ความสุนทรีย์ที่ซึมซับ.
ความสุนทรีย์ที่ซึมซับนี้มันเป็นส่วนหนึ่งของความจริงในชีวิตที่ป้าอยากให้ลูกหลานป้าได้ทราบด้วย หลานที่เกิดมา นี่เกิดมาก็รู้แต่ว่าตัวเองอยู่บ้านหลังใหญ่ มีรถหลายคัน ทานข้าว โฟร์ซีซั่นส์ (Four Seasons) ป้าอยากให้รู้ว่าที่คุณยายของเขาเป็นแบบนี้ ไม่ได้เกิดมาจากการที่คุณยายเป็นลูกคนรวย แต่มันเกิดจากการสะสมซึ่งค่อยเป็นค่อยไป กว่ายายจะดึงเอาสิ่งที่ได้รับรู้มาใช้มันก็เป็นรุ่นของเขา
ในวัยเด็กชีวิตเมื่อเริ่มจำความได้ ชีวิตส่วนหนึ่งของป้าเติบโตมาในรั้วของโรงเรียนเขมะสิริอนุสสรณ์ ที่คุณแม่เป็นครูอยู่โรงเรียนเขมะสิริฯ เป็นโรงเรียนที่มีความโอบอ้อม ท่านตาหม่อมเจ้าพูนศรี เกษมศรี ท่านยังมีพระชนม์อยู่ สิ่งที่ป้าสัมผัสได้จากโรงเรียนนี้ก็คือระบบการปกครองที่เป็นแบบพ่อกับลูก เป็นพ่อที่มีคุณภาพและมีคุณธรรม มีสาระของชีวิต เพราะฉะนั้นโรงเรียนจะมีกลิ่นอายของความอบอุ่น ความยุติธรรม มีความสวยงามอยู่ในทุก ๆ ที่เลย ถามว่าทำไมป้าจึงได้รับสิ่งเหล่านี้ ย้อนไปเมื่อป้าอายุ 8-9 ขวบด้วยความที่คุณแม่เป็นลูกศิษย์คนโปรดของท่านตาครั้งยังเป็นนักเรียนฝึกหัดครู แล้วป้าก็เป็นลูกสาวของลูกศิษย์ที่ท่านรักก็เลยได้ขึ้นลงพระตำหนัก แต่ไม่มีใครใส่ใจเพราะเรายังเด็ก สิ่งหนึ่งที่จำได้คือบันไดโค้งของพระตำหนักซึ่งสะอาดมากเลย บางทีวิ่งขึ้นวิ่งลงบ่อย ๆ เราก็อยากลงทางบันได แต่ทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเรามีโอกาสเมื่อไหร่หันมองซ้าย-ขวาไม่มีใคร เราก็จะแอบลื่นลงทางบันไดทุกที
สิ่งที่ชอบมากที่สุดตอนนั้นคือการได้เห็นชีวิตในห้องบรรทมของท่านตา จริง ๆ แล้วป้าก็มีโอกาสได้เข้าไปในห้องบรรทมของท่านตานับครั้งได้ แต่สิ่งที่เห็นมันจำฝังใจแน่นเหลือเกิน ห้องบรรทมของท่านตาไม่เล็กไม่ใหญ่ แต่จะอยู่ตรงมุมที่สามารถมองเห็นโรงเรียนได้ทางด้านหน้าตรงและทางฝั่งขวาของห้อง ถ้าออกจากประตูห้องบรรทมจะเป็นมุขเป็นระเบียงยื่นออกไปซึ่งเป็นมุมที่ท่านตาออกไปดูโรงเรียนได้ และ
เป็นมุมที่ท่านตาเสด็จออกมาพูดคุยกับนักเรียน ห้องท่านตาจะเป็นสีเขียวนุ่ม ๆ ในห้องจะมีกลิ่นหอมตลอดเวลา เป็นกลิ่นโคโลญจน์ที่ได้กลิ่นเมื่อไหร่ ก็จะจำได้ว่าเป็นกลิ่นของท่านตาตรงนี้มันติดตัวป้ามาว่าถ้าเราใช้โคโลญจน์หรือน้ำหอมใดเป็นประจำ ก็ให้ใช้กลิ่นประจำนั้นซึ่งตรงกันข้ามกับคนสมัยใหม่บอกว่า ถ้าขืนคุณใช้น้ำหอมกลิ่นเดียว คุณจะประเดประดังน้ำหอมจนไม่รู้ว่ามันมีกลิ่นแล้วหรือยัง ท่านตาใช้โคโลญจน์ แต่สิ่งที่แปลกไปก็คือกลิ่นของของหอมในห้องน้ำที่จะทำให้กลิ่นของท่านตาเปลี่ยนบ้าง แต่ก็ยังมีแพทเทินของกลิ่นเดิมอยู่ ซึ่งเป็นแพทเทินชีวิตของป้าในขณะนี้ป้าเองจะใช้น้ำหอมประจำคือมิซูโกะ (Mitsuko) ของเกอแลงก์ (Guerlain) ใช้มานับสิบปีแล้ว แต่จะเปลี่ยนแปลง โดยการมีน้ำหอมอีกระดับหนึ่ง ท่านป้าสอนป้าว่า ให้ใช้น้ำหอมกลิ่นเดิมผสมกลิ่นดอกไม้ธรรมชาติอีกนิดหน่อย จะทำให้แปลกไป ตอนนั้นสิ่งที่ท่านตาพูดเหมือนสิ่งที่อยู่ไกล ๆ แต่เราเพิ่งกลับมาย้อนคิดได้ นึกถึงความซนของตัวเอง เวลาป้าเข้าไปในห้องน้ำท่านตา ป้าจะถาม “ท่านตาเพคะนี่อะไร" เพราะเครื่องใช้ของท่านตาจะไม่มีสลาก ท่านตาก็จะบอก "อันนี้เป็นสบู่อาบน้ำ อันนี้เป็นโคโลญจน์ที่ใช้หลังจากอาบน้ำเสร็จแล้ว” แล้วอ่างอาบน้ำของท่านตาก็จะสะอาด ชักโครกก็จะสะอาดมาก ต้องมีผ้ารองพื้น ขวดแก้วที่อยู่ตรงหัวอ่างจะเป็นขวดแก้วเจียระไน แล้วกลิ่นสบู่ของท่านตาจะหอมมากเลย ป้าจะไปเปิดดมตามขวดต่าง ๆ
ลักษณะของห้องน้ำเป็นสิ่งที่จำได้แม่นยำมากและสีจะคล้ายกับห้องน้ำของป้าในปัจจุบัน ท่านตาจะสอนว่าเวลาอาบน้ำแล้วจะต้องเช็ดอ่างให้แห้ง เพราะฉะนั้นในห้องน้ำท่านตาจะมีผ้าเยอะมาก ผ้าเช็ดอ่างล้างมือ ผ้าเช็ดอ่างอาบน้ำ แล้วผ้าทุกชิ้นจะติดลูกไม้ สวยมาก มันเหมือนฝันเหมือนวิมานเพราะบ้านเราก็ชาวบ้านมาก แล้วที่โต๊ะแต่งตัวของท่านตาก็จะมีขวดเจียระไนสีน้ำเงินตั้งอยู่ มีของไม่มากชิ้นหรอกแต่จะจำได้ว่าจะมีหวีอยู่อันหนึ่งที่เราชอบมาก เป็นแปรงที่ทำจากขนสัตว์ พอโตมาเรามีสตางค์เราก็ซื้อไว้ในครอบครองแปรงหวีผมอันนั้นทำจากขนอะไรก็ไม่รู้แข็ง ๆ หน่อย แต่เวลาหวีผมผมจะไม่ขาดและจะนวดหนังศีรษะไปในตัว แล้วท่านตาก็จะมีแป้งเป็นกระปุก ๆ ที่มีที่ประแป้งเป็นของนุ่ม ๆ ท่านตาบอกว่าเมื่อประแป้งแล้วก็จะต้องเช็ดโต๊ะกับกระจกด้วย หรืออย่างในห้องน้ำกระจกก็จะต้องไม่มีคราบของยาสีฟันติดอยู่ ท่านตาสอนว่าการใช้ห้องน้ำถึงเราจะอยู่คนเดียว เวลาเข้าใหม่ ห้องน้ำต้องเหมือนไม่เคยถูกใช้มาก่อน นอกจากห้องน้ำป้าก็จะได้เห็น การเก็บที่นอน การทำความสะอาดโต๊ะแต่งตัวที่ไม่มีฝุ่นแป้งเลย
นอกจากห้องน้ำ สิ่งที่เห็นคือห้องของท่านตาจะมีหนังสือเต็มไปหมด แล้วจะมีต้นไม้เล็ก ๆ วางอยู่ตามมุม และมีกระจกเยอะ ท่านตาจะสอนป้าหลายอย่าง ครั้งหนึ่งท่านเคยพูดกับป้าเรื่องดอกเสียวเกี้ยวอยู่ตรงหน้าเรือนพยาบาล ท่านตาบอกว่าถ้าไม้ระแนงอยู่คนเดียวจะแข็ง พอมีไม้เลื้อยขึ้นมาไม้ระแนงก็จะดูอ่อนโยน ท่านตาบอกชีวิตของคนต้องพึ่งพาอาศัยกัน ความอ่อนโยนกับความแข็งแรงต้องอยู่ด้วยกันจึงจะสมดุล
สิ่งที่ได้รับจากท่านตามากที่สุดก็คือท่านตาจะสอนให้ร้องเพลงหน้าเสาธง สมัยโน้นจะมีละครเพลงของหลวงวิจิตรวาทการ จำไม่ได้ว่าละครร้องในละครที่เล่นในศิลปากรหรือเปล่า แต่เพลงที่ร้องกันประจำก็คือ เพลงเจ้าชายเขมรัฐบ้าง เพลงเจ้าหญิงแสนหวีบ้าง ซึ่งจะทำให้เรารู้ว่าเขมรัฐเป็นยังไง เจ้าหญิงแสนหวีเป็นยังไง และเวลาร้องเพลงท่านจะสอนให้ออกเสียงเสมอกัน ไม่ใช่เสียงของชั้นไหนมันโด่งขึ้นมาชั้นหนึ่ง
เพราะต้องร้องกันหมดทั้งโรงเรียน เรื่องเพลงท่านตาจะสอนเยอะมากเพลงประจำของเขมะฯ ก็คือ Come Back to Slento ที่เอามาใส่เนื้อไทย แต่ป้าจะชอบฟัง Come Back to Slento ในภาคภาษาอังกฤษ ท่านตาสอน จำไม่ได้ว่าสอนตอนไหนแต่ได้ยินเพลงนี้บ่อยจนกระทั่งร้องได้แล้วที่โรงเรียนก็จะมีการสอนร้องเพลงก่อนที่ป้าจะได้เรียนร้องเพลงของรุ่นพี่ ๆ ป้าจะได้ยินเสียงเพลงอบอวลมาตลอด เขมะฯเป็นโรงเรียนที่มีดนตรีการมาก ๆ เลยเพราะท่านตาจะชอบการสร้างละครไม่ว่าจะเป็นอิเหนาหรืออะไรก็ตาม ท่านแต่งเพลงและทำเพลงเองตลอด แล้วที่โรงเรียนจะมีชั่วโมงฟังเพลง นอกจากจะหัดเรียนภาษาอังกฤษด้วยริงโคโฟนแล้วก็จะฟังเพลงไปด้วย แล้วก็จะมีชั่วโมงที่ครูพาไปฟังเพลงที่ห้องประชุม นักเรียนก็ฟังเพลงไป จำได้ว่าท่านตาพาป้าไปที่สตูดิโอ ที่ห้องคอนโทรล และจะเปิดเพลงให้ฟัง ขณะที่เปิดเพลงให้ฟังท่านจะสอนป้าว่า เพลงไทยหมายถึงอารมณ์ที่มันวิเวก หวั่นไหว ถ้าเป็นเพลงคลาสสิกจะพูดถึงทุ่งหญ้ากว้าง ๆ หิมะ เพราะอะไรเพราะว่า ฝรั่งเขาอยู่ที่แคบเพราะอากาศหนาว เขาไปไหนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเพลงของเขาจะบอกถึงทุกอย่างที่เป็นบรรยากาศข้างนอกของคนไทยชีวิตเปิด เราจะคุ้นเคยกับธรรมชาติ เพราะฉะนั้นเพลงไทยจะหนักไปที่อารมณ์ เพลงฝรั่งจะหนักไปที่เรื่องของบรรยากาศ แต่ทั้งสองเพลงก็จะมีเรื่องของชีวิตปนอยู่ในเพลง นั่นคือการเรียนรู้การฟังเพลงจากท่านตา
...ท่านตาเองจะฟังเพลงโอเปร่าด้วย แต่ป้าไม่รู้จักว่านั่นคือโอเปร่า ป้าโหยหาแต่ว่ามันมีเพลงอะไรสักอย่างที่ชอบฟังมาก ๆ ที่ผู้หญิงร้องเสียงสูง ๆ แต่เขาเรียกอะไรก็ไม่รู้ พอโตขึ้นมาหน่อยพอรู้จักซื้อหาแล้วก็พบว่านี่ไงเพลงที่เราเคยฟังกับท่านตา ก็รู้ว่าเขาเรียกว่าโอเปร่าและฟังเป็น ความไพเราะของโอเปร่าอยู่ที่อารมณ์ของคนร้องที่เขามีความเศร้า มีความซาบซึ้ง แล้วเขาก็ใส่ไปในเสียงเพลงนั้น ๆ บางคนที่ไม่คุ้นคีย์
แล้วมาฟังโอเปร่าจะรู้สึกว่าเสียงจะสูงตลอดเวลา จริง ๆ แล้ว ตอนที่เสียงสูงมันเป็นอารมณ์ของเขา แต่มันก็ไม่ใช่สูงทุกเพลงนะ แล้วมันก็ไม่ได้ไพเราะทุกเพลง เพราะฉะนั้นเพลงที่ป้าฟังในปัจจุบัน ป้าจึงไม่ค่อยฟังเพลงที่เป็นเพลงธรรมดา แต่จะฟังเพลงโอเปร่าและเพลงที่ร้องกับวงออเคสตร้าใหญ่ ๆ ถ้าหากเป็นสตริงก็ต้องเป็นชิ้นเดียวไปเลย ถ้าเป็นโอเปร่าป้าจะฟังของมาเรีย คอรัส
มองดูชีวิตของป้าตอนนี้ คนอื่นอาจจะรู้สึกว่าชีวิตของป้าที่ถูกเลี้ยงมาไฮคลาสมากเลย แต่ไม่ใช่นะ มันคือสิ่งที่ป้ารับมาเอง อย่างที่ป้าฟังเพลงอิตาเลียนเป็นก็เพราะท่านตาชอบฟังเพลง Come Back to Slento ในสองเวอร์ชั่นทั้งอังกฤษ ทั้งอิตาเลียน เวลาที่เปิดเพลงไทยท่านตาจะเปิดเพลง "พระลอ" ให้ฟังแล้วก็ขับของขุนช้างขุนแผนนิดหน่อย และเรือเขมรไทรโยค เพลงเหล่านี้ป้าฟังเป็นมาตั้งแต่อายุสิบกว่าขวบเลยนะ
นอกจากสอนฟังเพลงท่านตายังมีคอร์สการสอนการเสิร์ฟและการรับประทานดินเนอร์ครบเซ็ตเลย สอนการเรียน กราบเรียนไหว้ที่เป็นการกราบไหว้จริง ๆ ทุกคนต้องฝึกกราบคน กราบศพ กราบพระ กราบผู้ใหญ่ เดินไหว้ ยืนไหว้ ยืนในท่าสงบไว้อาลัย สอนท่านั่งด้วย ท่านั่งไขว่ห้างต้องนั่งแบบไหน คือท่านตาสอนรุ่นพี่แต่ป้าเป็นลูกครูป้าวิ่งไปวิ่งมา ป้าเห็นป้าก็จำได้ว่าเขาเรียนเขาสอนแบบนี้นะ และก็จะมีการสอนการเลี้ยงพระให้เด็กได้ถวายอาหาร สอนหมดเลย บางทีก็จะไปที่วัดส้มเกลี้ยง วัดราชผาติการามที่อยู่ข้าง ๆ ให้ได้ถวายจริง สนุกมาก บางทีก็นิมนต์พระมา ท่านตาจะเป็นครูและเป็นเหมือนพ่อด้วยในขณะเดียวกัน สาหรับป้าท่านตาเป็นบุคคลตัวอย่างที่ป้าชอบมาก ท่านจะสง่างาม สะอาดและพูดเพราะตลอดเวลา
นอกจากท่านตา ป้ายังได้ซึมซับความสุนทรีย์มาจากน้องสาวของท่านตา ท่านยายชื่อหม่อมเจ้าหญิงเกษมเสาวภา เกษมศรี ท่านยายมายังไงป้าก็ยังไม่เข้าใจ รู้แต่ว่าท่านยาย เป็นน้องสาวท่านตา ท่านยายจะมีบ้านหลังเล็ก ๆ อยู่ที่ฝั่งธนฯ แถว ๆ 35 โบวล์ในปัจจุบัน ท่านยายเป็นคนสอนภาษาอังกฤษให้ป้า ท่านเป็นครูสอนอยู่ในโรงเรียน แต่ว่าท่านจะเป็นผู้ใหญ่มาก เวลาอยู่ในโรงเรียนป้าก็จะไม่ได้ใกล้ชิดกับท่านยาย แต่จะไปใกล้ชิดกับท่านที่บ้านเพราะว่าบ้านใกล้กัน ท่านยายจะเป็นคนที่มีชีวิตที่เรียบง่ายแต่อยู่ในความที่มีเทสหมดเลย สำหรับท่านยายป้าจะไม่เคยรู้สึกว่าท่านยายเป็นเจ้าที่ไกลเกินเอื้อม คุณแม่บอกว่าเวลาพูดกับท่านยายให้พูดเหมือนพูดกับท่านตา ป้าก็จะพูดเพคะ พูดหม่อมฉัน แต่หนักเข้าไป หม่อมฉันก็หายไป เหลือ "ใส" ตัวเดียว เวลาไปบ้านท่านยาย ท่านยายจะสอนถึงเรื่องการทานน้ำชา ถึงแม้บ้านเราจะเป็นบ้านหลังเล็ก ๆ ธรรมดา แต่เราก็สามารถสร้างบรรยากาศด้วยการเปลี่ยนผ้าปูโต๊ะได้ พอถึงเวลาบ่ายที่ต้องทานน้ำชาเป็นเวลาที่ป้าตื่นเต้น แต่เวลาทานน้ำชาท่านยายก็จะปูผ้าลายดอก ท่านจะมีผ้าปูโต๊ะอยู่สองสามผืน บางผืนก็จะเป็นสีขาวและมีลายกระจ่างอยู่ตรงชาย บางผืนก็เป็นลายทั้งผืน แต่ท่านยายจะไม่ชอบ ท่านจะเอาผ้าสีขาวมาปูทับข้างบนอีกชั้นหนึ่ง เวลาที่ทานชาก็ต้องมีดอกไม้ ดอกไม้แจกันเก่าก็จะไม่ใช้ โต๊ะทานน้ำชาของท่านยายจะเป็นโต๊ะเดียวกับที่ท่านยายสอนภาษาอังกฤษให้ แต่เดิมอาจจะมีแจกันกุหลาบ แต่พอจะทานชา ท่านยายก็จะเอาโหลใส ๆ ใส่น้ำ แล้วเอาดอกไม้มาโรย หรือ ปลิดเอาแต่กลีบดอกไม้โรยลงไป แล้วเอาไปวางที่กลางโต๊ะแล้วจึงทานน้ำชา
ท่านยายบอกว่า อารมณ์ของคนเราเปลี่ยนไปตามวาระ ถ้าหากเราอยู่กับของเดิมมันก็ไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมันคือบรรยากาศ คนเราไม่สามารถที่จะเปลี่ยนตัวเราให้หน้าสวยขึ้นได้ แต่เราเปลี่ยนอารมณ์ได้ และเวลาที่ทานน้ำชาก็คือเวลาฟังเพลง เพลงที่ฟังกับการทานน้ำชาก็คือ เพลงบรรเลง เพลงอะไรก็ได้ที่ฟังแล้วสบาย ท่านยายจะเปิดแต่เพลงบรรเลงฝรั่งตามเคย เป็นเพลงคลาสสิกเบา ๆ และ
ขณะที่ทานน้ำชาคือเวลาที่คุยเรื่องกวี ยกตัวอย่าง ท่านยายจะชอบเพลงโฮม สวีท โฮม มาก ท่านยายก็จะพูดถึงเพลงโฮม สวีท โฮมให้ป้าฟัง แล้วก็ร้องให้ฟัง แล้วท่านก็จะให้ป้าเขียนอะไร ก็ได้ที่เป็นบทกวี อย่างเช่น
Your inside is something special, my dear.
Your dark but clear eyes are my favorite one.
I hope one day, Your dream will beautify the skies
That day, may I was invited up high.
Please do, look up at the skies.
May I'm waiting to greet you there.
อย่างกวีพูดว่า
Ye would to God,
| were among the roses,
That lean to kiss you as you flow between.
While on the lowest bunch a bud uncloses,
A bud uncloses to touch you Queen.
เป็นเพลงเก่าของโรเบิร์ต เบิร์น เป็นของ โบชัค (DVorak) บ้าง เป็นภาษาเชคโกฯ เพลงโบชัคเป็นเพลงใหม่เขาเรียกว่า นิวเวิลด์ ซิมโฟนี เพลงจะพูดถึงการไหลของน้ำ เวลาให้เขียนกลอนท่านยายจะบอกว่า ให้พูดถึงความเย็นของกุหลาบที่แช่อยู่ในน้ำ ป้าก็จะเขียนเป็นคำพูดว่า ความเย็นเหมือนกับเรา เอาเท้าแช่น้ำ ความเย็นของน้ำจะซึมมาตั้งแต่ก้านดอกขึ้นมา จนถึงกลีบและใบ เพราะฉะนั้นดอกไม้ที่บานแล้ว ถ้าอยากให้อยู่นานให้เอาไปแช่น้ำไว้ เหมือนคนอายุมากถ้าอยากอายุยืน ให้ทำตัวเป็นคนอารมณ์เย็น เราจะเขียนตามที่ท่านบอกบางที ก็แปลเป็นภาษาอังกฤษด้วย ท่านยายเป็นคนที่พูดภาษาอังกฤษไพเราะมากเลย ท่านยายยังบอกว่าคนที่พูดภาษาอังกฤษไพเราะจะต้องพูดไทยชัดด้วย ตัว ร ล จะต้องอยู่ตลอดเวลา เวลาทานน้ำชาท่านยายยังสอนให้อ่านกวีด้วย ท่านจะพูดถึงไฮกุ สมมุติหยิบกลอนขึ้นมาเล่มหนึ่งท่านจะให้
ป้าอ่านไฮกุ สอนให้รู้จักอ่านรู้จักหยุดคำ ขณะที่อ่านก็ต้องคิดไปด้วยเพราะบทกวีจะเขียนสั้นโดยเฉพาะกวีของคนตะวันออก แต่ถ้ากวีของยุโรปจะเยิ่นเย้อ ท่านบอกว่าคนตะวันออกมีความฉลาดในการให้อารมณ์ และลึกซึ้งมากกว่าคนตะวันตก ซึ่งอยู่กับสิ่งแวดล้อม เช่น
A bite of mosquito,
Hand raised,
I was stopped by
The most tiniest legs,
Then, away, they flew.
ยกมือจะตบยุงอยู่แล้ว แต่ก็หยุดมองดูเพราะเกิดความ
สงสาร ขายุงมันเล็กนิดเดียว
เวลาเขียนกวีคือเวลาที่ป้าชอบที่สุดเพราะจะมีพิจารณา ท่านยายจะสอนให้ดูกุหลาบสีชมพูที่อยู่ในอ่างแก้วท่านยายจะพรมน้ำลงไปนิด ๆ แล้วให้พิจารณาถึงความสวยงามของกุหลาบ เมื่อต้องน้ำ หรือน้ำสวยงามเพราะสีของกลีบกุหลาบ ท่านยายจะให้ดูว่าอะไรสวยกว่ากัน ป้าจะเขียนว่าน้ำค้างสวยเพราะสีชมพู เพราะเห็นแสงที่ส่องมาที่หยดน้ำแต่เดิมเคยเป็นสีขาวกลายมาเป็นสีชมพูและวิบวับได้ กุหลาบก็เปรียบเป็น
เหมือนพิงค์ ซัพพลายที่แต่เดิมเขาไม่มีประกาย เมื่อเราพรมน้ำลงไปประกายของน้ำทำให้เขาโคสด้วยความเป็นแวววาว เขาก็เปลี่ยนจากกุหลาบธรรมดาเป็นพิงค์ ซัพฟลาย ท่านยายจะสอนมุมมองแบบนี้
ส่วนเรื่องของธรรมชาติส่วนใหญ่ก็จะเป็นไปโดยธรรมชาติ อย่างป้าไปเรียนตอนบ่ายบางทีก็จะมีฝน ป้าจะอยากกลับบ้าน ท่านยายก็จะดึงไว้ไม่ให้กลับบ้านโดยการหลอกให้ดูธรรมชาติ ท่านจะถามว่าฝนตั้งเค้าแล้วอะไรมากับฝนก็คือเมฆ เมฆสีดำ แปลว่าฝนกำลังใกล้ตก แต่บางครั้งเมฆสีไม่ดำฝนก็ตกได้ ทำไมเมฆต่างสีกันให้น้ำฝนเหมือนกันเราบอกว่าอารมณ์ของท้องฟ้าไม่เหมือนกัน การร้องไห้ด้วยความเสียใจบางทีมันก็มาจาก ความโกรธ บางที่ก็มาจากความเสียใจ บางทีก็มาจากความปีติใจไม่เหมือนกัน แต่ก็หลังออกมาเป็นน้ำตา ท่านสอนอย่างนี้แล้ว ท่านยังสอนให้ฟังเสียงฝน ถ้าฝนตกเบาจะเสียงหนึ่ง ถ้าฝนตกหนักก็จะเป็นอีกเสียงหนึ่ง เราต้องเขียนบรรยายเรื่องฝนตกหนักถ้าฝนตกเบาก็จะเป็นอีกเสียงหนึ่งเหมือนเทวดาพรมน้ำ แล้วขณะที่น้ำผ่านบรรยากาศมา น้ำก็จะผ่านบรรยากาศลงมาเล่าให้ใบไม้กับกุหลาบฟัง เพราะบ้านท่านยายมีสวนกุหลาบ และเสียงที่ฝนกระทบกลีบกุหลาบ เสียงที่ฝนตกลงไปที่ดิน ดินก็จะแฉะ แล้วท่านยายจะให้ดูเวลาที่ฝนตกลงไปตรงน้ำก็จะเป็นวงกว้างออกไป เสียงก็ไม่เหมือนกัน สมมุติตัวเองเป็นหนูน้อยตัวเล็ก ๆ เดินอยู่ใต้ต้นกุหลาบ สมมุติตัวเองเป็นแมลงตัวเล็ก ๆ อยู่บนกลีบกุหลาบ อย่างนี้คือสิ่งที่ป้าเรียน
เพราะฉะนั้นมิติในการมองภาพของป้าจะถูกสอนมาจากท่านยาย พ่อแม่สอนให้มองแม่น้ำแต่ท่านยายจะสอนลึกลงไปกว่านั้น ท่านยายจะสอนให้รู้สึกว่าชีวิตนี้มันง่าย ท่านจะไม่เคยทำให้ความสวยงามดูเป็นของยาก อย่างบางบ้านถ้าจะให้จัดโต๊ะอาหารใหม่ก็อาจจะเกียจคร้าน เพราะรู้สึกว่าจะเสียเวลาทำไม ก็กินเหมือนกัน แต่ท่านยายจะมองนี่คือสิ่งที่ทำให้ตัวเอง ทำไมถึงยังเกียจคร้าน ถ้ากับตัวเองยังปรนนิบัติไม่ได้เลย แล้วจะไปปรนนิบัติใคร คือคนเราถ้าไม่รู้จักรักตัวเองก็จะรักคนอื่นไม่เป็น เรียกว่าความสุนทรีย์และความสุขในชีวิตของป้านี่มาหลายทาง เเม่อย่างหนึ่ง ท่านตาท่านยายก็อย่างหนึ่งพ่อก็อย่างหนึ่ง ชีวิตจึงซึมซับมาแต่เล็กแต่น้อย สำหรับท่านยาย ถึงท่านจะไม่ได้เป็นเจ้าที่ร่ำรวย แต่บ้านของท่านก็เป็นระเบียบสะอาดไปหมดเลย ทุกมุมจะมีดอกไม้วาง การดำเนินชีวิตตื่นเช้ามาท่านก็จะทานน้ำชา กาแฟ กลางวันก็จะทานอาหารจานเดียวบ่ายไม่ว่าจะมีสตางค์หรือไม่ก็คือจะมีน้ำชาทาน หรือถ้าไม่มีก็จะเป็นน้ำต้มขิง ขนมที่ทานกับน้ำชาอาจจะเป็นครองแครงกรอบก็ได้ แล้วตอนบ่ายคล้อยท่านยายก็จะรดน้ำต้นไม้ไปดูสวน มันก็เป็นเวลาที่เรามีความสุขอีกแบบหนึ่ง ป้าเคยไปช่วยท่านยายรดน้ำต้นไม้ ไปปูเสื่อทานของว่างใต้ต้นน้ำเต้าของว่างของท่านยายบางทีเป็นเมี่ยงคำ บางทีก็เป็นมะม่วงน้ำปลาหวาน ท่านยายจะเดินสวนให้ได้วันหนึ่งสองครั้ง ตอนเช้ากับเย็น ตอนค่ำจึงจะทานอาหารค่ำ ไม่มีตรงไหนที่จะถูกอ้างว่าเพราะเราจน เพราะเราไม่มีเวลา นี่คือวินัยของชีวิตที่ป้าได้มา
ท่านตาท่านยายสอนว่า ชีวิตที่สุนทรีย์ลูกฟังเพลงเป็น ลูกเขียนหนังสือเป็น อ่านวรรณกรรมเป็น เป็นชีวิตของคนที่สามารถอยู่คนเดียวได้โดยไม่ต้องอาศัยใคร ท่านบอกมันเป็นชีวิตของผู้นำ และความรู้สึกที่เรามีต่อสิ่งดี ๆ รอบข้างทำให้เราอดกลั้น เวลาที่รู้สึกว่าคนเขาไม่ดีกับเรา ควรมองเลยออกไป มองต้นไม้อะไรแทน แล้วเก็บความสวยงามนั้นกลับเข้ามาแล้วป้าจะถูกสอนว่าการแสดงอาการโกรธเกรี้ยว การแสดงอารมณ์เป็นอาการของไพร่ บุคคลใดก็ตามที่ให้อารมณ์เป็นเครื่องห่อหุ้มหรือคุกคามจนแสดง มามีอำนาจเหนือเราบุคคลนั้นจะมีความเป็นไพร่อยู่ในตัว ดังนั้นเราจึงต้องเป็นคนที่อดออมให้ได้และไม่เก็บกด ก็คือจะต้องมีสุนทรีย์ในตัวเอง
จาก หนังสืออันเนื่องมาจาก...ความรัก
ป้าใส เกษมสุข ภมรสถิตย์