วิบากรรมของตาก้อน
ข้าพเจ้าเวลานั้นยังเป็นเด็กเล็กๆ อายุประมาณ ๖-๗ ขวบ แต่พอฟังคนใหญ่คุยกันรู้เรื่องบ้างแล้ว พวกผู้ใหญ่คุยกันเรื่องตาก้อนตายไปเป็นเปรต มีชาวบ้านได้พบเห็นกันอยู่บ่อยๆ มักจะเห็นเป็นเงาทมึนสูงใหญ่ สีดํา เดินโยกเยกไปมาแถวดงไผ่หลังบ้านของแกเองเมื่อครั้งยังไม่ตาย ตัวสูงเท่ายอดไผ่ ผู้ที่พบเห็นมักจะเห็นตอนโพล้เพล้พลบค่ำ บางทีถึงกับเอื้อมมือมาแย่งเนื้อวัวดิบๆ ที่ชาวบ้านถือมา
บ้านของตาก้อนอยู่ห่างจากบ้านข้าพเจ้าประมาณ ๓oo-๔oo เมตร ตั้งแต่มีข่าวเล่าลือว่าตาก้อนที่เพิ่งตายกลายเป็นเปรตเที่ยวหลอกหลอนชาวบ้าน ปรากฏว่าพอตกค่ำก็ไม่มีใครไปไหนมาไหน ต่างคนต่างอยู่ในบ้านของตน
เมื่อไม่มีใครออกจากบ้านเรือนไปไหน ตาก้อนก็ใช้วิธีหลอกหลอนใหม่ ตอนนี้หลอกได้ทั้งหมู่บ้านทีเดียว วิธีหลอกของแกคือใช้เสียงร้อง แต่แทนที่จะร้องเหมือนเสียงมนุษย์เรา เช่น ร้องเสียงดังโฮ... โฮ... หรือ เรียกชื่อลูกหลานด้วยเสียงโหยหวนอย่างที่เราดูภาพยนตร์ไทยเรื่องผีๆ เสียงร้องของตาก้อนกลับเหมือนเสียงนกหวีด เสียงแหลมเล็กยาว ร้องติดต่อกันครั้งหนึ่งๆ เป็นเวลานาน บางทีเป็นครึ่งๆ ชั่วโมงทีเดียว
กลางดึกคืนหนึ่ง ข้าพเจ้าตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงเปรตตาก้อนร้องดังแหลมยาววังเวง เสียงดังมาจากทางดงไผ่ที่เล่าไว้จริงๆ ในชนบทไม่มีเสียงอึกทึกครึกโครมจากรถราใดๆ ผู้คนหลับนอนกันแต่หัวค่ำ พอดึกสักหน่อยทุกอย่างจะเงียบสนิท
เวลาที่ได้ยินนั้น ข้าพเจ้าคิดว่าจะเป็นเสียงลม พัดกอไผ่เสียดสีกันหรือเปล่า เมื่อมองผ่านหน้าต่างออกไป ก็ไม่เห็นยอดไม้ไหวเลย ลมเงียบสนิท เมื่อฟังคนใหญ่คุยกันเรื่องเปรตตาก้อนส่งเสียง คิดว่าถ้าตนเองได้ยินคงจะหวาดกลัวเป็นอันมาก แต่ครั้นพอได้ยินเข้าจริงกลับไม่รู้สึกกลัวแต่อย่างใด พ่อแม่นอนหลับกันหมดแล้ว มีแต่ข้าพเจ้านอนฟังเสียงร้องอยู่ตามลําพัง ที่ไม่กลัวเพราะแม่เคยบอกว่า
“ตามบ้านผู้คนนั้น มีผีบ้านผีเรือนและเทวดาที่เรียกว่าพระภูมิเจ้าที่ดูแลรักษา ผีอื่นๆ เข้าไม่ได้”
ข้าพเจ้าฟังเสียงร้องนั้นแล้วรู้สึกว่าเข้าใจในกระแสเสียงนั้น แม้ยังเป็นเด็กก็ฟังเข้าใจว่า เจ้าของเสียงร้อง
ด้วยความทุกข์ทรมานเหมือนจะขาดใจ ต้องเจ็บป่วยด้วยเรื่องอะไรอย่างแรงกล้า คิดแล้วให้เกิดสงสารตาก้อนขึ้นมาจับใจ ตาก้อนทําบาปอะไรนักหนาจึงต้องเป็นเปรตตัวสูง ร้องเสียงแหลมอย่างนี้ ฟังจนหลับผล็อยไป รุ่งเช้าข้าพเจ้ามิได้บอกพ่อแม่ว่าได้ยินเสียงเปรต กลัวท่านจะไม่สบายใจแต่ได้ถามว่า
“ตาก้อนแกทําบาปอะไร จึงต้องเป็นเปรตตัวสูงเท่ากอไผ่ ร้องวี๊ด วี๊ด”
แม่ตอบว่า “ตาก้อนเมื่อยังไม่ตายนะลูก แกชอบกินชอบใช้ของสงฆ์โดยไม่ได้รับอนุญาตจ้ะ”
“ของสงฆ์ เป็นยังไงแม่” ข้าพเจ้ารู้สึกเข้าใจเพียงลางๆ จึงถามซ้ำ
“ก็ของที่มีอยู่ในวัดไงลูก และก็ของที่ชาวบ้านเอาไปถวายพระที่วัดน่ะลูก จะเป็นสิ่งของหรืออาหารการกินอะไรๆ ก็ได้” แม่ข้าพเจ้าอธิบาย
“หนูเข้าใจแล้ว อ้อ ที่มีคนเห็นตาก้อนเอาหน่อไม้ไผ่ตงบ้าง ลำไม้ไผ่บ้างมาจากวัด ก็เป็นของสงฆ์ด้วยใช่ไหมคะ”
“ใช่ลูก แม้แต่มะม่วง ขนุน ต้นกล้วย ลูกกล้วย อะไรๆ ที่ขึ้นอยู่ในที่ดินของวัด ถือเป็นของสงฆ์ทั้งหมดนั่นแหละลูก ตาก้อนแกขนมากินมาใช้ที่บ้านของแกเป็นประจํา ไม่มีการขอจากพระท่าน แกถือวิสาสะเอามาเองเสมอ มีอีกนะลูก เรื่องอาหารหรือสิ่งของที่มีคนถวายพระภิกษุมา แกก็ชอบหยิบเอามาเฉยๆ โดยไม่บอกใคร ไม่ขอพระท่านก่อน เหมือนขโมยของพระนั้นแหละ” แม่อธิบาย
“พระท่านรู้มั้ยคะ”
“บางทีก็รู้ บางทีก็ไม่รู้จ้ะ”
“ถ้าท่านรู้ ทําไมท่านไม่บอกให้ตํารวจหรือกํานันผู้ใหญ่บ้านเค้าจับตาก้อนล่ะคะ” ถามไปตามประสาเด็กๆ ทําให้แม่หัวเราะกิ๊กออกมา แล้วตอบข้าพเจ้าว่า...
“พระท่านใจดีนะลูก ท่านไม่ว่าใครหรอก”
“พระท่านใจดี ไม่ว่า ไม่โกรธ ใครทําบาปกับท่านต้องเป็นเปรตทีเดียวหรือคะ”
“ใช่จ้ะลูก การทําบาปทุกอย่าง ถ้าเราทําต่อคนเลวๆ ไม่มีศีลธรรม เช่น พวกขี้เหล้าเมายา เป็นคนหากินทางทุจริต ลักขโมยจี้ปล้นคนอื่นกิน เกิดบาปน้อยกว่าไปทําต่อคนดีๆ นะลูก เข้าใจมั้ย”
แม่ถามข้าพเจ้าเหมือนครูสอนนักเรียน พอฟังคําบอกเล่าถึงตอนนี้ ข้าพเจ้านึกไปถึงคุณยายผู้เฒ่าคนหนึ่งในหมู่บ้านขึ้นมาทันที ทุกครั้งที่ท่านให้หลานของท่านหาบสํารับกับข้าวไปทําบุญ ท่านจะต้องถือห่อทรายบ้าง ก้อนดินบ้าง เอาไปโยนไว้ในบริเวณวัด เวลาข้าพเจ้าถาม ท่านก็จะตอบว่า
“ยายเอามาใช้หนี้วัดน่ะจ้ะ บางทีเท้าเราเหยียบดินของวัดติดไป ดินทรายนั่นมันเป็นของวัด เท่ากับเป็นของสงฆ์ จะทําให้เรามีบาปติดตัว ยายจึงเอามาใช้หนี้ไว้ก่อน”
นี่ขนาดเหยียบดินติดเท้าไปอย่างไม่มีเจตนา คนโบราณยังระมัดระวังบาปไม่ให้เกิดถึงขนาดนี้ ก็ตาก้อนแกตั้งอกตั้งใจ มีเจตนาอย่างแรงกล้าในการเอาของสงฆ์ไปเป็นของตน ก็ต้องเป็นบาปโดยตรง เป็นบาปหนักด้วยที่เอาสมบัติจากผู้ที่กําลังบําเพ็ญคุณงามความดี
พอพูดมาถึงตอนนี้ ในเวลาปัจจุบันข้าพเจ้ารู้สึกไม่สบายใจหลายครั้งหลายหน ขณะที่พบว่า ผู้คนที่อยู่ในวัดก็ตาม ผู้คนที่ไปวัดก็ตาม ใช้ของสงฆ์โดยไม่คิด เช่น เปิดน้ำเปิดไฟทิ้ง วางของใช้ทิ้ง เช่น เสื่อ โต๊ะ เก้าอี้ และของใช้อื่นๆ ให้ตากแดดตากฝนจนเสียหายชํารุด พวกเขาจะรู้หรือเปล่าว่า แม้มิได้เอาไปใช้เป็นของส่วนตัวก็จริง แต่เขากำลังทําลายของสงฆ์ด้วยความประมาท ถึงไม่เจตนาแต่ก็ต้องเป็นกรรม เพราะทําให้ทางวัดต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
วัดมิได้มีรายได้มาจากอาชีพใดๆ รายได้ส่วนใหญ่ที่สุดของวัด คือการบริจาคของผู้มีศรัทธา ขอให้คิดดู ก่อนที่แต่ละคนจะบริจาคนั้น เขานําสิ่งของหรือเงินทองที่ต้องการบริจาคถือไว้ในมือ ยกทูนเหนือหัว เคารพในทานของเขา อธิษฐานแล้วอธิษฐานอีกว่า
“ด้วยอํานาจการบริจาคของข้าพเจ้าในครั้งนี้ ขอให้ได้บุญ ได้บารมี ได้รัศมี ได้กําลัง ได้ฤทธิ์ ได้อํานาจวาสนา ให้ได้ดวงตาเห็นธรรม ให้บริสุทธิ์กาย วาจา ใจ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะเข้านิพพาน...ฯลฯ”
เงินทองสิ่งของที่แต่ละคนนํามาบริจาคเหล่านั้นเขามิได้หามาโดยง่าย ต้องประกอบอาชีพการงาน หนักทั้งแรงกายแรงใจ แบ่งออกมาจากส่วนที่ต้องกินต้องใช้ ต้องเลี้ยงผู้คนในครอบครัว และมักจะเป็นของดีของประณีตกว่าที่เขาใช้สอยกันเอง ให้มาด้วยความยากลําบาก ในการตัดใจถึงเพียงนั้น ไม่ใช่ไปหยิบๆ เก็บๆ มาจากข้างถนนหนทางเหมือนเศษขยะ
ดังนั้น การที่เราบริโภคใช้สอยสิ่งของจากเงินบริจาคเหล่านั้น จึงเสี่ยงและหมิ่นเหม่ต่อการเป็นเปรต ข้าพเจ้าขอแทรกข้อคิดไว้เล็กน้อย ต่อจากนี้จะเล่าเรื่องเปรตตาก้อนต่อ
“แม่ แม่ เมื่อคืนหนูตื่นขึ้นมาได้ยินเสียงเปรตตาก้อนด้วยจ้ะ” ข้าพเจ้าเผลอเล่า
“ตายจริง! ลูกกลัวหรือเปล่าลูก ทําไมไม่ปลุกแม่ล่ะ!” แม่ตาโตด้วยความตกใจ
“หนูไม่รู้สึกกลัว หนูจึงไม่ปลุกพ่อกะแม่ หนูสงสารเปรตจังเลย เค้าไม่ได้แกล้งร้องหลอกเรานะแม่ หนูฟังดูเหมือนเค้าพูดว่าช่วยด้วย ช่วยฉันด้วยเถิด ฉันมีทุกข์ทรมานเหลือเกิน ช่วยด้วย แต่ทําไมเสียงนั้น ไม่ออกมาเป็นคําพูดเหมือนที่เราพูดกัน เวลาเสียงออกมามันกลับดัง วี๊ด...วี๊ด...วี๊ด”
ข้าพเจ้าถามและจ้องมองหน้ามารดาเหมือนคอยคําตอบ เพราะมีความรู้สึกว่าเปรตก็ตายไปจากคน น่าจะจําภาษาที่ใช้อยู่ตอนเป็นคนได้ ก็พูดออกมาซีว่าให้ช่วยเรื่องอะไร ตะโกนให้ลั่นกอไผ่ไปเลยว่าจะให้ลูกหลานหรือเพื่อนบ้านญาติพี่น้องทําอะไรให้บ้าง คนได้ยินจะได้รู้เรื่อง นี่ทําไมต้องใช้ภาษา วี๊ด..วี๊ด... แม่นิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่ง ท่านมองหน้าข้าพเจ้าอย่างชื่นชม แล้วตอบว่า
“ลูกลองทําปากจู่ให้เหลือรูปากเล็กๆ อย่างนี้ซิ” ว่าแล้วท่านก็ทําให้ดู ข้าพเจ้าก็ทําตาม
“เอ้า แล้วอย่าอ้าปากนะ ทําปากอยู่ยังงั้นแหละ ทีนี้ลองพูดว่า แม่จ๋าซี พูดได้มั้ย”
ข้าพเจ้าทดลองทําดู แล้วตอบว่า “ไม่ได้ค่ะ ไม่ได้ มันได้แต่ดังวู่ หวู วู่ หวู”
เมื่อนิ่งคิดสักเล็กน้อยข้าพเจ้าก็พูดต่อ พร้อมกับทําท่าดีใจ เหมือนคิดเรื่องสําคัญออกว่า
“หนูรู้แล้ว รู้แล้วค่ะ เค้าว่าเปรตต้องมีปากเล็กเท่ารูเข็ม หนูทําปากจู๋ๆ อย่างตะกี้นี้ รูปากยังโตอยู่แยะ ยังพูดเป็นคําไม่ได้เลย นี่เปรต รูปากเล็กเท่ารูเข็ม จะร้องวู้ วู้ อย่างหนูก็ยังไม่ได้เลย ได้แต่มีเสียง วี๊ด..วี๊ด...ออกมา”
แม่พยักหน้ายิ้มอย่างพอใจที่ได้ฟังคําตอบ ทําให้ข้าพเจ้าอยากคิดต่อไปให้แม่พอใจยิ่งขึ้นไปอีก จึงพูดต่อไปอีกว่า
“ที่เค้าร้องเสียงน่าสงสารเหมือนขอให้ช่วยนั่น เค้าต้องหิวมากแน่ๆ ก็รูปากเล็กนิดเดียว ข้าวสุกเม็ดหนึ่งยังใส่ไม่ได้เลย เท่ารูเข็มยังงี้เอาน้ำรดลงไปกี่ปี๊บก็ไม่เข้าปาก นี่ตายมาเกือบเดือนแล้ว ต้องหิวมากแน่ๆ หนูไม่ได้กินแค่มื้อเดียวเพราะมัวแต่ห่วงเล่นยังหิวแทบตายเลย”
แม่ข้าพเจ้าฟังไปพยักหน้าไป ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่พอใจในคําตอบของข้าพเจ้า แล้วก็ย้ำเรื่องไม่ให้ทําบาปอย่างเปรตตาก้อน
“เวลาหนูโตขึ้น ต้องจําเรื่องนี้ไว้ด้วย อย่าทําอย่างตาก้อน เดี๋ยวตายแล้วต้องเป็นเปรต”
อาจจะเป็นเพราะข้าพเจ้าได้ยินเสียงเปรตตาก้อนนี้เอง ทําให้แม่ไม่สบายใจ จะปล่อยให้มีเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นต่อไปไม่ได้ แม่คงไม่ต้องการให้ลูกได้ยินบ่อยๆ ท่านจึงไปพูดกับบรรดาลูกๆ หลานๆ ของเปรต ซึ่งก็คือลูกศิษย์ของแม่ แล้วพากันไปปรึกษาหารือกับท่านสมภารของวัดอีกตามเคย ได้มีการถวายเงินทองให้ทางวัดเพื่อใช้หนี้สงฆ์ พวกชาวบ้านเองก็ร่วมกุศลด้วย เพราะใครๆ ก็ไม่ต้องการให้มีเปรตอยู่ในหมู่บ้าน ทํากุศลกันเป็นงานใหญ่อุทิศส่วนกุศลให้ตาก้อน เปรตตาก้อนจึงหายไปจากหมู่บ้าน และก็หายไปจากจิตใจของข้าพเจ้า สิ่งที่เหลืออยู่ในความทรงจําคือเรื่อง
อย่าแตะต้องของสงฆ์ จะโดยไม่เจตนาหรือเจตนาก็ตามให้ระมัดระวังที่สุด อย่าประมาทเป็นอันขาด
ชื่อเรื่องเดิม เปรตตาก้อน
Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล
จากความทรงจำ เล่ม1