พระมหากัสสปะเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?

วันที่ 24 มิย. พ.ศ.2560

พระมหากัสสปะเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร ?

พระไตรปิฎกเบื้องต้น , Pre-Degree , วัดพระธรรมกาย , DOU , ธรรมกาย , ปริญญาตรี , พรีดีกรี , พระพุทธศาสนา , พุทธศาสตร์ , พระไตรปิฎก , สร้างบารมี , หลวงพ่อธัมมชโย , พระไตรปิฎกคืออะไร , พระสัมมาสัมพุทธเจ้า , พระมหากัสสปะเกี่ยวข้องกับพระไตรปิฎกอย่างไร , พระมหากัสสปะ

    พระมหากัสสปะเป็นพระเถระที่บวชเมื่อสูงอายุ เพราะต้องรับผิดชอบตระกูลสนองพระคุณพ่อแม่ของท่าน ท่านอุปสมบทโดยวิธีโอวาทานุสา นีอุปสัมปทา เมื่อบวชแล้วได้บำเพ็ญตนเป็นผู้มักน้อยสันโดษครองผ้าบังสุกุลจีวร 3 ผืน เที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร และอยู่ป่าเป็นวัตร ไม่คะนองกาย วาจา ใจ เมื่อเข้าไปสู่ตระกูล และได้รับยกย่องจากพระศาสดาว่ามีคุณธรรมเบื้องสูง คือมีความสามารถในการเข้าฌานเสมอกับพระองค์ ประพฤติตนเป็นตัวอย่างแก่อนุชนรุ่นหลังตลอดชีวิต

     ในระยะกาลปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ท่านได้สดับคำของสุภัททะวุฑบรรพชิตที่กล่าวจ้วงจาบพระพุทธองค์และพระธรรมวินัย จึงดำริที่จะทำการสังคายนาพระธรรมวินัยให้เป็นหลักพระศาสนา หลังถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพแล้ว จึงได้ชักชวนพระอรหันต์ 500รูป ทำสังคายนาพระธรรมวินัย โดยมีท่านเป็นประธาน มีพระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรมมีพระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย ที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ใกล้กรุงราชคฤห์ โดยความอุปถัมภ์ของพระเจ้าอชาตศัตรู ทำอยู่ 7 เดือนจึงเสร็จ นับเป็นรูปแรกที่ได้รวบรวมพระธรรมวินัยให้เป็นหมวดหมู่ จนเกิดพระไตรปิฎกขึ้น

     พระพุทธวจนะที่สำคัญที่พระผู้มีพระภาคตรัสแก่พระมหากัสสปะ เกี่ยวกับความเจริญและความเสื่อมแห่งพระศาสนา มีปรากฎในกัสปสังยุตต์สังยุตนิกาย (16/532/5/263-5) ดังนี้

     "ดูก่อนกัสสปะสัทธรรมปฏิรูป ไม่เกิดขึ้นในโลกเพียงไร การอันตรธานแห่งพระสัทธรรม (พระศาสนา) ก็ไม่มีตราบนั้น เมื่อใดสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลก กัสสปะเมื่อนั้นการสูญสิ้นแห่งพระสัทธรรมย่อมมี เหมือนทองแท้ ย่อมไม่อันตรธาน ตราบเท่าที่ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้น เมื่อทองเทียมเกิด ทองแท้ย่อมหายไป

       "ดูก่อนกัสสปะ ปฐวีธาตุ-อาโปธาตุ-เตโชธาตุ-วาโยธาตุ หาทำให้พระศาสนาเสื่อมไม่ ที่แท้โมฆบุรุษที่เกิดขึ้นในพระศาสนานี้ต่างหากที่ทำให้พระศาสนาเสื่อมหายไปดุจเรือจะจมก็เพราะต้นหน กัสสปะ การเสื่อมไปของพระสัทธรรม ย่อมไม่มีอย่างนี้แล"

     "ดูก่อนกัสสปะ ธรรมฝ่ายต่ำ 5 ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อความเลอะเลือนเสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

1. ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา
2. ไม่เคารพยำเกรงพระธรรม
3. ไม่เคารพยำเกรงพระสงฆ์
4. ไม่เคารพยำเกรงในการศึกษา
5. ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ

     "ดูก่อนกัสสปะ ธรรม 5 ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่เลอะเลือนไม่เสื่อมสูญแห่งพระสัทธรรม (คือศาสนา) คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา

1. ยังเคารพยำเกรงในพระศาสดา
2. ยังเคารพยำเกรงในพระธรรม
3. ยังเคารพยำเกรงในพระสงฆ์
4. ยังเคารพยำเกรงในการศึกษา
5. ยังเคารพยำเกรงในสมาธิ

          ธรรม 5 ประการนี้แล เป็นไปเพื่อความตั้งมั่น ไม่เลอะเลือน ไม่เสื่อมสูญ แห่งพระสัทธรรม (คือศาสนา)

       ได้กล่าวไว้แล้วว่า ในการปรารภนามของพระเถระ 4 รูป ประกอบความรู้เรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก คือ พระอานนท์ พระอุบาลี พระโสณกุฏิกัณณะ และพระมหากัสสปะนั้น ทำให้มีความเกี่ยวโยงไปถึงพระพุทธองค์ พระสารีบุตร และพระจุนทะ ดังนี้คือ


พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้ร้อยกรองพระธรรมวินัย

       สมัยนิครนถนาฏบุตร ผู้เป็นอาจารย์เจ้าลัทธิสำคัญคนหนึ่งสิ้นชีพสาวกเกิดแตกกันพระจุนทะเถระเป็นผู้น้องชายพระสารีบุตร เกรงเหตุการณ์เช่นนั้นจะเกิดแก่พระพุทธศาสนา จึงเข้าไปหาพระอานนท์เล่าความให้ฟัง พระอานนท์จึงชวนไปเฝ้าพระพุทธองค์ เมื่อกราบทูลแล้วพระองค์ได้ตรัสตอบด้วยข้อความเป็นอันมาก แต่มีอยู่ข้อหนึ่งที่สำคัญยิ่ง (ปาสาทิกสูตรพระสุตตันตปิฎก เล่มที่ 11 หน้า 128 ถึงหน้า 156) คือ ในหน้า 139 พระผู้มีพระภาคตรัสบอกพระจุนทะ แนะให้รวบรวมธรรมภาษิตของพระองค์ และทำสังคายนาคือจัดระเบียบทั้งโดยอรรถและพยัญชนะเพื่อให้พรหมจรรย์ตั้งมั่นยั่งยืนสืบไป

        พระพุทธภาษิตที่แนะนำให้รวบรวมพุทธวจนะร้อยกรองจัดระเบียบหมวดหมู่นี้ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการแนะนำ เพื่อให้เกิดพระไตรปิฎกดั่งที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

 

 

*----------------------------------------------------------------------------------------------------------*
หนังสือ PD 005 พระไตรปิฎกเบื้องต้น
หนังสือเรียน หลักสูตร Pre-Degree

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0027143319447835 Mins