มงคลที่๑ ไม่คบคนพาล

วันที่ 24 มิย. พ.ศ.2563

24-6-63-2-b.jpg

มงคลที่ ๑  ไม่คบคนพาล

 

การเสพคนพาล
ย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อปลาเน่า
เเม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ฉะนั้น

 

๑. ไม่คบคนพาล

๑.๑  บัณฑิตผู้หวังความเจริญ พึงเว้นอกัลยาณปุถุชนให้ห่างไกล เหมือนคนเว้นห่างงูมีพิษร้าย ฉะนั้น.
ที.สี. (อรรถ) มก. ๑๑/๓๘๙

๑.๒ บุรุษผู้ไม่ประเสริฐเป็นเหมือนงูอยู่ในพกพึงกัดเอา ผู้มีปัญญาไม่พึงทำไมตรีกับบุรุษเช่นนั้น เพราะการคบบุรุษชั่วเป็นทุกข์โดยเเท้.
อัง.ปัญจก. (โพธิ) มก. ๓๖/๓๑๒

๑.๓ คนพาลทั้งหลายไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้เหมือนทางที่ควรละเว้น.
ขุ.ขุ. (พุทธ) มก. ๓๙/๑๗๒

๑.๔ ธรรมดาเเก้วมณีย่อมไม่มีสิ่งใดเจือปนอยู่ข้างใน ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ควรปะปนอยู่กับเพื่อนที่เป็นคนเลว ฉะนั้น.
มิลิน. ๔๕๘

๑.๕ ธรรมดาเนื้อในป่า  เมื่อเห็นมนุษย์เเล้วย่อมวิ่งหนีด้วยคิดว่า อย่าให้มนุษย์ได้เห็นเราเลยฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรเมื่อเห็นพวกทุศีล พวกเกียจคร้าน พวกยินดีในหมู่คณะก็ควร หนีไป ด้วยคิดว่า อย่าให้พวกนี้ได้เห็นเรา เเละอย่าให้เราได้เห็นพวกนี้.
มิลิน. ๔๔๖

๑.๖ ธรรมดาดวงอาทิตย์ย่อมกลัวภัย คือ ราหู ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียร เมื่อได้เห็นบุคคลทั้งหลายที่เต็มไปด้วยความทุจริต อีกทั้งถูกครอบงำด้วยความหลงผิด คือ ทิฏฐิ ให้เดินไปผิดทางก็ควรทำใจให้สลดด้วยความกลัว ความสังเวช.
มิลิน. ๔๔๑

๑.๗ บุคคลไม่ควรคบหาคนที่ปราศจากศรัทธา เหมือนบ่อที่ไม่มีน้ำ ฉะนั้น ถ้าเเม้บุคคลจะพึงขุดบ่อน้ำนั้น บ่อนั้นก็จะมีน้ำที่มีกลิ่นโคลนตม.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๒/๗๘

25-6-63-2b.jpg

๒. ลักษณะของคนพาล

๒.๑ ถ้าเเม้สัตบุรุษทั้งหลายวิวาทกัน ก็กลับเชื่อมกันได้สนิทโดยเร็ว ส่วนคนพาลทั้งหลายย่อมเเตกกันเหมือนภาชนะดิน เขาย่อมไม่ถึงความสงบเวรกันได้เลย.

ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๘/๔๕๔

๒.๒ เราได้เห็นดาบสโกงนั้น เหมือนกองเเกลบอันไม่มีข้าวสาร เหมือนไม้เป็นโพรงข้างใน เหมือนต้นกล้วยอันหาเเก่นมิได้.

ขุ.จริยา. (พุทธ) มก. ๗๔/๓๘๑

๒.๓ ฟ้ากับดินไกลกัน ฝั่งสมุทรก็ว่าไกลกัน ที่ๆ ดวงอาทิตย์ขึ้นกับที่ๆ ดวงอาทิตย์ตกก็ไกลกัน ธรรมของสัตบุรุษกับธรรมของอสัตบุรุษปราชญ์กล่าวว่า ไกลกันยิ่งกว่านั้น.

อัง.จตุกก. (พุทธ) มก. ๓๕/๑๖๘

๒.๔ สัตบุรุษย่อมปรากกฎในที่ไกลดุจภูเขาหิมพานต์ อสัตบุรุษย่อมไม่ปรากกฎในที่นี้ เหมือนลูกศรที่ซัดไปในเวลากลางคืน ฉะนั้น.

ขุ.อิติ. (พุทธ) มก. ๔๕/๒๘๐

๒.๕ นระผู้บอดเเต่กำเนิดเป็นผู้นำไม่ได้ บางคราวไปถูกทาง บางคราวก็ไปผิดทาง เเม้ฉันใด คนพาลท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ1  เป็นผู้นำไม่ได้ บางคราวทำบุญ บางคราวก็ทำบาป

ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๖๕/๕๓๙

๒.๖ อสัตบุรุษเป็นเหมือนคนตาบอด สัตบุรุษเป็นเหมือนคนตาดี คนบอดย่อมมองไม่เห็นทั้งคนไม่บอด ทั้งคนบอด ฉันใด อสัตบุรุษย่อมไม่รู้ทั้งสัตบุรุษทั้งอสัตบุรุษ ฉันนั้น.

อัง.จตุกก. (อรรถ) มก. ๓๕/๔๖๐

๒.๗ เขาไม่ยินดีกับคนอื่นที่เป็นคนดี เข้าไปหามิตรเลวเหล่านั้นอย่างเดียว เหมือนสุกรที่เขาประดับด้วยของหอม เเละดอกไม้เเล้วให้นอนบนที่นอนอย่างดี ก็ยังเข้าไปสู่หลุมคูถ ฉะนั้น.

ที.ปา. (อรรถ) มก. ๑๖/๑๐๔

๒.๘ เมื่อใด คนพาลสำคัญว่า บุคคลนั้นอดกลั้นต่อเราเพราะความกลัว เมื่อนั้นคนพาล ผู้มีปัญญาทรามยิ่งข่มขี่บุคคลนั้น เหมือนโคยิ่งข่มขี่โคตัวเเพ้ที่หนีไป ฉะนั้น.

สัง.ส. (ทั่วไป) มก. ๒๕/๔๗๐

๒.๙ คนพาลเปรียบด้วยหม้อน้ำที่มีน้ำครึ่งหนึ่ง บัณฑิตเปรียบเหมือนหม้อน้ำที่เต็ม.

ขุ.สุ. (พุทธ) มก. ๔๗/๖๓๐

๒.๑๐ บุคคลใดโง่ ย่อมสำคัญความที่ตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นจะเป็นบัณฑิตเพราะเหตุนั้นได้บ้าง ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่ มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิต บุคคลนั้นเเล เราเรียกว่า คนโง่.

ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๑/๑๘๘

๒.๑๑ คนพาลเมื่อกระทำกรรมอันลามกอยู่ ย่อมยินดีร่าเริงประดุจบุรุษเคี้ยวกินรสของหวาน ย่อมสำคัญบาปประดุจน้ำผึ้งตราบเท่าที่บาปยังไม่ให้ผล.

ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๓/๔๖๘

1 สังสารวัฏ  การเวียนว่ายตายเกิด

26-6-63--1__b.jpg

๓. โทษของความเป็นคนพาล


๓.๑ ทางที่คนพาลไปแล้ว ย่อมเป็นเหมือนทางไปของไฟป่า ซึ่งลามไปเผาไหม้ต้นไม้ กอไม้คามนิคม ฉะนั้น.
อัง.ติก. (อรรถ) มก. ๓๔/๖


๓.๒ ถ้าคนพาลเข้าไปนั่งใกล้บัณฑิตแม้จนตลอดชีวิต เขาย่อมไม่รู้ธรรม เหมือนทัพพีไม่รู้รสแกง ฉะนั้น.
ขุ.ธ. (อรรถ) มก. ๔๑/๑๕๐


๓.๓ บุคคลใดมีปัญญาโฉด อาศัยทิฏฐิอันชั่วช้า คัดค้านคำสั่งสอนของพระอริยบุคคล ผู้มีปกติเป็นอยู่โดยธรรม บุคคลนั้น ย่อมเกิดมาเพื่อฆ่าตน เหมือนขุยแห่งไม้ไผ่.
ขุ.ธ. (อรรถ) มก. ๔๒/๑๘๗


๓.๔ รองเท้าที่คนซื้อมาเพื่อประโยชน์จะให้สบายเท้า กลับนำความทุกข์มาให้รองเท้า นั้นถูกแดดเผาบ้าง ถูกพื้นเท้าครูดสีบ้าง ก็กลับกัดเท้าของผู้นั้น ฉันใด ผู้ใดเกิดในตระกูลต่ำไม่ใช่อารยชน เรียนวิชา และศิลปะมาจากอาจารย์แล้ว ผู้นั้นย่อมฆ่าตนเองด้วยศิลปะที่เรียนมาในอาจารย์นั้น ฉันนั้น
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๗/๔๓๔


๓.๕ มหาโจรเมื่อเกิดในราชสมบัติของพระราชา ย่อมเกิดขึ้นเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่มหาชน ฉันใด บัณฑิตพึงทราบว่า โจรในคำสั่งสอนของพระชินเจ้า เกิดขึ้นแล้วเพื่อสิ่งมิใช่ประโยชน์ เพื่อความทุกข์แก่มหาชน ฉันนั้น.
ม.มู. (พุทธ) มก. ๑๙/๑๙๓


๓.๖ บุคคลพึงทิ้งลอบไว้ที่ปากอ่าว เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อม เพื่อความพินาศแก่ปลาเป็นอันมาก แม้ฉันใด โมฆบุรุษชื่อว่ามักขลิ ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล  เป็นดังลอบสำหรับดักมนุษย์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความทุกข์ เพื่อความเสื่อม เพื่อความพินาศแก่สัตว์เป็นอันมาก.
อัง.เอกก. (พุทธ) มก. ๓๓/๑๙๒


๓.๗ มีเต่าตาบอดอยู่ในมหาสมุทรนั้น ล่วงไปร้อยปีจึงจะผุดขึ้นครั้งหนึ่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้บ้างไหมหนอ


ภิกษุเหล่านั้นทูลว่า ข้อนั้นเป็นไปไม่ได้เลย.... ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าจะเป็นไปได้บ้างในบางครั้งบางคราว ก็โดยล่วงระยะกาลนานแน่นอน


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เต่าตาบอดตัวนั้นจะพึงเอาคอสวมเข้าที่ทุ่นมีบ่วงตาเดียวโน้นได้ ยังจะเร็วกว่า เรากล่าวความเป็นมนุษย์ที่เป็นคนพาล ผู้ไปสู่วินิบาตคราวหนึ่งแล้วจะพึงได้ ยังยากกว่านี้ นั่นเพราะเหตุโร


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะในตัวคนพาลนี้ไม่มีความประพฤติธรรม ไม่มีความประพฤติสงบ  ไม่มีการทำกุศล ไม่มีการทำบุญ มีแต่การกินกันเอง การเบียดเบียนคนอ่อนแอ.
ม.อุ. (พุทธ) มก. ๒๓/๑๕๕


๓.๘ คนเขลาย่อมไม่ประสบพระนิพพาน... ย่อมเป็นเหมือนมณฑลพระจันทร์ที่ถูกเมฆดำปิดไว้ เหมือนภาชนะที่กะทะบังไว้.
สัง.สฬา. (อรรถ) มก. ๒๘/๒๖๖


๓.๙ ผู้ใดประทุษร้ายต่อคนผู้ไม่ประทุษร้าย ซึ่งเป็นบุรุษอันหมดจด ไม่มีกิเลสเป็นเครื่องยั่วยวน บาปย่อมกลับสนองผู้นั้นผู้เป็นพาลนั่นเอง เปรียบเหมือนธุลีอันละเอียดที่บุคคลชัดไปสู่ที่ทวนลม ฉะนั้น.
สัง.ส. (พุทธ) มก. ๒๕/๒๐๘

 

2-7-63-2-b.jpg

๔. โทษของการคบคนพาล

 

๔.๑ คนชั่วที่ช่องเสพบุคคลผู้บริสุทธิ์ ย่อมทำให้บุคคลผู้บริสุทธิ์ติดเปื้อนความชั่ว  เหมือนลูกศรที่เเช่ยาพิษ  ถูกยาพิษติดเปื้อนเเล้ว  ย่อมทำเเล่งลูกศรให้ติดเปื้อนด้วยยาพิษ ฉะนั้น.

ขุ.อิติ. (พุทธ) มก. ๔๕/๔๖๘

 

๔.๒ บุคคลเข้าไปคบหาคนเช่นใดเป็นมิตร เเม้เขาก็ย่อมเป็นเหมือนคนเช่นนั้น เหมือนลูกศรอาบยาพิษย่อมเปื้อนเเล่ง ฉะนั้น.

ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๔/๒๖๒

 

๔.๓ นรชนใดผูกปลาเน่าด้วยปลายหญ้าคา เเม้หญ้าคาของนรชนผู้นั้น ก็มีกลิ่นเน่าฟุ้งไปด้วย การคบพาลก็เป็นอย่างนั้น.

ขุ.ขุ. (พุทธ) มก. ๓๙/๑๗๔

 

๔.๔ การเสพคนพาลย่อมเป็นเหมือนบุคคลเอาใบไม้ห่อปลาเน่า เเม้ใบไม้ก็มีกลิ่นเหม็นฟุ้งไป ฉะนั้น.

ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๔/๒๖๒

 

๔.๕  ช้างเหล่าใดอยู่ในสถานที่อันไม่มีน้ำ ชื่อว่า มิใช่ประเทศ(ถิ่นที่เหมาะสม) ย่อมตกอยู่ในอำนาจของปัจจามิตรโดยเร็วพลัน ฉันใด  เเม้การที่เราทั้งหลายอยู่ในที่ใกล้ของมนุษย์ชั่ว เป็นคนพาลหาความรู้มิได้ ก็ชื่อว่า อยู่ในสถานที่มิใช่ประเทศ ฉันนั้น.

ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๓/๓๑๕

 

 

๔.๖ พระจันทร์ในวันข้างเเรมย่อมเสื่อมลงทุกวันๆ ฉันใด การคบอสัตบุรุษย่อมเป็นเหมือนวันข้างเเรม.

ขุ.ชา. (อรรถ) มก. ๖๒/๖๓๗

 

๔.๗ น้ำตกในที่ดอนย่อมไม่คงที่ ไม่อยู่ได้นาน ฉันใด การคบอสัตบุรุษก็เหมือนกัน ไม่คงที่เหมือนน้ำในที่ดอน ฉันนั้น.

ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๒/๗๑๖

 

 

๔.๘ โทษในป่าช้าเปรียบเหมือนโทษในบุคคล ๕ ประการ คือ

โทษในป่าช้า

โทษในบุคคล

๑. เป็นที่ไม่สะอาด

๑. ประพฤติทุจริตทางกาย วาจา ใจ

๒. มีกลิ่นเหม็น

๒. กิตติศัพท์อันชั่วย่อมกระฉ่อนไป

๓. มีภัยเฉพาะหน้า

๓. ผู้มีศีลอันเป็นที่รักย่อมเว้นห่างไกล

๔. เป็นที่อยู่ของพวกมนุษย์ร้าย

๔. ย่อมอยู่ร่วมกับบุคคลที่ประพฤติทุจริตเหมือนกัน

๕. เป็นที่รำพันทุกข์ของชนหมู่มาก

๕. ผู้มีศีลอันเป็นที่รักย่อมคร่ำครวญเป็นทุกข์ที่จำต้องอยู่ร่วมกับบุคคลผู้ประพฤติทุจริต

อัง. ปัญจก. (พุทธ) มก. ๓๖/๕๐๐

 

หนังสือ อุปมาอุปไมยจากพระไตรปิฎก (จัดหมวดหมู่ตามหลักธรรมมงคลชีวิต ๓๘ ประการ)

เรียบเรียงโดย พระครูธรรมธรไพบูลย์ ธมฺมวิปุโล เเละคณะ

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.0013213634490967 Mins