ระหว่างหนทางสร้างพระบารมี

วันที่ 24 เมย. พ.ศ.2566

24-4-66-2-b.jpg

บทที่ ๑๖
ระหว่างหนทางสร้างพระบารมี


               ตามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้นว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น เดิมทีเดียวทรงเป็นคนธรรมดาเหมือนอย่างมนุษย์ทั่วๆ ไป เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด เป็นสัตว์ในภูมิโน้นภูมินี้ ตามแต่ผลกรรมที่ได้สร้างเอาไว้ นับจำนวนชาติที่เกิดไม่ได้ กระทั่งมีอยู่ชาติหนึ่งมีปัญญามองเห็นความทุกข์ในการเกิดและการดำรงชีวิตอยู่ ทั้งของตนเองและของสรรพสัตว์อื่น มีความปรารถนาใคร่พ้นจากความทุกข์ทั้งหลาย และช่วยให้ผู้อื่นพ้นทุกข์ด้วย จึงเริ่มพยายามหาหนทางด้วยการทำความดีในรูปแบบต่างๆ นับตั้งแต่ชาติที่คิดได้นั้นเรื่อยมา

              ความดี ได้แก่ สิ่งที่ทำแล้วตนเองไม่เดือดร้อน ผู้อื่นไม่เดือดร้อน เมื่อทำความดีมากเข้า ความจะกลายเป็นบุญ

               บุญ หมายถึง สิ่งที่ใช้ชำระสันดานให้มีคุณภาพดีขึ้น เป็นความประพฤติชอบทางกาย วาจา และใจ

               ส่วนคำว่า กุศล หมายถึง บุญที่ทำด้วยความฉลาดมีปัญญา เรามักเรียกรวมค่ากันว่า บุญกุศล

                บุญกุศลทั้งหลายนี้เอง เมื่อกระทำอย่างยิ่งยวดเข้มแข็งมั่นคงมากขึ้นๆ บุญกุศลนั้นจะกลายเป็นสิ่งมีกำลังติดตามอุปถัมภ์เจ้าของข้ามภพข้ามชาติ เรียกบุญกุศลที่กลั่นตัวได้อย่างนี้ว่า บารมี

                บารมีนี้เองจำนวนนับได้ คือ มี ๑๐ อย่าง แต่ละอย่างเมื่อสะสมสร้างไว้ทีละเล็กละน้อย จะกลายเป็นดวงใสสว่างอยู่ในศูนย์กลางกาย เมื่อผู้นั้นปรารถนาความพ้นทุกข์ เวียนว่ายตายเกิดสร้างบารมี ดวงบารมีจะค่อยโตขึ้นๆ จนโตเต็มที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ คืบ ๔ นิ้ว (ทำใจให้สงบนิ่งถึงระดับหนึ่ง สามารถมองเห็นบารมีแต่ละดวงได้) เมื่อบารมีทั้ง ๑๐ มีขนาดโตเต็มที่ดังกล่าวแล้วทุกดวง เมื่อนั้นผู้สร้างบารมีจะสามารถเลิกเวียนว่ายตายเกิดเข้าพระนิพพานได้

                 บารมี ๑๐ ประการ กล่าวเนื้อความโดยย่อ คือ

๑. ทานบารมี เป็นบารมีอันดับแรกที่จะต้องกระทำ เป็นพื้นฐานในการสร้างคุณงามความดีและบารมีอื่นๆ เหมือนพื้นแผ่นดินเป็นที่ให้สิ่งต่างๆ อาศัยตั้งอยู่

               ทาน ได้แก่ การให้ การเสียสละ การบริจาค
               สิ่งที่บริจาคได้แก่

๑. วัตถุสิ่งของ (ทรัพย์ทั้งที่เป็นสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ซึ่งไม่เป็นโทษต่อผู้รับ เรียกว่า วัตถุทาน)

๒. ธรรมทาน ให้คำแนะนำที่ดีงาม เปลี่ยนใจผู้รับเป็นสัมมาทิฏฐิ รวมไปถึงอภัยทาน คือบริจาคหรือสละความรู้สึกที่ไม่ดีระหว่างกันทิ้งไปเสีย

ทานที่มีอานิสงส์มาก คือให้ผลบุญมาก ต้องประกอบด้วยความบริสุทธิ์ ๔ อย่าง คือ

๑. วัตถุที่นำมาทาทานบริสุทธิ์ ได้มาโดยไม่ผิดศีล ไม่ผิดธรรม ไม่ใช่สิ่งของที่ทำให้ผู้รับเกิดกิเลส

๒. ผู้รับทานเป็นผู้บริสุทธิ์ เช่น เป็นพระอริยบุคคล หรือบำเพ็ญเพียร เพื่อเป็นพระอริยะบุคคล เป็นต้น

๓.ผู้ให้ทานเป็นผู้บริสุทธิ์ คือเป็นผู้ทรงคุณงามความดีต่างๆ มีศีลบริสุทธิ์เป็นต้น

๔. เจตนาในการทำทานบริสุทธิ์ เช่น ก่อนทำ มีใจคิดว่าต้องการทำเพื่อพัฒนาจิตใจให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้น จึงเต็มใจท่า ขณะกำลังทำ เต็มใจทำด้วยความไม่เสียดาย มีความเคารพในทานที่ทำตลอดจนเคารพผู้รับทานด้วย หลังจากทำแล้ว ก็ตามระลึกถึงความปีติด้วยทุกครั้ง ไม่เคยนึกเสียดายอีกเลย ไม่นึกหวังว่าท่าทานแล้วจะได้สิ่งตอบแทนเป็น ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ได้ชื่อเสียงเกียรติยศอันใด การนึกเช่นนั้นเป็นการบริจาคไม่จริง ไม่ขาดจากใจ กลายเป็นการค้ากำไร ลงทุนเพื่อ ให้ได้สิ่งตอบแทนเกินกว่า ควรทำทานเพื่อพัฒนาจิตใจ เช่น กำจัดความตระหนี่ ให้มีเมตตากรุณา รวมทั้งให้เป็นบ่อเกิดของคุณงามความดีอื่นๆ

                ทานบารมีที่เป็นขั้นต้น ได้แก่ การเสียสละสิ่งไม่สำคัญมาก เช่น ทรัพย์สินเงินทอง

                ทานอุปบารมี เป็นทานบารมีขั้นกลาง เสียสละได้แม้สิ่งที่รักมากๆ เช่น บุตร ภรรยา เลือดเนื้อ อวัยวะ

                ทานปรมัตถบารมี เป็นทานบารมีขั้นสูงสุด แม้ชีวิตก็สละได้

                การบริจาคเสียสละทุกสิ่งเหล่านี้ ถ้าให้เกิดอานิสงส์อันยอดเยี่ยม ต้องตัดใจให้ได้อย่างเด็ดขาด ไม่หวนเสียดายอีกเลยแม้แต่น้อย เหมือนสายน้ำที่ไหลไปไม่หวนคืน หรือเหมือนหม้อน้ำคว่ำน้ำทิ้ง ไม่ให้เหลือค้างอยู่เลยแม้แต่หยดเดียว การบริจาคก็ต้องขาดจาก
ใจ ดังที่เปรียบนี้

 

๒. ศีลบารมี เป็นที่ตั้งแห่งกุศลกรรมทั้งปวง ผู้ปรารถนาประกอบคุณงามความดีระดับใดก็ตามจะต้องเป็นผู้มีศีลเป็นพื้นฐาน ศีล คือความปกติของกาย และวาจา กายวาจาที่ปกติ คือ กายวาจาที่ไม่ทำความชั่ว จะเรียกว่าศีลคือการสละความชั่วออกจากกมลสันดานจากการกระทําทางกาย ทางวาจา ก็คงไม่ผิด

                ความชั่วทางกาย ได้แก่ การฆ่า การเบียดเบียนผู้อื่น การคดโกง ลักขโมยทรัพย์ผู้อื่น การประพฤติผิดทางเพศต่อผู้อื่น

                ความชั่วทางวาจา ได้แก่ การพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ

                ผู้รักษาศีลเป็นประจำ จะไม่เสื่อมจากกุศลธรรม ได้รับประโยชน์ทั้งทางโลกและทางธรรม ทางโลกเป็นผู้ไม่มีภัยกับผู้ใด ไม่ต้องคอยหวาดระแวงว่าจะมีผู้ใดคอยปองร้าย มีคนเชื่อถือเคารพไว้วางใจ ทางธรรม ถ้าจะปฏิบัติบำเพ็ญเพียรภาวนา ใจก็จะมีกำลัง ไม่มีวิปฏิสารเดือดร้อนใจ เพราะไม่ได้ทำบาปอกุศลสิ่งใดไว้ จะทำความเพียรได้ง่ายกว่าผู้ที่ไม่รักษาศีล

                ศีลบารมีก็มีเป็น ๓ ระดับ ทำนองเดียวกัน คือ ขั้นปกติ ขั้นสูงขึ้น และขั้นสูงที่สละได้กระทั่งชีวิต เหมือนสัตว์ชนิดหนึ่งชื่อจามรี (คล้ายวัวมีขนยาวอยู่แถบประเทศทิเบตดินแดนที่มีหิมะ) มันรักขนหางของมันมาก ถ้ามันเดินไปถูกหนามเกี่ยวเอาไว้ มันจะไม่ดึงหางออกจากหนามเพราะเกรงขนขาด มันยอมยืนนิ่งอยู่กับที่ ให้ขนหางหลุดจากหนามเอง ถ้าไม่หลุดมันก็จะยืนยอมตายอยู่อย่างนั้น มันรักขนหางเท่าชีวิต คนเราถ้าจะถือศีลให้ได้บุญมากๆ จนแก่กล้าเป็นบารมี ก็ต้องรักศีลเท่าชีวิตยอมตาย ไม่ยอมให้ศีลขาด เหมือนจามรียอมตาย ไม่ยอมให้ขนหางขาด

๓. เนกขัมมบารมี บุญอันยิ่งยวดที่ได้จากการประพฤติตนออกจากกาม กามไม่ได้หมายความแค่เรื่องทางเพศ แต่หมายรวมเอาทั้ง ๖ อย่าง ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความนึกคิดที่เนื่องด้วยความพอใจ รักใคร่ ยินดีในสิ่งที่ไม่ทำให้เกิดกุศล ซึ่งสิ่งเหล่านี้มักมีอยู่ในชีวิตของผู้ครองเรือนทุกคน

              การไม่มีครอบครัว จึงเป็นอุบายอย่างดียิ่งอย่างหนึ่ง ที่จะปลีกตนให้พ้นจากอำนาจกาม เมื่อปราศจากการครองเรือน ความต้องการสิ่งต่างๆ จะลดลงโดยปริยาย ทำให้เป็นผู้มักน้อยสันโดษได้ง่าย เมื่อชีวิตมีความมักน้อย รู้จักพอ ย่อมมีเวลาเหลือให้มีโอกาส ประกอบบุญกุศลต่างๆ เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง

               ถ้ามีครอบครัว มีบุตร ภรรยา หรือสามี ทรัพย์ที่หามาได้ ก็ต้องใช้บำรุงเลี้ยงคนในบ้าน ที่จะมีเหลือบริจาคเป็นสาธารณะต่างๆ หรือบำรุงพระพุทธศาสนาก็น้อยลง หรือไม่มีเลย ทานบารมีจะถูกตัดออกไป

               ครั้นจะถือศีล ๕ ถ้าคู่ครองไม่เห็นด้วย ไม่ยินยอมพร้อมใจ ไม่ว่าศีล ๕ ศีล ๘ หรือที่สูงขึ้นไป ศีลบารมีก็หมดโอกาสกระทำ บารมีต่อๆ ขึ้นไปยิ่งยากขึ้นทุกที หรือมิฉะนั้นก็ทำไม่ได้เลย

               เนกขัมมบารมี จึงนับเป็นบารมีสำคัญยิ่ง ที่จะทำให้สามารถสร้างบารมีอื่นๆ ได้ง่าย จึงให้ถือว่าชีวิตทุกขณะนี้เหมือนติดอยู่ในคุกในตะราง อยากหลุดพ้นออกไปให้ได้เร็วๆ ต้องบำเพ็ญเนกขัมมะนั่นเอง

๔. ปัญญาบารมี ปัญญาที่แท้จริง คือการรู้ตามความจริง ได้แก่การรู้ว่า ชีวิตที่ต้องเกิดมาไม่ว่าจะเกิดในภพภูมิใด ล้วนแต่ต้องพบกับความทุกข์ทั้งสิ้น เพียงแต่เป็นความทุกข์ต่างระดับ มากน้อยไม่เท่ากัน ทางที่ดีที่สุดคือต้องสร้างบารมีรุดหน้าอย่างเดียว เพื่อให้เลิกเวียนว่ายตายเกิดให้ได้ จึงจะพ้นทุกข์ถาวร

               ปัญญาที่จะเข้าใจเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ ไม่ใช่ปัญญาจากการจำคำสอนของใคร หรือปัญญาจากการคิด แต่ต้องเป็นปัญญาที่เห็นแจ้ง เรียกว่า ตรัสรู้ด้วยการภาวนา (ภาวนามยปัญญา)

               การภาวนาให้จิตหยุดจากความรู้สึกนึกคิดอื่นๆ ภายนอกตนเอง หยุดเข้าไปภายในเรื่อยไป กระทั่งจิตมีพลังอำนาจขึ้นมาด้วยตนเอง สามารถมองเห็นเรื่องราวต่างๆ ของชีวิตและทุกสิ่งทุกอย่างในภพภูมิต่างๆ ตามความเป็นจริงที่มีอยู่ เมื่อนั้นเป้าหมายการเดินทางของชีวิตย่อมมั่นคง ไม่โลเลคลอนแคลน เพราะเมื่อได้พบประสบการณ์บางอย่าง เช่น การระลึกชาติย้อนหลัง การเห็นการเกิดการตายของสัตวโลกทั้งหลาย การทํากิเลสให้สิ้นไป ย่อมเห็นความจริงทั้งปวงแจ่มแจ้ง เห็นแล้วย่อมขะมักเขม้นในการปฏิบัติตามเส้นทางที่ทําให้พ้นทุกข์

               อย่างไรก็ดี การปฏิบัติภาวนานั้นไม่ใช่จะเกิดปัญญาเห็นแจ้งทันทีทันใด ยังจำเป็นต้องอาศัยกัลยาณมิตรช่วยแนะนำชี้ทางหรือตักเตือน กัลยาณมิตรผู้มีปัญญาเหล่านั้นไม่จํากัดอยู่ว่าต้องเป็นคนมียศ มีปริญญาหรือบรรดาศักดิ์อันใด อาจจะเป็นคนยากจน พิกลพิการ ไม่รู้หนังสือเลยด้วยซ้ำ แต่มีปัญญามีบารมีในความรู้ที่แท้จริง (ทางธรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติธรรมขั้นสูง) ก็ควรเข้าใกล้คบหาสมาคมด้วย เพื่อรับคำสั่งสอนอบรม ผู้แสวงหาปัญญาจึงควรทําตัวเหมือนพระบิณฑบาต เป็นภิกขาจารไปตามบ้านตามลำดับ ไม่เลือกรับบ้านโน้นบ้านนี้ เมื่อปรารถนามีปัญญาก็ต้องรับฟังคำสอนของผู้รู้ ไม่เลือกชั้นวรรณะ

๕. วิริยบารมี สร้างสมความเพียรไม่ย่อท้อ การสร้างบารมีชนิดใดก็ตาม จำต้องใช้ความเพียรเป็นหลักยึด มิฉะนั้นแล้วความเกียจคร้านท้อแท้จะเข้ามาทำให้เป็นคนผัดวันประกันพรุ่ง เมื่อนั้นเถอะ เมื่อนี่เถอะ เวลาแต่ละนาทีสูญไปเปล่า

                ความพากเพียรมีทั้งสองฝ่าย ฝ่ายเรื่องอกุศล ต้องพยายามกำจัดความชั่วที่มีติดตัวออกไป บางคนโลภมาก ขี้โมโห หลงใหลอะไรง่ายๆ อย่างนี้ต้องพยายามกำจัดให้น้อยลงหรือให้หมดไปได้ยิ่งดี เมื่อของเก่ากำจัดออกไป ของใหม่ก็ต้องพยายามระมัดระวังไม่ให้เกิดขึ้น ป้องกันด้วยอุบายต่างๆ เช่น พยายามสำรวมอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ไม่ให้ไปเกี่ยวข้องคลุกคลีกับสิ่งที่จะยั่วเย้าให้ใจเขาไปทำความชั่ว ไม่ว่าทางกาย วาจา ใจ

               ฝ่ายกุศลก็ทํานองเดียวกัน พยายามรักษาความดีที่มีอยู่เดิมให้คงมั่นไว้ไม่เสื่อมถอยเคยทำทาน รักษาศีล ภาวนาอยู่เสมอ ต้องไม่เลิกทำ พยายามขวนขวายไปให้ตลอดชีวิต ส่วนความดีใหม่ๆ อะไรที่ยังไม่เคยทำ ให้พยายามทำเพิ่มพูน กุศลธรรมนั้นมีสันโดษไม่ได้เป็นอันขาด ต้องพอกพูนสั่งสมด้วยวิริยอุตสาหะ เคยทำทานเพียงเล็กน้อย เช่นใส่บาตรวันละองค์สององค์ ก็เพิ่มเป็นสร้างถาวรวัตถุต่างๆ ขึ้นอีก ถ้ามีความรู้ความสามารถพอ ให้ธรรมเป็นทานก็ไม่ย่อท้อที่จะทํา

               เคยรักษาแค่ศีล ๕ ก็ขวนขวายพยายามเพิ่มเป็นศีล ๘ หรือ ๒๒๗ บวชเป็นภิกษุ เคยภาวนาไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ก็พยายามกระทำให้ทุกอิริยาบถ ให้ดูตัวอย่างราชสีห์ มีความเพียรเป็นเลิศ เมื่อมันนอนนั้นมันจะจดจำท่านอนของมันไว้ ถ้าตื่นขึ้นมาร่างกายของมันไม่อยู่ในอิริยาบถเดิม มันจะนอนใหม่ ไม่ยอมออกไปหาอาหาร ต้องนอนตื่นขึ้นมาให้อยู่ในท่าเดิมจนได้ ความเพียรของดิรัจฉานแม้ในเรื่องไม่เป็นสาระ ยังเพียรได้มั่นคงขนาดนั้น แสดงให้เห็นพลังของความเข้มแข็งในทุกอิริยาบถ ไม่ว่านั่ง นอน ยืน เดิน จึงควรถือเอามาเป็นตัวอย่าง ให้เรามีความเพียรที่จะสั่งสมบารมีให้เข้มแข็ง ดังราชสีห์เพียรรักษาอิริยาบถ

๖. ขันติบารมี การอดกลั้นอดทน ในการสั่งสมความดีอันเป็นบุญกุศลต่างๆ นั้น ไม่ใช่จะประสบความราบรื่นเสมอไป บางทีถูกมองในแง่ร้าย ถูกกลั่นแกล้งซ้ำเดิมต่างๆ นานา คนที่มีจิตใจไม่เข้มแข็งจะหมดกำลังใจได้ง่ายๆ ขันติบารมีจึงต้องมีกำกับในจิตของเราอยู่ตลอดเวลา

               ต้องอดทนทั้งทุกข์ทางกายและทุกข์ทางใจ ต้องไม่หลงใหลติดข้องอยู่ในลาภ ยศ สรรเสริญ สุข อันเป็นของสมมุติประจำโลกนี้เท่านั้น ไม่ว่าจะพบโลกธรรมฝ่ายดีดังกล่าว หรือโลกธรรมฝ่ายเลวคือ เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ก็ต้องตั้งสติมั่น อดทน ไม่หวั่นไหว
ไม่ปล่อยใจให้ยินดียินร้ายไปตาม

              เปรียบเหมือนความอดทนของแผ่นดิน ไม่ว่าผู้คนจะเอาของดีหรือเลว ของสะอาด ของสกปรกรดใส่ แผ่นดินก็ไม่รู้สึกพอใจหรือขุ่นเคือง การดำเนินชีวิตของเรา ก็ต้องอดทน อดกลั้น ให้ถึงที่สุดได้ดุจเดียวกัน

๗. สัจจบารมี เป็นบารมีที่เกิดจากการตั้งใจมั่น ตั้งใจจริงที่จะสร้างความดีให้เต็มที่เพื่อเลิกเวียนว่ายตายเกิดให้ได้ เมื่อตั้งใจจริงเป็นสัจจะแล้วไม่คลอนแคลนโลเล เหมือนคนพูดกลับไปกลับมา ไม่อยู่กับร่องกับรอย จะต้องกระทำตามที่พูด ที่คิดไว้ไม่เปลี่ยนแปลง ด้วยอคติทั้งหลายสัจจะนั้นถ้าให้มีอานิสงส์มากต้องเดิมพันกันด้วยชีวิต คือเมื่อลั่นวาจาออกไปแล้ว หรือตั้งมั่นไว้ในใจว่าจะทำอะไรแล้ว ก็ไม่ยอมให้อะไรมาขวาง ทำให้ต้องเปลี่ยนใจ แม้จะมีผู้มาขู่ฆ่า ก็ยอมตาย ไม่ยอมให้ผิดไปจากความตั้งใจทำความดีนั้นๆ

               สัจจะต้องมั่นคงเหมือนดาวประกายพรึก ที่โคจรอยู่ในเส้นทางของตนตามฤดูกาลไม่เคยเปลี่ยนแปลง ปีแล้วปีเล่าตลอดเวลาอันยาวนาน

๘. อธิษฐานบารมี คือการตั้งความปรารถนา เพื่อให้บรรลุผลในการทำจริง ตั้งเป้าหมายสิ่งใดไว้ ต้องหมั่นตั้งความปรารถนาอยู่เสมอ มิฉะนั้นเมื่อพบอุปสรรคมากๆ จะอ่อนแอย่อท้อเสียหมด ต้องตั้งความปรารถนาอยู่เรื่อยไป เหมือนการพายเรือไปสู่จุดหมายปลายทาง ต้องหมั่นถือหางเสือเรือให้หัวเรือหันไปยังทิศที่ต้องการเสมอ ถ้ามัวเผลอละเลยกระแสนํ้าจะพัดให้หางเสือเรือเฉออกไป พลอยให้หัวเรือเปลี่ยนทิศ

                 การตั้งอธิษฐานจิตให้มั่นคง จึงเปรียบเหมือนภูเขาที่ตั้งมั่น ไม่มีอะไรมาโยกให้หวั่นไหวปรารถนาจะให้ชีวิตพ้นทุกข์ ต้องปรารถนาอยู่อย่างนี้มั่นคงเป็นนิจ ไม่มีอะไรมาทำให้เปลี่ยนใจ แม้ชีวิตจะเปลี่ยนไปนับภพชาติไม่ถ้วน ความปรารถนาให้พ้นทุกข์เลิกเวียนว่ายตายเกิด
ก็ยังตามไปเตือนให้คิดได้ในทุกภพทุกชาติ

๙. เมตตาบารมี เป็นบารมีที่ได้รับจากการรักและปรารถนาดีในสรรพชีวิตทั่วหน้า ไม่ว่ามิตรหรือศัตรู ด้วยคิดว่าทุกชีวิตล้วนแล้วแต่ตกอยู่ในความทุกข์ ไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไร สมควรแสวงหาหนทางพ้นทุกข์ด้วยกันทั้งหมด เมื่อเห็นใครมัวเมาประมาทอยู่ ไม่รู้เลยว่าชีวิตเกิดมาควรทำอะไร เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด ให้นึกเมตตาผู้ประมาทมัวเมาเหล่านั้นให้มาก และบอกความจริงแก่พวกนั้นให้รู้สึกตัวด้วยความปรารถนาดี ปรารถนาดีนั้นเผื่อแผ่ไปยังที่ใด ผู้รับย่อมชุ่มชื่นเบิกบาน เหมือนน้ำเมื่อหลากไหลไปยังที่ใด ก็พาความชุ่มชื่นเยือกเย็นไปยังสถานที่เหล่านั้นเหมือนกันหมด ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง

๑๐. อุเบกขาบารมี เป็นบารมีที่ได้จากจิตใจรักความยุติธรรมในสรรพสัตว์ทั่วหน้าไม่ลำเอียงเข้าข้างโน้นข้างนี้ ไม่ชอบไม่ฟังในสิ่งใดๆ ไม่ยินดียินร้ายในสิ่งต่างๆ เพราะมีปัญญาคิดได้ว่าเป็นกฎแห่งกรรม คือใครทำสิ่งใดต้องได้รับผลของกรรมนั้นเป็นธรรมดา บางทีไม่ใช่กรรมที่เป็นเหตุในชาตินี้เท่านั้น แต่เป็นผลของกรรมในอดีตชาติที่เพิ่งตามมาทัน ถ้าอยู่ในวิสัยเข้าไปเกี่ยวข้องช่วยเหลือได้ไม่เกินกำลัง ก็กระทำไปตามสมควร แต่ถ้าช่วยอะไรไม่ได้แล้ว ก็ต้องปลงให้เป็นอุเบกขา

                 การวางเฉยไม่ยุ่งกับเรื่องของใครเลยทั้งที่อยู่ในวิสัยช่วยเหลือได้ไม่เรียกว่า อุเบกขากลายเป็นคนใจดำ

                 การวางอุเบกขา ไม่รักไม่ฟังไปในสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่ว่าผู้นั้นจะคิดดีหรือชั่ว เหมือนสายลมพัดผ่านไปในที่ต่างๆ ไม่เลือกว่าเป็นที่หอมหรือเหม็น ลุ่มหรือดอน เมื่อพัดผ่านก็สักแต่ว่าพัดไป ไม่มียินดียินร้ายในสถานที่เหล่านั้น

                 ระหว่างหนทางสร้างบารมีของพระโพธิสัตว์ ไม่ใช่ราบเรียบเสมอไป เพราะชาติที่สร้างบารมีได้มากที่สุด คือชาติที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ในชมพูทวีป เพราะเป็นสถานที่เหมาะในการสร้างบารมีทุกชนิด จะทำทานก็มีคนยากจน หรือสมณชีพราหมณ์เป็นผู้รับทาน จะถือศีลก็มีความชั่วนานาชนิดให้ละเว้น จะบำเพ็ญเนกขัมมะ ก็มักจะมีพระพุทธศาสนาประดิษฐานอยู่ ให้ได้มีโอกาสออกบวช เหล่านี้เป็นต้น

                 แต่พระโพธิสัตว์นั้น เมื่อยังมีบารมีอ่อนอยู่ ได้เกิดเป็นมนุษย์ในชมพูทวีปแล้วก็จริงแต่จำความหลังในอดีตชาติไม่ได้ เมื่อจำไม่ได้ก็หลงลืมเรื่องการเกิดมาเพื่อสร้างบารมี เกิดแล้วต้องใช้ชีวิตประมาทไปต่างๆ ต้องพลาดพลั้งทำบาปเพิ่มอีกก็มีในบางชาติ เมื่อดำเนินชีวิตผิดพลาดก็ต้องเสียเวลาไปเกิดในอบายภูมิ เหมือนเดินถอยหลัง

                 ดังนั้น ในกำเนิดต่างๆ ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสมณโคดมของเรา ซึ่งพระองค์ทรงระลึกชาติย้อนหลัง นำมาเล่าให้ฟังไว้มากมายนั้น จึงมีหลายชาติที่พระองค์ต้องพลาดไปเกิดเป็นสัตว์นรกบ้าง ติรัจฉานบ้าง เป็นสตรีบ้าง ฯลฯ

                 เมื่อใดบารมีแก่กล้าขึ้น ความประมาทลดลง พอเกิดมาก็ไม่กระทำความชั่ว เร่งทำแต่ความดี จนกระทั่งบารมีแก่มากพอได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง พระพุทธเจ้าพระองค์นั้นทรงพยากรณ์ให้ว่า จะได้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในชาติข้างหน้าเมื่อใด

                  พระโพธิสัตว์ที่ได้รับพุทธพยากรณ์แล้วอย่างนี้เรียกว่า นิยตโพธิสัตว์ ซึ่งจะเป็นผู้มีคุณสมบัติพิเศษประการหนึ่งคือ นับจากชาติที่ได้รับพระพุทธพยากรณ์แล้วจากนั้น จะเกิดเป็นอะไรก็ตาม จะสร้างบารมีรุดหน้าแต่อย่างเดียว ชีวิตพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา สมัยเกิดแล้วเกิดอีกสร้างบารมีอยู่นั้น พระองค์ทรงระลึกชาตินำมาเล่าไว้มากมาย พอจะยกมาเป็นตัวอย่างเพื่อเป็นแบบอย่างแนวทางให้เราสร้างบารมีตามได้ เป็นบางพระชาติ ดังจะแสดงต่อไป

จากหนังสือ ต้องเป็นให้ได้ (ดังเช่นพระพุทธเจ้า)

 ยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคล Total Execution Time: 0.029651419321696 Mins