วิธีแก้ไขความฟุ้งซ่านรำคาญใจ
ความฟุ้งซ่านทำให้เกิดความกังวล ห่วงใย ใจไม่สงบระงับ จนไม่สามารถตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อันเป็นสมาธิได้ ซึ่งเป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการบรรลุธรรม ก่อนจะแก้ไขความฟุ้งซ่าน เราควรจะรู้ว่าสาเหตุที่ทำให้ฟุ้งซ่านก็คือ ความกังวล ๑๐ ประการ อันได้แก่ ความกังวลในเรื่องที่อยู่ ตระกูล การได้ทรัพย์สมบัติ หมู่คณะ กิจการงานต่าง ๆ การเดินทาง เครือญาติ ความป่วยไข้ การศึกษาเล่าเรียน และความกังวลว่าจะเสื่อมจากอิทธิฤทธิ์ หรือกังวลว่าฝึกสมาธิแล้วจะได้อิทธิฤทธิ์แบบนั้น แบบนี้ ซึ่งการป้องกันและแก้ไขความฟุ้งซ่านระดับหยาบ ๆ สามารถทำได้โดยการสำรวมอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) รู้จักประมาณในอาหาร ประกอบความเพียรทำให้เห็นแจ้งในกุศลธรรมจนหมดสงสัย และให้ประกอบธรรมอันเกื้อกูลต่อการบรรลุธรรมทั้งกลางวันกลางคืน โดยการฝึกสมาธิ ซึ่งก่อนจะฝึกสมาธิ ก็ต้องทำความเข้าใจว่า ธรรมชาติของจิตที่ฝึกใหม่จะไม่อยู่นิ่ง จะซัดส่ายไปในเรื่องราวต่าง ๆ ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาที่เกาะให้ใจ เพื่อไม่ให้ใจคิดโน่น คิดนี่ ฟุ้งซ่านจนเตลิดเปิดเปิง ซึ่งหากเราฟุ้งเป็นภาพ ก็ต้องแก้ด้วยการนึกภาพที่เป็นกุศลขึ้นมาแทน เช่น นึกถึงดวงแก้วหรือองค์พระไว้ที่ศูนย์กลางกายฐานที่ ๗ หากเราฟุ้งเป็นเสียง ...ก็ต้องแก้ไขโดยการบริกรรมภาวนาในใจเป็นเสียงขึ้นมาแทนว่า “สัมมาอะระหัง ๆ”
การนึกถึงดวงแก้วหรือองค์พระพร้อมกับภาวนาว่า “สัมมาอะระหัง” ไปเรื่อย ๆ อย่างเบาสบายนั้น เป็นวิธีลัดที่เร็วที่สุด และสามารถกำจัดความฟุ้งซ่านได้ดีที่สุด หากเราเผลอไปคิดเรื่องอื่นอีก ก็ให้กลับมาเริ่มทำเช่นนี้ใหม่เรื่อย ๆ แล้วสุดท้ายใจเราก็จะอยู่ที่ศูนย์กลางกายได้นานขึ้นเองอย่างอัตโนมัติ แต่ถ้าหากเราฟุ้งมากจริง ๆ ในระดับที่ใจกระวนกระวาย ก็ให้ลืมตาดูดวงแก้วหรือองค์พระ มองเพลิน ๆ อย่างสบาย ๆ แล้วให้น้อมนำภาพนั้นมาเป็นบริกรรมนิมิต แล้วภาวนาไปพร้อม ๆ กันใหม่ ฝึกทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ แล้วสุดท้าย เราก็จะเข้าถึงธรรมอย่างง่าย ๆ เป็นอัศจรรย์...
Cr. วารสารอยู่ในบุญ สำนักสื่อธรรมะ