กัลยาณมิตร

วันที่ 20 ตค. พ.ศ.2559

กัลยาณมิตร,ที่นี่มีคำตอบ ฉบับมินิ เล่ม 4 รักนี้สีอะไร,บทความประจำวัน
 
กัลยาณมิตร
เวลานั้นเป็นปี พ.ศ. ๒๕๓๐ จําได้ว่าข้าพเจ้าเพิ่งไปให้การอบรมธรรมปฏิบัติและบรรยายธรรมแก่ข้าราชการกระทรวงเกษตรฯ ได้ไม่นาน เวลาที่ได้รับอนุญาตคือระหว่างเวลาเที่ยงถึงบ่ายโมง ซึ่งเป็นเวลาหยุดพักรับประทานอาหารกลางวันของข้าราชการ แต่ก็เป็นเรื่องน่ายินดีมีข้าราชการเกือบร้อยคนอุตส่าห์รีบรับประทานอาหารแล้วพากันมารับการอบรม

แรกๆ ข้าพเจ้าใช้วิธีบรรยายธรรมเป็นภาคปริยัติก่อน แล้วจึงแบ่งเวลาที่เหลือเป็นภาคปฏิบัติ แต่โดยเหตุที่การบรรยายมันมีเรื่องต่อเนื่องทําให้เหลือเวลาปฏิบัติน้อยเกินไป จึงเปลี่ยนเป็นให้ลงมือปฏิบัติก่อนประมาณ ๒๐-๒๕ นาที นอกจากเพื่อให้จิตใจสงบแล้ว ยังถือโอกาสคอยคนอื่นๆ ไปในตัว วิธีสอนคือใช้เทปคําพูดของพระเดชพระคุณหลวงพ่อเปิดให้ผู้ฟังกําหนดจิตตาม

ครั้งที่จะมีเหตุผิดปกติเกิดนั้น ข้าพเจ้าคงปฏิบัติหน้าที่ตามธรรมดา มีเพิ่มเติมเล็กน้อยตรงที่หลังจากการบรรยายหัวข้อธรรมตามเนื้อเรื่องแล้ว ข้าพเจ้าได้กล่าวให้กําลังใจผู้ฟังว่า

“พวกคุณเป็นคนมีบุญมาก ได้เกิดเป็นคน มีสัมมาทิฏฐิ ร่างกายก็ไม่พิกลพิการ สามารถฟังธรรมรู้เรื่อง และข้อสําคัญได้ทํางานในสถานที่ที่ผู้บังคับบัญชาอนุญาตให้มีการฟังธรรม ปฏิบัติธรรม นับว่าเป็นคนมีโชคดีกว่าคนในที่ทํางานอื่นๆ ขอให้คุณถือโอกาสอันดีงาม แสวงหาประโยชน์ใส่ตัวเองให้มากที่สุด มีข้อสงสัยสิ่งใดให้ซักถามได้ จะพยายามตอบให้เข้าใจแจ่มแจ้งจนสุดความสามารถ ถ้าตอบไม่ได้ก็จะไปค้นตํารับตําราหรือสอบถามท่านผู้รู้ เอาความรู้นั้นมาชี้แจง จะพยายามเป็นกัลยาณมิตรต่อคุณให้มากที่สุด”

สําหรับธรรมะภาคปฏิบัติ ก็คงดําเนินไปเหมือนเช่นเคย คือ ก่อนปฏิบัติข้าพเจ้าจะลุกขึ้นไปกราบพระพุทธรูปที่โต๊ะหมู่บูชาทุกครั้ง แล้วจึงไปนั่งที่โต๊ะเก้าอี้ด้านหน้าผู้ฟัง มีการนําสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัย ข้างหน้าข้าพเจ้ามีลูกแก้วลูกไม่โตนักตั้งอยู่ ใช้เป็นดวงนิมิตในการเจริญภาวนา อาโลกกสิณ (กสิณแสงสว่าง) บางทีผู้จัดรายการก็นํารูปพระพุทธรูปสีทอง หรือรูปพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยที่ถือลูกแก้วอยู่ในมือ มาวางไว้บนโต๊ะใกล้ๆ ที่ข้าพเจ้านั่ง ซึ่งข้าพเจ้ามักจะพอใจ บอกผู้ฟังว่า

“ชอบเห็นภาพพระเดชพระคุณหลวงพ่อรูปนี้มาก เพราะเป็นภาพที่พระเดชพระคุณหลวงพ่อกําลังทําท่าสั่งสอนอบรม ผู้คนเห็นแล้วทําให้เกิดกําลังใจในการทํางานเผยแพร่พระศาสนา เป็นภาพมีพลัง เพราะตนเองเป็นคนมีนิสัยไม่ชอบยุ่งเกี่ยวกับผู้คน ที่ต้องมานั่งพูดคุยกับพวกคุณอยู่นี่ ทําตามคําสั่งพระเดชพระคุณหลวงพ่อ เรียกว่าจําใจทํา บางทีโหนรถเมล์เหนื่อยมากๆ เข้า ก็พาลเบื่อหน่าย แต่พอเห็นภาพพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ทําให้นึกถึงการทํางานของท่าน ท่านต้องเหน็ดเหนื่อยมากกว่าไม่รู้กี่เท่า ท่านสู้อดทนทําไม่ปริปากบ่น ท่านไม่มีสิทธิ์เลือกว่าให้ใครมาหา ท่านต้องสอนทั้งสิ้น ไม่ใช่เลือกสอนแต่พวกข้าราชการอย่างนี้ได้ เห็นภาพนี้ทีไร มีกําลังใจสู้งานทุกครั้ง”

(ส่วนลูกแก้วลูกใหม่มีขนาดค่อนข้างโตนั้น อาจารย์ท่านหนึ่งของวิทยาลัยเทคนิคนํามามอบให้ในภายหลัง)

การอบรมดําเนินไปตามปกติ จนกระทั่งเสร็จสิ้นลงด้วยดี ผู้คนทั้งหมดพากันกลับไป เหลือผู้ที่เป็นเจ้าหน้าที่จัดสถานที่อยู่เพียง ๒ คน ขณะนั้นมีสตรีวัย ๔๐ ปีเศษผู้หนึ่ง บุคลิกลักษณะดีมาก หน้าตาผิวพรรณ ดี ท่าทางเป็นข้าราชการผู้ใหญ่ ข้าพเจ้ารู้สึกชื่นชมเธออยู่ในใจ แต่แล้วภายในเวลาไม่ถึงอึดใจนั้นเอง ข้าพเจ้าก็ต้องงงงันไปกับอาการของเธอ สตรีนั้นปราดมาหาข้าพเจ้า จับมือข้าพเจ้าบีบไว้แน่น ริมฝีปากสั่นระริก หน้าซีด มือเย็นเฉียบ ละล่ำละลักกล่าวว่า

“แม่ชีช่วยชั้นด้วย แม่ชีช่วยชั้นที ช่วยด้วย ชั้นห้ามตัวเองไม่ได้!”

ฟังแล้ว ข้าพเจ้าคิดแวบขึ้นในใจว่า

“เอ๊ะ นี่เราถ้าจะเจอพวกผีเจ้าเข้าทรงเข้าแล้วละมั้ง”

แต่คําพูดต่อมาของเธออีกสองสามประโยคก็ทําให้ทราบว่าอะไรเป็นอะไร

“ตอนนี้ชั้นโกรธแม่ชีเต็มทีแล้ว ชั้นรู้ว่ามันไม่ดี แต่ก็ห้ามตัวเองไม่ได้ โกรธมากด้วย ช่วยทีเถอะ รู้ว่าบาปแต่ก็โกรธ”

อ้อ... ผีไม่ได้เข้า ตัวสั่นปากสั่น มือไม้สั่นเพราะความโกรธ เกิดมาก็เพิ่งเคยเห็นคนที่เรียกกันว่าโกรธจนตัวสั่นคราวนี้เอง...  ข้าพเจ้ารําพึงในใจ รู้สึกสงสารเธอจับใจ ไม่รู้เหมือนกันว่าตัวเองบรรยายธรรม ข้อความไหนไปกระทบให้เธอเจ็บช้ำน้ำใจถึงเพียงนี้

ข้าพเจ้าจับมือของเธอไว้ทั้งสองข้างบีบเบาๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า เป็นอาการปลอบโยนด้วยใจจริง ไม่ใช่แกล้งแสดงอาการ แต่เป็นความสงสารที่หลั่งออกมาจากจิตใจส่วนลึก โธ่ เรามาให้ความรู้ทางธรรมต่อพวกเขา ทําไมมาทําให้เขาโกรธเกี้ยว มีความทุกข์มากมายจนตัวเนื้อสั่นได้ขนาดนี้ เป็นความเสียใจที่พูดไม่ถูก ปากก็ได้แต่พูดอย่างอ่อนหวานโดยอัตโนมัติ

“คุณคะ ใจเย็นๆ นะคะ ใจเย็นๆ มีอะไรก็ค่อยพูดค่อยจากันได้ พูดผิดตรงไหน ก็ยินดีขอโทษคุณนะคะ คุณอย่าโกรธเลย เดี๋ยวไม่สบายใจเปล่าๆ ค่อยๆ เล่าเถอะค่ะ”

“ชั้นโกรธ ! ทําไมแม่ชีต้องพูดคําว่า กัลยาณมิตร ทําไม ! ชั้นไม่ชอบคําๆ นี้ วัด...ชอบบัญญัติคําขึ้นมาใช้ใหม่อยู่เรื่อย ชั้นไม่ชอบ ! ไม่อยากได้ยิน! อย่าใช้ได้มั้ย !”

ข้าพเจ้าจึงอธิบายว่า คํานี้ไม่ใช่คําใหม่ เป็นคําเก่าที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้มาตั้งแต่ครั้งกระโน้น ไม่เชื่อให้อ่านได้จากพระไตรปิฎก ในพระสูตรเล่าไว้ว่า พระอานนท์ทูลถามพระพุทธเจ้าว่า ในการประพฤติ พรหมจรรย์นั้น กัลยาณมิตรมีความสําคัญเท่ากับครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์ได้หรือไม่ พระองค์ตรัสตอบว่า ไม่ควรกล่าวดังนั้น กัลยาณมิตรนี่แหละเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์

กัลยาณะ แปลว่า งาม ดี กัลยาณมิตร แปลว่า เพื่อนที่ดีงาม คํานี้มีที่ใช้อีกหลายแห่งในพระไตรปิฎก ไม่ใช่คําใหม่ อย่างคํา ธรรมทายาท ก็เหมือนกัน เราก็นํามาจากพระไตรปิฎก ผู้คนก็พากันตําหนิอยู่พักหนึ่ง ตอนนี้วัดหลายแห่งเอาไปใช้แล้ว กลายเป็นคําที่รู้จักกันแพร่หลาย

แต่ลักษณะของเธอเหมือนฟังข้าพเจ้าพูดไม่รู้เรื่องเลย นี่กระมังที่เขาพูดกันว่าโกรธจนหูอื้อตาลาย ข้าพเจ้าจึงต้องพูดซ้ำๆ อีกหลายครั้ง เธอหยุดต่อว่าเรื่องคํา “กัลยาณมิตร” แต่หันไปเล่นงานเรื่องใหม่

“ยังมีอีกนะ ทําไม ทําไม ต้องทําอย่างนี้กับพระพุทธรูป พระพุทธรูปองค์ไหนๆ ก็ใช้เป็นตัวแทนพระพุทธเจ้าได้ทั้งนั้น ทําไมต้องเอาองค์นี้ไปปิดองค์ที่ตั้งอยู่เดิม นี่ นี่ นี่ !

ว่าแล้วเธอก็หันไปชี้มือที่โต๊ะหมู่บูชา ข้าพเจ้าจึงได้สังเกตเห็น ดูเหมือนจะเป็นภาพพระพุทธรูปสีทองของวัดพระธรรมกาย วางต่ำกว่าพระพุทธรูปบนโต๊ะหมู่ ซึ่งเป็นสีดําสนิท แต่ภาพพระพุทธรูปมีขนาดใหญ่กว่าพระพุทธรูปสัมฤทธิ์ จึงบังขึ้นไปถึงครึ่งองค์ ถึงอย่างไรก็เป็นพระพุทธรูปเหมือนกัน ข้าพเจ้าจึงยืนงงว่า เธอโกรธเพราะเหตุใด ถามเธอไปว่า

“ทําไมหรือคะ มีอะไรที่คุณเห็นว่าผิด”

 เธอแผดเสียงดังว่า

“ผิดซี ทําอย่างนี้ผิดมาก เป็นพระพุทธรูปก็ใช้แทนพระพุทธเจ้าด้วยกันทั้งนั้น ทําไมจึงไม่เคารพองค์ที่ตั้งอยู่เดิม ต้องเอาองค์นี้มาบังทําไม”

ขณะที่ข้าพเจ้ากําลังงงอยู่ว่า ประการแรกไม่ได้รู้สึกแบ่งแยกว่าเคารพองค์นี้ ไม่เคารพองค์โน้นอยู่ในหัวใจข้าพเจ้าเลย เธอกล่าวหาเป็นตุเป็นตะได้อย่างไร ประการที่สอง ข้าพเจ้าไม่ใช่เป็นคนจัดโต๊ะหมู่บูชา เจ้าหน้าที่ของกระทรวงเขาจัดของเขาเองทุกครั้ง ข้าพเจ้าเพียงแต่ขอร้องให้เขาใช้ดอกไม้สดแทนดอกไม้แห้งเท่านั้น ขณะนั้นเองเจ้าหน้าที่ผู้จัดที่บูชาก็ตรงเข้ามาชี้แจงกับสตรีผู้นั้นว่า

“คุณป้า (หมายถึงข้าพเจ้า) ไม่รู้เรื่องหรอกค่ะ หนูเป็นคนจัดโต๊ะหมู่บูชาเอง หนูเห็นว่าเราภาวนาโดยทํากสิณแสงสว่าง จะใช้ลูกแก้วหรือองค์พระพุทธรูปก็ได้เป็นนิมิตในการเจริญภาวนา หนูเห็นพระพุทธรูป บนโต๊ะนี้มีสีดํา ถ้าใครนึกเอาเป็นบริกรรมนิมิต ก็จะเหมือนเอาสีดําหรือความมืดเข้าไปนึก มันตรงข้ามกับแสงสว่างน่ะค่ะ บริกรรมนิมิตก็จะไม่เกิด เพราะขาดความสว่างไสว หนูก็คิดว่าถึงเราจะไม่มีพระพุทธรูปที่ทําด้วยแก้วมาวางให้ผู้ปฏิบัติดู เอาภาพพระพุทธรูปสีทองนี่ก็ยังดีกว่าสีดํา ถ้านึกเป็นพระพุทธรูปสีทองออก ก็นึกให้เป็นแก้วใสสว่างได้ไม่ยาก นี่หนูคิดเอง ทําเองค่ะ คุณโกรธคุณป้าไม่ถูกนะคะ ต้องโกรธหนู แต่หนูไม่มีเจตนาเรื่องลบหลู่จริงๆ เป็นพระพุทธรูปหนูก็เคารพเหมือนกันทั้งนั้น เรื่องเป็นยังงี้ค่ะ

แม้เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะชี้แจงซ้ำซากอีกครั้ง เธอก็ทําอาการเหมือนไม่เข้าใจ ยอมรับไม่ได้ เธอกล่าวหาว่า คําอธิบายนั้นเป็นเพียงคําแก้ตัว และเจ้าหน้าที่ผู้นั้นมีเจตนาปกป้องข้าพเจ้า เธอพร่ำกล่าวโทษ ซ้ำซากอีกหลายคํา แล้วออกจากห้องประชุมด้วยอาการกระฟัดกระเฟียด ข้าพเจ้ารู้สึกสลดใจในความเข้าใจผิดของเธอเป็นที่สุด พอดีได้ยินเจ้าหน้าที่คนเดิมพูดกับข้าพเจ้าว่า

“คุณป้าอย่าไปคิดอะไรเลยค่ะ คนนี้เค้าเป็นอย่างนี้เอง ใครไปเรียนกรรมฐานคนละสายกับเขา เขาจะเกลียดไปหมด เค้าว่าสายเค้าถูกอยู่สายเดียว ไม่เหมือนที่คุณป้าสอนพวกหนูนี่ คุณป้าบอกว่าถูกหมดทุกสายเลย และยังบอกว่าถูกยังไงด้วย หนูฟังแล้วก็เข้าใจรู้เรื่อง มีแต่คนเจ้าอารมณ์คนนี้เท่านั้นที่ฟังคุณป้าไม่รู้เรื่อง ตั้งหน้าตั้งตาจับผิด”

“เปล่าจ้ะ ป้าไม่ได้ไม่พอใจเค้า ป้าสงสารต่างหาก สงสารจังเลย ป้ารู้ถึงความบริสุทธิ์ใจของตนเองดี จึงยิ่งสงสารเค้ามากหนักขึ้นไปอีก เพราะคนที่โกรธแค้นคนบริสุทธิ์ที่ไม่ทําผิดนั้นมีโทษมาก ไม่อยากให้เค้าต้องไปรับผลบาปนั้น เพราะเค้าไม่ใช่คนเลว เค้ารู้ตัวว่าเค้ากําลังทําผิด แต่ห้ามใจตัวเองไม่ได้ เค้าถึงร้องขอให้ป้าช่วย แต่ดูซีป้าก็ช่วยอะไรเค้าไม่ได้เลย กลับไปนี่เค้าจะไปผูกใจโกรธแค้นเป็นเดือนเป็นปี แบกบาปเอาไปอีกแค่ไหนก็ไม่รู้ ถ้าแก้ไขจิตใจตนเองไม่ได้ คอยจ้องจับผิดโกรธใครๆ เรื่อยไปอย่างนี้ มีหวังไม่ช้าไม่นาน จะต้องเป็นโรคประสาทและอาจถึงเป็นบ้า

ข้าพเจ้าพูดไปตามเหตุผล และตามความรู้สึกจริงๆ ในใจของตนเอง จากวันนั้นมา สตรีผู้นั้นไม่เคยมาฟังการอบรมของข้าพเจ้าอีกเลย บางครั้งข้าพเจ้าเดินสวนทางกับเธอ ข้าพเจ้าพยายามจะยิ้มให้ แต่เธอก็เมินหน้าทํามองไม่เห็นไปเสีย ข้าพเจ้าหมดทางผูกไมตรี จึงได้แต่วางอุเบกขา สัตว์ทํากรรมใดก็ต้องเป็นผู้รับผลกรรมนั้น

ผู้คนที่มาฟังธรรมบรรยายและเข้ารับการอบรมธรรมปฏิบัติมีจํานวนเป็นปกติ ยกเว้นครั้งที่ตรงกับวันเงินเดือนออก และวันใกล้เทศกาลสําคัญ เช่น วันขึ้นปีใหม่ วันสงกรานต์ หลายคนไปเตรียมซื้อข้าวของใช้ตามเทศกาล ซึ่งจะทําให้คนลดจํานวนลงไปประมาณ ๑ ใน ๓

ราวๆ ๒-๓ เดือนต่อมา ข้าพเจ้าสังเกตเห็นผู้ฟังแปลกหน้าเพิ่มมา ๒-๓ คน มีท่าทีผิดแปลกไปจากพวกที่เคยมา ซึ่งคนอื่นๆ เมื่อพบเห็นข้าพเจ้าก็จะทักทายยิ้มแย้มแสดงความคุ้นเคยเป็นกันเอง แต่คนกลุ่มที่กล่าวนั้น จะแยกนั่งอยู่ด้านหลังสุด มองข้าพเจ้าด้วยสีหน้าและแววตาเฉยเมย วินาทีที่ข้าพเจ้าเห็นเป็นครั้งแรกก็มีความรู้สึกสังหรณ์ใจทันทีว่า กําลังถูกตรวจสอบ แต่ไม่ทราบว่าด้วยเรื่องอะไร ในใจก็นึกแต่ว่า ข้าพเจ้าทํางานให้พระศาสนาในที่นี้ด้วยความบริสุทธิ์ใจหวังชี้ทางให้แก่เพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้รู้สึกตัวว่า เกิดมาชาตินี้ไม่ใช่เพียงมามีครอบครัว มาเลี้ยงลูก มามีภรรยามีสามีแล้วก็แก่ก็ตายไป ให้รู้ตัวเองว่าเกิดมาเพื่อสร้างบุญกุศลให้แก่กล้าเป็นบารมีติดตัวเอาไว้ เมื่อบารมีแก่กล้าครบถ้วนเต็มที่จะได้เลิกเวียนว่ายตายเกิดเสียที ข้าพเจ้าไม่เคยหวังประโยชน์ใดๆ จากคนฟัง แม้แต่ค่ารถค่าเดินทางก็พยายามห้อยโหนรถเมล์มาเอง ไม่ต้องการทําความลําบากให้ผู้ใด บางครั้งถึงกับหกล้มหกลุก แข้งขาถลอก ข้าวของหล่นกระจายเต็มพื้นถนน เสื้อผ้าเปรอะเปื้อน ขัดยอกเคล็ดบวมไปหลายวัน บางคราวต้องอดอาหารมื้อเพล เพราะรถเมล์ติดแน่นในท้องถนน ก็ไม่เคยย่อท้อในการสร้างบารมี เมื่อหวังดีต่อผู้คนขนาดนี้ จะต้องมาถูกจับผิดอีก ก็จะไม่เสียใจอะไรเลย หากพระเดชพระคุณหลวงพ่อธัมมชโยสั่งให้เลิกสอน ก็จะถือเป็นโชคดี จะได้ไม่เหนื่อยยากตรากตรําต่อไป แก่แล้วจะได้พักผ่อนบ้าง เป็นครูสอนเด็กมาหลายสิบปี ยังต้องมาสอนคนใหญ่อีก ควรพอเสียที…

คิดได้อย่างนี้ ข้าพเจ้าก็ไม่สะทกสะท้านอย่างใด ตั้งใจให้การอบรมสั่งสอนไปตามปกติ การสอนแต่ละคราวที่ผ่านไป กระทําด้วยความเข้มแข็งองอาจ เหมือนทําการอบรมสั่งสอนลูกหลานในไส้ของตนเอง ใจก็นึกแต่ว่า ใครที่มาคิดจับผิดเรา คนเหล่านั้นเขาหวังดีต่อผู้คนไม่ได้ หนึ่งในล้านส่วนของเราหรอก ท้ายที่สุดคนแปลกหน้ากลุ่มนั้นก็หายไป

อีกร่วมครึ่งปีต่อมา วัดพระธรรมกายถูกใส่ร้ายป้ายสีด้วยเรื่องเสียหายต่างๆ สื่อมวลชนโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์บางฉบับกล่าวโจมตีวัดอย่างรุนแรง บางฉบับลงทุนพิมพ์ขายเป็นเล่ม ใช้คําพูดดูถูกดูหมิ่นพระเดชพระคุณหลวงพ่อด้วยถ้อยคําน่าเกลียดต่างๆ โดยที่ตนเองไม่รู้ข้อเท็จจริงตื้นลึกหนาบางมาก่อน ไปฟังเพียงคําพูดของคนบางคนที่ต้องการทําลายล้างโครงการของวัดบ้าง อาศัยหน่วยงานบางหน่วยที่หวาดระแวงไปว่า วัดจะรวมคนจํานวนมากก่อความปั่นป่วนให้บ้านเมืองบ้าง บางหน่วยงานกุข่าวสร้างความเชื่อผิดๆ ว่าเป็นวัดคอมมิวนิสต์บ้าง ซึ่งไม่ทราบว่าประเทศคอมมิวนิสต์เขาสอนผู้คนของเขาให้ทําทาน รักษาศีล เจริญ ภาวนากันหรืออย่างไร แล้วพากันเขียนข้อความทําลายวัดซึ่งเป็นงานส่วนรวม ทําลายศรัทธาของผู้คนที่กําลังสนใจปฏิบัติธรรมอยู่แล้ว และคนที่กําลังสนใจจะเดินทางมาศึกษา เรียกว่า “ตีให้กระเจิดกระเจิงทั้งคนเก่าคนใหม่” เขาทําไปโดยไม่รู้ว่าผลบาปที่เขาจะได้รับนั้นมากมายหนักหนาสาหัสเพียงใด เพราะเป็นการกระทําต่อผู้บริสุทธิ์ เป็นเรื่องน่าอนาถใจแท้ๆ

ในเวลานั้นเอง หลังจากข่าวต่างๆ ของวัดสร่างซาลง ก็มีเรื่องของข้าพเจ้าโผล่ขึ้นในหนังสือพิมพ์ ๓ ฉบับ แต่ไม่ออกชื่อเสียงเรียงนามข้าพเจ้า เพียงแต่กล่าวเป็นสามัญนามว่า “แม่ชีวัดพระธรรมกาย”
แม่ชีวัดพระธรรมกาย มีอยู่เพียง ๒ คน ท่านแรกคือ คุณยายอาจารย์มหารัตนอุบาสิกาจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งอยู่ประจำในวัด ส่วนข้าพเจ้าอยู่นอกวัด พักอยู่บ้านบุตรสาว เป็นที่เงียบสงบ ไม่ต้องคลุกคลีเกี่ยวข้องกับใคร ข้าพเจ้าชอบอย่างนั้น แต่ได้ทำงานให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อด้วยการเขียนหนังสือบ้าง ออกให้การอบรมผู้คนตามสถานที่ต่างๆ อย่างที่กำลังเล่าอยู่นี้บ้าง มีแม่ชี ๒ คน ใครอ่านแล้วก็ต้องเข้าใจว่าหนังสือพิมพ์เจาะจงว่าข้าพเจ้า

เรื่องที่หนังสือพิมพ์เอามาเขียนให้ผู้คนทราบคือ เรื่องที่ว่าข้าพเจ้าไปสอนที่กระทรวงเกษตรฯ มีข้าราชการไม่พอใจเขียนเรื่องร้องเรียนขึ้นฟ้องปลัดกระทรวงเป็นทำนองข้าพเจ้าไม่นับถือพระพุทธรูป ถ้อยคำที่ใช้มีเจตนาให้คนอ่านเข้าใจว่า ข้าพเจ้าสอนแบบเพี้ยนๆ ผู้คนไม่พอใจ แรกๆ คนไปฟังกันมาก แล้วร่อยหรอลงไปเหลือไม่กี่คน

ข้าพเจ้าอ่านแล้วเข้าใจต้นสายปลายเหตุได้ตลอด สตรีผู้นั้นจะต้องเป็นผู้ทำหนังสือร้องเรียนขึ้นไปจนถึงปลัดกระทรวงโดยแน่นอน กล่าวคำ “มุสาวาท” ในการร้องเรียนเป็นการกระทำโดยเจตนาบิดเบือนความจริง ไม่ยอมฟังเจ้าหน้าที่ผู้จัดสถานที่ชี้แจงตามที่เล่าไว้

ยังดีหนังสือพิมพ์ลงตอนท้ายเล็กน้อยว่า ปลัดกระทรวงได้แต่งตั้งให้ผู้อำนวยการกองผู้หนึ่งไปสังเกตการณ์ ผู้สังเกตการณ์รายงานว่าไม่พบเห็นการกระทำดังกล่าวของข้าพเจ้า เรื่องของข้าพเจ้าที่เล่าไว้ข้างต้นเกิดก่อนเรื่องวุ่นๆ ของวัดนานเต็มที ไม่มีการเอาข่าวลงในหนังสือพิมพ์ แต่พอมีการโจมตีวัดพระธรรมกายขึ้นมา จึงมีคนนำเรื่องนี้ไปให้ข่าว ท่านผู้อ่านก็คงเดาออกว่าเป็นการกระทำของใคร

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ข้าพเจ้าจำได้ว่า ตนเองเกิดความดีใจเป็นพิเศษ ไม่ใช่แกล้งพูดแกล้งทำ เป็นความดีใจจริงๆ เพราะตลอดเวลาที่ต้องฟังนักข่าวอ่านข่าวพระเดชพระคุณหลวงพ่อถูกใส่ร้าย หัวใจข้าพเจ้าเจ็บปวด    มันร้าวรานเหมือนจะแตกดับ       เพราะข้าพเจ้ารู้จักตัวคนก่อเหตุร้ายให้พระเดชพระคุณหลวงพ่อมากว่า ๒๐ ปี รู้ซึ้งถึงอัธยาศัยเจ้าเล่ห์ต่างๆ รู้การทำชั่วโดยไม่มีความละอายแก่ใจของคนๆ นี้ดี รู้ถึงความบริสุทธิ์ ปราศจากมลทินของพระเดชพระคุณหลวงพ่อ แต่ข้าพเจ้าไม่มีปัญญาช่วยเหลืออะไรท่านได้เลย หัวใจจึงเจ็บปวดยิ่งนัก พยายามเอาหลักธรรมต่างๆ ตลอดจนการปฏิบัติธรรมเข้าหักใจ ก็สำเร็จเพียงชั่วครู่ชั่วยาม ไม่หายได้เด็ดขาด และโดยพื้นเพอุปนิสัยใจคอ ข้าพเจ้าเป็นคนอย่างนี้เอง คือชอบเห็นความยุติธรรม ใครทำดีแล้วได้ผลร้าย ถูกกล่าวหาอย่างไม่เป็นธรรม ไม่มีโอกาสแก้ตัว ไม่มีการสอบถามว่าเรื่องเป็นความจริงแค่ไหน มันแย่ยิ่งกว่าการพิจารณาความในศาลสถิตยุติธรรมเสียอีก ในศาลเขายังให้โอกาสจำเลยแถลงข้อแก้ตัว แต่พระเดชพระคุณหลวงพ่อไม่มีโอกาสเลย ถูกฟาดฟันอยู่ข้างเดียว

ครั้นตนเองถูกเข้าบ้าง หนังสือพิมพ์ลงข่าวกล่าวร้ายหลายฉบับ จึงรู้สึกเหมือนได้ตกอยู่ในฐานะเดียวกับพระเดชพระคุณหลวงพ่อ ท่านไม่ได้อยู่เย็นเป็นสุขอย่างใด พ่อมีเคราะห์ ลูกก็มีด้วย ดูช่างเหมาะที่จะเป็นสายเลือดเผ่าพันธุ์เดียวกัน ทำให้สบายอกสบายใจยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ไปหลายวัน

เรื่องต่างๆ ในโลกนี้ จะทำทุกข์ทำสุขให้เราได้ ไม่ใช่เหตุการณ์ของเรื่องนั้นเป็นสาเหตุ ทุกข์สุขอยู่ที่ใจเราต่างหาก เรื่องเดียวกันคิดอย่างหนึ่งเป็นทุกข์ คิดอีกอย่างกลับเป็นสุข ดังนั้นถ้าคนเรารู้จัก “คิดให้เป็น” ก็จะไม่มีเรื่องอะไรมาทำให้ใจเราเป็นทุกข์

หลายคนอ่านข่าวหนังสือพิมพ์ เรื่องที่ข้าพเจ้าถูกกล่าวหาว่า ลบหลู่พระพุทธรูปครั้งนั้น พากันถามว่า อย่างบางสำนักที่เขาไม่นิยมกราบไหว้พระพุทธรูป เขาทำถูกหรือเปล่า ข้าพเจ้าจึงคุยให้เขาฟัง

“คนในโลกนี้ มีจริตอัธยาศัย จิตใจ และสติปัญญาเหมือนกันรึเปล่าเล่า”

“โธ่ป้า มันจะเหมือนกันได้ยังไง ให้เป็นลูกแฝดก็ยังไม่เหมือนกันเลย”

“ก็นั้นแหละ เรื่องนับถือพระพุทธรูป มันก็เกี่ยวกันอย่างนี้”

“เกี่ยวยังไง นึกไม่ออกเลย” อีกฝ่ายตอบเพราะคงรู้สึกงงไปตามนั้นจริงๆ

“ก็คนมีปัญญามากๆ ที่เราเรียกกันว่า คนพุทธิจริต ไงล่ะ คนพวกนี้เจ้าเหตุเจ้าผล ถ้าเค้าต้องการเคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรายังงี้ เค้าก็นึกเคารพถึงพระองค์จริงโน่นได้เลย ตั้งแต่พระองค์ทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในครั้งกระโน้น เค้านึกออกปุ๊บปั๊บ ไม่ต้องเสียเวลาอะไร นึกจะกราบพระองค์ที่ไหนก็กราบได้ นึกด้วยใจไม่มีเสียเวลา ไม่ลำบาก ไม่เรื่องมากให้ต้องวุ่นวาย เราจะว่าคนประเภทนี้ผิดได้อย่างไรกัน จริงมั้ย”

“แต่พวกเราอีกเยอะที่ไม่ใช่คนมีจริตอัธยาศัยรวดเร็วเหมือนประเภท ศรัทธาจริต หนักไปในทางเลื่อมใส ใจเราไม่รวดเร็วเหมือนประเภทพุทธิจริต แต่อ่อนโยนนิ่มนวลกว่า ชักช้ากว่ากัน ถ้าใครบอกให้นึกถึงพระพุทธเจ้า บางทีก็นึกไม่ใคร่ออก หรือนึกออกก็ไม่มั่นคง ลืมง่าย จึงต้องใช้อุบายหาของต่างๆ มาใช้เป็นสื่อให้ใจจดจ่อเอาไว้ จะเป็นรูปภาพ รูปปั้น พระบรมสารีริกธาตุ เจดีย์ ถ้อยคำที่เป็นพระพุทธภาษิต ต้นโพธิ์ ก้อนหินอะไรๆ ที่สมมติขึ้น ใช้ได้ทั้งนั้น ถ้าพอเห็นของสมมติเหล่านั้นแล้วใจของเราคิดต่อเนื่องไปถึงพระบรมศาสดาได้ ก็ถือว่าใช้ได้ ซึ่งนับว่าได้ประโยชน์ ไม่น้อยกว่าพวกแรก

อธิบายเสียยืดยาว คนฟังก็ยังขอตัวอย่างเพิ่มเติม สีหน้ายังไม่คลายสงสัย จึงต้องสาธยายต่อ

“นี่คุณเคยมีแฟนมั้ย เมื่อตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวน่ะ” อีกฝ่ายยอมรับ

“แฟนเคยให้ของขวัญของที่ระลึกอะไรกะคุณมั่งมั้ย ดอกไม้ ผ้าเช็ดหน้า ฯลฯ”

“เคยครับ เคยค่ะ ให้นาฬิกา ปากกา...” ว่ากันไปตามที่คิดได้

“เอ้าคิดตามให้ดีนะ ที่นี้เวลาปกติคุณมีงานเรื่องอื่นทําอยู่ก็ลืมคิดถึงแฟนไป แต่พอมองเห็นของที่เขาให้ไว้ คุณนึกถึงใคร รึว่านึกยังไง นึกถึงคนให้ นึกถึงราคาของ หรือนึกถึงร้านขายของ

“เราก็ต้องนึกถึงคนให้ซีครับ (คะ)” ข้าพเจ้าจึงอธิบายสรุปว่า

“พระพุทธรูป พระสถูปเจดีย์ โบสถ์ วิหาร อะไรต่อมิอะไรที่เราสร้างขึ้น ล้วนแต่ใช้เป็นสิ่งเตือนใจให้เรารําลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อย่างนี้แหละ”

ผู้ฟังรับว่าเข้าใจแจ่มแจ้งดีแล้ว และด้วยความอยากให้เข้าใจอย่างกระจ่าง อย่างหมดข้อสงสัยใดๆ อีก ข้าพเจ้าจึงยกตัวอย่างอธิบาย ต่อไปอีกว่า

“คุณรู้มั้ย สมัยป้ารุ่นๆ สาวนะ มีแฟนกะเค้าเหมือนกัน แฟนก็ปลูกต้นกุหลาบไว้หลายกระถาง พอมันออกดอก เค้าก็ตัดมาให้ป้า ป้าก็ปักแจกันเอาไว้ชื่นชม เห็นดอกไม้ก็คิดถึงคนให้ ที่นี้พอดอกไม้มันเหี่ยว ป้าก็ไม่อยากจะทิ้ง เลยเอามันใส่ไว้ในสมุดมั่ง ในหนังสือมั่ง เอาของหนักๆ ทับให้แบน ดอกไม้ก็แห้งแบน แล้วป้าก็เขียนวันที่กํากับไว้ดอกนี้ได้มาเมื่อนั่น ดอกนั้นได้มาวันโน้น ความจริงตอนที่ดอกไม้แห้งแบนอยู่ในสมุดหรือหนังสือนั่นน่ะ มันดูไม่ได้แล้ว ทั้งยู่ยี่ สีก็ดํา บางที่มีราขึ้นเลอะไปหมด แต่เมื่อป้าเอาออกมาดูกลับไม่เคยนึกรังเกียจเลย กลับไปนึกถึงน้ำใจ นึกถึงท่าทางของคนให้โน่น

“ครับ, ค่ะ เข้าใจแจ่มแจ้ง หมดสงสัยสิ้นเชิง”

ข้าพเจ้าพูดเสริมอีกว่า “เราไม่ควรว่ากัน ใครจะเคารพหรือไม่เคารพพระพุทธรูปก็ถูกทั้งสองพวก ขอให้เคารพพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็แล้วกัน ไม่ควรจะโกรธว่าเขาไม่เหมือนเรา อย่างเช่นเรื่องกินอาหาร คนนี้ชอบอาหารอย่างโน้น คนโน้นชอบอาหารอย่างนั้น จะหาว่าเป็นความผิดได้ยังไง แล้วพระพุทธรูปสวยไม่สวย ได้สัดส่วนรึเปล่าก็ไม่ควรเอามาเป็นอารมณ์อีกน่ะแหละ เพราะเราใช้เป็นแค่อุบายพาใจให้คิดถึง พระคุณของพระรัตนตรัยเท่านั้น เหมือนดอกกุหลาบดําๆ แห้งๆ ที่ป้ายกมาเป็นตัวอย่างให้ฟังนั่นแหละ ป้าหมายความว่าเราใช้เป็นสื่อให้ใจนึกถึงคนให้เท่านั้น ความสนใจอยู่ที่คนให้ ไม่ใช่อยู่ที่ดอกไม้”

เล่าเหตุการณ์เรื่องข้างต้นมาให้ท่านผู้อ่านฟัง เป็นตัวอย่างของการกล่าวมุสาวาททั้งที่รู้ว่าเป็นเรื่องไม่จริง ยังชักชวนให้ผู้อื่นมีความเห็นคล้อยตาม ทําอย่างถาวรคือเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรเผยแพร่ คนที่พอมีศรัทธาอยู่บ้างแต่ขาดปัญญา อ่านรู้เรื่องเข้า หรือฟังจากคําบอกเล่าของคนอื่นก็พลอยเชื่อถือ ไม่มาเข้าฟังการอบรมอีก เท่ากับคนทํามุสาวาทคนนี้ “ปิดกั้นบุญ” ของผู้คน ไม่ใช่บาปที่มีผลเฉพาะตัวเอง บาปที่กั้นการประกอบกุศลกรรมของคนอื่นๆ นั้น เวลาให้ผลย่อมน่ากลัวพ้นประมาณ

 

 

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล

จากความทรงจำ เล่ม2

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.015520433584849 Mins