อดเพื่อลูกอิ่ม

วันที่ 06 กพ. พ.ศ.2560

 

อดเพื่อลูกอิ่ม

 

อดเพื่อลูกอิ่ม,ที่นี่มีคำตอบ ฉบับมินิ เล่ม 4 รักนี้สีอะไร,บทความประจำวัน

 

                     ข้าพเจ้าขอย้อนไปถึงชีวิตวัยเยาว์ในอดีต เกี่ยวกับความรักของพ่อแม่ที่ข้าพเจ้าได้พบ  ขอเล่าจากความทรงจําเป็นบางเรื่องไว้ดังนี้

                        นับแต่จําความได้ อาหารหลักประจําหมู่บ้านที่ข้าพเจ้าอาศัยอยู่คือปลา ซึ่งมีอยู่ชุกชุมในแม่น้ำลําคลองที่ไหลผ่านตําบลของเรา มีปลาชนิดต่างๆ เช่น ปลาเค้า ปลากด ปลาตะเพียน ปลาแขยง ปลากราย ปลาดุก ฯลฯ ล้วนแต่ตัวโตๆ ยังมีปลาเล็กปลาน้อย เช่น ปลาสร้อย ปลาไส้ตัน ปลารากกล้วย ปลาน้ำผึ้ง ปลาหมู และอื่นๆ นับชนิดไม่ถ้วน บ้านของข้าพเจ้าก็มีปลาเหล่านี้กินอยู่เสมอ เพราะพ่อเป็นคนชอบจับปลาด้วยเครื่องมือชนิดต่างๆ

                   ไม่ว่าแม่จะทํากับข้าวอะไรๆ เกี่ยวกับปลาก็ตาม ข้าพเจ้าจะสังเกตเห็นพ่อหยิบชิ้นปลาชิ้นที่มีเนื้อติดน้อยที่สุด เช่น ชิ้นหัว ชิ้นหางรับประทาน ชิ้นใดที่มีเนื้อมาก มีไข่ หรือมีพุงปลา พ่อจะให้ข้าพเจ้าและแม่ แม่เองก็มักจะไม่ยอมกิน ต้องยกมาให้ข้าพเจ้ากินคนเดียว จนข้าพเจ้าอายุ ๘ ขวบ มีน้องชายตามมาเกิด ของดีๆ เหล่านั้นข้าพเจ้ากับน้องก็เป็นผู้ได้กิน

              เวลานั้นข้าพเจ้าไม่เข้าใจว่าเป็นการเสียสละของพ่อแม่ กลับนึกไปว่าหัวปลา ก้างปลาเหล่านั้นคงอร่อยมาก เพราะพ่อกินคนเดียวอยู่เรื่อย จึงถามพ่ออยู่เสมอว่า

                “พ่อจ๋า ทําไมพ่อชอบกินหัวปลา ชอบแกะเนื้อปลาที่ติดอยู่ตามก้างของมันมากิน ก็ชิ้นปลาอย่างงี้ๆ มีแต่เนื้อทั้งนั้น พ่อไม่ชอบกินมั่งหรือ ไม่กลัวก้างทิ่มเหงือกรึติดคอไงจ๊ะ”

               “ก้างปลา หัวปลา นี่มันอร่อยนะลูก มันมันดี พ่อชอบกิน” พ่อตอบเลี่ยงไม่ตรงตามความรู้สึกที่แท้จริงที่ว่าพ่อต้องการให้ลูกกินสิ่งที่ดีที่สุด

                “หนูว่าพุงปลา ไข่ปลา นี่ก็อร่อยดีออกจ้ะ ทําไมพ่อไม่กินมั่งเลย ให้หนูกินคนเดียว”

           “พ่อชอบหัวปลามากกว่า นี่ไง พ่อดูดมันอร่อยออก” ตอบแล้วพ่อก็ดูดหัวปลาให้ดูอย่างเอร็ดอร่อย พลอยให้ข้าพเจ้าเชื่อว่าหัวปลา ก้างปลา ต้องมีรสดีพิเศษ อ้อนวอนพ่อว่า

               “พ่อจ๋า หนูอยากกินของอร่อยๆ นั่นมั่งจ้ะ หนูจะกินหัวปลาชิ้นนี้นะ” บอกแล้วข้าพเจ้าก็เอื้อมมือจะหยิบหัวปลาชิ้นที่อยู่ในชามแกง (เวลานั้นครอบครัวข้าพเจ้าจะใช้ช้อนเพียงไว้สําหรับตักแกงเท่านั้น การเปิบอาหารเข้าปากเราใช้มือ เพิ่งมาใช้ช้อนกันในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่สองเลิกใหม่ๆ)

                “ไม่ได้ๆ ลูกกินหัวปลาไม่ดีนะลูก เดี๋ยวก้างเกิดหลุดไปติดคอเป็นอันตราย”

               เสียงห้ามปรามของพ่อทําให้ข้าพเจ้าชะงักเพราะนึกกลัวก้างติดคอ เคยติดแต่ละครั้งเจ็บคอน่ารําคาญ เมื่อถูกห้าม ข้าพเจ้าก็เชื่อฟัง แต่ก็อดคิดบ่อยๆ ไม่ได้ว่า เอ..นี่พ่อไม่รักเราหรือเนี่ย ทําไมของดีๆ อร่อยๆ พ่อไม่ให้เรากิน เอาเนื้อปลา พุงปลา ไข่ปลามาให้เรากิน…

             กว่าจะรู้ว่าตนเองคิดผิดๆ เวลาก็ผ่านไปเนิ่นนานเต็มทีจนกระทั่งข้าพเจ้ามีลูกของตนเอง เข้าใจถึงความรักอันลึกซึ้งที่ตนเองมีต่อลูกๆ มีความเต็มใจเสียสละอาหารดีๆ ให้ลูกกินอยู่ตลอดเวลา จึงเข้าใจซาบซึ้ง ในความรักที่พ่อแม่มีต่อลูก

                     พ่อแม่ไม่กล้าบอกข้าพเจ้าว่า ท่านเอาของดีที่สุดให้ลูกกิน ท่านยินดีกินแต่ของไม่ใคร่ดี ทั้งนี้เพราะท่านทั้งสองทราบดีว่าข้าพเจ้าก็รักท่าน ถ้ารู้ความจริงอย่างนั้น ข้าพเจ้าจะไม่ยอมกินกับข้าวดีๆ เหล่านั้นเป็นอันขาด จะต้องเก็บไว้ให้ท่าน การกระทําอย่างนี้ข้อเสียก็มีอยู่ ถ้าลูกเข้าใจไม่ทันก็จะขาดการรู้คุณอย่างที่ข้าพเจ้าเคยเป็น

                    ดังนั้น เมื่อถึงคราวข้าพเจ้าเลี้ยงลูก ข้าพเจ้าจึงไม่ปิดบังลูก ถ้าครั้งใดที่ลูกถาม เขาก็จะได้รับคําตอบตรงตามจริงว่า

                      รักหนู แม่จึงอยากให้หนูกินของที่ดีที่สุด ลูกกินได้แล้วแม่สบายใจจ้ะ

               ลูกๆ นอกจากจะรู้บุญคุณและน้ำใจของพ่อแม่แล้ว ลูกคนไหนที่เห็นใจ เขาก็จะไม่กินของอร่อยๆ เหล่านั้นจนหมดเกลี้ยง จะเหลือไว้ให้พ่อแม่บ้างตามสมควร ไม่ใช่มารู้คุณเอาตอนสายมากไปหรือสายเกินไป เช่น ตอนพ่อแม่ละโลกไปแล้ว เป็นต้น

             สําหรับข้าพเจ้า แม้จะไม่ทราบถึงความรัก ความห่วงใย ความเสียสละจากปากของพ่อแม่โดยตรง แต่ก็ไม่สายเกินไปที่ข้าพเจ้าจะค้นพบเอง จะขอเล่าย่อๆ ให้ฟัง...

            เมื่อครั้งพ่อแม่เป็นครูอยู่ด้วยกันในโรงเรียนประชาบาลประจําหมู่บ้าน เวลาโรงเรียนหยุดพักเรียนตอนกลางวัน ทั้งครูและนักเรียนต่างคนต่างเดินกลับไปกินอาหารกลางวันที่บ้าน เราสามคนพ่อแม่ลูกก็กระทําเช่นนั้นเป็นปกติ

              ต่อมาภายหลัง เมื่อพ่อมีเรื่องกับท่านสมภารที่วัด ตามที่เล่าไว้ในหนังสือจากความทรงจําฉบับรวมเล่ม เล่มที่ ๒  เรื่องศิษย์นักเลงขัดแย้งกันจนถึงมีการยิงกันตาย แม่เองก็คลอดน้องชายข้าพเจ้า ร่างกายอ่อนแอมาก รวมทั้งรัฐบาลยุคนั้นสั่งให้ครูผู้หญิงทั่วประเทศเลิกกินหมาก แม่เลิกไม่ได้เพราะเวลาทดลองอดก็จะถึงกับเป็นลมทุกครั้ง แม่จึงลาออกจากการเป็นครู อยู่บ้านเลี้ยงลูก พ่อเองก็ไม่ต้องการมีเรื่องราวร้ายๆ อะไรต่อไปอีก ท่านจึงขอทางอําเภอย้ายไปสอนอยู่โรงเรียนประจำหมู่บ้านอีกแห่งหนึ่ง ที่นั่นไกลจากบ้านข้าพเจ้าไปถึง ๔-๕ กิโลเมตร ข้าพเจ้าย้ายโรงเรียนตามพ่อไปด้วย

           เราสองคนพ่อลูกต้องออกเดินทางกันแต่เช้าตรู่ทุกวัน เป็นทางเดินตามหัวคันนาประมาณกิโลเมตรเศษๆ ที่เหลือเดินตามทางรถไฟ ทุกเช้าก่อนออกจากบ้านแม่จะให้ภาชนะใส่ข้าว เรียกว่า หม้ออวยใบเล็กๆ ให้พ่อถือไปด้วย ตกกลางวันเวลาพักเที่ยง พ่อจะหยิบหม้ออวยออกมา แล้วบอกข้าพเจ้าว่า

                                  “นี่ข้าวกลางวัน แม่เขาจัดมาให้ กินเสียซีลูก”

                                “พ่อไม่กินพร้อมหนูหรือจ๊ะ” ข้าพเจ้ามองหน้าพ่อ

                               “พ่อไม่หิวหรอกลูก หนูกินให้อิ่มเถอะ” พ่อตอบ
                                                                                                                                                                                                                                                                                                                                  คําตอบนั้นทําให้ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นความจริง พลอยให้นึกไปว่าพวกผู้ใหญ่เป็นคนเข้มแข็ง หิวอาหารไม่เป็น คนใหญ่จะไม่กินอาหารตอนกลางวัน เขาจะกินกันแต่ตอนเช้าและตอนเย็นเท่านั้น ก็พอแล้ว คิดได้อย่างนี้ข้าพเจ้าก็กินข้าวมากๆ กินกับข้าวเปล่าๆ จนหมด บางทีก็เหลือไว้นิดหน่อย ให้เพื่อนที่อดอยากกินต่อ จะได้ใช้เพื่อนล้างหม้อที่ท่าน้ำไปด้วย
                    

             พ่อไม่เคยท้วงติงแต่อย่างใด ลูกจะกินจนหมดหรือจะเรียกเพื่อนกิน หรือจะเทเลี้ยงหมาวัดที่มีอยู่เป็นฝูง พ่อก็ไม่เคยปริปาก ส่วนข้าพเจ้านอกจากไม่เคยนึกถึงพ่อว่าจะหิวแล้ว ยังนึกตําหนิแม่ว่า ทําไมแม่ต้องให้ข้าวและกับข้าวมามากเสียจริง กินเหลือจนต้องแจกคนแจกหมาอยู่ทุกวัน

              วันหนึ่งหลังกินข้าวกลางวันแล้ว เพื่อน ๓-๔ คน ชวนข้าพเจ้าไปที่ดงพุทราที่มันขึ้นกันเองอยู่ที่ทุ่งนา อยู่ห่างจากโรงเรียนประมาณครึ่งกิโลเมตร บอกว่ามีพุทราหวานกําลังสุกดกอยู่หลายต้น พุทราที่ขึ้นเองส่วนใหญ่มักมีรสเปรี้ยว ถ้าพุทราดงไหนมีลูกหวานปนอยู่ เด็กๆ ก็พากันไปเก็บ

        ข้าพเจ้าจึงขออนุญาตพ่อตามเพื่อนๆ ไป วันนั้นมีพุทราหวานสุกมากจริงๆ เพื่อนทุกคนตัวโตกว่าข้าพเจ้า    จึงพากันปีนขึ้นไปเก็บกินอยู่บนต้นซึ่งค่อนข้างสูงใหญ่ มีข้าพเจ้าอยู่ที่พื้นดินเพียงคนเดียว

                 ข้าพเจ้าแหงนหน้าดูตามกิ่งต่างๆ พอเห็นกิ่งใดมีลูกแก่จัดอยู่มาก ข้าพเจ้าจะร้องบอกเพื่อน

                                   “ทับทิม เธอไต่มาทางกิ่งนี้ๆ นั่นแหละๆ เขย่าเลย

               พอเพื่อนเขย่ากิ่ง ลูกสุกๆ ของมันก็จะหล่นลงมาปุ้กๆ เต็มไปหมด ต้องคอยระวังให้ดี มิฉะนั้นจะหล่นถูกตัวเจ็บอยู่บ้างเหมือนกัน

               ลูกพุทราวันนั้นลูกใหญ่งามสุกกําลังกิน เมื่อเก็บใส่ในกระเป๋าเสื้อ ๒ ข้างเต็มแล้วก็ยังมีเหลืออีกมาก ข้าพเจ้าดึงพกชายผ้าถุงข้างหน้าออกมา แล้วเก็บใส่ชายพกจนเต็ม ขณะที่กําลังเก็บ ใจก็นึกถึงพ่อ

                “ถึงพ่อจะไม่หิวข้าวกลางวัน แต่พุทรานี่สวยเหลือเกินอร่อยมากด้วย พ่อเห็นแล้วอาจนึกอยากกินก็ได้ เราจะทดลองถามพ่อดู”

                  จริงตามที่คิดเมื่อข้าพเจ้าขนพุทราออกจากกระเป๋าเสื้อและชายพกวางกองไว้กองใหญ่บนโต๊ะที่พ่อทํางานอยู่ พูดว่า

                           “พุทราเนี่ยหวานอร่อยจังเลยจ้ะ พ่อจะลองกินซักหน่อยได้มั้ยจ๊ะ หนูไปเก็บเอามาเอง

               พ่อมองแล้วยิ้ม ดวงตาของท่านเป็นประกายดีใจ ท่านหยิบใส่ปากทีละ ๒-๓ ลูก กินจนหมด ลักษณะเหมือนท่านหิวมาก เพราะเคี้ยวติดต่อกันไม่มีเว้นเลย จนพุทราหมดกอง ไม่มีเหลือให้ข้าพเจ้าเอากลับไปฝากแม่ เห็นอาการของพ่อแล้ว ทําให้ข้าพเจ้าอดใจอยู่ไม่ได้ต้องถามพ่อว่า

                             “พ่อ หิวหรือจ้ะ”

                            “จ้ะลูก ถ้ามีอะไรพ่อก็กิน ถ้าไม่มีพ่อก็อดไว้กินเอาตอนเย็นที่บ้านเราจ้ะ”

                  ภาพการกินพุทราด้วยความหิวของพ่อตรึงใจข้าพเจ้าจนพูดไม่ถูก ย้อนคิดได้ถึงอาหารกลางวันในหม้ออวย แม่ต้องจัดมาเผื่อทั้งสองคน ให้พ่อกินกับข้าพเจ้า พ่อคงอยากให้ลูกกินจนอิ่มเสียก่อน มีเหลือพ่อจึงจะกินทีหลัง ข้าพเจ้าไม่เข้าใจความรู้สึกนึกคิดเสียสละของพ่อเอง หลงคิดว่าพ่อไม่หิว กินทิ้งกินขว้างแจกเพื่อนบ้าง หมาบ้าง ทิ้งไปเสียทุกวัน ทําให้พ่อไม่มีข้าวกลางวันกิน พ่อคงต้องหิวอย่างนี้ทุกวัน แต่ด้วยความรักลูก เห็นลูกเอาข้าวแจกเพื่อนบ้าง แจกหมาบ้าง แล้วลูกมีความสุข แจกแล้วก็ชอบพูดรายงานให้พ่อฟัง

                      “วันนี้ เจ้าเปียมันไม่มีข้าวกินเลย หนูแบ่งให้มันกินด้วย ที่เหลือไอ้ด่างมันกินหมดเลยพ่อ มันคงหิวนะ หมามันไม่มีพ่อแม่เลี้ยงเหมือนหนู

              พ่อรับฟังแล้วยิ้มแห้งๆ พ่อจะพูดได้อย่างไรเล่าว่า พ่อก็หิวเหมือนกันลูก เพราะอาการของลูกที่กําลังดีอกดีใจ พ่อจะทําให้ลูกเสียใจได้ลงคออย่างไรกัน

               พอคิดว่า โธ่เอ๋ย เรานี่ทําพ่อหิวข้าวทุกวัน คิดแล้วก็อยากจะร้องไห้ ต่อจากนั้นทุกวันไปข้าพเจ้าจะต้องตักข้าวแบ่งใส่ฝาหม้ออวยออกมากินกับเพื่อน เอาที่เหลืออยู่ในหม้อยกให้พ่อ และก็เห็นท่านกินด้วยความเอร็ดอร่อยโดยไม่เคยปฏิเสธว่า “พ่อไม่หิว” อีกเลย

               เมื่อพ่อมีข้าวกลางวันกิน ข้าพเจ้าก็มีรายการสนุกในตอนเย็นแทบทุกเย็น โดยเฉพาะในฤดูน้ำหลาก หรือน้ำลด เพราะพ่อไม่ต้องรีบร้อนกลับให้ถึงบ้านเร็วๆ เพื่อกินอาหารที่แม่ทําไว้คอยเราสองคน หลังเลิกเรียน ขณะเดินทางกลับบ้านพ่อจะชวนข้าพเจ้าเก็บยอดผักอ่อนชนิดต่างๆ ที่ขึ้นกันเองตามป่าข้างทางบ้าง ตามหนองน้ำบ้าง ใช้ผ้าขาวม้าห่อกลับบ้าน บางทีก็จับตัวแมงดานามาให้แม่ตําน้ำพริก พ่อจับแมงดาเก่ง ส่วนข้าพเจ้าชอบเก็บแต่ไข่ของมันที่มันไข่ทิ้งไว้ตามใบต้นข้าว แล้วก็กินทั้งดิบๆ ตามที่พ่อทำให้ดู มีรสมันๆ อร่อย

           ถ้าเป็นตอนน้ำลด จะมีปลาที่ออกจากคันนาไม่ได้อยู่เป็นจํานวนมาก พ่อจะชวนข้าพเจ้าช่วยกันขุดทางระบายน้ำ พอปลาไหลตามมาพ่อก็จะใช้มือจับเอาจากในน้ำ เพราะมันตื้นนิดเดียว ปลาตัวใหญ่ๆ หลังของมันโผล่พ้นน้ำทีเดียว วันใดพบรังผึ้ง พ่อก็จะชวนตีผึ้ง จุดควันรมให้ตัวผึ้งหนีไป ตัดเอารังของมันมา

                 อ่านมาถึงตอนนี้ถ้าไม่คิดอะไรมาก อาจจะนึกสนุกตามข้าพเจ้ากับพ่อ แต่ที่ข้าพเจ้าใคร่จะชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง คือ ถ้าเราเกิดในตระกูลที่ไม่สนใจเรื่องบาปบุญคุณโทษ โอกาสทําบาปก็มีได้ง่ายดังกรณีของข้าพเจ้าเป็นตัวอย่าง ไข่แมงดารังหนึ่งๆ ไม่รู้กี่ร้อยตัว ข้าพเจ้ากินเพียงคำสองคำ ก็หมดรัง แม่ก็ยังเอาตัวแมงดาไปเสียบไม้ย่างไฟจนสุก ฉีกเนื้อมันโขลก ปนไปกับเครื่องน้ำพริกสําหรับใช้จิ้มผัก มีปลาที่เราพ่อลูกช่วยกันจับมาย่างบ้าง ทอดบ้าง ยังมีแกงอื่นๆ ที่ทําด้วยปลาอีก ไม่แกงส้มก็แกงฉู่ฉี่ บางทีก็เป็นห่อหมก ผึ้งก็เหมือนกันรังหนึ่งๆ มีตัวอ่อน นับพันตัวก็ถูกกินหมด ดูเถอะหลงช่วยพ่อทําปาณาติบาต ไม่รู้ว่านั้นกําลังทําบาป เห็นเป็นเรื่องดีไปได้เลยมีความทรงจําบาปๆ เหล่านั้นตราไว้จนทุกวันนี้ เอามาเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังได้เป็นเล่มๆ ใครอ่านแล้วอย่าได้ทําบาปเลยเป็นอันขาด แม้แต่ด้วยความคิด เพราะมันจะเป็นบาปทางใจฝังอยู่ไม่รู้ลืม

                ข้าพเจ้าเล่าเรื่องของตนเองที่ทําให้พ่ออดอาหารกลางวันโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ในสมัยเป็นนักเรียนชั้นประถมเรียนอยู่กับพ่อ ด้วยความรักลูก แม้เมื่อข้าพเจ้าเข้าเรียนในมหาวิทยาลัย พ่อก็ต้องตั้งใจอดอาหารกลางวันอยู่อีกหลายปี เพราะแม้ข้าพเจ้าจะได้รับทุนเล่าเรียนเป็นรายปีจากทางกระทรวงศึกษาธิการ พอใช้จ่ายโดยประหยัดจนตลอดปีการศึกษาก็จริง แต่พ่อแม่ของข้าพเจ้าก็ชอบขอยืมเงินจํานวนดังกล่าว ไปใช้ทําธุระอื่นๆ ของท่านแทบทุกครั้ง และท่านจะใช้คืนข้าพเจ้าเป็นรายเดือน ทําให้พ่อต้องมีภาระหนักอยู่ทุกเดือน อีกอย่างหนึ่ง เวลานั้นน้องชายก็เรียนอยู่ชั้นมัธยม พ่อต้องส่งเสียเต็มที่ เมื่อมหาวิทยาลัยปิดภาคข้าพเจ้ากลับไปเยี่ยมบ้าน ถามแม่ว่า

                  “แม่คะ ตอนนี้พ่อยังต้องอดข้าวกลางวันอยู่อีกหรือเปล่า ต้องประหยัดเก็บเงินส่งหนูกับน้องเรียนน่ะค่ะ”

               “ยังต้องอดอยู่ลูก รายจ่ายของน้องชายหนูก็เพิ่มขึ้นมาก เรียนเตรียมอุดมอยู่ประจําเนี่ย ใช้จ่ายตกเดือนหนึ่งๆ ราว ๔๐๐ - ๕๐๐ นะลูก เงินเดือนพ่อ ๗-๘ ร้อยเท่านั้นเอง ส่งหนูกับน้องหมดพอดี แต่ลูกไม่ต้อง กังวลใจหรอก ตั้งใจเรียนให้ดีอย่างเดียว แม่กับพ่อมีข้าวจากค่าเช่านากินจ้ะ

                พ่ออดข้าวกลางวันอีกแล้วรึนี่ เราจะทํายังไงดีจึงจะช่วยพ่อได้ ข้าพเจ้าครุ่นคิดอยู่หลายวัน พอดีเป็นเวลาใกล้ปิดภาคการศึกษาจึงได้ชวนเพื่อนไปที่กรมอาชีวศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ สมัครสอนพิเศษให้นักเรียนชั้นเล็กๆ ตามบ้านบ้าง ตามที่มีผู้ว่าจ้างบ้าง บังเอิญเวลานั้นมีการสอนชั้นมัธยมศึกษา ๒ ผลัด เมื่อเปิดภาคเรียนแล้วข้าพเจ้าก็ยังมีงานจ้างให้สอนอีกสัปดาห์ละ ๕ ชั่วโมงๆ ละ ๒๕ บาท ซึ่งพอปลีกเวลาได้ ทําให้มีรายได้ใช้จ่ายของตนเอง ไม่ต้องรบกวนทางบ้าน ข้าพเจ้าพูดกับพ่อแม่ว่า

                  “หนูทํางานพิเศษ อาทิตย์ละ ๕ ชั่วโมงเท่านั้นค่ะ รับรองไม่เสียการเรียน พ่อกับแม่ไม่ต้องเป็นห่วง”

                   พ่อพูดว่า “พ่ออดทนส่งลูกเรียนได้ ถ้าทํางานด้วยทําให้ลูกเรียนไม่เต็มที่ก็อย่าทําเลยลูก”

                 “ให้หนูทดลองดูก่อนสักเดือนหนึ่งนะคะ ข้าพเจ้าชี้แจง และก็สามารถทํางานได้โดยไม่เสียการเรียน ยังมีเงินเหลือส่งไปให้ทางบ้านอีกจำนวนหนึ่งเป็นประจํา

               “พ่อไม่ต้องส่งเงินให้หนูเรียนแล้ว พ่อต้องไม่อดข้าวกลางวันอีกนะคะ พ่อลำบากเพราะหนูมานาน หนูอยากให้พ่อสบายขึ้นบ้างน่ะค่ะ”

              พ่อรับคําข้าพเจ้าทําให้ข้าพเจ้าค่อยสบายใจขึ้น เมื่อมีโอกาสหารายได้อย่างอื่น เช่น รับจ้างเฝ้าร้านแสดงสินค้าในงานรัฐธรรมนูญ การแข่งขันชิงรางวัลข้อเขียน หรืออื่นๆ ข้าพเจ้าจะนํารายได้นั้นกลับไปให้พ่อแม่เสมอมา

            ครั้นจบการศึกษาและออกประกอบอาชีพรับราชการที่กรุงเทพฯ มีเงินเดือนทุกๆ เดือน ข้าพเจ้าจะยกซองเงินเดือนให้แม่เป็นคนหยิบออกนับเป็นคนแรก และขอให้ท่านนําไปใช้จ่ายตามที่ต้องการ เงินที่เหลือข้าพเจ้า จึงจะนํามาใช้จ่ายของตนเอง ข้าพเจ้าขอร้องแม่ว่า

           “หนูขอร้องแม่หน่อยนะคะ ตั้งแต่นี้ต่อไปแม่จะใช้จ่ายเท่าใด ขอให้ใช้เงินของหนู สําหรับเงินเดือนของพ่อ แม่อย่าใช้ของท่านอีก ขอให้พ่อใช้จ่ายอย่างสบาย พ่อต้องลําบากมานานหลายปีเต็มที ส่วนน้องอีก ๒ คน ก็ไม่ต้องเป็นห่วงค่ะ หนูจะส่งเสียพวกเค้าเล่าเรียนและหางานการให้ทําเอง”

           คือแต่แรกเมื่อรับราชการใหม่ๆ เวลานั้นปริญญาตรีมีอัตราเงินเดือน ๙๐๐ บาท ในฐานะที่ข้าพเจ้าเรียนไว้ ๒ ปริญญาและได้เกียรตินิยมด้วย จึงได้รับในอัตรา ๑,๖๐๐ บาท ข้าพเจ้ามอบให้แม่ถึง ๑,๐๐๐ บาท ข้าพเจ้ากับน้องชายเหลือใช้อยู่ ๖๐๐ บาท ปลายๆ เดือนเราพี่น้องต้องกินข้าวกับไข่ต้ม น้ำพริกปลาทู ได้ผักกระถินและผักบุ้งที่ปลูกไว้กินกันเป็นประจํา ในระยะหลังเมื่อมอบเงินเดือนให้แม่ทั้งชอง แม่จะหยิบเอาไปตามที่ท่านจําเป็น และจะเหลือไว้ให้ข้าพเจ้าและน้องพอใช้จ่ายเสมอ กระทั่งหลังจากแต่งงานแล้วข้าพเจ้าก็ยังคงทําอย่างนี้เป็นปกติ แม่เสียอีกที่เป็นคนช่วยข้าพเจ้าเก็บหอมรอมริบเพื่อซื้อที่ดินปลูกบ้านพักอาศัย ตั้งครอบครัวได้เป็นหลักฐาน

         ความรู้สึกว่า   “พ่อต้องอดข้าวกลางวันเพื่อเก็บเงินส่งเราเรียน”     เป็นความรู้สึกที่ฝังลึกอยู่ในความทรงจําของข้าพเจ้าเสมอมา ดังนั้น เวลาที่พบอาหารแปลกๆ ของกินอร่อยๆ ข้าพเจ้าจะซื้อไปฝากพ่ออยู่เสมอ

          จําได้ว่าเมื่อรู้จักอาหารที่เรียกชื่อว่า “หมูหยอง” เป็นครั้งแรก ข้าพเจ้าเห็นว่ามันเหมาะที่จะใช้กินกับข้าวต้ม จึงซื้อไปฝากพ่อกับแม่เสียห่อใหญ่ คิดว่าท่านจะชมเชยว่าเป็นของอร่อย ท่านกลับพูดว่า “หมูอะไร กันเนี่ย เหมือนกินสะเก็ดไม้แห้งๆ ไม่มีผิด”

         ซื้อขนมเค้กและอาหารจากภัตตาคารที่คนนิยมกันให้ท่านรับประทาน ไม่เคยได้รับคําชม ทั้งนี้เพราะท่านไม่คุ้นเคย ผลที่สุดก็กินอร่อยเฉพาะอาหารที่เคยกิน คือ ผักน้ำพริกปลาย่าง แกงส้ม แกงผ็ด ต้มยำ หมูทอด ฯลฯ

          ตามความเป็นจริง ความคุ้นเคยนั่นแหละคือความมีรสอร่อย เพราะตัวข้าพเจ้าเองก็ชอบอาหารพื้นๆ ที่เคยกินมาแต่เล็กเหมือนกัน ยิ่งถ้าเป็นฝีมือของแม่แล้วข้าพเจ้าและน้องตลอดจนลูกและสามีก็จะรับประทานกันจนอิ่มแปล้

            แม่ถึงแก่กรรมเมื่ออายุเพียง ๖๑ ปี ตรงตามบัญชีในยมโลกที่เคยดูไว้ ข้าพเจ้าเริ่มเฉลียวใจเพราะกําหนดอายุของพ่อในบัญชีระบุไว้ว่า ๗๕ ปี ข้าพเจ้าใคร่เลี้ยงดูเอาใจใส่ท่านให้ใกล้ชิดยิ่งกว่าที่เคยกระทําต่อแม่ เพื่อไม่ให้คิดเสียดายเวลาเหมือนที่รู้สึกเมื่อแม่ตายจาก ข้าพเจ้าจึงลาออกจากราชการเมื่อพ่อมีอายุได้ ๗๐ ปี ส่วนข้าพเจ้าอายุย่างเข้า ๔๓ ปี

           ๕ ปีเต็มที่ข้าพเจ้าได้ดูแลรักษาพยาบาลเอาใจใส่พ่ออย่างดีที่สุด อาหารสิ่งใดที่ท่านชอบและไม่แสลงโรค ข้าพเจ้าจะยอมสิ้นเปลืองเงินทองซื้อหาให้ท่านรับประทานอย่างสม่ำเสมอ และท่านจะรับประทานได้มากเอร็ดอร่อยเป็นพิเศษ ข้าพเจ้าทําเสียเต็มที่เพื่อให้คุ้มกันกับที่พ่อเคยอดเพราะข้าพเจ้า

          อาหารที่พ่อชอบมากที่สุดคือกุ้งก้ามกรามตัวโตๆ ต้มยํา ข้าพเจ้าไปตลาดในตัวเมืองครั้งใด ก็จะตรงไปที่ร้านขายกุ้งชนิดนี้ ซึ่งมีอยู่เพียง ๒ ร้าน เลือกซื้อตัวที่ตายแล้วสดๆ มาปรุงเป็นอาหารให้พ่อกินทําอยู่เป็น ประจำจนเป็นความเคยชินว่า ถ้าต้องเข้าเมืองก็จะต้องไปที่ร้านขายกุ้ง

     ภายหลังเมื่อพ่อถึงแก่กรรมแล้ว ตามอายุที่เขียนไว้ในบัญชียมโลกจริงๆ นั้น ในระยะแรกเมื่อท่านตายไปใหม่ๆ ข้าพเจ้ายังปรับจิตใจไม่ได้ดีพอ คอยลืมอยู่เสมอว่าพ่อตายแล้ว มักคิดเอาว่าพ่อยังมีชีวิตอยู่ ไปไหนก็จะต้องคอยคิดเป็นห่วงเรื่องซื้ออาหารฝาก

            วันหนึ่งข้าพเจ้าก็มีอาการดังที่เล่านี้ คือ ไปธุระในตัวเมือง เสร็จธุระแล้วก็เดินตรงไปที่ร้านขายกุ้งในตลาด แม่ค้าขายกุ้งรู้จักและจำข้าพเจ้าได้ดี ถามว่า

           “วันนี้คุณจะเอากิโลนึงเหมือนที่เคยซื้อรึเปล่า ถ้าเอาต้องมีกุ้งเป็นๆ ติดไปด้วยตัวนึงเพราะกุ้งตายมีไม่พอ มีอยู่เพียง ๗ - ๘ขีดเท่านั้น

           “มีเท่าไรก็เอาเท่านั้นแหละค่ะ ที่ยังเป็นอยู่ไม่เอา ชั้นถือศีลค่ะ ไม่ฆ่าสัตว์” แม่ค้าชั่งใส่ถุงเรียบร้อย พร้อมกับบอกราคา

               “๘ ขีดนี่คิดราคาพิเศษ ๑๕๐ บาทค่ะ”

                ขณะที่เอื้อมมือออกไปรับ ข้าพเจ้าก็นึกได้

               “อ้าว พ่อเราตายแล้วนี่ จะซื้อกุ้งไปให้ใครกินกันเล่า”

           พอนึกได้เท่านั้น น้ำตาก็ไหลพรากออกมา เทกุ้งคืน แม่ค้ามองหน้าอย่างแปลกใจเต็มที ทําอาการเหมือนกับจะถามว่า อะไรกันคุณทําไมน้ำตาไหล แล้วเทกุ้งคืนเล่า...

              “ขอ...ขอโทษทีเถอะนะ... ต้องคืนกุ้งเสียแล้ว ชั้นลืมไปว่า… คนกินกุ้งตายแล้ว...พ่อของชั้น...ตายแล้วจ้ะ”

             แม่ค้าพยักหน้ารับทราบอย่างเห็นใจ ข้าพเจ้าหันหลังกลับเดิน ปาดน้ำตาเรื่อยมาอีกเป็นนาน เพราะห้ามไม่หยุด มันอยากสะอื้น นึกแต่ว่าต่อนี้ไปเรามีเงินทอง อยากซื้อของกินดีๆ ก็ไม่รู้จะเอาไปให้ใครกิน การได้เห็นพ่อแม่กินหรือใช้สอยสิ่งของที่ข้าพเจ้าซื้อหาไปให้ ยิ่งท่านชอบใจเท่าใด ข้าพเจ้าก็ให้มีความสุขล้นเหลือยิ่งขึ้นเท่านั้น

             เมื่อนึกว่าต่อแต่นี้ไป ไม่มีใครกินอะไรอร่อยๆ ให้ดูอีกแล้ว ก็ให้รู้สึกใจหาย บางคนอาจจะเถียงว่า ก็เอาไปถวายให้พระฉันซี ใช่ ข้าพเจ้าไม่เถียง การถวายพระภิกษุสงฆ์เป็นบุญกุศลและความสุขอีกอย่างหนึ่งของคนทั่วไป แต่ในความรู้สึกส่วนตัวข้าพเจ้านั้น ถ้าแม้นยังมีพ่อแม่ให้ดูแลแล้ว พระอรหันต์ในบ้านนี่แหละเป็นที่ทําบุญได้อย่างวิเศษสุด พระภิกษุที่อยู่วัดท่านปฏิบัติดีปฏิบัติชอบก็จริงอยู่ แต่พระคุณโดยตรงที่ให้ชีวิตให้เลือดเนื้อ ให้รูปร่างความเป็นคนนั้น พระท่านไม่ได้ให้ข้าพเจ้าพ่อแม่เป็นผู้ให้มาทั้งสิ้น และด้วยการให้รูปร่างความเป็นคนมาในเบื้องต้นนี่เอง ทําให้ข้าพเจ้าสามารถใช้รูปร่างนั้นฟังคําสั่งสอนของพระภิกษุสงฆ์เข้าใจรู้เรื่อง ถ้าพ่อแม่ให้รูปร่างอย่างอื่น เช่น เป็นเดรัจฉาน หมู หมา กา ไก่ ฯลฯ ต่อให้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าประทานพระธรรมเทศนาด้วยพระองค์เอง ก็ยากที่เดรัจฉานเหล่านั้นจะมีปัญญาฟังเข้าใจ ข้าพเจ้านึกของข้าพเจ้าอย่างนี้ จึงเอาใจใส่พ่อแม่เป็นอันดับหนึ่ง ส่วนพระภิกษุสงฆ์ก็เป็นอันดับที่สองรองลงไป

             การพยายามตอบแทนบุญคุณด้วยวิธีการต่างๆ ความจริงข้าพเข้าทําไป จุดประสงค์ใหญ่เพื่อความสบายใจของตนเอง นึกไม่ถึงว่ามีผลพลอยได้ตามมาอย่างอัศจรรย์ ลูกๆ ของข้าพเจ้าได้เห็นตัวอย่าง และพวกเขาก็กระทําตาม ดูแลและทําความดีงามต่างๆให้ข้าพเจ้าเหมือนที่ข้าพเจ้ากระทําต่อพ่อแม่ นับว่าเป็นการสั่งสอนอบรมลูกด้วยการทําตัวอย่างให้ดู

                 บางครั้งข้าพเจ้าถึงกับแปลกใจเมื่อลูกสาวพูดว่า

                “แม่คะ แม่ทําอย่างนี้กับตายาย หนูก็แย่ซีคะ”

           “ทําอะไรล่ะลูก” ข้าพเจ้าถามอย่างงงๆ เพราะนึกไม่ออกว่าไปทำอะไรไม่ดีกับพ่อแม่จนลูกสังเกตเห็นเข้า

             “ก็แม่ทําดีม๊ากมากกะตายายยังไงคะ หนูรู้สึกหนักใจเสียแล้ว” ฟังคําตอบแล้วค่อยโล่งใจ

           “อ้าว ก็แม่ทําดีกะตายาย ก็เป็นเรื่องของแม่นี่ เงินก็เปลืองของแม่ แรงกายแรงใจก็เปลืองของแม่ ไม่เห็นเกี่ยวกะลูกเลย ลูกจะว่าลูกแย่ได้ยังไง” ข้าพเจ้าโต้แย้ง

         “แม่ทําตัวอย่างให้พวกหนูเห็นนี่คะ หนูก็จะต้องทํากับแม่เหมือนที่แม่ทําให้ตายายไงคะ”

          ข้าพเจ้าเพิ่งถึง “บางอ้อ” คือเพิ่งเข้าใจ จึงถามต่อไปว่า

         “แล้วลูกหนักใจอะไรเล่า”

         “ก็หนูกลัวว่าหนูทําไม่ได้อย่างแม่นี่คะ” คําตอบแสดงให้รู้ว่าเตรียมหนักใจไว้ล่วงหน้า

            “ทําแค่ที่ลูกทําไหวก็แล้วกันจ้ะ แม่ไม่ใช่คนเลี้ยงยากอะไรนักหรอก หนูอย่ากังวลล่วงหน้าไปเลย ลูกแค่คิดว่าจะต้องทําดีกะพ่อแม่เนี่ย ลูกก็ได้บุญล่วงหน้าไปพอแรงแล้ว เขาเรียกว่า ปุพพเจตนาจ้ะ” ข้าพเจ้าพูดให้กําลังใจลูก

             เรื่องน้ำใจของพ่อแม่ที่ให้ความรักต่อข้าพเจ้านั้น จะให้เล่าอีกเท่าไรก็ไม่จบลงได้ง่ายๆ ยิ่งเวลาที่ข้าพเจ้าเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ ท่านทั้งสองจะเป็นห่วงเป็นใยไม่เป็นอันกินอยู่หลับนอน บางครั้งต้องอุ้ม ข้าพเจ้าซึ่งตัวโตแล้วอายุ ๑๓-๑๔ ปี ไปหาหมอในเวลากลางคืน ระยะทางหลายๆ กิโลเมตร เหน็ดเหนื่อยเพียงไหนพ่อไม่เคยปริปากบ่น ส่วนแม่เองนั้นท่านเป็นคนสะอาดมาก ปกติแล้วแม้แต่เด็กเล็กๆ มาปัสสาวะเปื้อนพื้นไม้กระดานบนบ้าน ท่านก็จะต้องใช้แปรงใช้สบู่ขัดแล้วขัดอีก แต่กับลูก ในขณะที่ข้าพเจ้าท้องเดินทําสกปรกเลอะเทอะ แม่เทกระโถน ล้างพื้นที่ทำเปื้อน ซักผ้านุ่งที่เลอะเทอะด้วยความเต็มอกเต็มใจ

            พ่อแม่ข้าพเจ้าไม่เคยทําบุญวันเกิดของตัวท่านเองเลยแม้แต่ปีเดียว แต่ท่านมักจัดงานวันเกิดให้ข้าพเจ้าเป็นประจํา ตั้งแต่จัดเลี้ยงพระ ๙ รูป ไปจนถึงเลี้ยงพวกเพื่อนๆ ถ้าข้าพเจ้าอยู่บ้านตรงกับวันเกิดท่านจะทำให้เสมอ

             ยิ่งเรื่องสิ่งของเครื่องใช้ เครื่องประดับกาย ท่านจะพยายามหาให้ทุกอย่าง ไม่เคยมีสิ่งใดน้อยหน้าเพื่อน แม้ข้าพเจ้าจะปฏิเสธเพราะเห็นไม่จำเป็นแค่ไหน ท่านก็จะพยายามหาให้จนได้ไม่เคยยอม บางครั้งทำให้ข้าพเจ้าสงสัยว่าทําไมท่านทั้งสองจึงยอมเหน็ดเหนื่อยทุกข์ยากเพื่อลูกเพียงนี้

                มาเข้าใจแจ่มแจ้งชัดเจนเอาก็เมื่อข้าพเจ้ามีลูกของตนเอง ถ้าลูกไม่สบาย ข้าพเจ้าก็จะนอนหลับไม่ได้เลย เฝ้าดูแลจนสว่างคาตาเหมือนที่พ่อแม่เคยกระทําให้ข้าพเจ้าไม่มีผิด ถ้าลูกยังเล็กนอนบนผ้าอ้อม ข้าพเจ้าก็จะนอนอยู่ข้างๆ โดยเอามือสอดไว้ใต้ผ้า เมื่อแกทําเปื้อน เช่น ปัสสาวะรด ความร้อนจากน้ำปัสสาวะจะได้ปลุกให้ข้าพเจ้าตื่นเปลี่ยนผ้าให้ใหม่

              ข้าพเจ้าเลี้ยงลูกทุกคนด้วยน้ำนมของตนเอง เวลากลางวันมีอาการน้ำนมคัดในขณะไปทํางาน ต้องเข้าห้องน้ำบีบทิ้ง เมื่อต้องบีบทิ้งอยู่เรื่อยๆ ก็ให้รู้สึกเสียดายคุณค่าของน้ำนม ท่านผู้อ่านคงนึกไม่ถึงข้าพเจ้าถึงกับดื่มน้ำนมของตนเองกลับไปให้ร่างกายกลั่นเป็นน้ำนมให้ลูกกินใหม่ แรกๆ ก็นึกกระอักกระอ่วน แต่เมื่อนึกถึงว่า ทีน้ำนมวัวซึ่งเป็นของสัตว์เดรัจฉานแท้ๆ เรายังกินเข้าไปลง ถ้าเรากินน้ำนมคนเพื่อลูก ทําไมจะทำไม่ได้

             ยิ่งเข้าใจถึงความรักที่มีต่อลูกมากเพียงไร ก็เข้าใจถึงความรักที่พ่อแม่มีต่อข้าพเจ้ามากขึ้นเพียงนั้น พ่อแม่นั้นอย่าว่าแต่จะสละให้ลูกได้ ทั้งความเหน็ดเหนื่อยยากลําบากทางกายทางใจเลย แม้ชีวิตของท่านเอง ท่านก็สละให้ได้เพื่อป้องกันทุกข์ภัยของลูก ข้าพเจ้าพูดได้เต็มปากดังนี้ เพราะข้าพเจ้าก็มีความรู้สึกอย่างนั้นด้วยเหมือนกัน

                  ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ข้าพเจ้าจึงไม่แปลกใจเลยเมื่อพบคําสอนในการใช้ทรัพย์ว่า ให้แบ่งทรัพย์สินที่หามาได้ออกเป็นส่วนๆ เพื่อ

                 ๑. ให้ใช้หนี้ คือ ใช้เลี้ยงดูพ่อแม่ และท่านผู้มีอุปการคุณ

                 ๒. ให้เช่ายืม คือ ใช้เลี้ยงดูลูก เพื่อเขาอาจรู้คุณช่วยเลี้ยงตอบแทน ในยามที่เราทํามาหากินไม่ได้

                 ๓. ทิ้งเหว คือ เลี้ยงดูตนเอง กินแล้วก็หมดไปเหมือนเอาของทิ้งเหว ทิ้งแล้วไม่ได้คืน

                ๔. ราชพลี เทวตาพลี ใช้บํารุงบ้านเมืองตลอดจนรับแขก สงเคราะห์ญาติ ฯลฯ

                ๕. ฝังไว้ คือ ทําทาน ทําบุญกุศลต่างๆ ให้ติดตัวไปใช้ภายหน้า บางแห่งมีเพิ่มอีกข้อหนึ่งว่า

              ๖. ใส่ปากงูพิษ ได้แก่ เลี้ยงสามีภรรยา ซึ่งไม่รู้ว่าจะทะเลาะเป็นศัตรูกันขึ้นวันใด และสามารถทําร้ายกันได้รุนแรงเหมือนงูพิษกัด

                คําสอนข้อต้น เมื่อหาทรัพย์ได้ต้องใช้หนี้ คือ เลี้ยงดูพ่อแม่ก่อน การเลี้ยงต้องเลี้ยงทั้งทางร่างกายและเลี้ยงทางจิตใจไปพร้อมกัน เลี้ยงทางจิตใจนั้น ถ้าจะให้ได้แทนคุณถึงที่สุด ต้องเปลี่ยนใจพ่อแม่จาก มิจฉาทิฏฐิ ให้เป็นสัมมาทิฏฐิให้ได้

             ในพระสุตตันปิฎก อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ปฐมปัณณาสก์ ว่าด้วยการตอบแทนที่ทําได้ยาก (พระไตรปิฎกภาษาไทย ฉบับหลวง เล่ม ๒๐ หน้า ๗๓) กล่าวไว้ว่า

            การตอบแทนบุญคุณพ่อแม่นั้นกระทําได้ยาก ถ้าลูกจะแบกพ่อและแม่ไว้ด้วยการประคับประคองเป็นอย่างดีบนบ่าคนละข้าง บุตรนั้นแม้มีอายุถึงร้อยปีก็แบกอยู่อย่างนั้นตลอดร้อยปี ปรนนิบัติพ่อแม่เป็นอย่างดี เช่น อบกลิ่น นวด อาบน้ำ ให้ออกกําลังกาย รวมทั้งให้ถ่ายอุจจาระปัสสาวะ ก็ให้ทําอยู่บนบ่าไม่ให้ลงจากบ่าเลย ก็ไม่ถือว่าตอบแทนคุณได้หมด หรือแม้จะแต่งตั้งให้พ่อแม่เป็นกษัตริย์ครองความเป็นใหญ่ในแผ่นดินที่มีรัตนะ ๗ ประการ ก็ไม่ชื่อว่าแทนคุณได้เช่นเดียวกัน

           ที่ว่าตอบแทนได้ไม่หมด เพราะพ่อแม่มีอุปการะต่อลูกมาก เลี้ยงดู แสดงโลกนี้แก่ลูก แต่ถ้าลูกคนใดก็ตามกระทําพ่อแม่ที่ไม่มีศรัทธาให้สมาทานตั้งมั่นในศรัทธา พ่อแม่ทุศีลให้เป็นคนมีศีล ที่ขี้เหนียวตระหนี่ให้ตั่งมั่นในการบริจาค ที่เป็นคนโง่ให้กลายเป็นคนมีปัญญา ถ้าลูกคนไหนทำได้อย่างนี้ ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณท่านได้

             นี่ข้าพเจ้าเขียนแบบถอดเอาใจความ ไม่ใช่ลอกถ้อยคําจากตําราทีเดียว เพราะสํานวนเก่าเกรงว่าจะอ่านแล้วไม่รู้เรื่อง

                ความรักของใครๆ ในโลกนี้ที่จะยิ่งใหญ่ บริสุทธิ์ ประกอบด้วยเมตตาแท้ๆ เหมือนความรักของพ่อแม่ที่มีต่อลูกเป็นไม่มีเลย

            ถ้าท่านผู้อ่านเห็นด้วย ขอได้โปรดลงมือตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ของท่านเสียในเวลานี้แหละ อย่าทิ้งขว้างจนท่านตายหนีไปเสียก่อน ถ้าปล่อยให้ถึงเวลานั้นท่านอาจจะเสียใจเสียดายโอกาส ยิ่งถ้าเห็นลูกๆ ทอดทิ้งท่านเหมือนที่ท่านเคยทําต่อพ่อแม่ ก็อย่าคิดโทษลูกๆ เป็นอันขาด ต้องโทษตัวเองที่ไม่สอนลูกโดยทําตัวอย่างที่ดีให้ดู

         ข้าพเจ้าเล่าชีวิตเสี้ยวหนึ่งจากความทรงจํามาไว้ในโอกาสนี้เพื่อจะชักชวนให้ท่านคิดถึงพ่อแม่ คิดเสียตอนที่พ่อแม่ยังอยู่ด้วย ไม่ใช่มานั่งคิดถึงเมื่อท่านสิ้นชีวิตไปหมดแล้ว ดังที่ข้าพเจ้ากําลังคิดถึงอยู่ในบัดนี้ โชคดีอยู่หน่อยเดียวที่ข้าพเจ้าได้มีโอกาสชักชวนพ่อแม่ของข้าพเจ้า ซึ่งเดิมมีมิจฉาทิฏฐิให้เปลี่ยนเป็นสัมมาทิฏฐิได้สําเร็จก่อนละโลก ทําให้ท่านทั้งสามารถไปสู่สุคติภูมิได้ในที่สุด ข้าพเจ้าจึงรําลึกถึงด้วยความสบายใจมาจนถึงทุกวันนี้

           ไปหาและปรนนิบัติรับใช้เสียตอนนี้ก็ได้ค่ะ ถ้าพ่อแม่ของท่านมีชีวิตอยู่

           ข้าพเจ้าขออนุโมทนา


 

 

Cr. อุบาสิกาถวิล(บุญทรง) วัติรางกูล

จากความทรงจำ เล่ม3

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0026624004046122 Mins