.....อย่างไรก็ตาม ถ้าทิศเบื้องล่างตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ทั้ง ๕ ประการให้สมบูรณ์ โดยถือว่าเป็นอริยวินัยของตนที่ต้องปฏิบัติเช่นนั้น ไม่คิดหวังการตอบแทนจากหัวหน้าเป็นพิเศษ ในที่สุดกรรมดีนั้น ย่อมได้รับการตอบสนองเป็นความเจริญก้าวหน้าของผู้ปฏิบัติโดยปริยาย
ข้อสังเกต
การปฏิบัติตนของหัวหน้าและลูกน้องที่มีผลต่อหน่วยงานและสังคม
หัวหน้า์ ลูกน้อง ผลที่เกิดขึ้น
ปฏิบัติผิด ปฏิบัติถูก หัวหน้านั้นไม่สมควรแก่ลูกน้อง หน่วยงานนั้นมีภัย
เพราะต่อไปลูกน้องจะปฏิบัติผิดตาม
ปฏิบัติถูก ปฏิบัติผิด ลูกน้องนั้นไม่สมควรแก่หัวหน้า หน่วยงานนั้นไม่เจริญ
เพราะหัวหน้าคุมลูกน้องไม่ได้
ปฏิบัติผิด ปฏิบัติผิด หน่วยงานนั้นจะล่มสลาย เพราะเป็นที่ชุมนุมของโจร
ซึ่งจะเกิดผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อสังคมโดยรวม
ปฏิบัติถูก ปฏิบัติถูก หน่วยงานนั้นจะเจริญก้าวหน้า ทั้งหัวหน้าและลูกน้อง
ย่อมมีความสงบสุขและความเจริญ สังคมย่อมได้รับอานิสงส์ด้วย
๖.ทิศเบื้องบน
.....เพื่อนร่วมโลก (อาจจะเป็นมิตรเทียมหรือมิตรแท้ก็ได้) กลุ่มที่ ๖ มีความสัมพันธ์กับเราในฐานะผู้ให้การอบรมสั่งสอนศีลธรรม ได้แก่ สมณพราหมณ์ สมมุติชื่อว่า ทิศเบื้องบน เพราะตั้งอยู่ด้วยคุณธรรม
.....หน้าที่รับผิดชอบของสมณะ (พระสงฆ์)
.....พระพุทธองค์ทรงกำหนดให้เป็นอริยวินัย หรือหน้าที่ของพระภิกษุสงฆ์ต้องปฏิบัติ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อญาติโยมทั้งหลายไว้เป็นตัวอย่าง ๖ ประการ คือ
.....๑. ห้ามทำความชั่ว
.....๒. ให้ตั้งอยู่ในความดี
.....จะเห็นว่าหน้าที่ ๒ ข้อแรกนี้เหมือนกับหน้าที่ของพ่อแม่และครูอาจารย์ทุกประการ
.....๓.อนุเคราะห์ด้วยน้ำใจงาม หมายถึง การแผ่เมตตาให้ญาติโยมอยู่เย็นเป็นสุขโดยทั่วกัน หรือบางครั้งอาจพาเพื่อนพรหมจรรย์ไปโปรดญาติโยมอุปัฏฐากทั้งหลาย เพื่อให้บุคคลเหล่านั้นมีโอกาสฟังธรรมและถวายทานกุศลสะดวกขึ้น
.....๔.ให้ได้ฟัง(ธรรม)สิ่งที่ยังไม่เคยฟัง หน้าที่สำคัญยิ่งของพระภิกษุที่พึ่งมีต่อสังคมคือ การให้การศึกษาในด้านธรรมะ หรือสอนวิชาความเป็นมนุษย์ให้แก่ประชาชน พระภิกษุผู้ประเสริฐย่อมหาโอกาสให้ญาติโยมได้ฟังธรรมเรื่องต่างๆ โดยไม่ซ้ำกัน เพื่อให้มีความรู้ทางธรรมกว้างขวางขึ้น อันจะเป็นการเพิ่มพูนสัมมาทิฏฐิ และโยนิโสมนสิการในการประพฤติปฏิบัติตน เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขในชีวิตจริง
.....๕. อธิบายสิ่งที่เคยฟังแล้วให้เข้าใจแจ่มแจ้ง ถ้าจะแสดงธรรมซ้ำของเก่า ก็ควรจะเป็นการอธิบายขยายความให้ละเอียดยิ่งขึ้น เพื่อให้ผู้ฟังมองเห็นนัยต่างๆ ของธรรมะแต่ละเรื่อง แล้วเคี่ยวเข็ญให้นำไปประยุกต์ใช้หรือแก้ปัญหาในชีวิตจริงให้ได้
.....๖. บอกทางสวรรค์ให้ หน้าที่ประการที่ ๖ นี้ ต้องถือว่าเป็นหน้าที่พิเศษของสงฆ์ เพราะบุคคลในทิศอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ ผู้ที่จะไปสู่สุคติโลกสวรรค์ได้ก็คือ ผู้ที่ประพฤติตามอริยวินัยอย่างน้อยจะต้องละบาปกรรม ๑๔ ประการได้โดยสิ้นเชิง ดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแก่สิงคาลกะแล้ว ดังนั้น พระพุทธองค์จึงทรงมอบให้เป็นหน้าที่ของพระภิกษุทั้งหลาย ปลูกฝังอบรมพุทธศาสนิกชนให้รู้และเข้าใจว่า วิถีทางไปสู่สวรรค์นั้นมีอยู่ทางเดียว คือ การประพฤติปฏิบัติตนเป็นบัณฑิตหรือคนดีอย่างสม่ำเสมอ
.....จากหน้าที่ทั้ง ๖ ประการ ดังกล่าวนี้ ย่อมเห็นได้ชัดว่าหน้าที่ของพระภิกษุ ที่ต้องประพฤติปฏิบัติเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น รวมสรุปลงได้เพียงอย่างเดียว คือ การปลูกฝังอบรมพุทธบริษัทผู้เป็นคฤหัสถ์ให้เป็นบัณฑิตหรือคนดีที่โลกต้องการ นับว่าเป็นภาระหรือหน้าที่อันทรงเกียรติยิ่ง
.....พระภิกษุที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทั้ง ๖ ประการนี้ ได้สมบูรณ์ย่อมถือได้ว่ามีคุณูปการต่อสังคมและมนุษยชาติอย่างสูงสุด สมควรแก่การกราบไหว้เคารพบูชาอย่างยิ่งจากมนุษย์และเทวดาตลอดไป