ม ง ค ล ที่ ๓๖    จิตไม่โศก

วันที่ 24 กย. พ.ศ.2565

mongkol-life-36.jpg

ม ง ค ล ที่ ๓๖    จิตไม่โศก


บุคคลผู้บรรลุธรรมอันสูงสุดแล้ว
ไม่มีความต้องการอะไรในโลกทั้งปวง ย่อมไม่เศร้าโศกในเวลาตาย
ดุจบุคคลออกจากเรือนที่ถูกไฟใหม้ ฉะนั้น

 

mongkol%20life36.1.jpg
๑. ความโศก ความอาลัย ความคร่ำครวญ


๑.๑ ความโศก พึงเป็นเหมือนการหุงต้มภายในภาชนะด้วยไฟอ่อนๆ.
ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๖๕/๑๕๘


๑.๒ ตัณหาที่เลวทรามซ่านไปในโลก ย่อมครอบงำบุคคลใดไว้ได้ ความโศกย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น เหมือนหญ้าคมบางที่ถูกฝนตกรดแล้วเจริญงอกงามขึ้น ฉะนั้น.
ขุ.เถร. (เถระ) มก.๕๒/๑๗๕


๑.๓ ความคร่ำครวญพึงเห็นเหมือนการล้นออกนอกภาชนะของอาหารที่หุงต้มด้วยไฟแรง.
ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๖๕/๑๕๘


๑.๔ ความคับแค้นใจพึงเห็นเหมือนการเคี่ยวอาหารที่เหลือจากล้นออกภายนอก ล้นออกไม่ได้อีก เคี่ยวภายในภาชนะนั่นจนกว่าจะหมด.
ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๖๕/๑๕๘


๑.๕ เราปรารถนาผู้ตายไปยังปรโลกแล้ว เหมือนเด็กร้องไห้อยากได้พระจันทร์ ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๕๙/๙๑๑


๑.๖ พระพักตร์ของสมเด็จพระบิดาเป็นเหมือนดอกปทุมที่ถูกขยำด้วยมือ.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๖๔/๒๙๖

 

mongkol%20life36.2.jpg
๒. เหตุแห่งความโศก


๒.๑ พระราชาเสด็จเข้าไปยังพระราชอุทยานที่สมบูรณ์ด้วยต้นไม้อันเต็มไปด้วยดอก และผล เป็นต้น ที่ตกแต่งไว้เป็นอย่างดี ทรงยินดีด้วยสมบัตินั้นๆ ย่อมทรงบันเทิงรื่นเริงเบิกบานไม่เบื่อ แม้เย็นแล้วก็ไม่ปรารถนาจะออกไป ฉันใด สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดีด้วยกาม และอาลัย คือ ตัณหา เหล่านี้ก็ฉันนั้น ย่อมเบิกบานไม่เบื่ออยู่ในสังสารวัฏ.
ม.มู. (อรรถ) มก. ๑๘/๔๔๕


๒.๒ คนพาลทั้งหลายย่อมเหี่ยวแห้งเพราะเหตุ ๒ อย่าง คือ เพราะปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มาถึง และความเศร้าโศกถึงอารมณ์ที่ล่วงไปแล้ว ดุจไม้อ้อที่ยังเขียวสด ถูกถอนทิ้งไว้ที่แดด ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๓/๑๓

 

mongkol%20life36.3.jpg
๓. โทษของความโศก


๓.๑ ความโศกย่อมแทงหทัยของสัตว์ทั้งหลาย ดุจลูกศรอาบยาพิษ ย่อมเผาสัตว์เหมือนกรงเหล็กที่ไฟติดแดงเผาแกลบ ฉะนั้น ความโศกย่อมนำมาซึ่งความทำลาย กล่าวคือ พยาธิ ชรา และมรณะ นำมาซึ่งทุกข์มีประการต่างๆ ฉะนั้น ท่านจึงเรียกว่า ทุกข์.
ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๖๕/๑๕๖


๓.๒ ความโศกย่อมทิ่มแทงหัวใจของสัตว์ทั้งหลาย ดุจถูกลูกศรอาบยาพิษ และย่อมแผดเผาอย่างแรงกล้าดุจหลาวเหล็กถูกไฟเผาสังหารอยู่.
ขุ.ป. (อรรถ) มก. ๖๘/๔๒๔


๓.๓ หม้อน้ำที่แตกแล้วจะประสานให้ติดอีกไม่ได้ ฉันใด ผู้ใดเศร้าโศกถึงผู้ล่วงลับไปแล้ว ผู้นั้นก็เปรียบเหมือนฉันนั้น.
ขุ.เปต. (ทั่วไป) มก. ๔๙/๑๓๐


๓.๔ น้ำตาของคนที่ร้องไห้ด้วยราคะ โทสะ โมหะ เป็นน้ำตาร้อน ส่วนน้ำตาของผู้ฟังธรรมแล้วร้องไห้ด้วยปีติโสมนัสเป็นน้ำตาเย็น.
มิลิน. ๑๒๑


๓.๕ พระองค์ทรงหวั่นไหวด้วยความเศร้าโศก ดุจช้างพลายตกมันถูกไกรสรราชสีห์จับ และดุจดวงจันทร์เข้าไปในปากแห่งราหู.
ขุ.ชา. (อรรถ )มก. ๖๔/๗๒๙

 

mongkol%20life36.4.jpg
๔. การบรรเทา กำจัดความโศก


๔.๑ พึงกำจัดความรำพันเสีย บุคคลพึงดับไฟที่ไหม้ลุกลามไปด้วยน้ำ ฉันใด นรชนผู้เป็นนักปราชญ์มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงกำจัดความเศร้าโศกที่เกิดขึ้นเสียโดยฉับพลัน เหมือนลมพัดนุ่นปลิวไป ฉันนั้น.
ขุ.สุ. (อรรถ) มก. ๔๗/๕๕๙


๔.๒ คนฉลาดพึงดับไฟที่ไหม้เรือนด้วยน้ำ ฉันใด คนผู้เป็นนักปราชญ์ได้รับการศึกษามาดี มีปัญญาเฉลียวฉลาด พึงรีบกำจัดความโศกที่เกิดขึ้นโดยฉับพลัน เหมือนลมพัดปุยนุ่น ฉันนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๐/๗๓


๔.๓ การที่พวกบัณฑิตเป็นผู้บรรเทาความเศร้าโศกผู้อื่นได้ นี่แหละเป็นที่พึ่งอย่างยอดเยี่ยมของนรชน เหมือนอย่างเกาะเป็นที่พำนักของคนที่ต้องเรือแตกในมหาสมุทร ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๒/๖๗๐


๔.๔ เจ้าดับความกระวนกระวายทั้งปวงของเรา ผู้เร่าร้อนอยู่ให้หาย เหมือนบุคคลเอาน้ำดับไฟอันลาดด้วยน้ำมัน ฉันนั้น ได้ถอนขึ้นแล้วซึ่งลูกศร คือ ความโศกอันเสียบแล้วที่หทัย.
ขุ.เปต. (ทั่วไป) มก. ๔๙/๗๖


๔.๕ ความข้องในปัจจัยก็ดี ตระกูลก็ดี วิหารก็ดี บริเวณก็ดี ย่อมไม่มีแก่บุตรของเรา บุตรของเราไม่ข้องในอะไรๆ เลย เหมือนพระยาหงส์ร่อนลงในเปลือกตม เที่ยวไปในเปลือกตมนั้นแล้วก็บินไป ฉะนั้น.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๑/๓๗๒


๔.๖ แม้การไปมาของพระจันทร์ พระอาทิตย์ก็ยังเห็นกันอยู่ รัศมีของพระจันทร์ พระอาทิตย์ก็ยังเห็นกันอยู่ในวิถีทั้งสอง คนที่ตายล่วงลับไปแล้ว ใครก็ไม่เห็น เราสองคนที่ร้องไห้คร่ำครวญอยู่ในที่นี้ ใครโง่กว่ากัน.
ขุ.วิ. (ทั่วไป) มก. ๔๘/๖๒๘


๔.๗ จงถอนความเสน่หาของตนขึ้นเสียเถิด เหมือนกับถอนดอกโกมุทที่บานในฤดูสารทกาลด้วยมือของตน ฉะนั้น.
สัง.ข. (พุทธ) มก. ๔๓/๑๓๐


๔.๘ บุคคลใดในโลกนี้ รู้สึกตัว ละของรักได้ เสพอริยธรรมแม้ด้วยความฝืนใจ เหมือนคนเป็นไข้ดื่มโอสถ ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๖๒/๗๐๒

๔.๙ เด็กร้องไห้ขอพระจันทร์ อันโคจรอยู่ในอากาศ ฉันใด การที่บุคคลเศร้าโศกถึงผู้ละโลกไป ก็ฉันนั้น...
หม้อน้ำที่แตกแล้ว เชื่อมให้สนิทอีกไม่ได้ ฉันใด การที่บุคคลเศร้าโศกถึงผู้ที่ละโลกไปสู่ปรโลกแล้วนี้ ก็ฉันนั้น...
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๕๘/๗๓๐


๔.๑๐ นกรู้ว่าต้นไม้มีผลหมดแล้ว ย่อมบินไปสู่ต้นอื่นที่เต็มไปด้วยผล ฉันใด คนก็ฉันนั้น รู้ว่าเขาหมดความอาลัยแล้ว ก็ควรจะเลือกหาคนอื่นที่เขาสมัครรักใคร่ เพราะว่าโลกกว้างใหญ่พอ.
ขุ.ชา. (โพธิ) มก. ๕๘/๕๙๙


๔.๑๑ บิดาของคฤหบดีคนหนึ่งตายไป เขาเดินไปยังเชิงตะกอนด้วยความเศร้าโศก บุตรของเขาชื่อ สุชาตะ (พระโพธิสัตว์) ยังเป็นเด็ก แต่สมบูรณ์ด้วยปัญญา คิดหาอุบายเครื่องกำจัดโศก
          วันหนึ่ง เห็นโคตาย จึงนำหญ้าและน้ำไปวางไว้ที่หน้าโค สหายของบิดามาพบ ก็ว่าเด็กนั้นเป็นบ้าหรือ
          ความทราบถึงกุฎุมพี เขาคลายโศกระลึกถึงบุตรว่า เป็นบ้าไปแล้ว จึงรีบมาตักเตือน
          สุชาตกุมารก็ตอบว่า โคตัวนี้อวัยวะยังอยู่ครบ ข้าพเจ้าคิดว่า จะลุกขึ้นมากินหญ้าสักวัน ส่วนอวัยวะของคุณปู่ไม่ปรากฏ แต่คุณพ่อมาร้องไห้ถึงกระดูกที่บรรจุไว้ในสถูปดิน จะไม่เป็นคนโง่ไปหรือ บิดาได้ฟังจึงคลายความโศก.
ขุ.เปต. (โพธิ) มก. ๔๙/๗๖

 

mongkol%20life36.5.jpg
๕. ผู้ไม่เศร้าโศก


๕.๑ โภคสมบัติทั้งหลายย่อมละทิ้งสัตว์ไปก่อนบ้าง สัตว์ย่อมละทิ้งโภคสมบัติเหล่านั้นไปก่อนบ้าง ดูก่อนโจรผู้ใคร่ในกาม พวกชนเป็นผู้มีโภคสมบัติอันไม่เที่ยง เพราะฉะนั้น เราจึงไม่เศร้าโศก
         ดวงจันทร์เต็มดวงย่อมเสื่อมสิ้นไป ดวงอาทิตย์อัสดงคตแล้วย่อมจากไป ดูก่อน โลกธรรมทั้งหลาย เรารู้แล้ว เพราะฉะนั้นเราจึงไม่เศร้าโศก.
ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๖๕/๖๑๑


๕.๒ บุคคลผู้บรรลุธรรมอันสูงสุดแล้ว ไม่มีความต้องการอะไรในโลกทั้งปวง ย่อมไม่เศร้าโศกในเวลาตาย ดุจบุคคลออกจากเรือนที่ถูกไฟไหม้ ฉะนั้น.
ขุ.เถร. (เถระ) มก. ๕๓/๒


๕.๓ ความคร่ำครวญ และความหวงแหนมิได้ติดในมุนีนั้น เหมือนน้ำไม่ติดในใบบัว ฉะนั้น.
ขุ.ม. (อรรถ) มก. ๖๕/๖๒๗

๕.๔ หม่อมฉันปราศจากความรักในพระองค์แล้ว ความรักนั้นประสานกันอีกไม่ได้ ดุจงาช้างอันตัดขาดแล้วด้วยเลื่อย ฉะนั้น.
ขุ.ชา. (ทั่วไป) มก. ๕๗/๔๔๖


๕.๕ ฝูงนกถือเอาเหยื่อของตนในเปือกตมอันบริบูรณ์แล้วไป ไม่ทำความห่วงในที่นั้นว่า น้ำของเรา ดอกปทุมของเรา ดอกอุบลของเรา ดอกบุณฑริกของเรา หญ้าของเรา หาความเสียดาย มิได้เทียว ละประเทศนั้น บินเล่นไปในอากาศ ฉันใด
          พระขีณาสพทั้งหลายทั้งหลาย ก็ฉันนั้น แม้อยู่ในที่ใดที่หนึ่ง ไม่ข้องในสกุล แม้ในคราวไปก็ละที่นั้นไป หาความห่วงหาความเสียดายว่า วิหารของเรา บริเวณของเรา อุปัฏฐากของเรามิได้ฉันนั้น.
ขุ.ธ. (พุทธ) มก. ๔๑/๓๗๓


๕.๖ เราตถาคตไม่คำนึงถึงความตาย ไม่คำนึงถึงชีวิต มุ่งแต่กาลกิริยา (ดับขันธปรินิพพาน) อย่างเดียว เหมือนลูกจ้างมุ่งแต่ค่าจ้างเท่านั้น.
ขุ.อิติ. (พุทธ) มก. ๔๕/๔๗๗


๕.๗ แผ่นดินย่อมเป็นที่อาศัยของสัตว์ทั้งหลาย แต่แผ่นดินไม่ได้มีความเยื่อใยว่า สัตว์เหล่านี้เป็นของเรา ฉันใด พระตถาคตเจ้าก็เป็นที่พึ่งอาศัยของสัตว์ทั้งปวง แต่ไม่ทรงห่วงใยว่า สัตว์ทั้งหลายเป็นของเรา ฉันนั้น.
มิลิน. ๒๓๒


๕.๘ เมฆใหญ่ที่ตกลงมา ย่อมให้ความเจริญแก่หญ้า ต้นไม้ สัตว์เลี้ยง และมนุษย์ทั้งหลายย่อมเลี้ยงรักษาสัตว์ทั้งปวงไว้ สัตว์ทั้งปวงก็มีชีวิตอยู่ได้เพราะน้ำฝน แต่ว่า น้ำฝนไม่ได้ถือว่า สัตว์ทั้งปวงเป็นของเรา ฉันใด
         พระตถาคตเจ้าก็ทรงทำให้เกิดกุศลธรรมแก่สัตว์ทั้งปวง ทรงรักษาสัตว์ทั้งปวงไว้ด้วยศีลสัตว์ทั้งปวงที่เลื่อมใสก็ได้อาศัยพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห่วงใยว่า สัตว์ทั้งปวงเป็นของเรา ฉันนั้น.
มิลิน. ๒๓๒


๕.๙ ธรรมดาช้างย่อมไม่นอนประจำอยู่ในที่แห่งเดียว เที่ยวหากินในที่ใด ไม่พักนอนในที่นั้นฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ควรนอนประจำ คือ ไม่ควรห่วงใยในที่เที่ยวบิณฑบาต ถ้าได้เห็นที่ชอบใจ คือ ปะรำ โคนต้นไม้ ถ้ำ เงื้อมเขา ก็ควรเข้าพักอยู่ในที่นั้นแล้ว ไม่ควรห่วงใยในที่นั้น.
มิลิน. ๔๔๘

๕.๑๐ ธรรมดาอากาศย่อมไม่ติด ไม่ข้อง ไม่ตั้ง ไม่พัวพันอยู่ในสิ่งใด ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ควรข้อง ไม่ควรยึดติด ไม่ควรตั้งอยู่ ไม่ควรผูกพันอยู่ในตระกูล หมู่คณะ ลาภ อาวาส เครื่องกังวล ปัจจัย และกิเลสทั้งปวง ฉันนั้น
         ข้อนี้สมกับที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอนพระราหุลไว้ว่า ดูก่อนราหุล อากาศย่อมไม่ตั้งอยู่ในที่ใดได้ ฉันใด เธอจงอบรมจิตใจให้เสมอกับอากาศ ฉันนั้น เพราะเมื่อเธออบรมจิตใจให้เสมอกับอากาศได้แล้ว ผัสสะอันเป็นที่พอใจ และไม่พอใจ ย่อมไม่ครอบงำจิตใจได้.
มิลิน. ๔๔๐


๕.๑๑ ธรรมดาพายุย่อมพัดเรื่อยไป ไม่ห่วงใยเสียดายสิ่งใด ฉันใด ภิกษุผู้ปรารภความเพียรก็ไม่ควรห่วงใยต่อสิ่งทั้งปวง ฉันนั้น.
มิลิน. ๔๓๘

 

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.023178732395172 Mins