คราวหนึ่งในการเสด็จจาริกไปโปรดประชาชนในแคว้นมคธ พระพุทธองค์ประทับอยู่ใต้ต้นไทรแห่งหนึ่ง ครั้งนั้นชายหนุ่มชื่อ ปิปผลิ ในสกุลกัสสปะ มีความเบื่อหน่ายในการครองเรือน จึงถือเพศนักบวชเดินทางเรื่อยมา เห็นพระบรมศาสดาเข้าเกิดความเลื่อมใสเข้าไปเฝ้า ขอสมัครเป็นสาวก พระองค์ทรงรับเป็นภิกษุ แล้วประทานพระโอวาท ๓ ข้อ
๑. ให้มีความสะอาดและยำเกรงในภิกษุทั้งหลาย ทั้งที่เป็นผู้บวชมานาน ไม่นาน และเพิ่งบวช
๒. ธรรมใดที่เป็นกุศล ต้องตั้งใจฟัง และพิจารณาตามเนื้อความในธรรมะนั้น
๓. จะไม่ยอมเผลอสติ จะเอาสติไว้ในกาย พิจารณาร่างกายนี้เป็นอารมณ์อยู่เสมอๆ
เมื่อประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาดังนี้แล้ว ทรงจากไป พระมหากัสสปะรับฟังคำสอนนั้น แล้วตั้งใจบำเพ็ญเพียรไม่นานนัก ในวันที่แปด ได้บรรลุธรรมขั้นสูงเป็นพระอรหันต์
ถัดจากนั้นไม่นาน พระบรมศาสดาทรงพบบุตรชายปุโรหิตชาวเมืองอุชเชนี ชื่อกัจจายนะที่กรุงราชคฤห์ ก็ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้ ทำนองเดียวกัน
ครั้นถึงวันเพ็ญกลางเดือนสาม ได้มีพระสงฆ์เดินทางมาจากที่ต่างๆ เข้าเฝ้าพระบรมศาสดา มีจำนวน ๑,๒๕๐ รูป ล้วนแต่เป็นพระอรหันต์เอหิภิกขุอุปสัมปทาทั้งสิ้น มาพบกันโดยไม่มีการนัดหมาย การประชุมครั้งนี้มีเหตุบังเอิญ ๔ อย่าง มาประจวบกัน จึงเรียกว่า จาตุรงคสันนิบาต
พระพุทธเจ้าทรงเห็นเป็นเวลาเหมาะสม จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ต่อที่ประชุมอันเป็นการวางหลักการโดยย่อของพระพุทธศาสนา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าต้องทรงกระทำเช่นเดียวกันนี้ทุกๆ พระองค์ โอวาทปาฏิโมกข์ ก็มีเนื้อความอย่างเดียวกัน คือ มีทั้งอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา รวม ๑๓ ข้อ คือ
๑. ไม่ทำความชั่วทั้งปวง
๒. บำเพ็ญแต่ความดีให้เต็มที่
๓. ทำจิตให้ขาวรอบ คือ ผ่องใส
๔. ให้มีขันติ ความอดกลั้น เป็นตบะอย่างยิ่ง
๕. พระนิพพานเป็นบรมธรรม
๖. ผู้ล้างผลาญคนอื่น ไม่ได้ชื่อว่าเป็นบรรพชิต
๗. ผู้เบียดเบียนคนอื่น ไม่ได้ชื่อว่าสมณะ
๘. ภิกษุต้องไม่กล่าวร้าย
๙. ต้องไม่ทำร้าย
๑๐.สำรวมในปาฎิโมกข์ (ข้อที่ทรงห้ามไว้ต่างๆ)
๑๑.รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร
๑๒. อยู่ในที่นั่ง ที่นอนอันสงัด
๑๓. ทำความเพียรในอธิจิต (จิตที่มีสมาธิสูง)
โอวาทปาฎิโมกข์นี้แสดงครั้งแรกในวันนั้น ต่อมาเรียกว่า วันมาฆบูชา และทุกครึ่งเดือน พระบรมศาสดา และบรรดาพระสาวกจะนำมาทบทวนแก่พระภิกษุสงฆ์ในวันอุโสบถ และงดกันไปเมื่อทรงอนุญาตให้ภิกษุสงฆ์เอาสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ มาสวดในที่ประชุมแทน เรียกกันว่า สวดปาฎิโมกข์ จนทุกวันนี้
ในครั้งที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายเวฬุวันวนารามเป็นที่ประทับพร้อมเป็นที่อยู่ของภิกษุสงฆ์นั้น คงจะให้อาคารต่างๆ เท่าที่มีอยู่ เมื่อเวลาพระสงฆ์จาริกไปที่อื่น เจ้าหน้าที่คงดูแล เพราะยังไม่ใช่สังฆารามโดยตรง
ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจารึกไปตามที่ต่างๆ ก็อาศัยอยู่กันตามในป่าบ้าง โคมไม้บ้างบนภูเขา ในซอกเขา ในถ้ำ ที่ป่าช้า ในพุ่มไม้ ที่กลางแจ้ง ตามลอมฟาง เหล่านี้เป็นต้น
ต่อมามีเศรษฐีชื่อ ราชคหกะ เลื่อมใสศรัทธา ทูลขอพุทธานุญาตปลูกวิหารถวาย ๖๐ หลัง ครั้งนั้นพระบรมศาสดาจึงทรงอนุญาตเสนาสนะ ๕ ชนิดให้ภิกษุพักได้ คือ
๑. วิหาร เป็นสิ่งก่อสร้างมีหลังคา มีปีกทั้งสองข้าง
๒. โรงหรือร้านสร้างไว้ด้านเดียว อีกด้านหนึ่งเปิดโปร่งไว้
๓. ปราสาท เป็นเรือนยอดมีหลายชั้น
๔. เรือนมีหลังคาชนิดพระจันทร์ส่งถึง ได้แก่หลังคาตัด
๕. คูหา ได้แก่ ถ้ำ
และทรงสรรเสริญการทำวิหารทานของเศรษฐีว่า เป็นทานที่ดีเลิศ สร้างอุทิศไว้เพื่อให้ภิกษุสงฆ์ที่มาจากทิศทั้ง ๔ ได้มีที่พัก เป็นที่ป้องกันอากาศเย็น ร้อน ป้องกันสัตว์ร้าย สัตว์เลื่อยคลาน และยุง ป้องกันลม แดด ฝน เป็นที่พักผ่อน คลายอิริยาบถ เพื่อบำเพ็ญสมณธรรมสมถวิปัสสนา
เมื่อภิกษุสงฆ์มาพักแล้ว เจ้าของยังถวายข้าว น้ำ ผ้า และเสนาสนะด้วยใจเลื่อมใส ภิกษุสงฆ์ย่อมสามารถแสดงธรรมเทศนาบำบัดทุกข์ให้ เมื่อฟังแล้วกระทำตามคำสอนรู้เห็นธรรมะแล้วทำให้สิ้นอาสวกิเลส ปรินิพพานในโลกนี้ การทำทานด้วยการให้ที่พักเช่นนี้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงสรรเสริญว่าดีเลิศ