรรมว่า “ธรรมทายาท” ได้มีส่วนในการพัฒนาศักยภาพของคนจากบุคคลธรรมดา ได้เลื่อนภาวะมาสู่สาธุชนผู้สนใจใคร่ในธรรม มาเป็นอาสาสมัครช่วยงานวัด เป็นกัลยาณมิตรชักชวนหมู่ญาติมาสร้างความดี หรือเลื่อนฐานะมาสู่อุบาสก-อุบาสิกา ผู้ถือศีล ๘ เป็นผู้นั่งใกล้พระรัตนตรัย หรือกระทั่งบ่มอินทรีย์ตนเองจนแก่รอบ สามารถยกฐานะจากคฤหัสถ์มาสู่เพศภาวะของสามเณร ถือศีล ๑๐ และพระภิกษุสงฆ์ ดำรงศีล ๒๒๗ ข้อ ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของพระรัตนตรัย ฝึกฝนอบรมตนเองให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ เป็นพุทธสาวกตามพุทธประสงค์ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างแท้จริง
๓๐ กว่าปีแห่งการสร้างคนดี วัดพระธรรมกายได้ตอบโจทย์ของตนเอง ที่ตั้งใจไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มสร้างวัดได้อย่างเต็มภาคภูมิ ด้วยการสร้างบุคลากรช่วยงานพระศาสนาได้อย่างมากมาย และยังสามารถแก้โจทย์ที่เป็นปัญหาสังคมอยู่ในปัจจุบัน ในเรื่องของเยาวชน เพราะเป็นวัยที่อยู่ในภาวะของการเสี่ยงต่ออบายมุขสิ่งบันเทิงเริงรมย์ และยาเสพติดทั้งหลายด้วยว่า การอบรมธรรมทายาท นัยหนึ่งเป็นการอบรมฝึกฝนสติ ฝึกการไตร่ตรอง ยับยั้งชั่งใจให้กับเยาวชนของชาติ มิให้ไปทำในสิ่งที่ผิดศีลผิดธรรมได้ชัดเจน และ "ธรรมทายาท” ยังได้ชื่อว่า เป็นการสร้างคนดีให้สังคมดี โดยเริ่มที่จิตใจ ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาสังคมอย่างถูกจุด และประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง